“สถาปนิกมีหน้าที่สร้างบ้าน ซึ่งเป็นแค่โครงหรือกรอบ Framework เท่านั้น แต่การที่บ้านมีชีวิต จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเจ้าของบ้านเข้ามาอยู่ ปรับเปลี่ยนสเปซอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการใช้ชีวิตของเขา”
Location: Kanchanapisek road, Bangkok
Owner: Chaiporn Intuvisarnkul
Architect: Siriwat Patchimasiri, Chaowat Kittitornkul, studio mahutsachan
JHouse บ้านที่นำปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานและสมาชิกในครอบครัว มาตีความ ทำการทดลอง และแก้ไขปัญหาโจทย์ทางสถาปัตยกรรม เกิดเป็นบ้านที่มีทั้งความงามและมีชีวิต ตอบโจทย์การใช้งานและความสัมพันธ์ได้อย่างแท้จริง
บ้านหลังนี้เป็นบ้านชั้นเดียวตั้งอยู่ในย่านพุทธมณฑลสาย 1 แม้จะมีพื้นที่เพียง 250 ตารางเมตร แต่ฟังก์ชันและสเปซภายในกลับจัดสรรได้อย่างลงตัว ประกอบด้วยพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งรวมส่วนรับประทานอาหาร แพนทรี ส่วนนั่งเล่น ห้องดูหนัง ที่นั่งเล่นสำหรับลูก และห้องเก็บของภายในพื้นที่เดียวกัน ส่วนห้องนอน Master Bedroom และห้องนอนลูกจะแยกเป็นสัดส่วนอยู่อีกห้องหนึ่ง
คุณเชาว์วัฒน์ กิตติธรกุล และ คุณศิริวัฒน์ ปัจฉิมะศิริ สถาปนิกผู้ออกแบบจาก studio mahutsachan
เมื่อเกิดความต้องการที่จะขยับขยายบ้านพักส่วนตัว คุณชัยพร อินทุวิศาลกุล จึงตัดสินใจสร้างบ้านหลังใหม่ ซึ่งติดกับบ้านพักอาศัยเดิมที่เคยอาศัยกับคุณพ่อและคุณแม่ของเขา โดยมี คุณเชาว์วัฒน์ กิตติธรกุล และ คุณศิริวัฒน์ ปัจฉิมะศิริ สถาปนิกผู้ออกแบบจาก studio mahutsachan
สถาปนิกทั้งสองเล็งเห็นถึงความสัมพันธ์อบอุ่นในครอบครัว ที่มักจะใช้เวลาร่วมกันในพื้นที่ส่วนกลางมากกว่าห้องนอนส่วนตัว แต่ทั้งนี้สมาชิกในบ้านก็ยังมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง กล่าวคือผู้ใช้งานต่างเห็นกันและกัน และรับรู้ว่าอีกฝ่ายกำลังทำอะไรอยู่เสมอ ความสัมพันธ์นี้จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญในการสร้างบ้านหลังใหม่ของคุณชัยพรนั่นเอง
มุมมองจากบ้านเดิม มองเข้ามายัง JHouse ที่ผนังด้านข้างเป็นกระจกใสทั้งหมด เชื่อมต่อความสัมพันธ์จากบ้านเดิม
จัดการพื้นที่ด้วย ‘กล่อง’
ทางสถาปนิกทำการศึกษาและเริ่มทดลองสร้างความสัมพันธ์ในพื้นที่ส่วนกลาง จนเกิดแนวคิดจาก ‘กล่อง’ เพราะกล่องช่วยจัดการพื้นที่ในบ้านไม่ให้ตัดขาดกัน 100% เช่น ไม่มีทางเดินหรือ Corridor ชัดเจน พื้นที่แต่ละส่วนไม่มีขอบเขตแน่นอน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับบ้านลักษณะทั่วไป กลับเกิดความรู้สึกของการได้ใช้ชีวิตร่วมกันในพื้นที่ส่วนกลางมากกว่า
“เราตั้งคำถามว่า ‘ผนัง’ ทำหน้าที่อะไร อย่างไร มีวัสดุหรือองค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำได้มากกว่านี้หรือเปล่า เพราะเราเชื่อในการปิดกั้นที่ไม่สมบูรณ์แบบ จึงทดลองหาวิธีล้อมสเปซแบบใหม่ ด้วยการวางระนาบที่เป็นมากกว่าการปิดล้อมพื้นที่ และสอดแทรกฟังก์ชั่นอื่นๆ ด้วย จากนั้นเราจึงขยายระนาบนี้ให้เป็นกล่อง ใส่ฟังก์ชั่นหลากหลายด้านใน จนเกิดการใช้พื้นที่ ที่แตกต่าง แม้ตัวบ้านจะมีขนาดเพียง 250 ตารางเมตรเท่านั้น” สถาปนิกกล่าว
