OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

“บ้านฟ้าบ่กั้น” เรือนอีสานยุคใหม่ที่ผสมผสมผสานความชนบทและความทันสมัยอย่างกลมกล่อม

Location : ขอนแก่น
Owner : คุณจัตวา ชุณหบุญญทิพย์ และคุณอนุสรา แท่นพิทักษ์
Architect & Interior Designer : ทวิชากร เหล่าไชยยงค์ S Pace studio
Constructor : K Kitrungruang
Photographer : S Pace studio

จุดเริ่มต้นของการออกแบบบ้านสักหนึ่งหลัง ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ มักต้องตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของผู้อยู่อาศัยได้อย่างสมบูรณ์ แต่เหนือสิ่งอื่นใด การเติมแต่งความงาม สุนทรียภาพ และกลิ่นอายที่สะท้อนถึงตัวตนของผู้อยู่อาศัยเข้าไปในการออกแบบ ย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้บ้านมีเอกลักษณ์ มีคุณค่าและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เช่นเดียวกันกับ “บ้านฟ้าบ่กั้น หลังนี้ บ้านท่ามกลางบรรยากาศชนบทในจังหวัดขอนแก่น ที่สะท้อนกลิ่นอายความเป็นอีสานพื้นถิ่นและเรื่องราวเจ้าของบ้านผ่านการผสมผสานระหว่างความเป็นชนบท และความทันสมัยไว้ได้อย่างกลมกล่อม โดยผ่านฝีมือการออกแบบของ “คุณปาล์มทวิชากร เหล่าไชยยงค์” สถาปนิกแห่ง “S Pace studio

จากเรื่องราวในหนังสือ สู่บ้านหลังใหม่ที่มีกลิ่นอายเดิม

“ฟ้าบ่กั้น” คือชื่อหนังสือวรรณกรรมที่เล่าถึงเรื่องราวของคนอีสาน เปรียบดั่งภาพตัวแทนของวิถีชีวิตคนชนบทอีสานได้เป็นอย่างดี ซึ่งเจ้าของบ้านเองเป็นคู่รักที่กำลังจะแต่งงานกัน โดยฝ่ายชายเป็นคนอีสานโดยกำเนิด มีความผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอีสานมาตั้งแต่เด็กๆ และมีความชื่นชอบวรรณกรรมเรื่องนี้มาก จึงได้ ริเริ่มความคิดในการสร้างบ้านหลังใหม่ที่ถ่ายทอดกลิ่นอายความเป็นอีสานชนบทผสานเข้ากับความปัจจุบันทันสมัยไว้ด้วยกัน

หนังสือฟ้าบ่กั้น เครดิต: จากแพรวสำนักพิมพ์ หนังสือในเครืออมรินทร์

“แนวความคิดที่เรามองกับบ้านหลังนี้ตั้งแต่ตอนที่ได้รับโจทย์มาคือ เราจะทำอย่างไรให้บ้านหลังนี้มีความเป็นกลิ่นอายความเป็นอีสาน ความเป็นชนบท ผสานกับความสมัยใหม่” สถาปนิกกล่าว

เรือนอีสานชนบท กับปรากฎการณ์ของพื้นที่

สถาปนิกเริ่มถอดความหมายของ “เรือนพื้นถิ่นอีสาน” ออกมาทีละเล็กละน้อย เริ่มต้นจากองค์ประกอบของบ้านเรือนอีสานที่พบเห็นได้ทั่วไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่าง “หลังคาทรงจั่ว” และ “พื้นที่ใต้ถุนบ้าน” ซึ่งถือเป็นพื้นที่เปิดโล่งอเนกประสงค์ที่ใช้ทำกิจกรรมหลักอย่างนั่งเล่น รับแขก กินข้าว ทำครัว ลักษณะขององค์ประกอบทั้งสองถูกสอดแทรกเข้าไปภายใต้บ้านหลังนี้ แต่ทว่าแทนที่จะนำมาใช้อย่างตรงไปตรงมา สถาปนิกได้เพิ่มเติมลูกเล่นให้ทันสมัย ด้วยการจับจังหวะเส้นสายขององค์ประกอบใหม่ให้ออกมาน่าสนใจกว่าเดิม

เนื่องจากปัจจุบันต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ทำให้พื้นที่ภายในชั้นหนึ่งที่นำองค์ประกอบของพื้นที่ใต้ถุนบ้านมาใช้ออกแบบ จำเป็นต้องมีกำแพงล้อมรอบ ไม่สามารถเปิดโล่งเหมือนรูปแบบเรือนอีสานดั้งเดิมได้ แต่การเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและธรรมชาติภายนอก ยังคงเชื่อมต่อกันผ่าน “ชาน” ซึ่งถูกออกแบบให้มีขนาดใหญ่เพื่อรองรับกิจกรรมอเนกประสงค์ อีกทั้งยังสร้างจังหวะการเปิด-ปิดของช่องเปิดให้สัมพันธ์กับพื้นที่การใช้งาน อย่างห้องนั่งเล่นที่เป็นห้องอ่านหนังสือไปด้วยในตัว ซึ่งผู้อยู่อาศัยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ภายในพื้นที่นี้ ช่องเปิดจึงถูกออกแบบให้เป็นหน้าต่างบานเฟี้ยมขนาดใหญ่ที่สามารถเปิดโล่งเพื่อเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอกจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยที่แสงแดด สายลมสามารถพัดผ่านเข้ามาได้ อากาศเย็นสบายแทบไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ และยังให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ใต้ถุนบ้านที่สามารถมองเห็นบรรยากาศธรรมชาติรอบๆบ้านได้อย่างสมบูรณ์

แปลนชั้น 1 ของบ้านฟ้าบ่กั้น เครดิต: S Pace studio

แปลนชั้น 2  ของบ้านฟ้าบ่กั้น เครดิต: S Pace studio

ในขณะที่ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัว เป็นพื้นที่ที่ใช้ในบางเวลาเท่านั้น หน้าต่างจึงมีขนาดเล็กกว่า และเลือกวางในตำแหน่งที่ต้องการระบายอากาศและแสงธรรมชาติเข้าถึงเท่านั้น เช่น ซิงค์ล้างจานที่ต้องการการระบายความชื้น

ฟังก์ชันภายในพื้นที่ชั้นหนึ่ง อย่างห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหาร ถูกจัดวางให้เชื่อมต่อถึงกันทั้งหมด ให้เสมือนเป็นพื้นที่เดียวกัน แต่ระหว่างห้องครัวและห้องรับประทานอาหาร มีบานสไลด์ซ้อนราง ที่สามารถเลือกปิดในเวลาทำอาหาร และเปิดเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งานมากยิ่งขึ้น

สัจจวัสดุ ความดิบเปลือยที่หาได้ในพื้นถิ่น

“การสะท้อนกลิ่นอายความเป็นอีสาน ความเป็นชนบท อีกอย่างก็คือการแสดงสัจจวัสดุ การโชว์วัสดุเนื้อแท้ของสถาปัตยกรรมออกมา โดยใช้วัสดุที่หาได้ทั่วไปในท้องถิ่น เช่น ไม้ อิฐ ปูน ที่มีความดิบเปลือยมาเกลาใหม่ให้แสดงออกมาผ่านองค์ประกอบต่างๆของบ้าน” สถาปนิกกล่าวถึงเรื่องราวของวัสดุทั้งหมดที่นำมาใช้ภายในบ้านหลังนี้ ที่หลักๆประกอบไปด้วย “ไม้” ที่สอดแทรกอยู่ในทุกๆพื้นที่ แต่เนื่องจากไม่สามารถใช้ไม้จริงได้ทั้งหมด ด้วยงบประมาณและการดูแลรักษาในอนาคต สถาปนิกจึงเลือกใช้ไม้จริงกับพื้นห้องนั่งเล่นและห้องนอน เพราะเป็นพื้นที่ที่ผู้อยู่อาศัยสัมผัสมากที่สุด นอกจากนี้วงกบประตู-หน้าต่างก็ยังเป็นไม้ทั้งหมด รวมถึงออกแบบ “ตงไม้ชั้นสอง” ที่เจ้าของบ้านคุ้นเคยในบ้านไม้แบบเรียนอีสานตั้งแต่สมัยเด็ก ไว้เหนือส่วนรับประทานอาหาร เพื่อคงกลิ่นอายความเป็นเรือนอีสานไว้อย่างครบถ้วน

