OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

S71 House บ้านที่เปลี่ยนภาษาสู่ความโมเดิร์น ผ่านองศาของแสงอาทิตย์ที่ชุบชีวิตใหม่ให้กับครอบครัว

Location : กรุงเทพฯ
Area : 400 ตารางเมตร
Owner : สมศักดิ์-นิรินธน์-ณิชยา หงษ์ศรีจินดา
Architect : สิทธิชัย ชมภู PERSPACETIVE
Photographs : อานันท์ นฤพันธาวาทย์

หลายครั้งที่ยุคสมัยเข้ามามีบทบาทในงานสถาปัตยกรรม ไม่เว้นแม้แต่ ‘บ้าน’ สถาปัตยกรรมขนาดเล็กที่เมื่อเวลาผ่านไป รูปแบบ พื้นที่ใช้งาน และบรรยากาศภายในบ้าน อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการเหมือนเดิมตลอดไป ซึ่งกับบ้าน “S71 House” หลังนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่อดีตมีปัญหาเรื่องรูปทรงหลังคาและอับแสง ถูกชุบชีวิตให้มีชีวาอีกครั้งในสไตล์โมเดิร์น เพื่อทันยุคสมัยและรีเฟรชบรรยากาศภายในให้ดีขึ้นกว่าเดิม ผ่านฝีมือการออกแบบของ “คุณหนุ่ม-สิทธิชัย ชมภู” สถาปนิกแห่ง PERSPACETIVE ที่ค่อยๆลำดับภาพการออกแบบไปทีละส่วน จนถึงผลลัพธ์สุดท้ายที่ตอบโจทย์เจ้าของบ้านมากที่สุด

ว่าด้วยเรื่องของความต้องการ

จุดเริ่มต้นจากความต้องการของ “คุณสมศักดิ์และคุณนิรินธน์ หงษ์ศรีจินดา” เจ้าของบ้านที่อยากรีโนเวทบ้านเดิมที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ไว้อยู่อาศัยในวัยเกษียณ และมอบเป็นของขวัญให้กับลูกสาว“คุณณิชยา หงษ์ศรีจินดา” โดยมีความต้องการอยู่ 3 อย่างหลักๆ คือ หนึ่งต้องการเปลี่ยนสไตล์ของบ้านจากเดิมที่เป็น Swiss Chalet ให้เป็นสไตล์โมเดิร์นที่มีความเรียบง่าย สองต้องการรีเฟรชบรรยากาศของบ้านให้ดูมีชีวิตชีวามากขึ้นในขณะที่ยังมีความเป็นส่วนตัวอยู่ และสามต้องการฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัย สะดวกสบายตามยุคสมัยปัจจุบัน

“ตอนแรกเรายังไม่ได้เห็นภาพที่ชัดเจน ว่าผลลัพธ์สุดท้ายของบ้านจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เราค่อยๆออกแบบไปทีละส่วน เริ่มต้นจากการแก้ปัญหา การกำหนดพื้นที่ใช้สอยภายใต้โครงสร้างเดิม และกำหนดลักษณะของผนังทั้งภายใน-ภายนอก จนหลอมรวมเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับบ้านหลังนี้” สถาปนิกกล่าว

เปลี่ยนจั่วเจ้าปัญหาสู่ความโมเดิร์น

เนื่องจากรูปทรงหลังคาเดิมเป็นทรงจั่วที่มีความลาดเอียงมาก เมื่อฝนตกลงมากระทบจึงทำให้น้ำฝนไหลลงสู่พื้นแรงกว่าปกติ บวกกับความต้องการเจ้าของบ้านที่อยากเปลี่ยนสไตล์บ้านให้ดูทันสมัย สถาปนิกจึงเปลี่ยนโครงสร้างหลังคาใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจั่วหลังคาของตัวบ้านหลัก หรือจั่วชั้นเดียวหน้าบ้านก็ถูกปรับให้สูงขึ้นในระดับเดียวกัน หรือแม้แต่หลังคาโรงจอดรถให้มีเส้นสายที่เรียบง่ายขึ้น พร้อมทั้งขยับขยายทางเข้าบ้านใหม่และเพิ่มพื้นที่จอดรถจาก 2 คันเป็น 4 คัน เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน

ภาพบ้านก่อนการรีโนเวท Credit: PERSPACETIVE

ภาพหลังการรีโนเวทที่ปรับเปลี่ยนภาษางานออกแบบให้เรียบง่าย

เส้นสายจากองศาแสงที่ตกกระทบ

เมื่อแสงมีผลต่อคุณภาพชีวิตภายในบ้าน แต่เจ้าของบ้าน(คุณแม่)ค่อนข้างแพ้แสงแดด การออกแบบช่องเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาภายในบ้านอย่างพอดิบพอดีจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ผลลัพธ์คือการออกแบบฟาซาดอะลูมิเนียมคอมโพสิทสีขาว ที่เจาะช่องเล็กๆ และมีรูปทรงที่เกิดจากเส้นองศาของแสงแดดที่ตกกระทบบ้านในทิศตะวันตก ทำให้แสงที่ส่องเข้ามาภายในห้องนั่งเล่นละมุนมากขึ้น รีเฟรชบรรยากาศของบ้านที่จากเดิมมืดทึบให้น่าอยู่อาศัย มีชีวิตชีวา รวมถึงแสงภายในบ้านจะปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาได้อย่างน่าสนใจ

ไดอะแกรมแสดงถึงการออกแบบฟาซาดจากองศาของแสงอาทิตย์ Credit: PERSPACETIVE

แสงภายในห้องนั่งเล่นที่นุ่มละมุน และสบายตา

ส่วนฟาซาดระแนงไม้แนวตั้งถูกเซทระยะออกมาจากผนังและระเบียงในชั้นสองโอบล้อมตัวบ้านในส่วนที่เหลือ เพื่อเป็นการเพิ่มมิติความสวยงาม ในขณะเดียวกันก็การสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี

อบอุ่น เรียบง่าย ในทิศทางเดียวกัน

ภายในบ้านมีฟังก์ชันต่างๆครบครัน ห้องนั่งเล่นมีส่วนดับเบิ้ลสเปซที่ถูกปรับเปลี่ยนจากจั่วเดิม ทำให้พื้นที่ดูรีเฟรชและโปร่งโล่งมากขึ้น มีการเล่นระดับของพื้นที่เล็กน้อยจากพื้นที่นั่งเล่นไปสู่พื้นที่รับประทานอาหาร เพื่อความเป็นสัดเป็นส่วนในการใช้งาน ส่วนห้องครัวมีทั้งครัวฝรั่งและครัวไทย โดยสถาปนิกได้จัดฟังก์ชันให้ครัวฝรั่งอยู่ภายในบ้าน เนื่องจากว่าเจ้าของทำอาหารหนักๆไม่บ่อยนัก และมีห้องอเนกประสงค์เพื่อรองรับการย้ายห้องนอนในอนาคตของคุณพ่อคุณแม่ด้วย

แปลนบ้าน S71 House ชั้น 1 Credit: PERSPACETIVE

แปลนบ้าน S71 House ชั้น 2 Credit: PERSPACETIVE

ส่วนในด้านการตกแต่งภายในบ้าน ภาพรวมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เน้นการใช้สีขาวเทาจับเข้าคู่กับเฟอร์นิเจอร์ไม้สีอ่อนอย่างเรียบง่าย ออกแบบบรรยากาศให้ดูโฮมมี่ เปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่สำคัญๆอย่างพื้นที่ชั้น 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เจ้าของบ้านใช้เวลาระหว่างวันมากที่สุด

พื้นที่เก็บของ สองในหนึ่งเดียว

ด้วยความที่เจ้าของบ้านอยู่อาศัยที่บ้านหลังนี้มาอย่างยาวนาน จึงมีสิ่งของอยู่จำนวนมาก หลังจากที่ตัดสินใจระบายของออกไปบ้างแล้ว ก็ยังคงหลงเหลืออยู่จำนวนไม่น้อย สถาปนิกจึงออกแบบพื้นที่เก็บของซ่อนไว้ภายในผนังส่วนต่างๆของบ้าน ตั้งแต่ผนังในโรงจอดรถที่เป็นตู้เก็บรองเท้าไปด้วยในตัว ผนังที่ขั้นระหว่างพื้นที่รับประทานอาหารและบันได และสุดท้ายผนังภายในห้องนอนที่ถูกออกแบบให้เป็นทั้งตู้เสื้อผ้าและตู้เก็บของ ใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย

นอกจากนี้ยังใช้พื้นที่ส่วนเล็กส่วนน้อยให้คุ้มค่า โดยแบ่งพื้นที่ 30 เซนติเมตรของชานพักบันไดเพื่อออกแบบเป็นชั้นวางหนังสือ เพราะเจ้าของบ้านชื่นชอบในการอ่านและหนังสือเป็นของสะสมมีคุณค่าทางจิตใจอีกด้วย

บรรยากาศใหม่ ดูแลง่ายด้วย ‘ฮาร์ดสเคป’

พื้นที่สีเขียว เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการรีเฟรชบรรยากาศภายในบ้านให้น่าอยู่อาศัย ซึ่งเดิมทีมีต้นไม้อยู่หลายจุด แต่ภาพรวมค่อนข้างรกและดูแลค่อนข้างยาก การปรับเปลี่ยนสวนใหม่ในรูปแบบฮาร์ดสเคปจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดเพราะสามารถจัดการและดูแลได้ง่าย สถาปนิกออกแบบ Pocket Garden เล็กๆในทิศเหนือด้านข้างโรงจอดรถ โดยโรยกรวดบนพื้นแทนการปลูกหญ้า และปลูกต้นไทรเกาหลีขนาบไปกับแนวรั้วรอบๆบ้าน เพื่อเพิ่มบรรยากาศที่ร่มรื่นจากภายในสู่ภายนอก

กำแพงหินเป็นอีกหนึ่งส่วนของงานฮาร์ดสเคปที่สถาปนิกตั้งใจออกแบบ
เพื่อเพิ่มพื้นผิวสัมผัสและความหลากหลายของวัสดุให้กับตัวบ้าน

“บ้านรีโนเวท ถ้าไม่จำเป็นเราไม่อยากไปยุ่งกับองค์ประกอบที่มีอยู่เดิมมากนัก แต่กับอาคารหลังนี้ ทั้งความลาดเอียงของหลังคาที่มากเกินไป ทั้งสไตล์ที่ไม่ตอบโจทย์กับยุคปัจจุบัน และความต้องการของเจ้าของบ้านที่อยากรีเฟรชบรรยากาศของบ้านให้น่าอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น มันจะมีคำตอบอยู่ไม่กี่คำตอบ ซึ่งนี่ก็เป็นคำตอบที่คิดว่าน่าจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด” สถาปนิกกล่าวปิดท้ายเกี่ยวกับการตัดสินใจเปลี่ยนภาพใหม่ ชุบชีวิตเติมชีวาให้กับบ้านในสไตล์โมเดิร์นด้วยการเปิดรับแสงอย่างพอดีและพื้นที่สีเขียวที่ดูแลได้ง่าย ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่ผันแปรตามยุคสมัยได้อย่างลงตัว