กล่องหลากหลายขนาดกลายเป็นส่วนจัดการความสัมพันธ์และฟังก์ชันในบ้าน เพราะกล่องไม่ได้เป็นแค่ห้องเท่านั้น หากกล่องแต่ละกล่องยังกลายเป็นสเปซและเฟอร์นิเจอร์บางชนิด เช่น กล่องห้องดูหนังที่ข้างบนเป็นสเปซสำหรับลูกชายเล่นของเล่น รวมทั้งเป็นชั้นวางหนังสือ และซ่อนงานระบบบางอย่าง
ผังอาคาร
พื้นที่ส่วนกลางเป็นพื้นที่ Open plan รวมหลายๆ ฟังก์ชันไว้ในพื้นที่เดียวกัน
ห้องดูหนัง ซึ่งด้านบนจะแอบซ่อนสเปซนั่งเล่นสำหรับลูกชายไว้
เคาน์เตอร์ครัวช่วยกรองความเป็นส่วนตัวให้กับ Master Bedroom
กล่องถูกยกขึ้นติดฝ้าเพดานด้านบน กลายเป็นชั้นวางหนังสือลอยตัว
Master Bedroom แยกออกมาเป็นส่วนตัว
ห้องนอนของลูกชาย มีส่วนเตียงนอนถูกวางไว้ด้านบนของกล่องห้องน้ำส่วนกลาง
ธรรมชาติกั้นความเป็นส่วนตัว
เนื่องจากคุณชัยพรมีงานอดิเรกปลูกและดูแลต้นไม้ ผู้ออกแบบจึงพัฒนากล่อง โดยการสร้างคอร์ท 2 คอร์ท แทรกกลางบ้าน จากนั้นจึงปลูกต้นไม้ ให้แสงธรรมชาติและต้นไม้กลายเป็นส่วนหนึ่งกับบ้าน เมื่อมีต้นไม้ ก็ย่อมมีแสงและธรรมชาติใกล้ชิดกับผู้ใช้งานมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ต้นไม้ก็เปรียบเสมือนอีกผิวหนึ่งของอาคาร ซึ่งช่วยจัดการระดับความเป็นส่วนตัวระหว่างคนในบ้านกับคนในบ้าน และคนในบ้านกับนอกบ้านอีกด้วย
เสริมแนวคิดด้วยวัสดุเรียบง่าย
วัสดุเรียบง่ายของบ้านหลังนี้ ช่วยดึงจุดเด่นของความเป็นกล่องให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น เพราะแนวคิดหลักของบ้านคือการสลายความเป็นห้องและจัดการพื้นที่ใช้สอย ซึ่งทางผู้ออกแบบเลือกใช้วัสดุแค่ 4 ประเภท ได้แก่ หินขัด ผนังก่อทาสีขาว พื้นไม้ในส่วนห้องนอน เพื่อเพิ่มความรู้สึกอบอุ่น และกระจกสำหรับสเปซที่ต้องการให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างภายในและภายนอกอาคาร
“เราไม่ต้องการเทคโนโลยีล้ำสมัยในเรื่องของวัสดุ เราอยากใช้วัสดุธรรมดาอย่างผนังก่ออิฐฉาบทาสี กระจก พื้นหินขัด เพราะอยากโฟกัสแนวคิดไปที่ความสัมพันธ์และฟังก์ชันของกล่องมากกว่า”สถาปนิกผู้ออกแบบกล่าว
ความไม่ประดิษฐ์ของบ้าน
ส่วนการออกแบบภายในของบ้านหลังนี้ เป็นความตั้งใจของเจ้าของบ้านที่จะหยิบ จับ และวางเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งผลงานศิลปะตามความชอบของเขา แม้บางส่วนอาจจะไม่เรียบร้อย แต่ก็เป็นบ้านที่เกิดจากตัวตนและความชอบของเจ้าของบ้านอย่างแท้จริง เพราะบ้านที่มีชีวิตนั้น อยู่ที่คนพักอาศัยเป็นคนเลือกใช้ และจัดสรรพื้นที่ต่างๆ ด้วยตัวของเขาเอง
ผลงานศิลปะและภาพวาดที่แอบซ่อนตัวอยู่ในที่ต่างๆ ภายในบ้าน
JHouse บ้านที่แสดงตัวตนของผู้พักอาศัยได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนกลาง การสร้างสเปซแบบกล่อง และการใส่ตัวตนของครอบครัวเข้าไปในบ้าน ทำให้บ้านมีชีวิตชีวา อบอุ่น และปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามความชอบของผู้พักอาศัย