OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ความสัมพันธ์ของบริบทและปรัชญาความคิดลึกซึ้งในแบบฉบับของ Vittorio Gregotti

หน้าที่ของสถาปัตยกรรมคือ การเปิดเผยและเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ผ่านแก่นแท้อันสำคัญของบริบทโดยรอบ” Vittorio Gregotti

เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราต้องพบกับข่าวอันน่าสลดใจและถือเป็นข่าวใหญ่สำหรับวงการสถาปัตยกรรมที่ต้องสูญเสียสถาปนิกระดับชั้นครูอย่าง Vittorio Gregotti ผู้เป็นทั้งสถาปนิกและนักทฤษฎีคนสำคัญในยุคศตวรรษที่ 20 ซึ่งจากไปด้วยอาการป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในวัย 92 ปี

Vittorio Gregotti สถาปนิกและนักคิดผู้ยิ่งใหญ่

Vittorio Gregotti เกิดในปี 1927 ที่เมืองโนวารา เมื่ออายุ 14 ปี เขาเริ่มทำงานที่โรงงานสิ่งทอของพ่อ และทำให้เขาสนใจในสิทธิของคนงาน และกลายเป็นสมาชิกคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี หลังจากนั้นในปี 1947 เขาก็ได้มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมสตูดิโอของสถาปนิกชาวฝรั่งเศษ Auguste Perret ซึ่งจากโอกาสในครั้งนั้น ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มสนใจในสถาปัตยกรรม และเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัย Politecnico di Milano


University of Milan-Bicocca (1985)

ไม่เพียงแต่เป็นสถาปนิก แต่ Vittorio Gregotti ผู้นี้ยังได้รับการยอมรับในฐานะผู้ขับเคลื่อนวงการสถาปัตยกรรมด้วยบทบาทที่หลากหลาย ทั้งนักวางผังเมือง บรรณาธิการนิตยสารสถาปัตยกรรม อาจารย์ผู้สอนทฤษฎีสถาปัตยกรรมให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ  และเขียนหนังสือทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมไว้มากมายอย่าง New Directions in Italian Architecture (1968), Inside Architecture (1991) รวมถึงการเป็นภัณฑารักษ์และผู้ริเริ่มนิทรรศการทางสถาปัตยกรรมในงาน Venice Biennale ในปี 1975 และผลักดันอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็น Venice Biennale of Architecture ครั้งแรกในปี 1980

Centro Cultural de Belém (1992)

ผลงานออกแบบที่สำคัญของ Gregotti ส่วนมากเป็นอาคารสาธารณะจำนวนมากในยุโรป อย่างเช่น การรีโนเวทสนามกีฬา Stadio Luigi Ferraris ในเจนัวประเทศอิตาลี การปรับปรุงสนามกีฬา Estadi Olímpic de Montjuïc ในบาร์เซโลนาประเทศสเปนให้กลายเป็นสนามกีฬาโอลิมปิกประจำปี 1992 อาคารมหาวิทยาลัย Milano-Bicocca ในมิลาน หรือแม้แต่อาคารทางศิลปวัฒนธรรมอย่าง Belém Cultural Center ในลิสบอน ฯลฯ

New Parish Church of San Massimiliano Kolbe (2008)

แนวคิดที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์และมีให้เห็นเกือบทุกโครงการของ Gregotti คือความใส่ใจในงานออกแบบที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผังเมือง และแสดงความเคารพต่อบริบทโดยรอบของพื้นที่ ซึ่งเขาแสดงอุดมการณ์ที่ยืนหยัดว่าผลงานที่เขาสร้างขึ้นนั้นจะต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคม


Grand Théâtre de Provence

โปรเจ็กต์หนึ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของ  Vittorio Gregotti ที่หลายคนจดจำได้ คือ Grand Théâtre de Provence โรงละคร โอเปร่าและคอนเสิร์ตฮอลล์ ในเมือง Aix-en Provence ประเทศฝรั่งเศษ ที่ดินผืนกว้างนี้มีความโดดเด่น เนื่องจากมีทางรถไฟขนาบอยู่ด้านข้าง รวมถึงมีพื้นที่สีเขียวที่ลาดเอียงอยู่ตรงข้ามของไซต์


ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางใหม่สำหรับการขยายตัวของเมือง เราจึงเห็นอาคารนี้เป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ โดยมีพื้นที่เปิดขนาดใหญ่รวมถึงพื้นที่ภายในที่สามารถรองรับกิจกรรมทางดนตรีที่สำคัญของยุโรปได้ ระบบหลังคาที่มีระดับแตกต่างกันสามารถใช้เป็นพื้นที่โรงละครภายใน และคนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้พื้นที่บนหลังคาได้อย่างเต็มรูปแบบโดยมีฟังก์ชันเป็นพื้นที่สำหรับรอรถไฟ และทางเดินเท้าที่ตัดเพื่อเชื่อมเข้าสู่ถนน Place De Gaulle และ Cours Mirabeau



การบิดตัวอาคารเป็นลักษณะโค้งนั้น เพื่อสร้างจุดเชื่อมต่อของเครือข่ายถนน โดยเน้นคุณภาพของการโดยสารสาธารณะและการเชื่อมต่อกับเมือง นอกจากนั้นเส้นแกนทางลาดทั้งสองยังเป็นทางเชื่อมที่ทำให้คนเมืองได้เข้ามาใช้งานพื้นที่หลังคาส่วนบนสุดซึ่งมีพื้นที่สีเขียวรองรับได้ด้วย โปรเจ็กต์นี้ของ Gregotti จึงถือเป็นตัวอย่างของการออกแบบที่ใส่ใจบริบทรอบข้างได้อย่างแท้จริง

The Olympic Stadium

โครงการนี้สร้างขึ้นในปี 1986 สำหรับการแข่งขันระหว่างประเทศ ที่เมืองบาเซโลนา ประเทศสเปน โดยมีฟังก์ชันเป็นพื้นที่อำนวยความสะดวกด้านกีฬาที่ซับซ้อนสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 1992 โดยไม่ใช่โปรเจ็กต์ที่สร้างขึ้นใหม่แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสนามกีฬาที่มีอยู่เดิม

สนามกีฬาแห่งนี้ถูกเปลี่ยนแปลงให้จาก 20,000 ที่นั่งให้กลายเป็น 65,000 ที่นั่งโดยเพิ่มความทันสมัยและสะดวกสบายในการใช้งาน ที่นั่งที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นถูกสร้างในขณะที่ยังรักษารูปลักษณ์ดั้งเดิมและ footprint เดิมของอาคารซึ่งมีระดับพื้นดินที่แตกต่างกัน ความแตกต่างระหว่างรูปทรงที่มีการวางซ้อนกันนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมที่อยู่เดิมและส่วนที่สร้างขึ้นใหม่ชัดเจนมากขึ้นทางเข้าหลักจากอาคารเดิมจะถูกเก็บรักษาไว้ ซึ่งหากมองขึ้นไปจะพบกับโลหะใหม่สีขาวที่ครอบคลุมตัวอัฒจรรย์


การออกแบบโครงการนี้ยังเป็นระบบที่กระจายสู่สาธารณะ ซึ่งฟังก์ชันแต่ละส่วนละถูกเชื่อมต่อถึงกันได้โดยง่าย รวมถึงเชื่อมไปยังบริบทโดยรอบของไซต์อีกด้วย โครงการนี้จึงโดดเด่นทั้งเรื่องของการรักษาคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่เดิมผสมผสานกับสิ่งใหม่ได้อย่างแนบเนียน และคนภายนอกยังสามารถเข้ามาใช้งานภายในพื้นที่ได้อย่างสะดวก

จากการได้ศึกษาแนวคิด คงพูดได้ว่าผลงาน Vittorio Gregotti นั้นเปรียบเสมือนสถาปัตยกรรมที่หวังดีต่อเมือง ต่อบริบทรอบข้าง สิ่งเหล่านี้กลายเป็นทฤษฎีและอุดมการณ์ที่หลายคนให้ความชื่นชม ยกย่อง นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมและทฤษฎีใหม่ๆ ที่ถึงแม้ตัวจะจากไป แต่อุดมการณ์ที่เขาฝากเอาไว้นั้นสมควรแก่การศึกษาและนำมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับสถาปนิกยุคหลังต่อไปอย่างแน่นอน

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก :
archello.com  archdaily.com dezeen theartnewspaper.com wallpaper.com www1.wdr.de aasarchitecture.com archipanic.com laprovence.com

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading