OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

AUBE ดื่มด่ำช่วงเวลาแห่งความสุข ผ่านการ ‘โอบกอด’ จากสถาปัตยกรรม

หากใครมีโอกาสขับรถผ่านแถวถนนราชพฤกษ์ ก็คงจะสะดุดตากับป้ายสีขาวพร้อมด้วยชื่อโครงการ ‘AUBE’ ความหมายที่สื่อถึงความโรแมนติกอย่างคำว่า ‘โอบ’ คงพอทำให้ใครหลายๆ คนเดาได้ว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สำหรับการแต่งงาน ซึ่งการ ‘แต่งงาน’ มีองค์ประกอบหลายอย่างที่จะทำให้พิธีการสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าบ่าวเจ้าสาว แขก ลำดับขั้นตอนของพิธีต่างๆ หรือแม้แต่การถ่ายรูป ‘AUBE’ จึงทำหน้าที่เป็นสถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ให้ยิ่งเปี่ยมด้วยความสุข ความปลื้มปิติ ความสนุก ให้วันแต่งงานเป็นวันที่น่าจดจำที่สุด

ความจริงสถาปัตยกรรมมันทำหน้าที่เสิร์ฟมนุษย์ มันไม่ต้องการเป็นพระเอกหรืออะไรทั้งสิ้น การเสิร์ฟมนุษย์ได้ก็คือทำให้มนุษย์มีความรู้สึก  รู้สึกปลื้มปิติ รู้สึกตื่นเต้น ทุกอย่างมันจะถูกแสดงออกทางสีหน้าของคน เพราะว่าแน่นอนอยู่แล้ววันแต่งงาน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือหน้าของเจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่ใช่ architecture เราก็พยายามที่จะส่วนที่เป็นงานของเราทำให้คนเกิดความรู้สึก เพื่อที่จะถ่ายรูปได้อย่างมีความสุข คุณวิทย์–พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล จาก PHTAA living design เล่าให้ฟังถึงแนวคิดภาพรวมของ AUBE เนื่องจากฟังก์ชันของพื้นที่ทำขึ้นมาเพื่อรองรับการจัดแต่งงานโดยเฉพาะ การสร้างความสัมพันธ์ให้กับกิจกรรมที่ผู้คนเข้ามาใช้งาน หรือแม้แต่กิจกรรมที่แทบจะเป็นชีวิตประจำวันของคนยุคปัจจุบันอย่างการถ่ายรูป จึงเป็นสิ่งหลักๆ ที่คุณวิทย์ให้ความสำคัญเป็นอย่างแรกๆ ในการออกแบบ AUBE แห่งนี้



‘ระเบียงคด’ รูปแบบพื้นฐานของ Monastery Architecture สู่ความเรียบง่ายของฟังก์ชัน
เมื่อเดินเข้ามายังพื้นที่โครงการ เราจะพบกับซุ้มทางเดินยาวไปโดยรอบของพื้นที่ คล้ายกับว่าจะทำหน้าที่พาเราเดินเพื่อเข้าไปพบกับพื้นที่ในส่วนอื่นๆ ซึ่งคุณวิทย์ได้เล่าให้เราฟังถึงเหตุผลของการวาง planning แบบ Monastery (อาราม) ซึ่งเป็นส่วนที่เรามักเห็นตามโบสถ์ในยุคเก่าๆ หรือที่เราคุ้นๆ กันในชื่อไทยๆ อย่าง ‘ระเบียงคด’ โดยการวางแบบนี้มีข้อดีตรงที่ระเบียงจะสามารถเชื่อมพื้นที่ส่วนอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกันและเกิดเป็นพื้นที่คอร์ดตรงกลาง และเนื่องจากงานแต่งงานเป็นพื้นที่ที่มีคนมารวมตัวกันค่อนข้างเยอะ การวาง planning แบบนี้นอกจากจะส่งเสริมกับลำดับขั้นตอนต่างๆ ในการแต่งงานแล้ว ยังทำหน้าที่แจกคนไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในส่วน main hall บริเวณคอร์ดตรงกลาง หรือบริเวณห้องหมั้น

creditภาพ : PHTAA living design

โดยพื้นที่จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ส่วนแรก คือ ส่วนของ main hall พื้นที่ส่วนนี้จะเป็นส่วนของห้องสำหรับจัดงานแต่งงาน หรืองานจัดเลี้ยง ซึ่งใช้โทนสีขาว เพื่อความอบอุ่นและดูสบายตา และคุณวิทย์ยังเลือกออกแบบโดยเน้นช่องเปิดทั้งบริเวณด้านบน และบริเวณด้านข้างโดยเลือกใช้ประตูบานใหญ่กว่าปกติ เนื่องจากต้องการเน้นให้มีแสงเข้ามายังบริเวณพื้นที่ เพราะแสง Daylight หรือแสงธรรมชาติจะเป็นแสงที่เหมาะกับการถ่ายรูปมากที่สุด

