OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ตำทองหล่อ ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างสเน่ห์ของวัสดุพื้นถิ่นและความทันสมัยในยุคปัจจุบัน

Location: Velaa Sindhorn Village หลังสวน กรุงเทพฯ
Designer:
บดินทร์ พลางกูร Context studio
Owner:
พิมพ์ชนก พลางกูร
Photographer: Sky | Ground

เมื่อพูดถึงอาหารอีสาน หลายคนคงนึกถึงความแซ่บ ความจัดจ้านของรสชาติ รวมไปถึงวิถีการกินที่เรียบง่าย แต่ยังคงเอกลักษณ์ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นอยู่ในธรรมชาติแบบท้องถิ่น องค์ประกอบสำคัญที่สะท้อนความเป็นอีสานเหล่านี้จึงกลายเป็นโจทย์ที่คุณต้น บดินทร์ พลางกูร จาก Context studio นำมาออกแบบ ‘ตำทองหล่อ’ ร้านอาหารอีสานมินิมอลสไตล์โมเดิร์นที่แฝงกลิ่นอายวิถีการกินและเอกลักษณ์พื้นถิ่นของอีสานไว้อย่างแนบเนียน

 วิถีการกินดั้งเดิมแบบอีสาน สู่งานออกแบบ

จากรสชาติและสีสันในแบบของอาหารอีสาน ซึ่งแฝงความสนุกสนานเอาไว้ จึงกลายเป็นโจทย์ของการออกแบบร้าน แต่เพื่อสะท้อนความเป็นอีสานให้โดดเด่นมากขึ้น คุณต้นจึงมองกลับไปถึงวิถีการกินในแบบอีสานแบบดั้งเดิม

“ผมมองกลับไปว่า อาหารอีสานเขากินกันอย่างไรถ้าไม่ได้กินในร้านอาหาร ผมก็นึกถึงชาวนาที่อยู่ภาคอีสาน พอเขาทำนาตอนกลางวัน เขาก็ต้องเดินไปหลบที่ใต้ต้นไม้ใหญ่เพื่อที่จะพักทานข้าวกลางวัน อาหารกลางวันก็จะถูกห่อมาด้วย ใบตอง ไม้ไผ่หรือว่ากระติ๊บข้าวเหนียวอะไรแบบนี้ ”

ซึ่งบรรยากาศของการนั่งทานใต้ต้นไม้ ถูกนำเสนอผ่านรูปทรงโค้งบริเวณเพดานซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายกับนั่งอยู่ใต้พุ่มของต้นไม้ และยังช่วยสร้างขอบเขต สร้างโซนกับผู้นั่งทานในแต่ละโต๊ะ ซึ่งถึงแม้จะเป็นร้านอาหารอีสานที่เป็นเอกลักษณ์แบบท้องถิ่น แต่ผู้ออกแบบก็ยังต้องการให้ภาพรวมออกมาดูมินิมอลผสมความอินเตอร์นิดๆ จึงสร้างฟอร์มโค้ง parametric นี้ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Rhino ผสมเข้ากับงานฝีมือของไทย ด้วยการใช้หวายซึ่งเย็บโดยช่างฝีมือ เพื่อสร้างส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างงานฝีมือแบบท้องถิ่นของไทยและความทันสมัยของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน

ภาพฟอร์มโค้ง parametric ที่ถูกทำขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

อีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญ คือสถานที่ตั้ง ซึ่งเป็นโครงการที่รวมร้านอาหารหลายๆ ร้านเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้บรรยากาศของบริเวณนั้นค่อนข้างคึกคักทั้งกลางวันและกลางคืน ร้านตำทองหล่อจึงจำเป็นต้องขายได้ในทั้งสองช่วงเวลา เพดานทรงโค้งนี้จึงมีการออกแบบซ่อนไฟเอาไว้ ไฟจะทำให้ฟอร์มของตัวเพดานนี้ชัดเจนขึ้น เกิดเป็นบรรยากาศที่แตกต่าง

ภาพสเก็ตช์ แนวคิดการออกแบบร้านตำทองหล่อ ของคุณต้น บดินทร์ พลางกูร

องค์ประกอบ สื่อความเป็นอาหารอีสาน


มู้ดโทนของร้านที่เราเห็นจะเน้นโทนสีน้ำตาลอ่อนจากหวาย และไม้ไผ่ สอดแทรกด้วยสีสันที่สร้างบรรยากาศให้ดูสนุกขึ้น ด้วยสีเขียว สีแดงจากพริก และสีเขียวของใบตอง ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารอีสานที่คุณต้นดึงมาใช้ในการออกแบบ


ภาพ Mood & Tone ของการออกแบบร้านตำทองหล่อ

รวมถึงการใช้วัสดุในส่วนของพื้นจากอิฐมอญ ซึ่งเป็นวัสดุดินเผาในลักษณะเดียวกับการทำครกส้มตำ นำมาสร้างลวดลาย โดยเลือกใช้อิฐมอญที่มีขนาดยาวพิเศษเพื่อให้เกิดแพทเทิร์นที่คล้ายกับเสื่อ สะท้อนบรรยากาศของวิถีการกินในอดีต แบบปูพื้นนั่งทานกันบนเสื่อนั่นเอง

สเน่ห์จาก วัสดุพื้นถิ่นของไทย

วัสดุส่วนมากภายในร้าน คุณต้นเลือกใช้วัสดุพื้นถิ่นจากช่างฝีมือของไทย เนื่องจากต้องการผสมผสานกลิ่นอายของงานฝีมือเข้ากับการออกแบบดีไซน์ในปัจจุบัน โดยที่เราจะเห็นวัสดุหลักจากหวาย และไม้ไผ่ อย่างเช่น โคมไฟที่สั่งทำขึ้นพิเศษจากศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

บริเวณผนังถูกออกแบบโดยใช้กระเบื้องจากจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นงาน Handmade แต่ละชิ้นจะมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน ส่วนผนังอีกด้านของร้านจะเป็นกระเบื้องลายต้นไม้ ซึ่งเป็นการเพนท์สีทับลงไป เกิดพื้นผิวเงาๆ ที่สร้างความแตกต่างให้กับพื้นที่ ซึ่งแพทเทิร์นของกระเบื้องเหล่านี้จะล้อไปกับลวดลายของการจักสานในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ซ้ำกัน
เก้าอี้หวายสีสดขนาดใหญ่พิเศษ สร้างขอบเขต และเป็นตัวแบ่งโซนให้กับพื้นที่ที่มีอย่างจำกัด เพื่อให้เกิดโซนที่นั่งรับประทาน สำหรับใครที่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

รวมถึงบริเวณเสาปูนเดิม และเฟรมเหล็กของหน้าต่างภายในร้าน ผู้ออกแบบก็เลือกตกแต่งด้วยไม้ไผ่ ตัดให้เข้าฟอร์มกับเฟรมเพื่อบดบังส่วนที่แข็งกระด้าง และมีข้อดีตรงที่เมื่อมองจากภายนอกจะช่วยให้ร้านโดดเด่นมากขึ้น
ถึงแม้ตำทองหล่อจะมีพื้นที่ภายในร้านที่ไม่ได้ใหญ่มากนัก แต่กลับอัดแน่นไปด้วยแนวคิดมากมาย ทั้งภาพรวมของร้านไปจนถึงองค์ประกอบเล็กๆ ถือเป็นงานออกแบบที่ใส่ใจทั้งภาพลักษณ์ที่ชัดเจน นำเสนอผ่านเสน่ห์จากวัสดุพื้นถิ่นของไทย ที่นำมาสร้างความโมเดิร์นแบบสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว

แผนที่ร้าน :