OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

FOOTHILL HOUSE บริบท วัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ สู่บ้านที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข

Location: เชียงใหม่
Architecture: ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ จาก SITE-SPECIFIC: ARCHITECTURE AND RESEARCH
Story : ศุภิสรา เทียมมณีเนตร
Photographs: Usssajaeree Studio 

  “บริบทหรือ context เป็นข้อมูลที่สำคัญที่สุดที่คุณจะเอามาออกแบบบ้านหนึ่งหลัง เราเชื่อว่าสถาปัตยกรรมที่ดีมันต้องสร้างมาเฉพาะที่ตรงนั้น ถ้าบ้านหลังนี้ย้ายไปที่อื่นการออกแบบมันก็จะถูกเปลี่ยนไป บ้านแต่ละหลังมันถูกจงใจสร้างขึ้นเพื่อเจ้าของ ผู้ร่วมอยู่อาศัยกับเจ้าของและก็พื้นที่นั้น”

 

บ้านที่สร้างขึ้นมาจากบริบท ไม่ใช่สร้างขึ้นเพื่อจำลองบรรยากาศอย่างเดียว แต่เกิดจากความตั้งใจในการค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำมาซึ่งบ้านที่มีความเฉพาะถิ่น ลงตัวและกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมของ “คุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง SITE-SPECIFIC : ARCHITECTURE & RESERCH การให้ความสำคัญในการเลือกใช้วัสดุและรูปทรงต่างๆ ที่นำมาออกแบบโดยไม่ได้มองแค่สวยงามอย่างเดียว แต่ยังประยุกต์ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยอีกด้วย


คุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง SITE-SPECIFIC : ARCHITECTURE & RESEARCH

เริ่มต้นจากเจ้าของบ้านที่ต้องการบ้านพักตากอากาศสไตล์อังกฤษและชอบสังสรรค์กับเพื่อน รวมทั้งยามว่างชอบชวนกันมาเที่ยวเชียงใหม่ จึงเกิดความคิดที่จะสร้างบ้านหลังนี้และปรึกษากับสถาปนิกถึงความต้องการของเจ้าของบ้าน เนื่องจากเจ้าของเป็นนักเรียนที่อังกฤษมาก่อนและชอบบรรยากาศที่นั่น สถาปนิกเริ่มศึกษาหาความเชื่อมโยง เพราะไม่เชื่อเรื่องการสร้างบ้านที่จำลองบ้านขึ้นมาตั้งเหมือนกับดิสนีย์แลนด์ แต่มันต้องเกิดขึ้นมาเฉพาะที่ตรงนี้ หากย้ายไปตั้งที่อื่นรูปแบบก็ต้องเปลี่ยนไปตามบริบท การค้นคว้าหาความเชื่อมโยงนั้นทำให้พบว่ามีวัสดุที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้นั่นก็คือ อิฐ ไม้และ White wash wall หรือก็คือผนังขาวทึบที่เราเห็นกันทั่วไป ส่วนรูปทรงหลังคาหน้าจั่วนั้นคล้ายกับเรือนไทย เลยนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบและดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยของบ้านหลังนี้

บ้านกลุ่มหลังนี้ถูกแบ่งออกเป็น 5 หลัง โดยการเอาบ้านเรือนไทยมาเป็นต้นแบบในการออกแบบและการจัดเรียงรูปแบบอาคาร ปรับให้เหมาะสมกับไลฟ์ไตล์ของคนในปัจจุบัน รวมไปถึงความต้องการและวิถีชีวิตของเจ้าของบ้านด้วย ซึ่งจะแบ่งออกเป็นเรือนรับแขก เรือนห้องนอนแขก เรือน Master Bedroom แล้วก็เรือนเซอร์วิสต่างๆอีกสองเรือน

 

– ปิดกั้น เปิดกว้าง โอบล้อมด้วยบริบทเดียวกัน –
เจ้าของบ้านชอบจัดงานสังสรรค์กับเพื่อนที่บ้าน ทำให้สถาปนิกออกแบบผังตามผู้ใช้ โดยแบ่งความเป็นส่วนตัวให้กับเจ้าของบ้าน เพื่อนและบุคคลภายนอกไว้ ซึ่งการออกแบบผังแบบนี้จะสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้แต่ละประเภทแตกต่างกันไป เนื่องจากพื้นที่ถูกแบ่งออกเป็น 5 หลัง หลังแรกคือเรือนของเจ้าของที่สามารถเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่และมองเห็นการใช้งานของผู้ใช้กลุ่มอื่นได้ ในขณะที่เพื่อนนั้นสามารถเข้าใช้พื้นที่ที่เป็นเรือนรับแขกและเรือนห้องพักแขกได้ รวมทั้งยังสามารถมองเห็นเรือนเจ้าของบ้านและอัฒจันทร์ได้อีกด้วย แต่ก็ถูกผนังอิฐโปร่งบดบังสายตาไว้อยู่เล็กน้อยเพื่อความส่วนตัว ส่วนแขกภายนอกนั้นจะถูกผนังทึบบังสายตาเพื่อให้ไม่สามารถมองเห็นเรือน Master Bedroom ได้ จนกว่าจะผ่านเข้าประตูเรือนรับแขกที่สามารถทะลุเข้าไปยังพื้นที่ส่วนกลาง ที่มีบ่อน้ำเป็นจุดเชื่อมอาคารแต่ละหลังไว้และถูกโอบล้อมไปด้วยวิวทิวเขาที่สวยงามของจังหวัดเชียงใหม่นั่นเอง


ช่องประตูบริเวณเรือนรับแขก

– หนักแต่เบา ทึบแต่โปร่ง –
หากสังเกตแล้วจะพบวัสดุที่น่าสนใจของบ้านเรือนกลุ่มนี้ว่า มีการใช้ “อิฐ” มาออกแบบพื้น ผนังอาคารและผนัง Façade บริเวณอัฒจันทร์ ที่เชื่อมโยงมาถึงส่วนของ Master bedroom โดยนำอิฐมาเรียงเป็นรูปแบบสามเหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปเรื่อยๆ จนเกิดโครงสร้างที่แข็งแรงและมั่นคงแล้วยึดด้วยโครงเหล็กเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กำแพงเพิ่มขึ้นอีก การใช้อิฐทำพื้นทางเท้าหรือแม้กระทั่งผนังด้านในอาคารนั้น ต้องนำอิฐสองแผ่นมาต่อกันก่อนแล้วจึงนำไปก่อเป็นผนังและพื้น จากนั้นใช้โครงเหล็กและผนังขาวทึบมาตัดให้เกิดความหลากหลาย การใช้อิฐมาออกแบบในครั้งนี้ ถูกท้าทายด้วยความต้องการของสถาปนิกที่ต้องการจะออกแบบให้อิฐมีความเบาและโปร่ง ซึ่งขัดแย้งกับภาพของอิฐที่ดูหนักและทึบตัน ความท้าทายนี้ทำให้เกิดผนังอิฐโปร่งที่ช่วยบดบังสายตาของแขกในการมองเห็นห้อง Master Bedroom ด้วยความร่วมมือที่ดีของช่างฝีมือที่พร้อมจะท้าทายทำสิ่งที่แปลกใหม่ไปพร้อมกับสถาปนิกด้วยนั่นเอง

ความพิเศษของการเลือกใช้อิฐนั้นมาจากสถาปนิกศึกษาบริบทตรงนี้ว่ามีเตาเผาอิฐอยู่ ดังนั้นการนำอิฐมาใช้นอกจากจะสอดคล้องกับบ้านสไตล์อังกฤษที่ลูกค้าต้องการแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความเฉพาะถิ่นของที่นี้ด้วยเพราะมีการใช้อิฐอยู่แล้ว จึงเกิดการผสมผสานกันออกมาเป็นบ้านหลังนี้ ซึ่งอิฐเป็นตัวกำหนดสถาปัตยกรรมไม่ว่าจะเป็นรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามผนังอาคาร พื้นทางเดิน ขนาดเสาที่หุ้มโครงสร้าง และความยาวของอาคาร เราจะพบว่าทุกส่วนล้วนแสดงกลิ่นอายของบ้านสไตล์อังกฤษให้เราได้เห็น ถึงแม้จะถูกประยุกต์มาใช้ร่วมกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่มีความเป็นไทยผสมอยู่ด้วยก็ตาม