เมื่อเดินออกมาจาก main hall ก็จะพบกับช่องเปิดขนาดใหญ่ไปสู่บริเวณคอร์ดตรงกลาง ซึ่งคุณวิทย์ตั้งใจให้เป็นพื้นที่เพื่อรองรับกิจกรรมการโยนดอกไม้ของเจ้าสาว โดยบริเวณบันไดจะเป็นส่วนที่ให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวเดินขึ้นไปเพื่อเปลี่ยนอารมณ์ ส่วนจุดตรงกลางจะเป็นจุดที่ทำการโยนดอกไม้ลงมายังบริเวณที่เป็นพื้นที่คอร์ดในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

จากบริเวณลานกลางแจ้งก็จะเชื่อมเข้าสู่พื้นที่ในส่วนห้องหมั้น โดยแยกส่วนพื้นที่หมั้นกับพื้นที่ของการแต่งงานอย่างชัดเจน ซึ่งจะไม่สามารถใช้ปะปนกันได้ เนื่องจากได้ทำการออกแบบเวทีสำหรับการยกน้ำชา และส่วนของพิธีสงฆ์ ซึ่งจะเป็นไปตามลำดับขั้นตอนของพิธีแต่งงาน

ส่วนบริเวณด้านข้างและด้านหลังของพื้นที่ก็จะเป็นส่วนของ service ทั้งหมด ที่รวมถึงพื้นที่ส่วน service ในการเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม ห้องน้ำ ส่วนของ office และรวมถึงห้องแต่งตัวของเจ้าบ่าวเจ้าสาวด้วย
โดยพื้นที่ทั้งหมดจะถูกแบ่งเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน เพื่อรองรับการใช้งานของกิจกรรมต่างๆ

‘ความโค้งมน’ ภาพลักษณ์ที่แสดงถึงความอ่อนโยนและโรแมนติก
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ในบริเวณพื้นที่ Aube แห่งนี้ เราก็คงจะสะดุดตากับรูปทรงโค้ง ซึ่งมีให้เห็นในเกือบทุกๆ ส่วนของพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นซุ้มประตู บริเวณทางเดิน บันได หรือแม้แต่รูปทรงของบานประตูและหน้าต่าง  โดยในขั้นตอนของการออกแบบ คุณวิทย์ก็ได้เล่าให้เราฟังว่า ที่เลือกออกแบบโดยใช้ทรงโค้ง มน หรือทรง Arch เพื่อเป็นตัวช่วยในการลบเหลี่ยม ลบมุม ลบเส้น และยังให้ความรู้สึกอ่อนนุ่ม และดูลื่นไหลมากกว่าการใช้ทรงเหลี่ยม นอกจากนั้นยังช่วยเน้นให้ ‘คน’ ที่ไปยืนอยู่ตรงจุดนั้นๆ ให้มีความเด่นชัดขึ้น




โดยในการเลือกใช้ทรง Arch คุณวิทย์มีการออกแบบแพทเทิร์นในการนำมาใช้ เพื่อให้งานออกแบบเป็นเอกลักษณ์ โดยการนำ Arch มาแบ่งครึ่ง แล้วจึงนำครึ่ง Arch นี้มาใช้ในการออกแบบจุดต่างๆ ด้วยวิธีการใช้ที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการนำมาซ้อนทับกัน การนำมุมมาบิดให้ชนกัน หรือแม้แต่การเล่นระดับในความสูงที่ไม่เท่ากัน ทำให้เกิดรูปแบบของสเปซที่มีมิติและแตกต่างกันไปในแต่ละจุด  เช่น facade ในบริเวณ
main hall ก็เกิดจากการนำครึ่ง arch มาซ้อนทับ (overlap) จนเกิดเป็นสเปซหรือทางเดินขึ้นมา

creditภาพ : PHTAA living design

บริเวณห้องหมั้นที่ถูกดีไซน์ให้เกิดเป็นทรงโค้งที่อยู่ในรูปแบบของสามมิติ ทั้งในบริเวณภายในและบริเวณหน้าต่าง เมื่อมีแดดจะทำให้เกิดมิติของแสงเป็นทรงโค้งแบบต่างๆ


