OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

10 สกิลที่มาพร้อมกับ ‘ความสถาปนิก’  ที่นอกจากจะออกแบบตึก พวกเขายังมีพลังอื่นๆ ซ่อนอยู่…!

จากการเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตย์ สู่การเป็นสถาปนิกนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  ตลอดระยะเวลาการเรียน 5 ปี หรือประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมมา นอกจากวิชาชีพแล้ว การเป็นนักเรียนสถาปัตย์ หรือการเป็นสถาปนิกนั้น ยังให้สกิลต่างๆ มากมายที่ติดตัวเรามาโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว ทั้งสกิลทางความคิด ไอเดียของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือแม้แต่สกิลมืออย่างเช่นการเขียนแบบ หรือการตัดโมเดล สกิลเหล่านี้ นอกจากจะช่วยในการทำงานขั้นตอนต่างๆแล้ว ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานอื่นๆ และ ชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

1. site visit สอนให้เป็นนักปฏิบัติ
     Site visit ถือเป็นขั้นตอนในการลงพื้นที่จริงของสถาปนิก ทั้งการไปดูไซต์ก่อนการออกแบบ การไปดูไซต์ระหว่างการก่อสร้างเพื่อตรวจเช็คงานว่าเป็นไปตามที่เราออกแบบหรือไม่ โดยการไปไซต์งานแต่ละครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเผชิญกับปัญหาหน้างานที่ต้องคิดต้องจัดการ ขั้นตอนนี้จึงฝึกให้เราเป็นนักปฏิบัติ สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ สอนให้เราลุย อดทนกับความลำบากเพราะไซต์ก่อสร้างก็มักจะเต็มไปด้วยฝุ่นละอองและวัสดุก่อสร้างมากมาย ซึ่งแตกต่างจากขั้นตอนอื่นๆ ของสถาปนิกที่จะทำงานอยู่ภายในออฟฟิศ



2. site analysis สอนให้อยู่กับสิ่งที่มี

สถาปนิกมักจะมองหาข้อดี หรือจุดเด่นของสิ่งต่างๆ ถึงแม้ว่าบางทีจะมีข้อจำกัดมากมายก็ตาม  ซึ่งหน้าที่หลักของสถาปนิกคือ การออกแบบ การมองเห็นถึงโอกาสจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้งานออกแบบเกิดประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ต่อผู้ใช้งาน อย่างที่สถาปนิกชื่อดังอย่าง Norman Foster กล่าวไว้ว่า  “If you weren’t an optimist, it would be impossible to be an architect.” หรือ “ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนมองโลกในแง่ดี เป็นไปไม่ได้หรอกที่คุณจะเป็นสถาปนิก”

3. Detail design สอนให้เป็นคนละเอียด
นอกเหนือจากการออกแบบรูปร่างหน้าตาของตัวสถาปัตยกรรมแล้วนั้น สถาปนิกก็จะต้องลงรายละเอียดของส่วนประกอบย่อยต่างๆ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น  ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่เปลี่ยนแปลงแบบที่มาจากแนวความคิดให้สามารถสร้างจริงได้และสวยงามลงตัว โดยในขั้นตอนนี้ก็จะทำการออกแบบในสเกลขยาย ทำให้ต้องมีความละเอียดในการออกแบบ เช่น การออกแบบรอยต่อ การต่อชนวัสดุ
การสเปควัสดุ หรือ การกำหนดขนาด ระยะต่างๆ ให้ถูกต้องชัดเจน

4.Concept design สอนให้เป็นนักคิดสร้างสรรค์
คำว่า Concept ถือเป็นคำสำคัญของวงการออกแบบเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นกรอบความคิดที่ทำให้งานออกแบบชิ้นนั้นๆ มีเอกลักษณ์ในตัวของมันเอง ซึ่งในการออกแบบเกือบจะทุกครั้ง สถาปนิกมักจะดึงเอาจุดเด่น ปัญหาที่ต้องการแก้ไข ความชอบส่วนตัว หรือสิ่งต่างๆรอบตัวมาเป็น concept ในการออกแบบ ทำให้สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ออกมาให้มีความน่าสนใจ และมีเรื่องราวมากขึ้น

5.Model สอนให้เป็นคนมีสมาธิ
อีกหนึ่งภาพลักษณ์ของสถาปนิกที่เรามักเห็นกันในทีวี รายการ หรือแม้แต่ในละคร ถ้าพูดถึงสถาปนิกต้องมีฉากของการทำโมเดลอย่างแน่นอน ซึ่งการทำโมเดลย่อส่วนนี้นอกจากจะเป็นขั้นตอนที่ช่วยให้เราเห็นภาพของการออกแบบเป็นสามมิติมากขึ้นแล้ว ในการทำโมเดลยังเป็นการใช้สกิลมือและบางจุดก็จะมีความละเอียด ที่เราต้องค่อยๆ มีความปราณีตในการทำ เป็นการฝึกความอดทนและ ฝึกให้เรามีสมาธิไปโดยไม่รู้ตัว

