OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

บ้านหิ่งห้อยหลังน้อยใต้ร่มยางพารา ที่ชวนให้เราคิดว่าจริงๆแล้ว เรา(ต้อง)อยู่ที่ไหนก็ได้

LOCATION: อ.บึงบูรพ์ จ.ศรีสะเกษ
AREA:59 ตรม.
BUDGET: 7.3 แสนบาท
OWNER: คุณธราวริทธิ์
ARCHITECT: เถลิงรัฐ ทีคำแก้ว
BUILDER: บริษัท โฮม 59 จำกัด Home 59 Co.,Ltd.

คนไทยมีตำนานเกี่ยวกับหิ่งห้อยว่าเป็นวิญญาณของชายที่จุดตะเกียงโคมตามหาหญิงคนรักที่ชื่อนางลำพูซึ่งจมหายไปในแม่น้ำ นอกจากนี้หิ่งห้อยยังนับเป็นแมลงที่บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์และสมดุลของธรรมชาติได้  แล้วจะมีความหมายอะไรซ่อนอยู่ใน บ้านหิ่งห้อย ที่พักชั่วคราวให้สมาชิกในครอบครัวก่อนรื้อบ้านเดิมในพื้นที่สวนยาง โดยมีความตั้งใจที่จะแทรกตัวให้อยู่ใต้ร่มยางพารา พูดคุยกับสถาปนิกผู้ออกแบบบ้านที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยไม่ตัดต้นยางพาราเลยแม้แต่ต้นเดียว

หิ่งห้อยข้างบ้าน

“บ้านหิ่งห้อยเป็นโปรเจคเล็กๆ ที่เกิดขึ้นค่อนข้างปุบปับมาก ต่อเนื่องมาจากโปรเจคออกแบบบ้านพี่ชายของผมเอง ชื่อว่า “บ้านแก้วสุขดี”  เป็นบ้านของครอบครัวที่เดิมมีสภาพเป็นบ้านสวนครึ่งไม้ครึ่งปูน ตามสมัยนิยมของบ้านทั่วไปของเมื่อประมาณ 27 ปีก่อน ที่สภาพทรุดโทรมไม่ค่อยได้ถูกใช้งาน และไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยของพ่อแม่ที่เริ่มจะสูงอายุแล้ว เลยวางแผนสร้างบ้านหลังใหม่ บนพื้นที่บ้านเดิมตามความต้องการของครอบครัว”

ซึ่ง “บ้านแก้วสุขดี” เป็นบ้านชั้นเดียวที่แผ่ลงไปในแนวราบขนาดกว่า 330 ตรม. ถูกออกแบบให้สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวมีพื้นที่ส่วนตัว แล้วใช้พื้นที่ส่วนกลางของบ้านเป็นตัวเชื่อมกิจกรรมต่างๆ ถึงกันได้ และต้องการให้วัสดุไม้ของบ้านเดิมยังคงความผูกพันธ์กับครอบครัวอยู่ในบ้านหลังใหม่ด้วย ยิ่งทำให้มีรายละเอียดการก่อสร้างมากขึ้น ต้องใช้เวลาก่อสร้างร่วมปี จึงเกิดโปรเจคเร่งด่วนในการออกแบบบ้านพักรับรองหลังนี้ขึ้นมาติดกับพื้นที่ก่อสร้างบ้านใหม่ บนพื้นที่สวนยางพาราอายุ 8-9 ปี ขนาด 2 ไร่ เลยถูกเลือกให้เป็นที่ก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวให้สมาชิก 3 คนหลักของบ้าน ได้พักอาศัยชั่วคราวในช่วงก่อสร้างบ้านหลังนี้ ครับ

อยู่ร่วมกับหิ่งห้อย

บ้านพักรับรองหลังนี้ถูกออกแบบตามสภาพแวดล้อมที่อยู่ตรงหน้าเลยครับ ในช่วงฤดูฝน จะมีหิ่งห้อยเต็มสวน จึงเป็นแรงบันดาลใจหลักที่จะให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด จึงได้ออกแบบด้วยเงื่อนไข กับความพยามที่จะแทรกอยู่อย่างสงบๆกับธรรมชาติตรงนี้  ซึ่งในช่วงเวลาก่อสร้างเราจะสังเกตพฤติกรรมของธรรมชาติ ไปพร้อมๆกัน  บังเอิญที่การก่อสร้างอยู่ในช่วงพายุฤดูร้อนพอดี เราเลยได้เห็นขอบเขตพื้นที่การโยกของลำต้นยางพารา ซึ่งมีผลกับการเจาะช่องหลังคาต่างๆ ตามตำแหน่งของลำต้น ถือเป็นความโชคดีที่ภูมิประเทศของพื้นที่ก่อสร้าง อ.บึงบูรพ์ จ.ศรีสะเกษ พายุลมไม่รุนแรงนัก 

ผมและพี่ชายเห็นตรงกันว่าเราจะพยายามให้ต้นยางพาราเป็นส่วนนึงของตัวบ้านซึ่งต้องวางแผนความปลอดภัยของตัวบ้าน ต้องระวังในการก่อสร้างให้ไม่กระทบกับต้นยางพารามากนัก และรองรับการอยู่อาศัยของผู้ใหญ่วัยเกษียร 2 คน และเจ้าของบ้าน 1 คนให้ได้จริง  เป็นโจทย์หลักๆในการออกแบบครับ ซึ่งก็ยังหวังอย่างสุดใจว่าจะอยู่ร่วมกันได้

ไม่มีต้นลำพู หิ่งห้อยอยู่ต้นยางพารา

เริ่มจากขนาดก่อนเลยครับ มีการควบคุมงบประมาณก่อสร้างให้ไม่สูงเกินไป บีบให้พื้นที่การใช้งานกระทัดรัดที่สุด โดยที่การใช้งานยังคงสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันได้ เป็นบ้านที่มีพื้นที่ใช้งานดังนี้ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ส่วนที่เป็น OPEN PLAN ที่จะมีฟังก์ชั่น ครัว + พื้นที่รับประทานอาหาร + พื้นที่ห้องนั่งเล่นที่ปรับเปลี่ยนเป็นเตียงนอน มีชานกว้างเป็นสวนประกอบที่ให้อารมณ์การพักผ่อนในตัวบ้านเป็นสำคัญ ถูกเติมเข้ามาเพื่อเป็นจุดชื่อมต่อของพื้นที่ภายนอกกับภายในเป็นอย่างดี ได้เปิดมุมมองเพื่อดึงเอาธรรมชาติเข้ามาสู่ภายในให้ใกล้ชิดได้มากที่สุด

ในทางตั้งเราใช้ลักษณะของต้นยางพาราอายุ 8-9 ปีเป็นตัวกำหนดความสูง โดยรูปทรงทางธรรมชาติของยางพาราจะมีลำต้นและกิ่งก้านยืดออกไปในทางสูงและมีใบอยู่ด้านบน ตัวบ้านจึงถูกกดต่ำให้ได้มากที่สุด และตัดกิ่งก้านที่ยื่นเข้ามาในตัวอาคารบ้างเล็กน้อยเนื่องจากยางพารา มีลักษณะโดยธรรมชาติค่อนข้างเปราะ อาจหักโค่นได้หากเจอพายุรุนแรง เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ จึงออกแบบหลังคาและใช้วัสดุมุงที่เป็นเมทัลชีต ที่จะไม่แตกหักเมื่อโดนกิ่งไม้หล่นใส่ ในของส่วนห้องนอนเป็นหลังคาคอนกรีตเทเรียบ ซึ่งมีความแข็งแรงสูงและสามารถขึ้นไปดูแลความสะอาด  ตรวจสอบความชำรุดของหลังคาได้สะดวกยิ่งขึ้น

เมื่อเราต้องกดตัวบ้านให้ต่ำที่สุด ภายในส่วนห้องนอนจึงไม่มีฝ้า เพื่อให้ที่ว่างภายในไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไป

เราเลือกที่จะหันด้านทึบเข้าหาทางเข้าหลักและเปิดมุมมองกว้างๆ ไปในสวนที่เป็นธรรมชาติมากกว่า  สร้างความแตกต่างของพื้นผิวผนังด้วยวัสดุ  เราเลือกเน้นผนังบางผนังด้วยการกรุทรายล้างสีเทาเข้ม ซึ่งเป็นวัสดุที่ราคาไม่สูง เว้นร่องเพื่อให้เกิดเส้นสายในแนวตั้ง ในขณะเดียวกันจะได้ไม่เกิดปัญหาแตกร้าวในภายหลังได้อีกด้วย 

ผนังทั่วไปเลือกที่จะใช้คอนกรีตเปลือยและเคลือบใสซึ่งสีของคอนกรีตธรรมชาติ ทำให้บ้านหลังนี้แทรกตัวอยู่กับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน วัสดุต่างๆเน้นเป็นวัสดุทดแทนไม้ พื้นเน้นไปที่ความแข็งแรง และง่ายต่อการรักษาความสะอาด โดยภายในใช้เป็นกระเบื้องยางลายไม้ ชานภายนอก เป็นกระเบื้องลายไม้ ประตูหน้าต่าง เป็นอะลูมิเนียมสีชา

หิ่งห้อยปล่อยแสงสะท้อน

พอเรานึกถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และออกแบบที่ว่างตามสภาพแวดล้อมเดิมเป็นโจทย์หลักแล้ว ทำให้ทุกพื้นที่ในบ้านจึงตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ และสามารถให้อารมณ์ของการพักผ่อนออกมาได้ดีทีเดียว การกดบ้านให้ต่ำ จึงต้องแบ่งช่องเปิด ระหว่างประตูกระจก กับช่องแสงด้านบน มีผลต่อการให้แสงธรรมชาติเข้ามาภายใน  และการเจาะช่องบนหลังคาก็ให้ผลเรื่องแสงที่สะท้อนลงมากับช่องระหว่างฝ้าซึ่งเป็น EFFECT ที่สวยงามให้กับตัวบ้านได้อย่างดี 

บ้านหลังนี้เราให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่เราต้องการที่จะอยู่หลัก ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบพื้นที่ใช้สอย การเลือกเปิดรับหรือปิดกั้นอะไรบางอย่างได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเมื่อติดตามผลจาการอยู่อาศัยจริงแล้ว ผู้อยู่อาศัยมีความสุขกับบ้านหลังนี้มากครับ

แมลงที่เป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์

การจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติเป็นเรื่องที่ยากครับ ไม่ว่าจะเป็น มด ยุง ต่างๆ ก็จะมีปริมาณมากกว่าปกติ เรากำลังพยายามที่จะเป็นส่วนนึงของพื้นที่ อยากจะรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุดให้ได้ เมื่อบ้านหลังนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จในระยะเวลาประมาณ 4 เดือน มีการวางแผน และปรับแบบตามพื้นที่ในช่วงก่อสร้างอยู่ตลอดเวลา เรื่องที่เรากังวลมากที่สุดคือ ต้นไม้ที่เราล้อมเขาไว้นั้น ต้องเจอการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจนอาจหาอาหารได้น้อยลงหรือการก่อสร้างอาจะไปกระทบระบบราก รวมถึงความกังวลใจของหลายๆคนที่กลัวว่า ต้นไม้จะล้มทับบ้านบ้าง พายุหอบไปบ้าง ซึ่งปัญหาเหล่านี้เราได้พูดคุยละวางแผนกันโดยตลอด จนก่อสร้างแล้วเสร็จ ด้วยความหวังที่จะอยู่ร่วมกันจนได้และความหวังสูงสุดที่ธรรมชาติเดิมของพื้นที่นี้ยังคงอยู่ นั่นคือ “หิ่งห้อย” จะยังอยู่ ให้สมาชิกภายในบ้านได้ปิดไฟและชื่นชมกับมันได้อยู่ ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อบ้านหลังนี้ด้วยครับ