สถาปัตยกรรมสำหรับคนเมืองที่เลือกใช้ชีวิตคนเดียว
Architecture for Single-person household
ปัจจุบันลักษณะการใช้ชีวิตคนเดียว ได้เกิดความนิยมขึ้นในสังคมทั่วโลก เนื่องมาจากโครงสร้างทางสังคม และครอบครัวที่เปลี่ยนไป ซึ่งการอยู่คนเดียวอาจจะตอบโจทย์ในด้านวิถีชีวิต ความสบายใจ หรือด้านค่าใช้จ่ายมากกว่าครอบครัวใหญ่ หรือครอบครัวขยายในอดีต
และเนื่องจากที่อยู่อาศัยอยููู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน หากแต่มีความแตกต่างกันในด้านรูปแบบ ตามลักษณะสังคมและค่านิยมการใช้ชีวิตของแต่ละยุคสมัยสมัย จึงเกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า รูปแบบที่อยู่อาศัยที่จะตอบสนองวิถีชีวิตการอยู่คนเดียวในปัจจุบัน จะมีลักษณะแบบใด
[วิทยานิพนธ์ “สถาปัตยกรรมสำหรับคนเมืองที่เลือกใช้ชีวิตคนเดียว” จึงมีความมุ่งหมายที่จะศึกษาการออกแบบสถาปัตยกรรมให้มีความสอดคล้องกับบริบทวิถีชีวิตของคนเมืองในปัจจุบัน ด้วยสภาวะสังคม และวัฒนธรรมในปัจจุบันที่มีความแตกต่างจากอดีต ทำให้ผู้คนในยุคปัจจุบัน มีวิถีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยมีแนวโน้มที่การใช้ชีวิตอยู่คนเดียวจะมีอัตราส่วนที่สูงขึ้น สวนทางกับบริบทของเมือง ที่อัตราส่วนพื้นที่เมืองต่อจำนวนคน มีแนวโน้มที่จะหนาแน่นมากขึ้นตามการพัฒนาของเมือง จึงทำให้ขาดพื้นที่ที่รองรับการใช้ชีวิตของกลุ่มผู้ใช้ชีวิตคนเดียว
วิทยานิพนธ์นี้จึงเป็นการตั้งคำถามถึงรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่สามารถตอบสนองต่อวิถีชีวิตของกลุ่มผู้ใช้ชีวิตคนเดียว ที่มีความต้องการด้านพื้นที่ และกิจกรรมแตกต่างจากบุคคลอื่น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มผู้ใช้งานนี้]
โดยเริ่มจากศึกษาและทำความเข้าใจ ลักษณะการใช้ชีวิต พฤติกรรมของกลุ่มผู้อยู่อาศัยคนเดียว ซึ่งโครงการนี้จะเจาะจงไปที่ตัวผู้อยู่อาศัยคนเดียววัยทำงานที่อยู่อาศัยในเมือง จากนั้นทำการวิเคราะห์และหารูปแบบที่พักอาศัยที่เข้ากับความต้องการของผู้ใช้งาน จึงได้เลือก “ที่พักอาศัยรวม” มาเป็นรูปแบบหลักของโครงการ
ต่อมาได้ทำการเลือกตำแหน่งที่ตั้งโครงการ โดยวิเคราะห์จากความต้องการต่าง ๆ เช่น ความสะดวกในการเดินทางคมนาคม การเข้าถึงที่ตั้งด้วยวิธีต่าง ๆ รวมไปถึงตำแหน่งย่านที่ตั้งที่มีผลต่อราคาโดยรวมของโครงการที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ใช้งานที่เลือกศึกษา
แนวคิดในการออกแบบนั้นมาจากความต้องการดึงข้อดีของการอยู่อาศัยแบบบ้านเดี่ยวมารวมเข้ากับลักษณะของที่อยู่อาศัยแบบที่พักอาศัยรวมที่เข้ากับสภาพสังคมและเศรฐกิจของเมืองมากกว่า โดยสร้างเครื่องมือทางสถาปัตยกรรมขึ้นเพื่อก่อรูปอาคารให้ได้คุณสมบัติของการใช้งานอาคารที่ต้องการ
โดยแต่ละห้องจะถูกแบ่งออกเป็นหน่วยพื้นที่ย่อยของพื้นที่ใช้สอยแต่ละประเภทที่มีขนาดเพียงพอต่อผู้อยู่อาศัยหนึ่งคน ที่สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งกันได้ตามความเหมาะสมของตำแหน่งห้องในอาคาร และสร้างเครื่องมือในการก่อรูปอาคารจากรูปแบบของห้องทั้ง 2 แบบ เพื่อควบคุมให้ mass ของอาคารตอบสนองต่อบริบทรอบข้างที่แตกต่างกันไปในแต่ละฝั่งของอาคารตามที่ได้วิเคราะห์ที่ตั้งมา
ทุกห้องในโครงการนี้จะสามารถออกไปยังพื้นที่ระเบียงที่มีมุมมองกว้างได้ โดยระเบียงนี้สามารถใช้งานนั่งพักผ่อน หรือว่าทำกิจกรรมที่รูปแบบที่พักอาศัยรวมทั่วไปทำได้ไม่ดีนักเช่น ตากผ้า เนื่องจากมีการเข้าถึงของแสงแดดและลมที่มากเพียงพอต่อกิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ
โครงการนี้จะมีการแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือส่วนบนเป็นส่วนที่พักอาศัย และส่วนล่างที่ติดกับถนนใหญ่คือพื้นที่พาณิชยกรรมที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับโครงการ และยังเป็นส่วนสำคัญที่ดึงผู้คนโดยรอบเข้ามาใช้โครงการ เพื่อให้มีการปฏิสัมพันธ์จากบุคคลภายนอก ต่อผู้อยู่อาศัยคนเดียว
พื้นที่ที่ถูกออกแบบเพิ่มเข้ามาในโครงการนี้ก็คือพื้นที่ส่วนกลางของผู้อาศัยภายในที่จะเป็นตัวเชื่อมให้ผู้อยู่อาศัยแต่ละหน่วยสามารถออกมาทำกิจกรรมเพิ่มระดับการปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่เดียวกันได้ ในขณะเดียวกันก็มีพื้นที่เหลือเพียงพอให้เกิดระยะห่างเพื่อให้ยังได้รับความเป็นส่วนตัวอยู่
และสวนบริเวณรอบพื้นที่ส่วนกลางยังเป็นที่พักสายตาที่ถูกมองเห็นได้จากห้องพักอาศัยในตำแหน่งต่าง ๆ ของโครงการและจากภายนอกโครงการอีกด้วย โดยชั้นของพื้นที่ส่วนกลางยังทำหน้าที่เป็นตัวแบ่งการเข้าถึงของผู้อยู่อาศัยภายใน และผู้ใช้งานจากภายนอกที่จะเข้ามาใช้งานพื้นที่พาณิชยกรรมด้านล่างให้ตัดขาดจากกันด้วย
นักศึกษาผู้ออกแบบ
ชื่อ-นามสกุล : ธีรัช เหล่ากิตติโชค (Dheerat Laokittichoke)
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
E-MAIL : laokittichoke.d@gmail.com
ชื่องาน : สถาปัตยกรรมสำหรับคนเมืองที่เลือกใช้ชีวิตคนเดียว Architecture for Single-person household