– ปิดกั้น เปิดกว้าง โอบล้อมด้วยบริบทเดียวกัน –
“บ้านอยู่อาศัยต้องอยู่สบาย ยิ่งเป็นบ้านพักตากอากาศที่อยู่ในเมืองที่อากาศดีแล้ว บ้านควรมีการเปิด และอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้แอร์ในการให้ความเย็น การเรียงตัวของบ้านเลยเกิดมาจากการวิเคราะห์แสงแดดและลมในแต่ละฤดู รวมถึงความยาวของชายหลังคาและสิ่งต่างๆนั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกคำนวนมาหมดแล้วว่า สามารถอยู่ได้ด้วยอากาศจากธรรมชาติ” เป็นการออกแบบที่สร้างขึ้นมาจากบริบทจริงๆ เพราะหากเราย้ายบ้านกลุ่มนี้ไปตั้งที่อื่น แน่นอนว่ารูปแบบการจัดเรียงอาคาร รูปทรงและวัสดุที่ใช้ก็อาจจะเปลี่ยนไปตามบริบทนั้น เพราะบ้านหลังนี้ถูกออกแบบให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศแล้วนั่นเอง

การสร้างบ้านหลังนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายในการออกแบบ รวมถึงการศึกษาหาอัตลักษณ์ วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ และวัฒนธรรมของบ้านทางเหนือ ที่ทำให้เกิดเป็น Master Plan นี้ โดยบ่อน้ำที่อยู่ตรงกลางกลุ่มเรือนนั้น ถือเป็นอัตลักษณ์ของบ้านทางเหนือที่ต้องมีบ่อน้ำอยู่ทุกบ้านแต่ห้ามถูกปกคลุม ทำให้เมื่อนำมาสร้างแล้วกลมกลืนไปกับพื้นที่และช่วยในการสะท้อนวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นออกมา พื้นที่ตรงนี้เปิดกว้างและเป็นศูนย์กลางได้อย่างน่าประหลาดใจ ด้วยความต้องการของเจ้าของบ้านที่ชอบงานสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ทำให้การออกแบบมีความสนุกขึ้น โดยที่พื้นที่ข้างหน้าห้องรับแขกจะเป็นลานกว้าง ซึ่งลานนี้ต่อเนื่องกับหลังคาของห้อง Master Bedroom ที่เป็นสวนอยู่ข้างบนและข้างหน้าเป็นอัฒจันทร์สำหรับเวลาจัดงานสังสรรค์ โดยสามารถใช้พื้นที่บริเวณนี้ในการนั่งสังสรรค์ได้เลย และเจ้าของชอบดูหนังมาก  ดังนั้นในวันที่อากาศดีสามารถกลายเป็นที่ฉายหนังกลางแปลงได้เลย ซึ่งทั้งหมดนี้ทำขึ้นมาเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านโดยตรง

บ้านหลังนี้อาจกล่าวได้ว่า “บริบทสร้างบ้าน” เนื่องจากจุดเริ่มต้นทั้งหมดคือการผสมผสานวัฒนธรรมสองวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นบ้านที่กลมกลืนไปกับวัฒนธรรมของพื้นที่ ถึงแม้ว่าจะมีความโดดเด่นอยู่บ้างด้วยการออกแบบ แต่สถาปนิกก็ลดทอนมันลงมาด้วยการใช้วัสดุพื้นถิ่นมาช่วยทำให้พื้นที่สามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งการนำอัตลักษณ์มาทำให้บ้านหลังนี้สะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ดังนั้นวิถีชีวิตของเจ้าของบ้านและบริบทโดยรอบช่วยทำให้เกิดบ้านหลังนี้ขึ้นมาได้อย่างลงตัวนั่นเอง

“บริบทมันเป็นข้อมูลที่สำคัญที่สุดในการนำมาออกแบบบ้านหนึ่งหลัง ไม่ว่าจะเป็นสภาวะอากาศ แสงแดด วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เพราะบริบทเปลี่ยน ไลฟ์สไตล์ก็เปลี่ยน สถาปัตยกรรมที่ดีมันต้องขึ้นอยู่กับบริบทและวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นๆ”

 

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading