OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

บ้านพักร่วมสมัย บนร่องรอยประวัติศาสตร์นาน 90 ปี Xiangyuxiangyuan Home Stay

ภารกิจแปลงโฉมอาคาร “เซียงหยูเซียงหยวน” (Xiangyuxiangyuan Home Stay) ที่ตั้งอยู่ในเมืองเซียะเหมิน ประเทศจีน สร้างขึ้นจากบ้านเก่าของบรรพบุรุษที่ตกทอดกันมา 3 รุ่นในช่วงปี ค.ศ. 1930 – 1970 ที่ยังคงเก็บร่องรอยทางประวัติศาสตร์ทั้งภายในและภายนอกอาคารเอาไว้เป็นมรดกตกทอดแก่ชนรุ่นหลัง  สอดแทรกช่องว่างระหว่างกลางที่ผ่านกาลเวลามานานกว่า 90 ปีด้วยอาคารใหม่สีขาว 2 หลัง ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมให้วิถีชีวิตประจำวันยังคงดำเนินต่อไปได้ในยุคสมัยปัจจุบัน 

บูรณะร่องรอย สืบทอดเรื่องเล่า     

โปรเจคการออกแบบโดย The Design Institute of Landscape and Architecture China Academy of Art ที่ไม่ได้ทำเพียงแค่บูรณะอาคารเก่าให้กลับมาใช้งานได้ใหม่ แต่ยังเน้นย้ำการสืบทอดความทรงจำหลายช่วงอายุคนให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง เรื่องเล่าจากคุณยายในช่วงเทศกาล ความสนุกของการนัดออกไปดูหนังกลางแปลงในคืนที่เต็มไปด้วยดวงดาวเต็มฟ้าในฤดูใบไม้ร่วง หรือความงดงามของหิ่งห้อยที่มาโชว์ตัวให้เราเห็นได้ใต้ชายคาบ้านในฤดูร้อน

 

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก ที่บ้านเก่าอายุเฉียด 100 ปีย่อมมีบาดแผลบ้างเป็นธรรมดา ร่องรอยการพังทลายในส่วนต่างๆ ของบ้านทั้งโครงสร้างหลักและส่วนตกแต่ง มรดกทางประวัติศาสตร์หลังนี้ถูกสร้างขึ้นจากก้อนหินและดินที่หาได้ในท้องถิ่น ปิดทับโครงสร้างส่วนบนด้วยหลังคาไม้และกระเบื้องดินเผา เทคนิคการออกแบบต่างยุคสมัยที่ตกทอดกันมา จึงเป็นอีกส่วนสำคัญที่นักออกแบบจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรม ทำความเข้าใจความเชื่อประจำท้องถิ่นเสียก่อนจะเริ่มลงมือบูรณะ

แผนการซ่อมแซมอาคารเก่าให้กลับมาเป็นบ้านพักร่วมสมัยตามไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน  เริ่มจาการสำรวจและซ่อมแซมรอยแตกบนโครงสร้างหลักที่ยังไม่ส่งผลต่อความแข็งแรง ติดตั้งระบบสายไฟ ท่อน้ำ สาธารณูประโภคต่างๆ ใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ตอบสนองกับการอยู่อาศัยจริง  ซ่อนไว้หลังผนังใต้ฝ้าเพื่อไม่ให้ดูรกสายตาและไปบดบังพื้นผิวความสวยงามของวัสดุเก่าในบ้าน เน้นออกแบบการซ่อมแซมให้ดูเรียบง่าย ร่วมสมัยมากขึ้น

ผสมผสานความเก่าใหม่ให้อยู่ร่วมกัน

ส่วนของอาคารที่โครงสร้างหลักเสียหายเกินซ่อมแซม ก็ถูกต่อเติมให้เป็นอาคารขนาดเล็กทรงสี่เหลี่ยมที่มีแนวกำแพงสีขาวฉาบเรียบเชื่อมเข้ากับผนังหินที่ยังคงโชว์พื้นผิวเดิมไว้ เจาะช่องหน้าต่าง ทางเข้าตามทรงเรขาคณิตเรียบง่าย และมีการเพิ่มบันไดยาวขึ้นไปยังระเบียงบนหลังคาดาดฟ้าชั้น 2 ไว้สำหรับดูดาวตอนกลางคืน  ส่วนโครงสร้างภายในส่วนอื่น ๆ ก็ได้รับการรักษาด้วยโครงสร้างเหล็กสีดำ ทดแทนโครงหลังคา บานกรอบผนัง-หน้าต่างให้ได้ความแข็งแรงทนทาน ด้วยขนาดโครงสร้างที่ไม่ต้องใหญ่โต ช่วยให้อาคารดูเบาบางขึ้นผสมผสานความเก่าใหม่ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างชาญฉลาด

ที่ห้องโถงทางเข้าและครึ่งหนึ่งของห้องครัวปีกขวาซึ่งติดกับหัวมุมสี่แยกถนน ก็เลือกใช้โครงเหล็กถูกออกแบบเพื่อรองรับโครงสร้างไม้ดั้งเดิมและใช้กระจกขนาดใหญ่เพื่อโชว์วิวภายนอก-ภายในเพิ่มเติม เป็นการปรับปรุงและเปิดรับให้ความสัมพันธ์ของพื้นที่ใกล้เคียงซึมผ่านเข้าหากันได้

ผนังหินหินขนาดใหญ่ที่ดูเข้ากันได้ดีกับโครงสร้างเหล็กสีดำภายในบ้าน คงไม่ดูเกินจริงที่เราจะพูดว่าโครงสร้างเหล็กสีดำคือพระเอกคนสำคัญในการออกแบบครั้งนี้ เพราะถูกนำมาใช้รักษาและซ่อมแซมโครงสร้างบางส่วนให้ยังคงความรู้สึกดั้งเดิมเอาไว้ เพิ่มความโปร่งโล่งในบ้านหินที่ปิดทึบขาดแสงสว่าง ด้วยช่องเปิดเพื่อให้แสงแดดเข้ามาเยี่ยมเยียนพื้นที่ภายในบ้านได้มากขึ้น 

 

การออกแบบอาคารโบราณหลังนี้ ได้นำเอางานฝีมือที่ได้รับการสืบทอดมาในพื้นที่มาปัดฝุ่นหน้าตาเสียใหม่ ช่วยยกระดับมรดกวัฒนธรรมพื้นบ้านท้องถิ่นให้เป็นน่าสนใจขึ้นอีกครั้ง  เป็นผลงานที่ผสมผสานของกลิ่นอายความรู้สึกอบอุ่นในบรรยากาศเดิมๆ ของบ้านเข้ากับวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับยุคสมัยได้อย่างลงตัว

อ้างอิงจาก archdaily