OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

PUAY Park for the People : อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี สวนสาธารณะแห่งความยั่งยืนของประชาชน

คงจะดีไม่น้อยถ้าในขอบเขตของพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ จะมีพื้นที่สวนหรือพื้นที่สีเขียวมารองรับการทำกิจกรรมต่างๆ และช่วยปรับสภาพอากาศในเมืองให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับสวนป๋วยที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ ที่เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่ช่วยเพิ่มบรรยากาศที่ดีและช่วยส่งเสริมผังแม่บทของธรรมศาสตร์ที่ต้องการให้เป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืนที่ใส่ใจธรรมชาติ และยังเป็นพื้นที่สีเขียวส่วนกลางสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบอีกด้วย


พื้นที่สาธารณะ
‘สวนของประชาชน’

เนื่องด้วยวิสัยทัศน์ของทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ต้องการปรับเปลี่ยนตนเองให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน ซึ่งได้มีการปรับปรุงผังแม่บทเพื่อส่งเสริมแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัย ประเด็นเหล่านี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปีแห่งนี้ โดยได้ทีมออกแบบสถาปัตยกรรมจาก อาศรมศิลป์และออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมโดย LANDPROCESS



ความพิเศษของสวนป๋วย คือ พื้นที่สาธารณะที่แสดงความโดดเด่นของการออกแบบทั้งสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมที่สวยงามและช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อาคารโดดเด่นด้วยรูปทรงตัว H โค้งที่เราเห็นนี้จะมีลักษณะที่ลาดเอียงลงมาคล้ายกับเนินดิน ทำให้พื้นที่ด้านบนของอาคารกลายเป็นพื้นที่สวนหลังคาขนาดใหญ่เพื่อปลูกพืชพรรณออร์แกนิก สำหรับใช้ภายในมหาวิทยาลัยผ่านระบบจัดการน้ำที่สามารถหมุนเวียนน้ำฝนมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และประชาชนโดยรอบและนักศึกษาสามารถเข้ามาใช้พื้นที่แห่งนี้ได้อย่างเต็มที่



ซึ่งเราได้มีโอกาสคุยกับ อาจารย์กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกจาก LANDPROCESS ผู้ออกแบบส่วนของพื้นที่สวนป๋วยแห่งนี้ โดยอาจารย์ได้เล่าเสริมให้เราฟังว่า สวนแห่งนี้นอกจากจะเน้นไปที่พื้นที่สีเขียวเกือบ 100 ไร่ที่เป็นสวนสาธารณะแล้วนั้น ด้วยความที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังขาดฟังก์ชันต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการรวมตัวของประชาชนโดยรอบ ในพื้นที่แห่งนี้จึงรวมหอสมุด ห้องหนังสือสำหรับประชาชน หอประชุมขนาดใหญ่ เอาไว้ในส่วนของอาคาร ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่รองรับการใช้งานของทั้งประชาชนและการใช้งานภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยนั่นเอง



อาจารย์กชกร วรอาคม
ภูมิสถาปนิกจาก LANDPROCESS ผู้ออกแบบส่วนของพื้นที่สวนป๋วย 100 ปี

สวนป๋วย 100 ปี กับแนวคิดในการออกแบบ

จากชื่อของสวน เชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นชื่อของ ‘อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์’ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญผู้สร้างเจตนารมณ์อันมากมายให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ หนึ่งในความประสงค์ของท่านก็คือการที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้ มีอากาศคุณภาพดีสำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ เพราะท่านถือเป็นบุคคลสำคัญในยุคนั้นที่ตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาของสิ่งแวดล้อม




อุทยานป๋วย 100 ปีนี้จึงเปรียบเสมือนพื้นที่ที่ระลึกถึงการครบรอบ 100 ปีชาตกาล ของ อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ โดยในแนวคิดของการออกแบบก็จะแฝงไปด้วยสิ่งที่สะท้อนถึงตัวตนของ อ.ป๋วยเอาไว้ ซึ่งสถาปัตยกรรมที่มีรูปร่างคล้ายกับพูนดินที่เราเห็นนี้ แท้จริงแล้วเป็นความหมายแฝงจากคำว่า ‘ป๋วย’ ที่แปลว่าพูนดินนั่นเอง หน้าตาอาคารจึงคล้ายกับภูเขาที่โอบล้อมไปด้วยพื้นที่สีเขียวบนหลังคาขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเหมือนแกนกลางของมหาวิทยาลัยที่จะดึงการใช้งานของคนภายในมหาวิทยาลัยและการเข้าถึงของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบให้เข้ามาใช้งานภายในสวน



พื้นที่สวนป๋วยขนาดเกือบ 100 ไร่ จะถูกแบ่งออกแบบเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ เกือบๆ 80 ไร่ และพื้นที่ส่วนอาคารอีก 20 ไร่ โดยรอบอาคารจะรายล้อมไปด้วยบ่อน้ำทั้ง 4 ด้าน ส่วนในตัวอาคารเองจะประกอบไปด้วยฟังก์ชันที่รองรับการใช้งานภายในมากมาย อย่างเช่น ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ โรงอาหารออร์แกนิก หอประชุมขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการทำกิจกรรมและตั้งใจให้พื้นที่นี้เป็นเหมือน Social Learning Space ซึ่งเมื่อเดินเข้าไปในอาคาร เราจะสะดุดตากับสัดส่วนของหน้าต่างที่ค่อนข้างมาก ทำให้แสงธรรมชาติจากภายนอกสามารถส่องเข้ามาภายในอาคารเพื่อลดการใช้ไฟฟ้า นอกจากนั้นอุปกรณ์ภายในอาคารยังเป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงานทั้งหมด



โดยในการออกแบบอาคารนั้น รูปทรงตัว H ของอาคารยังแฝงไปด้วยความหมายของคำว่า ‘Humanity’ ซึ่งหมายถึงความเท่าเทียม เสมอกันของทุกคน สวนแห่งนี้จึงเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาใช้งานโดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งอีกหนึ่งจุดเด่นของพื้นที่แห่งนี้คือ พื้นที่สีเขียวบนหลังคาหรือ ‘Urban rooftop farm’ ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยมี ‘ความยั่งยืน’ เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ 



‘Green & Sustainable’ การออกแบบที่ตอบรับกับความยั่งยืน

“จริงๆ อาจารย์เป็นภูมิสถาปนิกที่ไม่ได้เน้นความสวยงามเป็นอันดับหนึ่ง เพราะมากกว่าความสวยงามนั้นเราจะต้องตอบโจทย์เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมก่อน ความงามเรื่องรูปลักษณ์ เรื่องพืชพรรณ อันนั้นไม่ใช่เรื่องยากมาก แต่เราจะเปลี่ยนโลกด้วยการออกแบบได้อย่างไร นั่นคือโจทย์ที่สำคัญมากกว่า” อาจารย์กชกรเล่าให้ฟังถึงการออกแบบโดยคำนึงถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อม



โดยในการออกแบบพื้นที่แห่งนี้จะเป็นการนำพื้นที่รกร้างของเมือง อย่างเช่น พื้นที่หลังคา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพื้นที่เหล่านี้ถือเป็นตัวสร้างปัญหา ปรากฏการณ์เกาะความร้อน หรือ Urban Heat Island ซึ่งเป็นตัวการของความร้อนและมลภาวะต่างๆมากมายในเมือง พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นการพลิกความคิดนำพื้นที่รกร้างเหล่านั้นกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยพื้นที่สีเขียวบนหลังคาขนาดใหญ่นี้จะช่วยลดการดูดซับความร้อนของหลังคาคอนกรีต และลดการปล่อยมลพิษต่างๆ มาสู่เมืองได้ 

