เข้าช่วงหน้าฝนได้ไม่นาน เหมือนจะเป็นการประกาศพื้นที่สงครามกลางเมืองหลวง เพราะทุกย่างก้าวของคุณบนทางเท้าในกรุงเทพกลายเป็นสนามทุ่นระเบิดน้ำ ที่ถ้าไปเผลอเหยียบเข้าเมื่อไหร่ ขาของคุณอาจต้องชุ่มไปด้วยน้ำเน่าพุ่งเข้าใส่แบบไม่ปราณี
ทำไมทางเท้าในกรุงเทพถึงไม่ได้คุณภาพ เสื่อมสภาพพังไว? อะไรกันแน่คือสาเหตุที่ทำให้การเดินทางบนอิฐตัวหนอนเป็นพื้นที่ที่ยากลำบากในการเดินเท้า การก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน มีสิ่งกีดขวางการสัญจร ถึงจะทุบซ่อมแก้ไขกันบ่อยๆ ก็ยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันสำหรับผู้คนซะที แล้วมาตรฐานทางเดินที่ดีที่พวกเราททุกคนควรได้รับจะมีหน้าตาเป็นยังไง มาลองสืบค้นคำตอบของปริศนาในบทความนี้ไปพร้อมๆ กันครับ
ดินเมืองกรุงทรุดตัวง่าย กับปริศนาค่าแรงที่หายไป
สภาพดินบริเวณกรุงเทพและปริมณฑล เป็นดินเหนียวอ่อนที่เรียกกันว่า Bangkok Clay ทำให้ทรุดตัวได้ง่าย เป็นอุปสรรคต่อการใช้งานที่ทำให้พื้นทางเดินยุบตัวเสียหายและการซ่อมแซมที่ทำได้ไม่สมบูรณ์นัก อีกปัจจัยที่ทำให้ทางเท้าในกรุงเทพต้องพัง ซ่อม รื้อ วนเวียนไปเรื่อยๆ คือคุณภาพการสร้าง อ้างอิงจากรายงานข่าวตอนหนึ่งของสำนักข่าวไทยรัฐ ระบุคำบอกเล่าเอาไว้ว่า ผู้รับเหมาที่เคยร่วมงานกับทาง กทม. ได้ค่าจัดจ้างแรงงานที่ค่อนข้างน้อย บีบให้ผู้รับเหมาต้องเลือกใช้แรงงานที่ไม่มีคุณภาพ คุณภาพวัสดเกรดรองลงมา ส่งผลให้การทำงานขาดประสิทธิภาพอย่างที่ทางเท้าที่ดีควรจะเป็น
ทางเท้าที่ไม่ได้เอาไว้แค่ใช้เดิน
ความอร่อยของปากท้อง ความสะดวกในการจับจ่ายเป็นเรื่องที่เราเคยชิน แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าการค้าขายริมทางทำให้พื้นที่ในการเดินทางเท้าลดน้อยลงด้วย คนเดินเท้าต้องย้ายไปเดินบนถนน แถมยังทำให้ทางเท้าทรุดโทรมเร็วขึ้นจากความสกปรก การทิ้งขยะของเสียต่าง ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ และขณะที่กำลังเดินอยู่จู่ๆ ก็มีเสียงบีบแตรของรถจักรยานยนตร์ขึ้นมาขอแบ่งใช้ทาง มีรถยนต์ขึ้นมาจอดขวางบนทางเท้า ซึ่งนอกจากจะทำให้พื้นทางเท้าพังเร็วกว่าปกติจากการใช้งานผิดประเภทแล้ว ความเคยชินเหล่านี้กำลังกัดกินสิทธิของผู้ใช้ทางเท้าลงไปทุกที
ทั้งนี้ เราไม่ได้ตัดสินว่าร้านสตรีทฟู้ดหรือหาบเร่แผงลอยเป็นปัญหาบนทางเดินเท้า เพราะมันถูกผนวกเป็นวัฒธรรมการดำเนินชีวิตของคนในระแวกย่านนั้นไปแล้ว โจทย์ที่สำคัญคือ ระเบียบการจัดการพื้นที่สาธารณะที่จะทำให้กิจกรรมต่างๆ อยู่ร่วมกันบนทางเท้าได้ต่างหาก
เมืองที่ไม่อยากให้เราออกเดิน
นี่อาจจะเป็นชนวนระเบิดตั้งต้นที่ซ่อนตัวมาโดยตลอดหลายสิบปี เมื่อรถเป็นใหญ่ เท้าเป็นรอง เพราะการวางแผนออกแบบขยายเมืองที่เน้นขยายถนน ลดขนาดทางเท้า มันสะท้อนแนวคิดความใส่ใจที่ไม่เท่าเทียมกันของคนเดินเท้ากับคนขับรถ ทางเท้าขนาดแคบที่เดินสวยกันยังต้องระวังชนไหล่ มีสิ่งกีดขวาง ป้าย ท่อ ตู้ เสาไฟ เป็นสรรคการเดินเท้า หรือแม้แต่ต้นไม้ที่ควรจะให้ร่มเงาอย่างสม่ำเสมอแก่คนเดินทาง ก็ถูกตัดกิ่งจนเหี๊ยนทาง ปลูกขวางทางเท้าไปซะอย่างนั้น
เมื่อเมืองที่เราอาศัยอยู่ดูเหมือนจะไม่อยากให้เราออกเดิน ทั้งที่บทบาททางเท้าก็เป็นสิ่งสำคัญของเมืองเช่นกัน ถ้าเราได้มีโอกาสเดินทางไปในหลายประเทศที่ระบบคมนาคมในเมืองที่พัฒนามากขึ้นแล้ว ก็จะยิ่งพบความแตกต่างของขนาด – คุณภาพทางเท้า การเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะที่อำนวยความสะดวกสบายให้ผู้คนใช้งานได้เท่าเทียม คำนึงถึงความปลอดภัยของคนเดินถนน คนใช้ทางจักรยาน คนใช้รถบัสสาธารณะ คนใช้รถยนต์ส่วนตัว บนเส้นทางทีมีคุณภาพไม่ต่างกันแลย
แล้วมาตรฐานทางเดินที่ดี ควรได้รับจะมีหน้าตาเป็นยังไง
1) ขนาดของทางเดินที่เหมาะสมตอบสนองกับผู้ใช้งาน ขนาดพื้นที่อาคาร กิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการในการใช้สอยไม่เหมือนกัน เช่น จุดประสงค์ของทางเท้าก็ต้องเป็นทางเดินจริงๆ ไม่ควรปล่อยให้มีหาบเร่แผงลอย ตู้โทรศัพท์ หรือป้ายโฆษณามากีดขวางการเดิน มีพื้นที่สัญจรสำหรับการเดินเพียงพอ มีพื้นที่สำหรับติดตั้งเก้าอี้สาธารณะหรือถังขยะที่ไม่รบกวนทางเดิน และพื้นที่ไว้เป็นทางแยกเดินเข้าอาคาร
2) คุณภาพของวัสดุปูทางเดิน นอกจากความแข็งแรง กันผิวลื่น ควรเป็นวัสดุที่เมื่อรื้อซ่อมแล้วจะสามารถนำกลับไปประกอบคืนได้สะดวกต่อการทำงาน เพราะบ่อยครั้งที่เราจะพบเห็นทางเดินเท้ามักถูกขุดเจาะจากการซ่อมแซมระบบประปา ท่อระบายน้ำ ถ้าหากจะลงอเปรียบเทียบอิฐตัวหนอนกับกระเบื้องซีเมนต์ ตัวกระเบื้องซีเมนต์มีโอกาสเสียหายได้มากกว่าเวลารื้อมาซ่อม ในขณะที่อิฐตัวหนอนแต่ละตัวจะล็อกกันเองได้ทำให้เกิดความแข็งแรงในตัวเอง ซ่อมแซมเปลี่ยนชิ้นส่วนง่ายกว่า
3) ออกแบบให้ทุกคนใช้ได้ ทุกสภาพร่างกาย ไม่จำกัดเพียงผู้พิการเพียงแค่นั้น มีประสิทธิภาพการระบายน้ำฝน ไม่ให้น้ำท่วมขังเป็นหลุมเป็นบ่อบนทางเท้า ผิวทางเชื่อมประสานเป็นเนื้อเดียวกัน ควรให้ความสำคัญกับทางลาดและระบบกันลื่นด้วย มีการดูแลรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ดูปลอดภัยน่าใช้งานได้ตลอดช่วงเวลา มีแสงสว่างเพียงพอทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
4) ระยะทางประมาณ 0.8 – 1 กิโลเมตร หรือระยะเวลาประมาณ 10 นาที อยู่ในระยะที่คนอยากเดิน จึงควรมีสร้างบรรยากาศน่าเดินบนทางเท้าให้ผู้ใช้งาน มีต้นไม้ มีร่มเงา มีความสวยงาม ปลอดจากสภาพที่เป็นมลพิษทั้งหลาย มีป้ายบอกทางชัดเจน เข้าใจง่าย ระบุตำแหน่งที่ตั้งที่สามารถเดินถึงหรือเข้าถึงด้วยรถขนส่งมวลชนจากที่ตั้งของป้ายไปยังที่หมาย
กายภาพของเมืองจะส่งผลกระทบโดยตรงกับพฤติกรรมของผู้คน เมืองที่เราอาศัยอยู่จะเป็นตัวกำหนดสำนึกของคนในเมือง ถ้าเมืองส่งเสริมความสัมพันธ์ของผู้คนให้มีความเท่าเทียมแล้ว คนที่อยู่ก็จะรู้สึกว่าถึงความเสมอภาคในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานได้ เมืองน่าอยู่ในโลกหลายประเทศเป็นเมืองที่เดินได้และเดินดี ผู้คนสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ สนับสนุนระบบขนส่งมวลชนให้ทุกคนใช้งานได้สะดวก เนื่องจากมีการออกแบบเมืองที่เชื่อมต่อด้วยทางเท้าหรือพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ จะช่วยพาเราไปถึงความสุขของทุกชีวิตในเมืองได้ ที่จุดหมายปลายทาง
ภาพประกอบ @tongdrawsthings