OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

บ้านเรขาคณิตริมนา ที่สะท้อนความเรียบง่ายผ่านมุมมองของแสงและเงา

Location : Mae-rim, Chiang Mai
Area : 220 Sq.m.
Architect : DEPTH Architect
Owner : คุณณัฐ ปราชญากูล

จากบริบทและทิศทางของแสง กับความเรียบง่ายที่สะท้อนผ่านรูปทรงเรขาคณิตของ “บ้านริมนา” ที่ได้รับการออกแบบอย่างบรรจงโดยทีมสถาปนิกจาก DEPTH Architect ผู้ออกแบบและจัดวางความดิบของเส้นสายให้ออกมาดูอบอุ่นผ่านมุมมองแสงและเงาที่ช่วยสร้างมิติให้กับความเรียบง่ายของตัวบ้านโดดเด่นขึ้นภายใต้รูปทรงเรขาคณิต

ว่าด้วยเรื่องเรขาคณิต
“การถูกตัดทอนขนาด การจัดวาง และการสะท้อน”

ในที่นี่จะขอกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างรูปทรงเรขาคณิตที่ไม่เพียงแต่เป็นรูปลักษณ์ภายนอกของตัวบ้าน แต่นิยามของเรขาคณิตยังสอดคล้องไปกับการจัดวางและรูปแบบของแสงเงาบ้านริมนาได้อย่างมีนัยยะ อย่างการคล้อยตามนิยามด้วยรูปแบบของ “การจัดวาง” พื้นที่ภายในบ้านให้เหมาะสมตามบริบทของสถานที่และการใช้งานของเจ้าของบ้าน หรือการ “สะท้อน” ความเรียบง่ายผ่านแสงเงาที่กระทบกับมุมเรขาคณิตที่ถูก “ตัดทอนขนาด” ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นหนึ่งในความต้องการตั้งต้นของเจ้าของบ้าน ก่อนที่ทีมสถาปนิกจาก DEPTH Architect จะนำมาร้อยเรียงให้เกิดเป็นเส้นสายสถาปัตยกรรมที่สวยงามเคียงข้างไปกับผืนนาของบ้านริมนา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่เดิมที่เจ้าของบ้านต้องการบ้านทรงเรขาคณิตชั้นเดียว แต่ด้วยบริบทของแสงและภูมิทัศน์ที่เราได้เข้าไปสำรวจก่อนเริ่มออกแบบ เราเห็นว่าฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้นั้นมีภูมิทัศน์ของทุ่งนาที่น่าสนใจ เราจึงเสนอเป็นบ้าน 2 ชั้นที่สามารถเปิดวิวทุ่งนาได้มากกว่าบ้านชั้นเดียวแทน” สถาปนิกจาก DEPTH Architect กล่าว

ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อต้องเปิดวิวทุ่งนาในทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทิศที่ร้อนเป็นพิเศษในยามบ่าย ประกอบกับบ้านทรงเรขาคณิตที่เมื่อเทียบกับหลังคาทรงปั้นหยาหรือทรงจั่วก็คงจะสู้เรื่องการป้องกันแสงแดดไม่ได้ แต่ภายใต้โจทย์ที่เจ้าของบ้านต้องการบ้านทรงเรขาคณิตนั้นจึงกลายเป็นคำถามให้ทีมสถาปนิกได้กลับไปขบคิดกันว่า “ทำอย่างไร บ้านหลังนี้จึงจะเป็นบ้านที่ดีภายใต้โจทย์นี้?”
สถาปนิกผู้ออกแบบได้เล่าว่า โดยส่วนใหญ่เจ้าของบ้านจะพักอาศัยอยู่ที่บ้านในช่วงวันเสาร์อาทิตย์หรือช่วงกลางคืนเท่านั้น ผู้ออกแบบจึงได้นำประเด็นนี้มาปรับใช้ ด้วยการเน้นเรื่องของพื้นที่สำหรับพักผ่อนและจัดวางแบ่งห้องนั่งเล่นเป็น 2 ส่วน เพื่อตอบโจทย์การใช้งานและให้สอดคล้องไปกับคอนเซ็ปต์ที่ต้องการเปิดวิวทุ่งนา โดยห้องนั่งเล่นส่วนที่ 1 หรือส่วนเปิดวิวทิวทัศน์จะอยู่ที่ชั้น 2 เน้นการใช้งานในช่วงเช้าก่อนไปทำงานและยามเช้าวันเสาร์อาทิตย์ เมื่อตกยามบ่ายผู้ออกแบบตั้งใจให้มีความลื่นไหลในการใช้งานพื้นที่ด้วยการออกแบบห้องนั่งเล่นส่วนที่ 2 ไว้ที่ชั้น 1 และเปิดวิวทิศเหนือกับทิศตะวันออกด้วยประตูบานเฟี้ยม ที่ช่วยเปิดกว้างเพื่อรับลมจากทิศนี้ได้อย่างเต็มที่ในช่วงกลางวันจากการหลบแดดบนห้องนั่งเล่นชั้น 2 ลงมาชั้นล่าง

“ส่วนที่เจ้าของบ้านชอบที่สุดภายในบ้านหลังนี้ คือ ห้องนั่งเล่นทั้ง 2 ชั้น ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าการเปิดวิวทิศตะวันออกและทิศเหนือสามารถทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถอยู่บ้านได้ตลอดทั้งวันจริงๆ เป็นตามที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก”

ให้แสงและเงาเป็นสื่อกลางเล่าถึงความเรียบง่ายภายใต้บ้านเรขาคณิต

ด้วยความที่บ้านหลังนี้ยึดในเรื่องของบริบทและทิศทางของแสงเป็นหลัก ส่วนของการออกแบบช่องแสงเล็กๆ ตามผนังตำแหน่งต่างๆ ของตัวบ้านจึงจัดวางให้แสงสามารถส่องเข้ามาและเกิดเป็นลวดลายของเงาที่น่าสนใจ รวมถึงความเรียบง่ายของวัสดุไม้ที่เป็นวัสดุหลักสำหรับการตกแต่งภายใน ที่ผสานกับแสงจากธรรมชาติช่วยให้อารมณ์ภายในบ้านริมนาดูปรุโปร่ง ผ่อนคลายช่องแสงรูปก้อนเมฆ เป็นช่องแสงที่เจ้าของบ้านชอบมากเป็นพิเศษ และพวกเราก็พยายามหาจุดลงตัวในกาจัดวาง ซึ่งก็ได้บทสรุปเป็นส่วนของห้องนอน ด้วยเหตุผลที่เจ้าของบ้านไม่ชอบนอนห้องที่มืดสนิท การเพิ่มช่องแสงเข้ามาในห้องนี้ จึงช่วยตอบโจทย์การเพิ่มแสงสว่างที่ส่องเข้ามาในยามค่ำคืน อีกทั้งเงาที่เกิดขึ้นบนผนังยังเป็นรูปก้อนเมฆตามรูปร่างของช่องแสง ที่ยังช่วยสร้างบรรยากาศให้ภายในห้องนอนดูอบอุ่นขึ้นไปในตัว” สถาปนิกกล่าว

หากให้แสงเงาเป็นสื่อกลางที่ช่วยเล่าถึงความเรียบง่ายภายใต้บ้านเรขาคณิตริมนาหลังนี้แล้วล่ะก็ หนึ่งในนั้นคือความเรียบง่ายที่ถูกสะท้อนผ่านฟังก์ชันการใช้งานภายในบ้านผสานกับความเรียบง่ายของพื้นผิววัสดุไม้จากธรรมชาติ ที่แสงและเงาได้เข้าไปเสริมให้พื้นที่ต่างๆ มีอารมณ์และความรู้สึกที่ดูอบอุ่นผ่อนคลายภายใต้ความดิบของเส้นสายเรขาคณิตอย่างลงตัว