6.Time management สอนให้จัดการกับเวลาได้ดี
เนื่องจากการทำงานของสถาปนิกมีหลายขั้นตอน ในแต่ละขั้นตอนก็จะมีกำหนดเวลาในการส่งงานเพื่อให้การออกแบบตลอดจนการดำเนินการก่อสร้างเป็นตามที่วางแผนไว้ ทำให้สถาปนิกต้องมีการจัดการกับเวลาเกือบจะตลอดเวลา โดยสถาปนิกบางคนก็จะมีหลายโปรเจ็กต์ให้รับผิดชอบ การวางแผน การจัดการกับเวลาก็จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก สกิลนี้จึงช่วยฝึกให้เราเป็นคนรับผิดชอบ ทำงานต่างๆ ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด และถือเป็นสกิลสำคัญที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ดี



7. Presentation สอนให้เป็นนักเล่าเรื่อง

Presentation คงเป็นสกิลคุ้นเคยที่เราถูกฝึกฝนกันมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาสถาปัตย์ ซึ่งนอกจากการออกแบบที่ดีแล้ว การสื่อสารที่ดีก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเป็นสถาปนิก เพราะการพูดให้คน ‘เชื่อ’ และมั่นใจในงานออกแบบของเราก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การนำเสนอโปรเจ็กต์สำคัญต่างๆ การเล่างานออกแบบให้มีความน่าสนใจก็มีโอกาสที่จะขายงานให้ลูกค้าได้มากขึ้น  ซึ่งสกิลนี้ก็ถือเป็นสกิลเฉพาะตัวของบุคคล บางคนก็มีสกิลในการสื่อสารเก่งมากหรือน้อย ไม่เท่ากัน แต่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้เรื่อยๆ และติดตัวไปได้ตลอดชีวิต

8. Site meeting สอนให้เป็นนักไกล่เกลี่ย
นอกเหนือจากการทำงานกันในกลุ่มสถาปนิกเองแล้วนั้น ยังมีการทำงานร่วมกับทีมจากอาชีพอื่นๆ เช่น วิศวกร นักจัดการงานระบบ นักออกแบบภูมิทัศน์  หรือผู้รับเหมา ซึ่งในการทำงานร่วมกันจากหลายฝ่าย แน่นอนว่าย่อมมีปัญหาเกิดขึ้น และอาจจะมีจุดที่ไม่เป็นตามที่หวังไปบ้าง ซึ่งการทำงานในแบบทีมใหญ่นี้ก็ช่วยฝึกให้เราใจเย็น แก้ปัญหาด้วยเหตุผล ค่อยๆไกล่เกลี่ยกันจนหาทางแก้ปัญหาที่ลงตัว เพื่อทำให้งานออกแบบเกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย



9. Building cost control สอนให้เป็นคนรอบคอบ
บางโครงการ สถาปนิกต้องรับผิดชอบโครงการใหญ่ๆ ที่มีงบประมาณจำนวนมหาศาล ความรับผิดชอบก็ยิ่งตามมา ซึ่งในการออกแบบสถาปนิกก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่งบประมาณในการก่อสร้าง จนถึง ความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ปัจจัยเหล่านี้จึงฝึกให้สถาปนิกมีความรอบคอบในการออกแบบแต่ละครั้ง เนื่องจากการแก้ไขโครงการใหญ่ๆ อาจทำได้ยาก และสิ่งก่อสร้างก็มักจะตั้งอยู่เป็นระยะเวลานานหรือค่อนข้างที่จะถาวร

10.Architect’s life สอนให้อดทนและการอดนอนเป็นเรื่องปกติ
จากขั้นตอนการทำงานหลายๆ ขั้นตอนที่สถาปนิกต้องรับผิดชอบ สกิลต่างๆ ที่วิชาชีพนี้มอบให้ ไม่ว่าจะเป็นสกิลของการอดนอน การทำงานหนัก การขวนขวายเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา การมองเห็นโอกาสต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว การสื่อสารกับคนอื่นๆ การทำงานเป็นทีม สิ่งเหล่านี้สอนให้เราเป็นคนอดทน ไม่กลัวกับปัญหาต่างๆ ซึ่งเราสามารถนำเอาสกิลเหล่านี้มาใช้ในวันที่ต้องเผชิญกับปัญหา ถึงแม้ว่าจะเป็นวันที่เราไม่ได้เป็นสถาปนิกแล้วก็ตาม

 

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading