OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

P.O.AR (Patchara + Ornnicha Architecture co.,ltd.) สองสถาปนิกผู้สร้างสถาปัตยกรรมพอดิบพอดี ที่ไม่มีแบบแผน

“คำว่า P.O.AR มันมาจากชื่อเราสองคนรวมกัน เป็น ‘พ อ’ ซึ่งแต่ก่อนเรามองว่า มันเหมือนเป็นความพอดีอย่างหนึ่งในงานสถาปัตยกรรม คือทุกอย่างมันต้องลงตัว แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราเปิดออฟฟิศ กำหนดทิศทาง แล้วจะเดินตามทางนั้นไปตลอด ซึ่งด้วยระยะเวลาที่ผ่านๆ มา มันก็เป็นการค้นหาตัวเองของสถาปนิกทั้งสองคน แล้วก็หาความหมายของสถาปัตยกรรมที่เรากำลังค้นหาอยู่ด้วย


เมื่อความพอดีของสถาปัตยกรรม มาคู่กับการทดลองหรือมองหาสิ่งใหม่ที่ไร้แบบแผน ทำให้ผลงานแต่ละชิ้นของ P.O.AR ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ที่ทำให้ใครหลายๆคน อาจตั้งคำถามถึงวิธีคิด กระบวนการการทำงาน วันนี้เรามีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมเยือนออฟฟิศของ P.O.AR จึงได้พูดคุยกับ คุณโจ้-พัชระ วงศ์บุญสิน และ คุณนิ้ม-อรณิชา ดุริยะประพันธ์ สองผู้ก่อตั้ง P.O.AR (Patchara + Ornnicha Architecture co.,ltd.) ถึงเบื้องหลังแนวคิด รวมถึงทัศนคติ กว่าจะออกมาเป็นสถาปัตยกรรมแหวกแนวแบบที่เราเห็น

Dsign Something: ย้อนกลับไปตอนเริ่มต้น เริ่มมีความคิดที่อยากจะเป็นสถาปนิกตั้งแต่เมื่อไร ?

คุณนิ้ม: ตั้งแต่ตอนมัธยม เราเรียนสายวิทย์แล้วก็คิดมาตลอดว่า สถาปัตย์มันเหมือนเป็นจุดร่วม เป็นกึ่งกลางระหว่างวิทย์และศิลป์ ซึ่งตอนนั้นเป็นตัวเลือกเดียวเลย ที่เรามองไว้ว่าจะเรียนต่อตอนมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนมหาวิทยาลัยเราก็มีโอกาสได้ไปเรียนที่อเมริกา จบปริญญาตรีสถาปัตย์แล้วก็กลับมาทำงานที่ไทยได้ปีหนึ่ง แล้วก็กลับไปเรียนสถาปัตย์ต่อแล้วค่อยกลับมาทำงาน

คุณโจ้: ตั้งแต่เด็กที่จำความได้ ผมก็ชอบวาดรูปมาตลอด พอเริ่มจะเข้ามหาวิทยาลัยก็รู้สึกว่า เราอยากทำอะไรที่ทำให้เราได้วาดรูปทุกวัน ซึ่งอีกอย่างหนึ่งที่คิดคือ เราอยากทำงานในสิ่งที่ คนที่ไม่ได้ฝึก หรือไม่ได้เรียนมาโดยตรงจะทำไม่ได้ เราอยากทำอาชีพที่มีความซับซ้อน มีความยาก ยิ่งต้องใช้ประสบการณ์ ใช้เวลาในการทำความเข้าใจมันถึงจะทำได้ ซึ่งสุดท้ายก็เลือกเรียนสถาปัตย์ เพราะมันค่อนข้างครอบคลุมที่สุด
Dsign Something: ตอนที่ตัดสินใจจะเรียน กับตอนที่เข้ามาเรียนแล้ว มันต่างกับที่คิดไว้มากน้อยแค่ไหน?

คุณโจ้: จริงๆ ตอนเรียนเหมือนถูกอะไรครอบหัวไว้ก็ไม่รู้ คือเราไม่ค่อยเห็นภาพของวิชาชีพเลย เหมือนเรารู้แค่สถาปนิกออกแบบตึก เราก็ตั้งใจออกแบบไปอย่างนั้นแหละ แต่เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วการประกอบอาชีพมันเป็นอย่างไร หรือเราต้องวางตัวอย่างไร แต่พอเราได้ไปฝึกงานสายคุมงานก่อสร้าง เราได้เห็นสถาปนิกในบทบาทของการทำงานกับผู้รับเหมา ซึ่งเรารู้สึกสนุก พอได้มาทำงานเอง เราก็อยากจะลงไปคุยเรื่องการก่อสร้างเอง เรื่องวัสดุ เรื่องโครงสร้าง เราอยากไปจับทุกมิติของสายอาชีพ ทั้งการตกแต่ง การทำเฟอร์นิเจอร์ การเลือกโคมไฟ การคิดรายละเอียดทุกอย่างในตัวเอง ผมรู้สึกว่าแตกต่างจากตอนเรียนค่อนข้างเยอะนะ เพราะการเรียนมันเป็นเหมือนเสี้ยวนึง เหมือน 1 ใน 20 ของวิชาชีพจริง

คุณนิ้ม: ตอนนิ้มเรียน เขาจะให้เราเป็นนักเรียนให้เต็มที่ เราสามารถสำรวจไปได้เรื่อยๆ โดยที่ยังไม่ต้องโฟกัสเลยว่าจบไปคุณจะต้องมีบททดสอบอะไร แต่ว่าสอนทฤษฎีเรื่องวัสดุ เทคนิค หรือระบบความคิดที่ไม่ว่าจะจบไปนานแค่ไหน มันก็ยังอยู่ แต่พอเรียนจบมา มันก็เป็นการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง ได้เรียนรู้การทำออฟฟิศ ไปดูงานต่างๆ การทำงานมันก็สอนเราเพิ่มเติม ฉะนั้นนิ้มเลยมองว่าประสบการณ์การทำงานก็สำคัญพอๆ กับตอนเรียน ซึ่งตอนนี้ก็เป็นช่วงที่เราตักตวงทุกอย่างจากการทำงานเพิ่มขึ้น
Dsign Something: พอเริ่มคิดจะมาเปิดออฟฟิศ มีไอเดียออฟฟิศในฝันแบบของเราบ้างไหม?
คุณโจ้:
สำหรับผม ผมรู้สึกว่าไม่ได้มีภาพว่าเราอยากจะเป็นออฟฟิศแบบไหนเลย เราแค่อยากจะทำสถาปัตย์ เริ่มมาตอนแรกเราก็มีงานแค่เล็กๆ งานญาติของนิ้ม งานญาติของผม มีอยู่สองหลังก็ทำไป  เพราะเราชอบทำ พอเราเริ่มมีงานสร้างเสร็จ หลังจากงานนั้นเราก็มีงานต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งเราทำงานแบบไหนได้ดี เราก็จะได้งานในลักษณะที่ใกล้เคียงกันต่อยอดเรื่อยๆ ซึ่งเราไม่ได้จำกัดเลย เพราะเราชอบทำทุกอย่าง งานอะไรมาเราก็รับหมด
Dsign Something: มีแอบตั้งเป้าหมายกันเองบ้างไหม ว่าอยากจะไปให้ถึงจุดไหนของประเทศ หรือของโลกนี้?
คุณโจ้:
จริงๆ ผมเป็นคนชอบแข่งขัน ตั้งแต่เรียนมาปีสามปีสี่ ก็ทำประกวดแบบมาตลอด เราชอบหาวิธีเอาชนะคนอื่น แต่พอโตมา เราไม่ได้แข่งกับใคร มันเหมือนเราแข่งกับตัวเอง เราแข่งกับสิ่งที่เราเขียนไป จะทำอย่างไรให้มันสร้างออกมาได้จริงอย่างที่เขียน ก็เป็นความท้าทายอีกแบบหนึ่งที่รู้สึกว่ายากกว่าแข่งกับคนอื่นอีก

ถ้าพูดถึงเป้าหมาย ก็คงอยากไปให้ถึงระดับโลกนั่นแหละ แต่การไปในระดับโลก มันไม่ใช่ว่าเราอยากดัง สมมติเรามีเซตงานของเราอยู่เซตนึง เราอยากให้คนดูแล้วเขารู้สึกว่ามันเป็นที่ยอมรับได้ สิ่งที่เราทำมันไม่ได้ไปซ้ำกับใคร เหมือนเรามีงานที่คนดูแล้วรู้ว่านี่คือตัวตนของเรา ซึ่งกระบวนการที่จะไปถึงจุดนั้น ปัจจุบันก็ไม่แน่ใจว่าได้หรือยัง แต่ก็กำลังพยายามให้ถึงที่สุด

โปรเจกต์ HOUSE KASET NAWAMIN

โปรเจกต์ RESORT: LIVIST Petchabun

Dsign Something: ที่ผ่านมางานของ P.O.AR จะมีกลิ่นของการตั้งคำถามหรือทดลอง อาจจะให้ช่วยอธิบายวิธีการเหล่านั้นให้ฟังหน่อย
คุณโจ้:
เราอยากทำอะไรที่คนเขาไม่ทำกัน นั่นคือความท้าทายอย่างหนึ่ง แต่ในการทำสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ทำกัน มันก็จะไปใกล้กับคำว่าแปลกประหลาด ซึ่งการที่เราจะแยกความไม่มีแบบแผนหรือแหวกแนว กับความแปลกประหลาดออกจากกัน มันก็ต้องมีเหตุผล อย่างแน่นอนเวลาเราทำโรงแรม  มันต้องมีเรื่องของการใช้งาน ภาวะน่าสบาย มีเรื่องการสร้างประสบการณ์ให้กับคนที่มา ซึ่งเราก็คิดถึงตัวแปรต่างๆ เหล่านั้น แล้วก็สร้างอะไรขึ้นมาอย่างนึงที่มันตอบโจทย์ได้ แล้วมันใช้ฟอร์มบางอย่างที่มันแปลกใหม่มาตอบ

โปรเจกต์ RESORT : Ana Anan , Pattaya, Thailand.

คุณนิ้ม: แต่เราไม่ได้ต้องการทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำแบบนั้นนะ คือเรามองว่ามันมีขอบเขตของงานสถาปัตยกรรมในปัจจุบันอยู่ ซึ่งเราเหมือนตั้งคำถามถึงเส้นขอบเขตนี้มากกว่า ว่าถ้าเราจะขอผลักดันมัน หรือเราจะขอก้าวออกจากเส้นนี้ไปอีกหน่อย มันจะเกิดอะไรขึ้น แต่เราไม่ได้เริ่มจากความคิดที่ว่าเราจะออกนอกเส้นนี้ เพราะจริงๆ เราก็เชื่อว่าหลายๆ อย่างที่มีอยู่ปัจจุบันมัน มีเหตุและผลของมัน เราแค่ขอลองทำให้บางจุดมันถูกผลักออกไปมากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าความนิ่งอยู่กับปัจจุบัน มันอาจจะไม่ใช่ทางออกเดียวก็ได้

โปรเจกต์ RESORT: VARIVANA Koh Phangan

Dsign Something: คิดว่าความสนุกของการทำงานสถาปัตยกรรมทุกวันนี้คืออะไร แล้วคิดว่ามันยังเป็นความสนุกเหมือนตอนที่เพิ่งเริ่มทำงานเมื่อสิปปีที่แล้วไหม?

คุณนิ้ม : เราสนุก ไม่ว่ามีโปรเจกต์อะไรมาก็รู้สึกสนุก แต่มันก็อาจจะแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ ถ้างานที่รู้สึกว่ามันผลักดันไอเดียเราไปได้ไม่สุด ความสนุกมันก็อาจจะไปรอแค่การก่อสร้าง มันก็จะเป็นการเรียนรู้อย่างเช่นการทำดีเทล การเลือกวัสดุต่างๆ ไป แต่ว่าถ้าจะสนุกสุดๆ คืองานที่ได้ผลักดันไอเดียเราด้วย ได้ก่อสร้างด้วย มันเหมือนเป็นมิติใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ไปเรียนรู้ดีเทล แต่มันคือการที่ได้เห็นไอเดียเราออกมาเป็นรูปธรรมมากกว่า

คุณโจ้: ผมรู้สึกไม่ค่อยต่าง รู้สึกว่าอาชีพนี้มันสนุก มันมีสิ่งให้เรียนรู้ ให้ค้นพบค้นหาได้เยอะมากเลย มันไม่มีขอบเขตอะไรสักด้านเลย อย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกสนุก คือเราทำงานหลายสเกล ตั้งแต่อาคารไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ บางทีเรารู้สึกว่า สถาปัตยกรรม เราอาจจะผลักดันมันมาได้แค่นี้ เพราะไซต์มันอาจจะจบแค่นี้ หรือความต้องการลูกค้ามาแค่นี้ แต่เราก็ไปดูเรื่องอื่น ไปดูเรื่องสัดส่วน เรื่องรายละเอียดของการออกแบบ มันมีช่องว่างให้เราได้เข้าไปคิด ให้เราค้นและสนุกกับมันได้เสมอ

โปรเจกต์ Co-working : TCDC KhonKaen
ทีมงานของ P.O.AR (Patchara + Ornnicha Architecture co.,ltd.)

Dsign Something: ถ้าย้อนกลับไปได้ก่อนจะเลือกคณะ ยังอยากจะให้เด็กคนนั้นเรียนสถาปัตย์อยู่ไหม?
คุณโจ้
: เอาเป็นว่าผมชอบอาชีพสถาปนิกที่หนึ่ง ที่หนึ่งสมมติได้ร้อยแต้ม ที่สองมันอยู่ห้าสิบแต้ม มันไม่มีอะไรมาเทียบเลย แต่อย่างพอช่วงโควิดนี้เข้ามา มีอยู่จุดหนึ่งก็แอบคิดเหมือนกันว่า อาชีพนี้ไม่มีประโยชน์เลย มันช่วยใครไม่ได้เลย ไม่เหมือนหมออะไรแบบนี้  ก็เลยมาคิดว่า เราสามารถทำให้วิชาชีพมันมีคุณค่า มีประโยชน์ได้ คืองานแต่ละงานมันต้องมีความคิด มากไปกว่าแค่ทำให้ลูกค้าพอใจ  หรือทำให้มันสวยงาม หรือได้ลงหนังสือ มันต้องทำให้คุณภาพชีวิตคนมันดีขึ้นมา อย่างสมมติว่าถูก lockdown อยู่ที่บ้าน ถ้าบ้านมันน่าอยู่ บ้านมันมีสวน มีลมโกรก นั่นแหละคือคุณค่าของวิชาชีพ

โปรเจกต์ ลานเฉลิมพระเกียรติ

คุณนิ้ม: เมื่อสองวันที่ผ่านมา เราเพิ่งมีโอกาสได้ไปงานเก่ามา ได้ไปนั่งดู แล้วเราก็รู้สึกว่า เออ มันรู้สึกดีเนอะ แต่ก่อนเราพยายามนิยามว่าสิ่งที่เราอยากทำคือ ความไม่มีแบบแผนหรือความแหวกแนวหรือเปล่า แต่เมื่อสองวันก็คุยกับพี่โจ้ว่า สิ่งที่เราชอบจริงๆ มันคือสิ่งที่เห็นแล้วมันสดชื่น กลับไปดูแล้วมันตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจ รู้สึกดี เรารู้สึกว่านั่นแหละคือเป้าหมายของเรา เราอยากทำงานที่นอกจากเราในฐานะผู้สร้างแล้ว ผู้อยู่อาศัยก็รู้สึกเหมือนเรา
“จริงๆ อะไรที่มันทำให้เรารู้สึก มันอาจไม่ใช่แค่งานเราเองด้วย งานของสถาปนิกหลายๆ ท่าน เราดูแล้ว มันสดชื่น เพราะมันให้อะไรใหม่ๆ ที่มีคุณค่า เพราะถ้ามันแค่ใหม่ มันแปลก แต่มันไม่ได้ให้อะไร เราก็จะรู้สึกว่า เห้ย ทำไปทำไม แต่ถ้ามันเป็นส่วนผสมของความใหม่ ความลงตัวแล้วมันมีไอเดียอยู่ในนั้น มันจะทำให้เรารู้สึกสนุกกับมัน”

ความหลงใหล ความชื่นชอบ หรือความเชื่อที่มีต่อสถาปัตยกรรมเหล่านี้ ล้วนก่อตัวให้เกิดเป็น P.O.AR กับการสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมที่มักจะสดใหม่ นอกกรอบ และมองหาความพอดีที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในแบบแผนเดิมๆ