Location: ลาดพร้าว 34 กรุงเทพฯ
Architect: ณัฐพล เตโชพิชญ์ จาก Looklen Architects
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
ถึงแม้ย่านลาดพร้าวจะเต็มไปด้วยความวุ่นวายและขึ้นชื่อในเรื่องรถติด แต่เรากลับต้องประหลาดใจกับบรรยากาศเงียบสงบที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับถนนสายหลักของซอยลาดพร้าว 34 อันเป็นที่ตั้งของ The Roof House ที่มีความสงบไม่แพ้กัน บ้านชั้นเดียวหลังนี้ตั้งอยู่เคียงข้างบ้านหลังเดิมของทางเจ้าของ โดย คุณต้น-ณัฐพล เตโชพิชญ์ สถาปนิกจาก Looklen Architects ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนพื้นที่ 16×16 เมตร ให้กลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เปรียบเสมือน ‘Pavilion (ศาลา)’ สำหรับพักผ่อนภายในครอบครัว โดยนำเรื่องความโปร่ง โล่ง ธรรมชาติ และความอบอุ่น มาเป็นแนวคิดหลักของสถาปัตยกรรมที่เราเห็น
คุณต้น-ณัฐพล เตโชพิชญ์ สถาปนิกจาก Looklen Architects
‘โปร่ง โล่ง’ แนวคิดพื้นฐานอันเป็นจุดเริ่มต้น
ความโปร่ง โล่งที่เราเห็น เริ่มต้นมาจากเจ้าของบ้านต้องการต่อขยายที่ดินอยู่ด้านข้างบ้านหลังเดิม โดยเพิ่มพื้นที่ส่วนกลางสำหรับอยู่อาศัยภายในครอบครัวหรือสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ซึ่งโจทย์จากทางเจ้าของนั้นค่อนข้างที่จะเปิดกว้าง โดยต้องการเพียงบ้านที่อยู่แล้วสบาย และที่สำคัญคือต้องอยู่ในงบประมาณจำกัด
ด้วยขนาดพื้นที่ที่มีจำกัด ประกอบกับความต้องการที่จะอยู่สบายของเจ้าของ ทำให้คุณต้นนำคีย์เวิร์ดของความโปร่ง โล่ง เข้ามาออกแบบ เพื่อทำให้บ้านทำหน้าที่รับลมและแสงธรรมชาติ รวมถึงพื้นที่สีเขียวเข้ามาส่งเสริมให้การอยู่อาศัยนั้นสบายและเหมาะกับการพักผ่อนมากขึ้น และออกแบบพื้นที่บ้านหลังนี้ล้อมไปด้วยชานบ้านที่เชื่อมไปยังบริเวณคอร์ดพื้นที่สีเขียวตรงกลาง และใช้ประตูกระจกที่สามารถเปิดได้ทั้งหมด เพื่อเชื่อมต่อสเปซดึงความเป็นธรรมชาติเข้ามาให้เกิดความโปร่ง โล่งมากที่สุด
องค์ประกอบหน้าบ้านที่เป็นผนังเอียงทั้งสองด้าน ยังเป็นเหมือนกลอุบายที่ทำให้รู้สึกว่าบ้านมีขนาดกว้างมากขึ้น โดยบริเวณตรงกลางสามารถทำเป็นที่จอดรถได้ถึงสามคัน หรือสามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เอกเขนก หรือพื้นที่สำหรับปาร์ตี้ก็สามารถทำได้เช่นกัน
จากความอบอุ่น สู่วัสดุ และ ฟังก์ชันที่มองเห็น
คุณต้นบอกกับเราว่า ‘ความอบอุ่น’ ในที่นี้ สามารถมองได้สองแง่ ในแง่มุมแรกอาจหมายถึงความอบอุ่นจากการอยู่อาศัยร่วมกันของครอบครัว ส่วนในแง่มุมที่สองนั้นหมายถึงความอบอุ่นที่เกิดขึ้นจากบรรยากาศ สี องค์ประกอบในงานออกแบบ ซึ่งความอบอุ่นจากการอยู่ร่วมกันนั้นแสดงให้เราเห็นผ่านฟังก์ชันของการออกแบบ
บ้านหลังนี้ จะมีฟังก์ชันเพียงพื้นที่ส่วนกลางเท่านั้น ซึ่งจะประกอบไปด้วย ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว รวมถึงห้องน้ำ แต่ส่วนของห้องนอนและพื้นที่ส่วนตัวจะอยู่ในบ้านหลังเดิม ในการวางฟังก์ชันคุณต้นตั้งใจออกแบบให้พื้นที่นี้กลายเป็นสเปซที่ไหล เชื่อมต่อกันทั้งหมดโดยปราศจากฉากหรือผนังกั้น ซึ่งเราจะเห็นพื้นที่ห้องนั่งเล่นเชื่อมไปยังพื้นที่รับประทานอาหารรวมถึงห้องครัว โดยจัดวางเป็นพื้นที่ก้อนเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้ครอบครัวได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน
แปลนชั้น 1 บ้าน The Roof House credit : looklen architects
แปลนหลังคาบ้าน The Roof House credit : looklen architects
ภาพตัดของบ้าน The Roof House ที่แสดงให้เห็นพื้นที่สีเขียวบริเวณตรงกลางโอบล้อมไปด้วยฟังก์ชันหลักของบ้าน
credit : looklen architects
นอกจากการเชื่อมต่อกันเองในพื้นที่บ้านหลังใหม่แล้ว คุณต้นยังออกแบบให้บ้านหลังใหม่และหลังเก่าเชื่อมถึงกัน โดยห้องนั่งเล่นของบ้านใหม่จะเชื่อมกับทางเข้าบ้านเดิมเพื่อให้เข้ามาใช้พื้นที่ได้โดยง่าย และห้องนั่งเล่นของบ้านใหม่นี้ ยังทำหน้าเป็นเหมือนโถงต้อนรับใหม่ของบ้านหลังเดิมได้อีกด้วย
ส่วนความอบอุ่นที่เกิดขึ้นจากบรรยากาศ เป็นเรื่องของการใช้วัสดุ ซึ่งถ้าลองสังเกต วัสดุหลักทั้งภายนอกและภายในของบ้านหลังนี้จะประกอบไปด้วย ‘ไม้’ หรือองค์ประกอบที่เป็นสีเอิร์ธโทน เช่น โทนสีขาว เทา และสีน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ เพื่อแสดงถึงความเรียบง่าย ช่วยให้บ้านกลมกลืนไปกับธรรมชาติ มีบรรยากาศอบอุ่น เป็นกันเอง และออกจะถ่อมตนหน่อยๆ ไม่ขัดแย้งกับบริบทโดยรอบ ประจวบเหมาะกับการที่ ‘ไม้’ ก็เป็นวัสดุที่เจ้าของบ้านชื่นชอบเป็นส่วนตัว
ฝ้าไม้บริเวณหลังคาที่เรามองเห็น ถือเป็นพระเอกของบ้านหลังนี้ ทำหน้าที่ห่อหุ้มบ้านตั้งแต่ภายในจนถึงภายนอก ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกถึงการเชื่อมต่อระหว่างภายในและภายนอก นอกจากนั้น ‘ไม้’ ยังช่วยดูดซับเสียงได้ดี เมื่อมีการเล่นดนตรีซึ่งเป็นกิจกรรมที่ลูกสาวชื่นชอบอีกด้วย
แม้แต่ประตูรั้วหน้าบ้าน คุณต้นก็เลือกที่จะวัสดุเป็นไม้ เพื่อสร้างกลุ่มก้อนของบ้านให้รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเลือกเป็นระแนงไม้ถี่ๆ เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับเจ้าของบ้าน โดยที่ยังไม่รู้สึกว่าถูกปิดทึบมากจนเกินไป
พาความเป็น ‘ธรรมชาติ’ เข้าสู่ตัวบ้าน
“ผมคิดว่าบ้านที่ดี ควรจะมีเรื่องของบรรยากาศเข้ามา อย่างเช่น เรื่องธรรมชาติ เราตั้งใจทำให้สเปซการใช้งานในห้องเป็นสเปซที่แสงสามารถเข้าถึงได้ มีแสงธรรมชาติเข้าถึงตัวบ้าน อาจจะเป็นแสงที่ผ่านเงาไม้ลงมาให้มีบรรยากาศอบอุ่น ผ่อนคลาย ผมอยากให้คนที่อยู่ในบ้านรู้สึกเหมือนได้พักผ่อนไปด้วย”
ด้วยแนวคิดของเรื่องธรรมชาตินี้เอง คุณต้นจึงตั้งใจออกแบบโดยคำนึงถึงทิศทางของลมและแดดที่จะเกิดขึ้น มีการเปิดช่องแสงตรงกลางคอร์ดในทิศเหนือกับทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทิศที่แดดไม่ร้อนมากนักเพื่อให้มีแสงแดดส่องถึงบริเวณภายใน และออกแบบหลังคาปั้นหยาโดยคว้านหลังคาด้านหนึ่งออกเพื่อสร้างช่องลมที่สามารถรับลมและแสงธรรมชาติให้เข้ามาในสวนกลางบ้านได้มากขึ้น รวมถึงช่องเปิดบริเวณที่ติดกับห้องรับประทานอาหารจะทำหน้าที่เป็นช่องลมที่เมื่อเปิดประตูทุกบาน จะทำให้ลมไหลเวียนเข้ามาภายในพื้นที่ ในวันสบายๆ บ้านหลังนี้จึงไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์
แนวคิดบ้านชั้นเดียวยังเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมการไหลเวียนของลม เนื่องจากจะมีประสิทธิภาพมากกว่าในการนำลมและแสงธรรมชาติเข้ามาสู่ตัวบ้าน และยังประหยัดงบประมาณได้อีกทางหนึ่ง แต่ถึงแม้จะเป็นบ้านชั้นเดียวที่ดูเรียบง่าย คุณต้นก็พยายามสร้างกิมมิคเล็กๆ โดยการสร้างพื้นที่ Double Volume ที่มีทั้งระดับที่ต่ำและสูงในพื้นที่เดียวกันเพื่อให้เกิดความหลากหลายในการใช้งาน และออกแบบฝ้าภายในลักษณะเฉียงเพื่อดึงเพิ่มความโปร่ง โล่งและดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้านให้ได้มากที่สุด
ถึงแม้ว่าบ้านหลังนี้จะดูเรียบง่าย แต่ตัวโครงสร้างกลับไม่ง่ายดายและออกจะซับซ้อน เนื่องจากในการออกแบบคุณต้นไม่ต้องการให้มีเสาภายในเลย ทำให้การออกแบบต้องใส่ใจช่วงโครงสร้างระหว่างเสามากเป็นพิเศษ โดยคุณต้นจะเลือกใช้เป็นเสาเหล็กทั้งหมด รวมถึงคานเหล็กพาดบริเวณด้านหน้า เพื่อรับน้ำหนัก ทำให้บ้านหลังนี้สามารถโปร่ง โล่ง รวมถึงมองเห็นพื้นที่ธรรมชาติได้อย่างเต็มที่มากที่สุดโดยไม่มีส่วนของเสามาขัดความรู้สึกนั่นเอง
ด้วยสถานที่ตั้งของบ้าน ถึงแม้จะอยู่ในย่านเมืองใหญ่ แต่การออกแบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องโปร่งโล่งท่ามกลางสีเขียวของธรรมชาติ หรือความอบอุ่น ต่างก็เป็นแนวคิดที่เมื่อนำมาผสมรวมกันแล้ว สามารถทำให้บ้านหลังนี้กล่มกล่อมลงตัว สร้างบรรยากาศที่ดีในการอยู่อาศัย และยังนำข้อจำกัดในเรื่องขนาดของพื้นที่และงบประมาณมาสร้างเอกลักษณ์ให้บ้านได้อย่างน่าสนใจทีเดียว