OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

THE HAIRETT ร้านทำผมยุควิถีชีวิตใหม่ที่ฉีกภาพลักษณ์จำเจด้วย ‘ฟอร์ม’

Location: Ruamrudee, Bangkok, Thailand
Owner: THE HAIRETT
Designer: SPACEOLOGY ภูมินทร์ ดุสิตานนท์ และจิรัชยา โชคเฉลิมวัฒน์
Construction: Finterior
Photography: THANAWATCHU

ทุกวันนี้การใช้ชีวิตแบบ New Normal แทรกตัวอยู่ในวิถีชีวิตของเราโดยแฝงตัวมาในหลายรูปแบบ ทั้งการใช้เทคโนโลยีเพื่อ Work from home การลดการสัมผัสเพื่อสุขอนามัยที่ดียิ่งขึ้น หรือแม้แต่การจัดโต๊ะที่นั่งในร้านอาหารและคาเฟ่ที่ต้องสร้างระยะห่างระหว่างกัน ซึ่งประจวบเหมาะกับที่ THE HAIRETT ร้านทำผมมินิมอลในซอยร่วมฤดีเพิ่งเปิดให้บริการมาอย่างพอดิบพอดี

โดยมีคุณรอย-ภูมินทร์ ดุสิตานนท์ และคุณอีฟ-จิรัชยา โชคเฉลิมวัฒน์ ทีมผู้ออกแบบจาก SPACEOLOGY สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรม และตกแต่งภายใน มาคิดสร้างสรรค์โปรเจ็กต์ร้านทำผมแห่งนี้ นอกจากคอนเซ็ปต์ที่พวกเขาต้องการนำเสนอพื้นที่ด้วยการจัดวางให้มีความเป็นส่วนตัว จะตอบโจทย์กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปหลังช่วงโควิด-19 อย่างเหมาะเจาะแล้ว นี่ยังเป็นผลงานการออกแบบน่าสนใจที่เปลี่ยนภาพลักษณ์อันจำเจซ้ำซากของร้านทำผมทั่วไปที่เราเคยพบเห็นกันได้อย่างโดดเด่น และสร้างภาพจำขึ้นมาใหม่ได้ไม่ยาก

ร้านทำผมสไตล์มินิมอลที่สร้างภาพลักษณ์ให้น่าจดจำ

คุณรอย-ภูมินทร์ ดุสิตานนท์ หนึ่งในทีมผู้ออกแบบเล่าว่า “โจทย์ก็จะเป็นร้านทำผมที่กลุ่มลูกค้าค่อนข้างมีกำลังทรัพย์นิดนึง มีรูปแบบฟังก์ชัน หรือการใช้งานทั่วไป แต่พอมาถึงมือของเราแล้ว เรารู้สึกว่า ประเภทลักษณะโปรเจ็กต์แบบนี้ ต้องการคาแร็กเตอร์หรือภาพจำอะไรบางอย่าง เพื่อให้เป็นที่จดจำของกลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาใช้งาน ซึ่งมันก็จะออกมาในรูปแบบที่เห็นกัน ไปในทิศทางที่ค่อนข้างมินิมอล”

“แล้วก็จะมีปัจจัยในเรื่องของ Budget ที่ค่อนข้างเป็นโจทย์หลักที่เราจะต้องทำให้งานนี้ยังดูมีภาพลักษณ์ แต่ไม่ได้ลงทุนกับเม็ดเงินการก่อสร้างมากขนาดนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะมีวิธีครีเอทอะไรที่มีค่าใช้จ่ายในการทำน้อย แต่องค์ประกอบต้องสามารถเป็นที่จดจำของคนที่เข้ามาใช้งานได้”

คุณอีฟ-จิรัชยา โชคเฉลิมวัฒน์ อีกหนึ่งในทีมผู้ออกแบบเล่าเสริมว่า “เราอยากได้ภาพร้านทำผมที่ไม่ใช่ร้านทำผมเรียบๆ ทั่วไป หรือว่าหรูหราขึ้นมา เหมือนที่มีในปัจจุบัน และด้วยความที่อยากสร้างคาแร็กเตอร์ให้ตัวร้านด้วย เราเลยพยายามทำให้องค์ประกอบมินิมอลที่สุด โดยที่มีจุดเด่นเป็นเรื่องของคอนเซ็ปต์หรือการดีไซน์สเปซให้เกิดขึ้น”

ภาพลักษณ์ของร้าน THE HAIRETT จึงออกมาในสไตล์มินิมอลที่ดูเรียบง่าย เลือกใช้วัสดุที่มีราคาไม่สูงมากนัก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังให้ความรู้สึกถึงความดูดีมีระดับ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงภาพลักษณ์ที่สวยงาม และสร้างภาพจำให้กับคนที่เข้ามาใช้บริการ แต่ทีมผู้ออกแบบยังคำนึงถึงเรื่องของฟังก์ชันการใช้งานที่ต้องมี ‘ความเป็นส่วนตัว’ อีกด้วย

“ด้วยความที่ Owner เป็นช่างทำผมเอง เขาก็จะเข้าใจอินไซด์ของการทำผมได้ค่อนข้างละเอียด พอเรารู้วิธีการใช้ข้อมูลพวกนี้ เราก็เหมือนมา Blow Up ให้เป็นไอเดียที่ชัดเจนขึ้น เหมือนที่คุณอีฟได้อธิบายไป ซึ่งความเป็น Privacy ก็เรียกว่าเป็นไอเดียต้นๆ ที่เขาอยากให้มันเกิดขึ้นในพื้นที่ของร้าน ซึ่งถ้าเราสังเกตร้านทำผมทั่วไป จะค่อนข้างเป็น Open-Plan เลย โดยที่ไม่ได้แบ่งพื้นที่ชัดเจนขนาดนั้น ในโจทย์ของเราเอง เราก็เป็น Open-Plan แต่ในความเป็น Open-Plan นั้น เราก็พยายามสอดแทรกความเป็นส่วนตัวเข้าไปให้ได้มากที่สุด” คุณรอยเล่า

Pod space สร้างพื้นที่อันเป็นส่วนตัว

“เวลาใช้งานการตัดผม มันไม่ได้เรียบร้อยตลอดเวลา มันจะเรียบร้อยอีกทีก็คือตอนเสร็จแล้ว ซึ่งระหว่างตัด คนที่ใช้บริการอยู่ก็อาจจะไม่ได้อยากให้คนอื่นเห็น ในขณะที่เขากำลังตัดผมอยู่”

การสร้างพื้นที่ฟอร์มวงกลม หรือที่ทีมผู้ออกแบบเรียกว่า Pod Space จึงเกิดขึ้นในเวลาต่อมา โดยเป็นฟอร์มวงกลมที่ผู้เข้ามาใช้บริการสามารถมีความเป็นส่วนตัวได้มากที่สุด ซึ่งการจัดวางพื้นที่นั่งให้เป็นวงกลมและมีม่านปิด จะสามารถทำให้เกิดเป็นพื้นที่อันเป็นส่วนตัวโดยไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เยอะเลย

คุณอีฟเล่าเสริมอีกว่า “เราคิดต่อไปใช้ในเรื่องของการสร้างแผงผนังขึ้นมา ด้วยตัวผนังที่ทึบมาก เราเลยลดทอน ตัดขนาดมันลง ให้เหลือแค่เสี้ยวหนึ่งของฟอร์มวงกลม ทีนี้พอเราต้องการสร้าง Element นี้ขึ้นมาให้มีดีไซน์ เราเลยไปใช้ฟอร์มวงกลมขนาดเดียวกันให้เป็นเหมือนโครงเหล็กข้างบน แล้วก็สามารถเป็นราวผ้าม่านได้ด้วย อีกจุดหนึ่งที่สร้างขึ้นมาจะเป็นตัววงกลมขนาดเดียวกัน แต่ใช้เป็นการเพ้นท์สีบนพื้นให้เน้นสเปซโซนนี้ขึ้นมา”

สร้าง Layer ให้เกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่แตกต่าง

หากลองถอดองค์ประกอบการออกแบบในภาพรวมทั้งหมด จะเห็นว่าคอนเซ็ปต์ของ THE HAIRETT มาจากการสร้าง Layer ให้เกิดขึ้นในร้าน โดยแบ่งออกเป็น 3 Layers ด้วยกัน ประกอบด้วยกรอบนอกของอาคาร พื้นที่ภายในที่เป็นการกั้นผนังใหม่ และลูสเฟอร์นิเจอร์ (Loose furniture) หรือไอเท็มลอยตัวต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ อาทิเช่น ที่กั้นตัดผม ชั้นวางของ

ทั้งสองฝั่งสามารถให้บริการได้ทุกแบบ แต่ทีมผู้ออกแบบเลือกที่จะครีเอทให้แตกต่างกัน เพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน ในส่วนของพื้นที่ใช้งานต้องใช้เวลานานๆ เช่น การทำสี ดัด สถาปนิกจึงเลือกออกแบบให้พื้นที่ในส่วนนี้มีความเป็นส่วนตัว ขณะที่อีกฝั่งที่เป็นพื้นที่นั่งแบบเปิดโล่ง ก็จะมีความยืดหยุ่นในการแง่ของการใช้งานมากกว่า

“บางทีการเป็นพื้นที่ปิดล้อมวงกลม อาจจะเหมาะกับฟังก์ชันลักษณะหนึ่งมากกว่า แต่ไม่ได้ถึงขั้นใช้งานอย่างอื่นไม่ได้เลย อย่างฝั่งที่ไม่ได้มีผนังปิดล้อม ก็อาจจะ Flexible กว่าในแง่การใช้งาน อย่างการทำสีก็ค่อนข้างจะใช้เวลานานต่อหนึ่งครั้งในการให้บริการ การที่ให้คนทำสีไปอยู่ใน Pod ก็อาจจะเวิร์กกว่า เพราะเขาสามารถอยู่ตรงนั้นได้นาน”

“บางคนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากๆ Pod ก็จะเหมาะกับเขา แต่ก็จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เขาอาจจะมากับเพื่อน กลุ่มนี้เขาก็จะสามารถเข้ามานั่งอีกฝั่งหนึ่ง โดยที่ยังสามารถพูดคุยสนทนากับเพื่อนข้างๆ ได้อยู่”

คำนึงถึงการเข้าถึงพื้นที่ของ ‘ช่าง’ และ ‘ลูกค้าผู้มาใช้บริการ’

“การจัดเลย์เอาท์ก็จะมีส่วนทำให้โฟลว์ของร้านมันดีด้วย” อีกเรื่องที่สำคัญของการออกแบบ THE HAIRETT คือเรื่องของ Sequence การใช้งานของทั้ง ‘ช่าง’ และ ‘ลูกค้าผู้มาใช้บริการ’ เพราะการไปร้านทำผมหนึ่งครั้ง จะต้องเดินไปในหลายๆ จุด ทั้งเข้าไปนั่งรอก่อน ไปสระผม หรือหลังจากทำสีผม ก็อาจจะต้องไปเช็คสี แล้วค่อยเดินกลับไปล้างผมอีกที ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายหลายๆ จุดเกิดขึ้น

“เราคิดเป็นการเข้าถึงว่า สิ่งที่แรกที่เราต้องเจอคือ ส่วนต้อนรับ ส่วนต้อนรับเสร็จ เราก็ไปส่วนนั่งรอ ส่วนนั่งรอเสร็จ โดยปกติก็ต้องไปตัดผม แล้วก็ต้องไปสระผมอีกที พอเรารู้โฟลว์การใช้งานเบื้องต้นนี้ มันก็เป็นไอเดียแรกๆ ที่เราพยายามจะวางทุกอย่างให้ดูเรียบร้อยจากภายนอก เพราะเราไม่ได้มองว่า ช่วงเวลาที่ลูกค้าใช้บริการอยู่คือ ช่วงเวลาที่สวยงาม แต่ช่วงเวลาที่สวยงามคือ ช่วงเวลาที่เสร็จแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็เลยคอยแบ่งพื้นที่ตรงส่วนต้อนรับ ซึ่งค่อนข้างเป็นส่วนที่ Public และส่วนที่เป็นพื้นที่สระผมกับตัดผมที่ Private มากขึ้น ก็จะอยู่ด้านหลังแผงอีกที มุมมองจากภายนอก เราจะไม่สามารถมองเห็นคนสระได้เลย”

สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุด

ฝั่งหนึ่งของร้านที่เป็นโซนทำผมจะอยู่ติดกับกระจก ทำหน้าที่รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ซึ่งจะต่างกันกับโซนสระผม ซึ่งผู้ออกแบบมองว่า อยากให้บรรยากาศดูมีความเป็นสปา และผ่อนคลาย มุมนั้นก็จะเข้าไปอยู่ในมุมที่เป็นจุดที่ไม่มีหน้าต่าง ตอบรับกับรูปแบบฟังก์ชันที่ใช้พอดี

ภาพแปลนของร้าน THE HAIRETT

คุณรอยเล่าปิดท้ายว่า “ถ้าสังเกตเราไม่ได้ใช้วัสดุที่เน้นความสวยงามมากนัก แต่เราอยากให้ความสำคัญต่อการใช้งานพื้นที่ มากกว่าวัสดุที่ใช้ในงานตกแต่ง ซึ่งนั่นหมายความว่า เรามุ่งเน้นการสร้างสเปซ เรามีจุดประสงค์ที่อยากให้ลูกค้าที่มาใช้บริการ ได้รับรู้ถึงความรู้สึกที่เราอธิบายไปข้างต้น เช่น เข้ามารู้สึกถึงความเป็นส่วนตัว เข้ามารู้สึกถึงความสว่าง พอไปใช้งานในส่วนของสระผม มันมึดลง ครามลง มันก็ช่วยทำให้เรารู้สึก Relax ขึ้น”

“เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เข้ามาแล้วรู้สึกว่า ร้านสวยอย่างเดียว แต่เขาได้ใช้งานแล้วรู้สึกเป็นไปตามที่เรามุ่งหวังไว้จริงๆ เราอยากที่จะเน้นเรื่องประสบการณ์ของการใช้งาน”

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading