OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Double S specialty coffee เติมเต็มความรู้สึกของการดื่มกาแฟผ่าน ‘วัสดุ’ ในงานออกแบบ

Designer: คุณเศรษฐการ ยางเดิม และ คุณภาพิศ ลีลานิรมล จาก TOUCH Architect
Location: สุขุมวิท 64 ,กรุงเทพฯ
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

จากการที่เรามีโอกาสได้พูดคุยกับสถาปนิกมาหลายครั้ง หลายๆ คนก็มักจะพูดไปในทางเดียวกันว่า งานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดีควรสร้างความรู้สึกบางอย่างให้กับผู้ใช้งาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดประสบการณ์ที่ดี สร้างความทรงจำในการเข้าไปยังพื้นที่นั้นๆ  เช่นเดียวกับการออกแบบร้านกาแฟ  Double S specialty coffee แห่งนี้ ที่ คุณเศรษฐการ ยางเดิม และ คุณภาพิศ ลีลานิรมล สองสถาปนิกจาก TOUCH Architect เลือกที่จะออกแบบโดยสร้างความรู้สึกต่อผู้เข้ามาเยี่ยมเยือนให้นึกถึงกลิ่นอายของโรงกาแฟเก่าๆ ผ่านการออกแบบร้านใหม่โดยผสมผสานวัสดุต่างๆ ในงานสถาปัตยกรรม


คุณภาพิศ ลีลานิรมล และ คุณเศรษฐการ ยางเดิม สองสถาปนิกจาก TOUCH Architect

จุดเริ่มต้นจากปัญหาสู่การแก้ไขด้วยงานออกแบบ
“เริ่มแรกที่เราเข้ามาดูไซต์ ตรงนี้มันเป็นอาคารให้เช่า สิ่งที่เราเห็นอย่างนึงเลยคือ มันไม่สามารถเข้าถึงได้โดยตรงจากภายนอก ซึ่งต้องมองจากถนนเท่านั้นถึงจะเห็นร้าน อย่างที่สองคือ พื้นที่ของร้านที่มีขนาดเพียง 35 ตร.ม. ซึ่งค่อนข้างจะมีขนาดจำกัดมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่แวบเข้ามาในหัว คือเราไม่สามารถเล่นกับ space ได้เลย ส่วนอีกอย่างหนึ่งคือ เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวอาคารได้เลย เพราะทางเจ้าของตึกเขาไม่ให้ทำ นี่ก็เป็นปัญหาสามอย่างที่เราเห็น เท่ากับเราต้องทำการออกแบบทุกอย่างแค่เพียงภายในร้าน แต่จะทำยังไงให้คนสามารถมองเห็นจากถนนได้ คุณเศรษฐการและคุณภาพิศ เล่าให้เราฟังถึงข้อจำกัดหลักๆจากบริบทพื้นที่  ซึ่งถือเป็นโจทย์หลักในการออกแบบโดยแก้ไขปัญหาเหล่านี้


ประกอบกับผลิตภัณฑ์ที่ทางร้านเน้นขายนั้น จะเป็นกาแฟดริปและมีส่วนพื้นที่ขายเบเกอรี่ด้วย ตัวผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงถือเป็นอีกโจทย์ที่ทำให้ผู้ออกแบบต้องใส่ใจเป็นพิเศษ แต่นอกเหนือจากเรื่องของผลิตภัณฑ์แล้ว ในแง่ของความสวยงามทางเจ้าของร้านเองไม่ได้กำหนดแน่ชัดว่าตัวร้านนั้นจะต้องเป็นรูปแบบหรือสไตล์ไหน ผู้ออกแบบจึงต้องมาตีโจทย์งานออกแบบของตนเองว่าแนวทางไหนถึงจะตอบโจทย์กับคนทุกกลุ่มมากที่สุด ซึ่งนั่นก็คือ ผู้ใช้งาน เจ้าของร้านและตัวสถาปนิกเอง



‘วัสดุ’ คีย์เวิร์ดสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนอารมณ์และความรู้สึกของคน

จากที่เราได้บอกไปข้างต้นว่าด้วยขนาดของตัวร้านที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก และด้วยฟังก์ชันที่ถูกกำหนด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องชงกาแฟ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีภายในร้าน ทำให้ขนาดของร้านถูกจำกัดมากขึ้นไปอีก สิ่งเหล่านี้จึงเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ออกแบบไม่สามารถเข้าไปทำอะไรกับตัว space ได้มากนัก คุณเศรษฐการจึงเล่าถึงแนวคิดของการออกแบบร้านกาแฟแห่งนี้ให้เราฟังว่า “เรามีความเชื่อว่าสถาปัตยกรรมสามารถเปลี่ยนความรู้สึกของคนได้ เราก็เลยมาคิดกันใหม่ว่า ถ้าเราไม่สามารถเล่นกับ space ได้แล้ว เราจะเล่นกับอะไรดีที่มันสามารถเปลี่ยนความรู้สึกคนได้ ก็เลยกลับมามองที่ตัววัสดุ ว่าวัสดุแบบไหนที่จะช่วยสร้างความรู้สึกให้คนที่มาดื่มกาแฟได้ดี



ถึงแม้ตัวร้านจะไม่ใหญ่มากนัก แต่เมื่อเข้าไปนั่งภายในร้าน เราก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัด หรือรู้สึกว่าทึบตันแต่อย่างใด โดยจะสังเกตุเห็นได้จากความคุมโทนของสีวัสดุภายในร้าน และบรรยากาศที่โปร่งด้วยกระจกรอบด้าน ซึ่งผู้ออกแบบเองเลือกที่จะสร้างบรรยากาศของพื้นที่แห่งนี้ให้รู้สึกถึงโรงกาแฟเก่าๆ โดยมองว่าวัสดุที่แสดงถึงความดิบ หรือเป็นวัสดุพื้นฐานจะสามารถดึงความรู้สึกของคนในการดื่มกาแฟได้มากกว่านั่นเอง


สัจจะวัสดุพื้นฐาน การผสมผสานที่ธรรมดาแต่พิเศษ
ด้วยองค์ประกอบ และลักษณะของผลิตภัณฑ์ภายในร้านกาแฟ สถาปนิกจึงออกแบบโดยเลือกใช้วัสดุที่มันค่อนข้างเป็นสีโทนเดียวกัน ช่วยคุมโทนภายในร้าน เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นจุดขายของร้านกาแฟนั้นโดดเด่นมากขึ้น  



เมื่อมองเข้าไปยังตัวร้าน บริเวณผนังเราจะสังเกตุเห็นแพทเทิร์นของอิฐบล็อกที่นำมาจัดเรียงได้แปลกตา สวยงามไปอีกแบบ ซึ่งแพทเทิร์นนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากการวางสต็อกสินค้าในร้านขายวัสดุก่อสร้าง  เมื่อนำมาจัดเรียงบนผนังแบบสุ่ม ก็ช่วยสร้างความน่าสนใจในการออกแบบ และเข้ากับวัสดุอื่นๆได้ดี


เมื่อพูดถึงบรรยากาศของโรงกาแฟเก่าๆ หลายคนมักจะนึกถึง บานไม้ที่ตีซ้อนเป็นเกล็ด แต่ด้วยความที่พื้นที่บริเวณนี้มีส่วนหนึ่งของร้านที่สามารถมองเห็นได้โดยตรงจากถนน ทางผู้ออกแบบจึงต้องการสร้างความรู้สึกอะไรบางอย่างที่ทำให้มองเข้ามาแล้วรู้สึกแปลกใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถมองเห็นกิจกรรมภายในร้านได้ ซึ่งหากเลือกใช้ ไม้ มาออกแบบอาจจะไม่เหมาะสม เนื่องจากจะทำให้ร้านซึ่งมีขนาดพื้นที่จำกัดอยู่แล้วดูทึบและแคบลงไปมากกว่าเดิม ผู้ออกแบบจึงเลือกใช้วัสดุที่คุ้นตาจากบ้านรูปแบบเก่า อย่าง กระจกบานเกล็ด มาเป็นตัวแทนที่ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกัน และเป็นวัสดุที่โปร่งและมองเห็นภายในร้านได้อีกด้วย



นอกจากนี้ในส่วนของวัสดุแสตนเลสบริเวณเคาน์เตอร์ก็ยังช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับตัวร้าน ด้วยลักษณะของวัสดุที่มีความมัน เงา และเรียบ ซึ่งขัดกับคอนกรีตเปลือยที่ผิวดูด้าน ทำให้เกิดความแตกต่าง สร้างความน่าสนใจกับพื้นที่แต่ยังมีความเข้ากันได้ด้วยโทนสีของวัสดุที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งนอกจากจะทำให้ร้านดูเรียบง่ายแล้ว ยังสร้างลูกเล่นที่สร้างความน่าสนใจให้กับร้านมากขึ้น


สองสถาปนิกยังเล่าเสริมให้เราฟังด้วยว่า “การได้ทดลองใช้วัสดุพื้นฐานมาผสมผสานให้เกิดความเข้ากัน ทั้งตัวอิฐบล็อก กระจกบานเกล็ด แสตนเลส และคอนกรีตขัดมัน เราใช้วัสดุในการเปลี่ยนความรู้สึกของคน เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือเราจะนำวัสดุมามิกซ์กันยังไงให้คนที่เข้ามาใช้งานรู้สึกดี สังเกตุได้ว่าถ้าร้านนี้มีไม้โผล่มาสักอัน ความรู้สึกจะเปลี่ยนเลย มันก็เลยเป็นความสนุกที่เราได้ลองทำงานกับวัสดุ”


เมนูน่าสนใจสำหรับใครที่ชื่นชอบกาแฟ

สำหรับใครที่ชื่นชอบกาแฟ แนะนำให้มาลองชิมที่ร้าน ซึ่งทางร้านจะเน้นขายเป็นกาแฟร้อนและกาแฟดริป แต่สำหรับใครที่ไม่ใช่คอกาแฟ ทางร้านก็มีเมนูเบเกอรี่ที่น่ารับประทานไม่แพ้กัน นอกจากนี้ยังมีการหมุนเวียนเปลี่ยนเมนูกาแฟและเบเกอรี่ใหม่ๆ มาให้ลิ้มลองกันทุกๆ อาทิตย์อีกด้วย


Brownie Nutella 
เมนู signature ของทางร้าน (ราคา 70 บาท)


Latte
เมนูกาแฟพร้อมลวดลายสวยงามจากฟองนม (ราคา 100 บาท )


หลังจากได้ฟังแนวคิดในการออกแบบ Double S specialty coffee ก็คงถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่ใส่ใจความรู้สึกของผู้ใช้งาน เช่นเดียวกับที่คุณเศรษฐการ สถาปนิกผู้ออกแบบพูดกับเราไว้ว่า “สถาปัตยกรรมสามารถเปลี่ยนความรู้สึกของคนได้” ซึ่งหากใครสนใจหรือผ่านมาในย่านสุขุมวิท 64 ขอแนะนำให้ลองแวะมาชิม รับรองว่าจะต้องติดใจอย่างแน่นอน


Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading