OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

The HACHI Skyscape จากเส้นของขอบเขตที่ว่าง เกิดเป็นบ้านไม้ทรงกล่องบนพื้นระดับอากาศ

Location : Ladprao soi3 , Chompol , Bangkok
Owner : ขจี เกศจุมพล
Architect :
วิน ธาวิน หาญบุญเศรษฐ จาก WARchitect

หลายคนคงคุ้นเคยกับภาพของบ้านตึกแถว ซึ่งบริเวณชั้นบนหรือดาดฟ้าจะมีพื้นที่ว่างที่มักใช้เป็นพื้นที่ส่วน service ในการวางแทงก์น้ำ เก็บของ หรือใช้ทำกิจกรรมง่ายๆ ที่ทุกบ้านจะต้องมี อย่างเช่น เอาไว้เป็นพื้นที่ส่วนการซักผ้า หรือตากผ้า ที่สุดท้ายแล้วก็มักจะถูกละเลยและปล่อยทิ้งไว้เป็นที่โล่งเปล่าๆ โดยไม่มีฟังก์ชันอะไรมากมาย ซึ่งแตกต่างจากบ้าน  The HACHI Skyscape  หลังนี้ที่ปรับเปลี่ยนและรวมหลายฟังก์ชันภายในบ้านไว้บนพื้นที่ดาดฟ้าที่มีขนาดจำกัด ซึ่งได้คุณ วิน ธาวิน หาญบุญเศรษฐ สถาปนิกจาก WARchitect มาเป็นผู้ออกแบบ

 

โดยในตอนแรกเริ่ม คุณวินได้เล่าให้เราฟังว่า ทางเจ้าของเขามีที่ดิน 100 ตร.วา และด้วยทำเลที่ตั้งในบริเวณย่านลาดพร้าวจึงทำให้ที่ดินตรงนี้ค่อนข้างมีราคาสูง จึงเลือกที่จะสร้างพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมาเป็น Hachi Serviced Apartment จำนวน 5 ชั้น เพื่อเป็นธุรกิจในการหารายได้เสริมของครอบครัว ส่วนพื้นที่บริเวณดาดฟ้าจะเป็นที่วางของแทงก์น้ำ และเนื่องจากพื้นที่เหลือค่อนข้างเยอะ ทางเจ้าของจึงริเริ่มความคิดที่จะสร้างบ้านของตัวเองเพิ่มเข้าไปด้วย

ภาพลวงตาของ ‘บ้าน’ ที่เกิดขึ้นในบริบทที่แตกต่าง
“จริงๆ แล้วไอการที่มันอยู่บนดาดฟ้า ตอนแรกเราก็มองว่ามันเป็นข้อจำกัด  ด้วยขนาดพื้นที่มันเล็ก จะทำเป็นฟอร์ม ยังไงก็ไม่เห็น ก็เลยคิดว่า ไหนๆ จะทำฟอร์มให้มันหวือหวายังงั้นไม่ได้เนี่ย ก็ทำให้มันไม่มีฟอร์มไปเลย  ก็เลยต้องการให้เป็นสเปซเลย ลอยอยู่ในอากาศตัดกับท้องฟ้าของลาดพร้าวที่กำลังมีทาวเวอร์เครน มีตึกสูง แล้วอยู่ๆมีเฟรมนึง ขอบบางมากจนเหมือนไม่มีขอบ แล้วก็บรรจุสเปซลอยอยู่ในอากาศ” คุณวินเล่าให้เราฟังถึงแนวคิดของการออกแบบรูปทรงของตัวบ้าน โดยเราจะเห็นได้ว่าบ้านจะถูกออกแบบเป็นทรงกล่องโดยมีด้านเปิดเพียงด้านเดียว ซึ่งเปิดเข้าหาด้านติดถนนที่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของความเป็นเมืองย่านลาดพร้าวได้ และเพื่อไม่ให้ภาพรวมของตัวบ้านดูขัดแย้งกับอพาร์ทเมนต์บริเวณชั้นล่าง คุณวินจึงออกแบบทรงบ้านหลังนี้เป็นกล่องที่เหมือนจะไม่ใช่อาคาร ไม่รู้สึกถึงฟอร์ม เพื่อให้ไม่มีใครเห็นสังเกตุเห็นบ้านหลังนี้เมื่อมองจากพื้นถนน

เมื่อเราได้มีโอกาสมองจากภายนอกเข้าไปยังตัวบ้าน ก็สะดุดตากับบ้านไม้ทรงกล่องเรียบๆหลังนี้ เนื่องจากมีการยื่นพื้นออกมาให้ยาวกว่าปกติ จึงสามารถซ่อนขอบและโครงสร้าง ที่มองแบบผิวเผินจะไม่ปรากฏความหนาของพื้นผนังและหลังคา จนเหมือนจะไม่ใช่ของจริง คล้ายคลึงกับภาพวาดหรือภาพเรนเดอร์ในโปรแกรม แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น รูปร่างของหลังคาก็เป็นหลังคาทรงจั่วแบบพื้นฐานในแบบที่เราคงคุ้นเคยกันดี เพียงแต่ว่าระยะในการมองถูกจำกัดให้น้อยกว่าปกติ เมื่อเราเดินออกไปไม่ไกลพอ ตาของเราก็จะไม่สามารถมองเห็นยอดของทรงจั่วได้ว่าอยู่ตรงจุดไหน ทำให้เรามองเห็นฟอร์มของบ้านเป็นเพียงกล่องเรียบๆ เท่านั้น

ฟังก์ชันพื้นฐานของบ้านภายในพื้นที่จำกัด
เนื่องจากอาคารบริเวณชั้นล่างหรือที่เรียกว่า Hachi Serviced Apartment เป็นตึกแถว 5 คูหาเรียงต่อกัน ในการวางฟังก์ชันของตัวบ้านคุณวินจึงเลือกวางตามกริดของอาคารที่เกิดขึ้น ซึ่งฟังก์ชันที่เกิดขึ้นจะแบ่งออกเป็น 6 ส่วนด้วยกัน ก็คือ ห้องทานอาหาร ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องน้ำ คอร์ดกลางบ้าน และห้องครัว


Credit ภาพ : WARchitect

โดยส่วนของห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหารจะเป็น open plan ที่เชื่อมต่อกัน และมีประตูเชื่อมไปยังส่วนของห้องนอน ซึ่งพื้นที่ 3 ส่วนนี้สามารถมองเห็นวิวแบบพาโนรามาผ่านประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ ส่วนกริดด้านหลังจะเป็นส่วนของห้องน้ำและห้องครัว และคุณวินยังเลือกที่จะใส่คอร์ดไว้ที่บริเวณตรงกลาง ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากทุกส่วนของบ้าน ทำให้ทุกคนสามารถเห็นต้นไม้ตรงนี้เป็นเหมือน feature ของบ้าน นอกจากนี้คุณวินยังบอกด้วยว่า ถ้าเราเปิดกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่พวกนี้ออก ลมจะเข้ามาและช่วยระบายอากาศ เอาความร้อนออกไปทางคอร์ดได้

ส่วนของห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหารที่เป็น open plan สามารถเชื่อมต่อกัน และสามารถเปิดหน้าต่างบานกระจกเพื่อชมวิวทิวทัศน์เมืองย่านลาดพร้าว




บริเวณพื้นที่ส่วนของห้องน้ำและห้องครัวจะเปิดโล่งด้วยประตูกระจกบานเลื่อนที่สามารถเปิดเข้าไปยังบริเวณคอร์ดตรงกลางได้

นอกจากนั้นวัสดุหินกรวดที่เราเห็นกัน ไม่ว่าจะเป็นคอร์ดตรงกลาง หรือบริเวณสวนด้านหน้า คุณวิทย์ก็บอกว่าที่เลือกมาเป็นหินกรวดรถไฟ เพื่อให้ความรู้สึกดิบ ทน และในขณะเดียวกันก็ยังง่ายต่อการจะดูแลรักษา



‘ไม้’ วัสดุเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของความเป็นธรรมชาติ
อีกหนึ่งภาพลักษณ์ที่เราคงมองเห็นได้ง่ายๆ ในทุกๆ ส่วนของบ้านไม่ว่าจะเป็น พื้น ผนัง หรือฝ้า ก็คือ ‘ไม้เต็ง’  ซึ่งคุณวินเล่าเหตุผลในการเลือกใช้ไม้ชนิดนี้ให้เราฟังว่า “เจ้าของเขาเป็นช่าง เขาก็จะมีการไปซื้อวัสดุสำหรับใช้ทำบ้านลูกค้า ก็เลยไปซื้อไม้เต็งมาจากลาวอย่างถูกกฏหมาย นำเข้ามาเป็นคอนเทนเนอร์เลย ก็จะได้เรียกว่าคละ มีแบบไซส์สั้นไซส์ยาว มีรอยแมลงบ้าง มีตำหนิบ้าง พอจะไปใช้บ้านลูกค้าก็จะใช้ค่อนข้างยาก ก็เลยเอามาใช้กับบ้านหลังนี้”

ซึ่งแน่นอนว่าการทำงานกับวัสดุแต่ละชนิดก็ต้องมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป เนื่องจากมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน โดยคุณวินเองมองว่าข้อจำกัดหลักๆ ของการทำงานกับไม้เต็งก็คือความเป็นธรรมชาติของมัน โดยความแตกต่างของลวดลาย ขนาดที่แตกต่างกันของไม้แต่แผ่นก็ถือเป็นเสน่ห์อย่างนึง ที่ทำให้บ้านดูมีความรู้สึกและไม่แข็งทื่อจนเกินไป

“ผมว่าบ้านเนี่ยแตกต่างจากสถาปัตยกรรมประเภทอื่น ตรงที่บ้านเนี่ยมันเป็นความเป็นส่วนตัวมาก ซึ่งเจ้าของกับสถาปนิกอยากผลักดันให้มันไปถึงจุดไหน ไปถึงดีไซน์แบบไหนก็คือเป็นเรื่องส่วนตัวเลย อย่างบ้านหลังนี้เนี่ย อาจจะไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน” นี่คือคำตอบของคุณวินเมื่อเราถามถึงการออกแบบบ้าน 

‘บ้าน’ คงเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นส่วนตัวมากที่สุด ซึ่งความเป็นส่วนตัวในที่นี่ก็คงจะมองได้ 2 อย่าง แบบแรกคงพูดได้ว่า บ้านเป็นพื้นที่ของความเป็นส่วนตัวที่เราคงไม่อยากให้ผู้อื่นรุกล้ำเข้ามาหรือต้องการให้ใครมองเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในบ้านมากนัก ส่วนความเป็นส่วนตัวในอีกหนึ่งความหมายก็คือ บ้านเป็นสถาปัตยกรรมเฉพาะที่ของผู้อยู่อาศัย เพราะเป็นสิ่งที่ถูกสร้างตามความต้องการของเจ้าของบ้านหรือผู้อยู่อาศัยโดยเฉพาะ