ส่วนผนังทั้งภายในและภายนอก เน้นเป็นผนังสีขาว ไม้ และผนังอิฐในบางส่วน โดยมีรูปแบบในการก่อแบบปกติ และก่อเว้นร่องเพื่อมุมมองและช่วยในเรื่องของการระบายอากาศได้

ผนังภายนอกที่ก่ออิฐเว้นร่องเพื่อโชว์ความสวยงามของ Pocket Garden ในระเบียงห้องนอนชั้นสอง

ภาพพื้นหลังในงานแต่งงานผ่านสีสันของธรรมชาติ

การออกแบบภูมิทัศน์เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สถาปนิกให้ความสำคัญ โดยพยายามสอดแทรกต้นไม้ทั้งขนาดใหญ่และเล็กเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตัวบ้าน ซึ่งส่วนที่เราสามารถเห็นได้ชัดเจนคือ ต้นศรีตรังที่โผล่ขึ้นไปเหนือหลังคาชั้นแรกไปจนชั้นสองของบ้าน เป็นบริเวณที่สถาปนิกออกแบบให้เป็นสวนเล็กๆตั้งอยู่ใจกลางของบ้าน เพื่อเพิ่มบรรยากาศและความรื่นรมย์ในการอยู่อาศัย รวมถึงต้อนข่อยสองต้นที่มีอยู่เดิมบริเวณหน้าบ้าน ก็ถูกเก็บรักษาไว้ และจัดวางต้นไม้ที่ดอกมีสีสันสวยงามอย่างต้นหยีน้ำ(ดอกสีขาว) ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์(ดอกสีชมพู) ต้นลีลาวดี(ดอกสีขาวเหลือง) ต้นจิกน้ำ(ดอกสีแดง) และอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อสร้างความสวยงาม และใช้เป็นภาพพื้นหลังในงานแต่งงานที่เจ้าของบ้านทั้งสองคนตั้งใจจัดขึ้นในอนาคต ที่สวนหน้าบ้านของตัวเองอีกด้วย

“เจ้าของบ้านมาพร้อมกับโจทย์ให้กับสถาปนิก ขั้นแรกผู้ออกแบบเองต้องออกแบบภายใต้โจทย์ๆนั้นและต้องใช้งาน ต้องสื่อสารกับเจ้าของบ้านได้อย่างสมบูรณ์ แต่เหนือสิ่งอื่นนั้น ผมมองว่าการที่เราจะออกแบบบางสิ่งที่มีความงาม ออกแบบสุนทรียภาพ และความเป็นตัวตนของเจ้าของบ้านผ่านโจทย์ที่เจ้าของบ้านไม่ได้ให้ไว้ ผมมองว่าเหล่านี้เป็นจุดที่ทำให้ตัวบ้านเองมีคุณค่า มากกว่าไปกว่านั้น คือการที่เราสร้างชีวิตของเจ้าของบ้านภายในภาพสถาปัตยกรรมตรงหน้า ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

สถาปนิกกล่าวมาถึงในส่วนสุดท้ายว่าในการออกแบบบ้านที่สะท้อนกลิ่นอายความเป็นอีสานพื้นถิ่นและเรื่องราวเจ้าของบ้านผ่านการผสมผสานระหว่างความเป็นชนบท และความทันสมัยไว้ได้อย่างกลมกล่อม ผ่านการหยิบองค์ประกอบเล็กๆน้อยๆ มาประกอบไว้ภายในบ้านหลังนี้ ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์สไตล์ที่เจ้าของบ้านอยากได้เท่านั้น แต่สถาปัตยกรรมเรือนอีสานพื้นถิ่นรูปแบบใหม่นี้ ยังทำให้คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยดีและมีความสุขมากขึ้นอีกด้วย