OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Kensington Learning Space อาคารเรียนปนเล่นที่สร้างนิสัยรักการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นทุกที่

Location: ซอยบางพรม 16 ถนนราชพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
Owner: คุณโน้ต-นิติพันธ์ พันธุ์วิโรจน์ และคุณหนุ่ย-วราภรณ์ กาญจนวัฒน์
Architect: Plan Architect
Interior Designer: IF (Integrated Field)
Environmental Graphic: IF (Integrated Field)
Story: เสาวภัคย์ อัยสานนท์
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

จากการตั้งคำถามว่า เด็กๆ จะต้องพบกับความท้าทายใดบ้างในอนาคต และเราจะมีส่วนช่วยพวกเขาเตรียมความพร้อมได้อย่างไร บวกกับประสบการณ์ในการบริหารโรงเรียนที่สั่งสมมานานกว่า 10 ปีของ Kensington International Kindergarten ที่หยิบนำการเรียนรู้ (Learning) และการเล่น (Playing) มาผสานเข้าด้วยกันเป็น Play-based Learning จนทลายกำแพงการศึกษาแบบเดิมๆ ได้อย่างประสบความสำเร็จมาแล้วแนวความคิดเรื่องการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ไม่มีขอบเขต จึงถูกขยับขยายต่อยอดมายังโปรเจ็กต์ใหม่ที่มีชื่อว่า Kensington Learning Space (KLS) โดยคุณโน้ต-นิติพันธ์ พันธุ์วิโรจน์ และคุณหนุ่ย-วราภรณ์ กาญจนวัฒน์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียน มีความตั้งใจที่จะสร้างศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่นี้ให้เป็นมากกว่าโรงเรียนสอนพิเศษทั่วไป แต่เป็นสถานที่ที่เด็กๆ สามารถมาเรียนผ่านการเล่นแบบ Play-based Learning เพื่อเกิดเป็นนิสัยรักในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีบริษัทสถาปนิกสองเจ้าใหญ่อย่าง Plan Architect และ IF (Integrated Field) มาเป็นผู้ออกแบบ

อาคารที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ในทุกที่

คีย์สำคัญของ Kensington Learning Space คือการเรียนรู้ที่ไม่มีขอบเขต จุดมุ่งหมายของสถาปนิกจึงเป็นการสร้างสถาปัตยกรรมที่เสริมสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็ก โดยผ่านกระบวนการคิดที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด ตั้งแต่การเลือกใช้สี วิธีการเข้าถึง ฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะสม การวางพื้นที่ให้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ และความปลอดภัย
คุณหยาง-เปรมประจักษ์ เตยะราชกุล หนึ่งในสถาปนิกผู้ออกแบบจาก Plan Architect เล่าว่า “โจทย์การออกแบบส่วนหนึ่งก็มาจากประสบการณ์ของโรงเรียนเดิมที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว แต่ฟังก์ชันของ Kensington Learning Space จะมีความพิเศษกว่า โดยเป็นฟังก์ชันของโรงเรียนกิจกรรมที่มีการเรียนรู้ที่มากกว่า หลักสูตรและวิชาความรู้หลากหลาย มีสเกลของฟังก์ชันที่มีสนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ โรงยิม และพื้นที่เรียนรู้ทักษะพิเศษต่างๆ โดยฟังก์ชันทั้งหมดจะถูกนำมาร้อยเรียงต่อกันให้เป็นเส้นที่มีความต่อเนื่อง แล้วค่อยนำมาดีไซน์เป็นตัวอาคาร”

เมื่อเดินผ่านโถงหลักเข้ามาด้านในจะเห็นว่า จากบริเวณชั้นล่างจนถึงชั้นบน ทางเดินของอาคารถูกออกแบบให้ไล่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ตามฟอร์มของอาคาร จนเกิดสเปซที่เป็นวนขดกันเหมือนก้นหอย รวมถึงเกิดเป็นมุมมองสวยงามที่เชื่อมโยงแต่ละพื้นที่เข้าด้วยกันได้อย่างไม่น่าเบื่อ โดยอาคารเรียนมีทั้งหมด 3 ชั้น แบ่งออกเป็นชั้นพื้นดิน (Earth) ท้องฟ้า (Sky) และอวกาศ (Space)

ภาพแปลนของอาคาร

“เส้นสายของตัวอาคารให้ความรู้สึกสนุก เป็นเส้นที่สามารถจินตนาการต่อไปได้ ตัวแบบผนังโค้งที่เกิดขึ้นทั้งชั้นบนและชั้นล่างคือเส้นของฟังก์ชันที่เราพยายามทำให้ต่อกันทั้งหมด เหมือนวิ่งวนไปได้ไม่รู้จบ เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองที่เข้ามารู้สึกว่า สามารถเรียนรู้อยู่ในนี้ได้ตลอดเวลา” สถาปนิกกล่าวนอกจากองค์ประกอบเรียบง่ายของเส้นสายที่ร้อยเรียงต่อกัน จุดเด่นของตัวอาคารแห่งนี้คือ โครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งออกแบบมาในรูปแบบ freeform ทำให้เกิดเป็นผนังโค้งที่ลื่นไหลไปตามส่วนต่างๆ อย่างเชื่อมโยงกัน โดยเกิดจากการขบคิดและทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ของสถาปนิกและวิศวกรรมโครงสร้าง เพื่อทำให้โครงสร้างสามารถตอบโจทย์การออกแบบได้มากที่สุด ด้วยการหล่อเสาขึ้นมาให้โค้งตามฟอร์มของอาคาร แล้วซ่อนตัวเสาอยู่ในผนัง ก่อนที่จะหล่อผนังคอนกรีตเพิ่มเข้าไป ซึ่งสร้างความแข็งแรงและทนรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี รวมถึงเกิดเป็นภาพลักษณ์ของอาคารที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์

สร้างความหลากหลายของสเปซเพื่อให้การเกิดการเรียนรู้

พื้นที่คอร์ทกลางรูปวงรีที่เป็นสนามเด็กเล่น และทางขี่จักรยาน สถาปนิกจัดวางให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อให้เด็กๆ ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และสร้างความรู้สึกผจญภัยเหมือนอยู่ในอุโมงค์ โดยมีสะพานตรงกลางที่ถูกออกแบบให้สามารถขี่จักรยานลอดเข้าไปได้ ช่วยเพิ่มการเรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กๆ ได้อย่างน่าสนใจ

คุณหยางเล่าถึงการออกแบบพื้นที่คอร์ทกลางว่า “เราอยากให้พื้นที่คอร์ทกลางสร้างอิมแพคที่สุด เลยคิดว่าการดีไซน์ควรจะให้มันล้อมไปกับตึก ด้วยเส้นสาย มีต้นไม้ มีเครื่องเล่นบ้าง เราอยากรวมพื้นที่เหล่านี้ให้อยู่ใน landscape เหมือนเป็นเรื่องเดียวกันกับตึก เราไม่ได้ทำเนินขึ้นมาไว้ตั้งเครื่องเล่นอย่างเดียว แต่มีลู่วิ่ง ลู่แทร็คของรถ ประกอบกับคุณหนุ่ยอยากได้อุโมงค์ สะพานโค้งที่ตอนแรกอยากให้เด็กๆ แค่มุดลอดไปลอดมาเฉยๆ เลยเกิดเป็นสเปซที่สามารถขับรถผ่านได้ด้วย แล้วข้างใต้ก็เป็นบ่อทรายที่เป็นพื้นที่กึ่ง outdoor และ indoor ให้เด็กเข้าไปเล่น การเล่นก็หลากหลายมากขึ้น”

อุโมงค์สะพานตรงกลางถูกออกแบบให้สามารถขี่จักรยานลอดเข้าไปได้

ในส่วนของการออกแบบภายใน Kensington Learning Space ยังได้บริษัทสถาปนิกที่เข้าใจการออกแบบพื้นที่สำหรับเด็กเป็นอย่างดีอย่าง IF (Integrated Field) ซึ่งเคยมีประสบการณ์การออกแบบอาคารกุมารเวช โรงพยาบาลเอกชัย มาช่วยเติมเต็มการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ หากสังเกตดีๆ จะพบว่า ทุกพื้นที่ของอาคารจะแฝงด้วยงานกราฟิกมากมายที่มีปริศนาซ่อนอยู่ ชวนให้เด็กๆ เกิดความสงสัย และการตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นสติกเกอร์บนผนังที่เป็นส่วนสูงของยีราฟตามขนาดสัดส่วนจริง สติกเกอร์เล่าเรื่องภาพสัตว์น้ำต่างๆ ที่แอบเป็นกิมมิกติดอยู่บริเวณโดยรอบสระว่ายน้ำ หรือแม้กระทั่งบนบานกระจกของห้องเรียนแต่ละห้อง 

บริเวณโถงหลัก (Main Lobby)

อีกหนึ่งพื้นที่ไฮไลท์ของโครงการคือ การออกแบบสระว่ายน้ำแบบ semi outdoor ที่มีบรรยากาศน่าใช้งานด้วยโทนสีขาว-ฟ้าโปร่งโล่ง ซึ่งสถาปนิกผู้ออกแบบได้มีการนำเส้นมาใช้เป็นองค์ประกอบหลัก และคว้านสเปซเข้าไปข้างในเพื่อลบเหลี่ยมมุมต่างๆ ในช่วงที่แสงแดดส่องพาดผ่านจะเกิดเป็นมิติแสงเงาที่สวยงามและสร้างความน่าสนใจให้กับสระว่ายน้ำได้ยิ่งขึ้นอีกด้วย

เชื่อมต่อทุกพื้นที่เข้ากับธรรมชาติ

ภายในศูนย์การเรียนรู้ จัดแบ่งโซนพื้นที่เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและสัมผัสกับธรรมชาติภายนอกได้มากที่สุด แต่ละห้องเรียนสามารถมองเห็นวิวของพื้นที่สีเขียวหรือเดินเชื่อมต่อออกมาสู่พื้นที่สีเขียวภายนอกได้อย่างสะดวก หากเด็กๆ ที่กำลังเรียนอยู่ในห้องเรียนรู้สึกอยากออกไปเล่นข้างนอก พวกเขาก็สามารถเลือกที่จะออกมาได้ทันที

ความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญ

เมื่อต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบคือ เรื่องของความปลอดภัย ทั้งการออกแบบลักษณะพื้นที่ พื้นผิวของวัสดุ มุมแหลมขององค์ประกอบต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กๆ สิ่งเหล่านี้จึงถูกนำมาพิจารณาต่อการใช้งานด้วยกันทั้งหมด แม้แต่เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ใช้ ก็ล้วนผ่านการออกแบบให้เหมาะสมไปตามสเกลของผู้ใช้งานการเรียนรู้ไม่ควรถูกผูกขาดและจำกัดอยู่แค่ในตำรา หากแต่คือการออกไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ออกไปใช้ความคิดอย่างอิสระ ออกไปเรียนปนเล่น-เล่นปนเรียน การสร้างพื้นที่เพื่อให้การเกิดการเรียนรู้สูงสุด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ Kensington Learning Space ให้ความใส่ใจ และเปลี่ยนความรู้สึกต่อการเรียนของเด็กๆ ให้กลายเป็นเรื่องสนุกยิ่งกว่าที่เคย