บริเวณทางเดินหน้าห้องหมั้นก็ยังคงใช้ดีไซน์ที่เป็นความโค้ง เนื่องจากคุณวิทย์เองมองว่าขั้นตอนของการหมั้นเป็นเหมือนความประทับใจแรกของผู้หญิงในการที่จะแต่งงานหรือการได้รับอะไรบางอย่าง ในการออกแบบจึงเลือกใช้สีเข้ามาออกแบบด้วย โดยเลือกใช้เป็นสีชมพูแทนในส่วนของผู้หญิง และสีขาวแทนในส่วนของผู้ชาย สลับกันไปให้เกิดมิติ เพื่อสร้างสีสันที่มีความแตกต่างกัน


มองวัฒนธรรมไทยผ่านสไตล์โมเดิร์น
“ พอพูดถึงงานแต่งงาน ขั้นตอนของการแต่งงานมันค่อนข้างจะสำคัญในแง่ของ sequence ลำดับของมันในการเกิดขึ้น มันค่อนข้างชัดเจน เราก็ไปหาว่าจุดเริ่มต้นของมันเลยคืออะไร ถ้าพูดถึงความเป็นไทยก็คือ การแห่ขันหมากคุณวิทย์เล่าให้เราฟังถึงแนวคิดในการออกแบบ โดยได้ดึงเอาวัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของประเพณีแต่งงานอย่างการแห่ขันหมากเข้ามาผสมผสานกับการออกแบบ โดยจะเห็นได้ว่าบริเวณทางเดินด้านหน้า คุณวิทย์ได้ทำการออกแบบโดยตั้งใจให้เป็นพื้นที่สำหรับการแห่ขันหมากโดยเฉพาะ ซึ่งได้นำ
แพทเทิร์นของครึ่ง Arch มาสร้างมิติให้บริเวณตรงนี้ โดยการสลับกันไปมา และช่องเปิดที่แตกต่างกันในแต่ละช่องก็เปรียบเสมือน หน้าต่างของบ้านแต่ละบ้านเวลาแห่ขันหมากตามหมู่บ้านเหมือนประเพณีไทยในอดีต


จากภาพลักษณ์ของ AUBE ที่เราเห็นความมินิมอล โมเดิร์น เรียบและคลีนได้ขนาดนี้ เนื่องจากในการออกแบบเน้นให้สถาปัตยกรรมเป็นตัวช่วยส่งเสริมองค์ประกอบอื่นๆในงาน จึงเลือกใช้โทนสีขาวเพื่อทำให้ object อื่นๆ ดูเด่นขึ้นมากกว่า ทำให้ถ่ายรูปออกมาได้สวยงาม แต่ในโทนสีขาวทั้งหมดของ AUBE นี้ คุณวิทย์ก็เลือกใช้วัสดุที่มีความแตกต่างกันในบางส่วนของพื้นที่ เช่น ส่วนของทางเดินเชื่อมเข้าสู่ Main hall จะใช้วัสดุปูนที่ให้ความรู้สึกเนี้ยบ เรียบๆ แต่ส่วนโครงสร้างบริเวณคอร์ดตรงกลางจะใช้ เทอร์ราซโซ (Terrazzo) หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าหินขัด เพื่อเพิ่มเอกลักษณ์ให้สีขาวเกิดโทนที่แตกต่างและไม่จำเจ



คุณวิทย์–พลวิทย์ สถาปนิกจาก PHTAA living design

ถึงแม้ว่าสถาปัตยกรรมจะเป็นสิ่งที่ไม่มีความรู้สึก แต่คงจะดีไม่น้อยหากมันจะทำหน้าที่เป็นตัวส่งเสริมให้มนุษย์เกิดความรู้สึก มีความสุข ความปิติ ความยินดี เช่นเดียวกับที่คุณวิทย์ได้บอกกับเราว่า  “สถาปนิกคือเราต้องเข้าใจคนอย่างที่สุด เราถึงจะทำงานออกแบบได้  สถาปัตยกรรมมันไม่สามารถตอบคำถามทุกอย่างได้  มันสามารถทำให้สิ่งมีชีวิตตอบคำถามตัวเองได้ แต่ว่ามันไม่สามารถตอบคำถามสิ่งมีชีวิตได้ด้วยตัวมันเอง”

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading