สมดุลของร่างกายคือสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้กับเรา ถึงกิจกรรมในเวลากลางวันจะใช้งานหนักแค่ไหน แต่การพักผ่อนนอนหลับอย่างมีคุณภาพเป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุดสำหรับร่างกายและจิตใจ SLEEEP Bkk Silom คือตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เราเห็นว่า การเติมเต็มธรรมชาติของชีวิตในเรื่องการนอนหลับให้สมบูรณ์แบบขึ้นได้ จากความร่วมมือกันระหว่างเทคโนโลยีและงานดีไซน์
“โครงการของเราคือเทคโนโลยี ปัจจุบันเราใช้คำว่า เทคโนโลยีในความหมายของสิ่งอำนวยความสะดวก มันคือสิ่งที่ทำให้คนสะดวกมากขึ้น ชีวิตรวดเร็วมากขึ้น แต่ว่าทั้งตัว SLEEEP ทั้งตัวอาคารของเรา มันคือเทคโนโลยีที่ทำให้คนช้าลงจนไปถึงหยุดนิ่ง เหมือนไปสร้างบาลานซ์ให้กับชีวิตคน เพราะปัจจุบันเราเร็วกันจนไม่เป็นธรรมชาติ มันก็เหมือนกับเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้คนพยายามลดการใช้เทคโนโลยีด้วยเทคโนโลยี” นี่คือนิยามของ SLEEEP จากผู้ร่วมก่อตั้งและออกแบบทั้งสองท่าน คุณหนึ่ง – เอกภาพ ดวงแก้ว แห่ง EKAR Architects และ คุณโจ้ – คุณพัชระ วงศ์บุญสิน แห่ง POAR
SLEEEPER : จุดเริ่มต้นของ SLEEEP
SLEEEPER เป็นโปรดักต์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยที่ศึกษาสิ่งแวดล้อมรอบตัว ที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการนอนของมนุษย์ โดยตัว motion sensor หรือเซ็นเซอร์จับความเคลื่อนไหวแสดงระดับความหลับลึกของคน หรือปัจจัยอื่นๆ อย่างแสงแดด อุณหภูมิ เสียง รวมถึงสัดส่วน รูปทรงรอบตัว ในการค้นหาสภาวะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการนอน ด้วยขนาดของตัว SLEEEPER จะทำให้ร่างกายของเรารู้ตัวโดยจิตใต้สำนึกว่า มีพื้นที่เท่านี้ นอนแล้วไม่ขยับตัว ทำให้เกิดการนอนนิ่งจากจิตใต้สำนึก ซึ่งสัมพันธ์กับระดับความลึกของการนอนหลับ
จากผลของงานวิจัยทั้งหมด สะท้อนกลับไปยังแนวความคิดของการออกแบบทั้งโปรแกรมโดยรวมและสถาปัตยกรรมที่ว่า ธรรมชาติของมนุษย์ตั้งแต่ช่วงเวลาระหว่างก่อนเข้านอนจนถึงเวลาที่นอนหลับจริง มีจุดเปลี่ยนผ่านจากปัจจัยแวดล้อมมากมายกว่าจะไปถึงเวลาเข้านอนจริง “จึงมาตอบโจทย์ที่ว่า SLEEEP Bkk Silom ต้องสอดคล้องไปกับลำดับการเข้าถึงและปรับภาวะทางอารมณ์ของมนุษย์ ที่ล้วนต่างคนต่างมาจากพื้นที่ของประสบการณ์ที่แตกต่างกัน”
“ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดมันไม่ใช่ปลายทาง และไม่ใช่จุดเริ่มต้น” คุณหนึ่งเล่า “ส่วนที่สำคัญที่สุดที่เราสนใจมันจะกลายเป็นว่า นอกจากตัว SLEEEPER เองที่โฟกัสที่การนอนจริงๆ ส่วนโปรเจ็คต์นี้เราสนใจกับขั้นตอนระหว่างการที่กำลังตื่นไปสู่การนอน มันจึงเกิดเป็นการออกแบบแนวคิดทั้งหมดของสถาปัตยกรรมนี้ ว่าเราทำทุกอย่างที่อยู่ระหว่างทาง”
ภาษาของสถาปัตยกรรมระหว่างทาง
คุณโจ้เล่าให้เราฟังถึงแนวคิด ที่ถูกแตกย่อยออกมาเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม “ถ้าสมมติว่ามองเป้าหมายของทั้งโครงการ คือการใช้เทคโนโลยีที่นำไปสู่การนอนหลับ ตัวสถาปัตยกรรมมีเป้าหมายเดียวกันจริง แต่เราใช้เทคนิคหรือว่าใช้ภาษาที่ตรงกันข้าม คือเราใช้ความ primitive หรือความที่มันไม่มีเทคโนโลยีเลยมาทำงานออกแบบ”
เริ่มต้นจากส่วนล็อบบี้ที่ต้อนรับผู้เข้าพักด้วยโถงทรงโค้งรูปไข่ก่อด้วยอิฐมอญโชว์ผิวทั้งหมด ซึ่งมีเหตุผลเบื้องหลังทางจิตวิทยา “เราเลือกที่จะทำให้เกิดความไม่สบายใจ ความไม่คุ้นเคยขึ้นมา ด้วยเท็กซ์เจอร์หยาบหรือพื้นที่ไม่เท่ากัน ซึ่งความไม่สะดวกสบายในการใช้งานจะทำให้คนเคลื่อนตัวช้าลง”
“เราใช้การ gradient ของแสง ระหว่างทางจากสว่างค่อยๆ มืดลงเรื่อยๆ จริงๆ แล้ว เราใช้แสงประเภทเดียวกันคือ LED เส้น แต่ด้วยระยะของแสงที่มันไม่เท่ากัน อย่างในห้องล็อกเกอร์ที่สูงจากพื้น 2 เมตรกว่า มีพื้นสีขาวสะท้อนทำให้ห้องดูสว่าง ขึ้นไปยังบันไดที่แสงไฟติดอยู่กับราวกันตกที่สูงประมาณ 1 เมตร ก่อนเข้าไปสู่ห้องพักที่แสงอยู่ราบติดกับพื้น ซึ่งมีระยะเท่ากับศูนย์ แสงก็จะมืดที่สุด ความเป็นไปได้ในการเกิดกิจกรรมมันจะน้อยลง”
สีดำ สีที่เป็นธรรมชาติที่สุด
ทุกสิ่งที่กล่าวมา ตั้งแต่เรื่อง SLEEEPER ไปจนถึงสถาปัตยกรรมของ SLEEEP Bkk Silom อ้างอิงความเป็น ‘ธรรมชาติ’ ของมนุษย์ทั้งสิ้น และสีดำคือสีของธรรมชาติที่ทุกคนเห็นพ้องและมองว่าเป็นสีเดียวกัน “แค่เราหลับตา ทุกคนก็เห็นสีเดียวกันทั้งหมดแล้วครับ เราก็มองว่าความรู้สึกนี้ เป็นความรู้สึกที่ทำให้มนุษย์ผ่อนคลายและเข้าใกล้ธรรมชาติที่สุด”
นอกเหนือจากสีดำภายในคือฟาซาดสีดำส่วนหน้า ที่ก่อนหน้าเคยเป็นผ้าใบกันฝุ่นสำหรับงานก่อสร้าง แต่ระหว่างงานก่อสร้างเอง ผ้าใบตัวนี้ก็กลายเป็นคาแร็กเตอร์ที่คนจดจำกับตัวอาคารไปแล้ว นักออกแบบจึงเลือกใช้ผ้าใบนี้เป็นพื้นที่สื่อสารบริการของอาคารโรงแรมที่ไม่เคยปิดตลอด 24 ชั่วโมง
“องค์ประกอบเดียวที่ถูกเปิดตลอดเวลาคือแอร์ ซึ่งเราทำอย่างไรให้แอร์ตัวนี้มันเกิด movement หรือมันทำให้มันเล่นอะไรกับตัวผ้าใบตัวนี้ขึ้นมาได้ ง่ายๆ เลยคือเราใช้ลมจากแอร์เป่าให้ผ้าใบมันปลิว แล้วคนที่เดินผ่านก็จะรู้ว่า การปลิวตัวนี้มันเกิดขึ้นเพราะมีการใช้งานอยู่ข้างใน เป็นการสื่อสารโดยที่ไม่ต้องมีคำพูด ไม่ต้องมีป้าย และ movement มันไม่เหมือนกันอยู่แล้วครับ สมมติว่าเรามีคนพักน้อย เราก็เปิดแอร์สองชั้น movement มันก็จะมีแค่ 2 ชั้น มันสื่อสารตรงตัวเลยว่า สิ่งที่มันเกิดขึ้นข้างในมันทำให้แพตเทิร์นของลมที่มัน flow มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ฟาซาดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร”
ส่วนวัสดุภายใน SLEEEPER คือพื้นที่นอนหลับขนาด 1 x 2 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ทำให้มนุษย์รู้สึกผ่อนคลายและปลอดภัยที่สุด โครงสร้างเหล็กกรุล้อมด้วยไม้จริงไร้รอยต่อทั้งหมด ระบบการเปิดปิดใช้แบบม้วนพับที่เพียงเห็นก็เข้าใจได้เลยว่าเปิดปิดอย่างไร โดยวัสดุห่อหุ้มสามารถกันเสียงได้จากภายนอก และกันเสียงจากภายในส่งไปข้างนอก แต่ก็ยังอนุญาตให้ลมเข้ามาได้ ข้างในก็จะมีระบบระบายอากาศที่สามารถปรับความแรงความเบาของลมให้พอดี รวมทั้งปรับดิมระดับของแสงไฟและอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการนอนจาก motion sensor ที่อยู่ใต้เบาะนอน
หยุดนิ่ง ผ่อนคลาย
หากการนอนคือการพักผ่อนของร่างกาย การนวดผ่อนคลายก็คือการพักผ่อนของจิตใจ ที่ชั้นล่างของ SLEEEP Bkk Silom จึงเปิดให้บริการสปาเพื่อการพักผ่อนที่อ้างอิงจากหลักการเปลี่ยนผ่านระหว่างทางเช่นเดียวกันกับการนอน สร้างประสบการณ์การใช้สปาที่ผ่อนคลายได้อย่างเป็นส่วนตัวเช่นเดียวกันกับการนอน
ชีวิตที่แสนวุ่นวายจะทำให้ผู้คนยุ่งเหยิงทั้งกายและใจ การพักผ่อนนอนหลับจึงเป็นเครื่องสะท้อนสภาวะภายในจิตใจของคุณได้ดีที่สุด – เหนื่อยล้า กระวนกระวาย หรือกำลังสบาย และการได้กลับมานอนหลับพักผ่อนอย่างสมบูรณ์จะทำให้คุณมองเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้นอีก ทั้งเติมพลังให้กับร่างกายและพักจิตใจให้สงบนิ่ง พร้อมออกไปทำกิจวัตรประจำวันได้แบบเต็มที่ – Work Hard, Sleep Harder!