นอกจากนี้พื้นที่สวนหลังคาแห่งนี้ยังนำแนวคิด ‘นาขั้นบันได’ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของไทยที่ช่วยกักเก็บน้ำมาใช้ในการหมุนเวียน เนื่องจากพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเหมือนพูนดิน ในการออกแบบจึงสร้างระบบของกระเปาะน้ำเอาไว้ในพูนดินเหล่านั้น เพื่อกักเก็บน้ำฝน เก็บดินแล้วก็นำมาใช้ปลูกพืช สร้างอาหารที่เป็นผักออร์แกนิก ส่วนบ่อน้ำที่กักเก็บน้ำอยู่โดยรอบก็จะถูกปั๊มขึ้นมาเพื่อให้รดน้ำต่อไป เป็นการหมุนเวียนน้ำในอยู่ในพื้นที่



มากไปกว่านั้นระบบจัดการน้ำภายในอุทยานฯ ยังเชื่อมโยงกับผังแม่บทเรื่องการระบายน้ำของมหาวิทยาลัย โดยมีการออกแบบให้ระบบคูและทางระบายน้ำของมหาวิทยาลัยเชื่อมกับสวน เมื่อมีน้ำ สวนแห่งนี้จะทำหน้าที่รองรับน้ำ และบำบัดน้ำด้วยพืชชนิดต่างๆ ก่อนที่จะปล่อยน้ำสู่ระบบคลองเดิมได้อีกด้วย



ส่วนแนวคิดในการใช้พืชพรรณของที่นี่ จะแตกต่างสวนสาธารณะอื่นๆ ตรงนี้เป็นพืชพรรณที่สามารถรับประทานได้ทั้งหมด เช่น ข้าว ต้นกระเพรา ต้นขนุน หรือไม้ยืนต้นที่ให้ผล ซึ่งในปัจจุบัน Food Production หรือการผลิตอาหาร ถือเป็นกระบวนการที่ปล่อยสารคาร์บอนค่อนข้างมาก ซึ่งสวนแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางออกของปัญหาเหล่านี้ โดยช่วยสร้างแหล่งอาหารที่อยู่ใกล้ตัวที่นำพืชผักที่ปลูกไปใช้สร้างอาหารภายในหมาวิทยาลัย นอกจากนั้น เศษอาหารที่เกิดขึ้นทั้งมหาวิทยาลัยยังสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยให้กับสวนแห่งนี้ได้อีกทอดหนึ่ง และพื้นที่ปลูกผักบนอาคารนี้ยังเปิดให้นักศึกษา หรือบุคลากรของมหาวิทยาลัย เข้ามาขอพื้นที่ปลูกผักเพื่อสร้างรายได้เสริมได้อีกด้วย

“อาจารย์คิดว่าสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบกับความเป็นเรา เมืองเป็นอย่างไรเราก็จะเป็นอย่างนั้น เราไม่สามารถที่จะแยกขาดกับสิ่งแวดล้อมได้ มันมีอิทธิพลกับตัวเรามาก เพราะฉะนั้นการออกแบบพื้นที่สาธารณะจึงจำเป็นมากที่จะช่วยสร้างพลเมืองที่ดี พลเมืองที่แข็งแรง หรือคนในเมืองที่มีสภาวะจิตใจที่เป็นสุข สเน่ห์ของการออกแบบที่นี่ จึงไม่ใช่แค่กายภาพที่เราเห็น ขนาดที่มันใหญ่ แต่ว่ามันเป็นการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของชาวธรรมศาสตร์และการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคนเมืองไปอย่างสิ้นเชิง” อาจารย์กชกรกล่าวทิ้งท้าย

มากกว่าความสวยงามและแนวคิดของความยั่งยืนแล้ว ภาพบรรยากาศดีๆ ของเย็นวันศุกร์ที่สวนอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปีแห่งนี้ กลับเต็มไปด้วยกิจกรรมที่เกิดขึ้น ทั้งกลุ่มนักศึกษาที่พากันมานั่งเล่น นั่งคุยกัน ประชาชนจากภายนอกที่มาวิ่งออกกำลังกาย หรือแม้แต่กลุ่มของบุคลากรภายในที่มาเดินเล่น จากภาพที่เราเห็นก็คงพูดได้ว่าสวนแห่งนี้ได้ทำหน้าที่ของพื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์ทั้งความสวยงาม ความยั่งยืน และเป็นของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง

 

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading