Location : บ้านบึงทับช้าง ตำบลจอหอ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
Gross Built Area : 3,300 ตารางเมตร
Owner : ภาคภูมิ วนพงศ์ทิพากร
Architect Interior and landscape designer : S Pace Studio
Photograph : S Pace Studio
นอกจากตัวบ้านที่ออกแบบให้มีสเปซเพื่อรองรับการพักผ่อนโดยเฉพาะ สิ่งหนึ่งที่มักจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวประกอบเพื่อช่วยให้การพักผ่อนสมบูรณ์ขึ้น นั่นคือ ‘ธรรมชาติ’ แต่สำหรับ บ้านศูนย์กลาง กลับเปิดโอกาสให้ ธรรมชาติ เข้ามารับบทเด่น ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่สีเขียว ผู้อยู่อาศัยและสถาปัตยกรรมให้ไหลเวียนเป็นเนื้อเดียวกันภายในที่พักอาศัยผ่านเสียงของน้ำที่ไหลเบาๆ ร่มเงาจากพุ่มไม้ แสงธรรมชาติรำไรที่พาดผ่านต้นไม้ หรือแม้แต่เสียงลมกระทบกับยอดไม้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทีมสถาปนิกจาก S Pace Studio ใช้เป็นโจทย์หลักในการออกแบบ ลดทอนความโอ่อ่าของอาคารเพื่อปล่อยให้ธรรมชาติได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่มากที่สุด
สร้างความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวด้วย ‘Landscape’
‘บ้านศูนย์กลาง’ เริ่มต้นขึ้นจากความต้องการของเจ้าของภายใต้ข้อมูลพื้นฐานสำหรับสมาชิก 4 คนซึ่งประกอบไปด้วย คุณพ่อ คุณแม่ และลูกชาย 2 คน โดยมีความตั้งใจให้ลูกทั้งสองแต่งงานและอาศัยอยู่ภายในบ้านเป็นครอบครัวใหญ่ ประกอบกับมีอาม่า อากงพร้อมผู้ดูแลแวะเวียนเข้ามาอยู่อาศัยเป็นครั้งคราว และด้วยความที่เจ้าของบ้านมีไลฟ์สไตล์ชอบเข้าสังคมสังสรรค์ มีแขกเหรื่อจำนวนมากผลัดกันมาเยี่ยมเยือน ทำให้บ้านหลังนี้จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่เพื่อรองรับความต้องการของคนในครอบครัวได้อย่างครบจำนวน
เมื่อพื้นที่ใช้สอยของบ้านผนวกเข้ากับที่ตั้งโครงการซึ่งมีขนาดใหญ่ ทำให้บ้านค่อนข้างใหญ่โต จนอาจจะดูขาดบรรยากาศอบอุ่นในแบบฉบับของบ้านไปบ้าง ทีมสถาปนิกจึงตั้งใจใช้ Landscape หรือพื้นที่ธรรมชาติภายนอก เข้ามาทำหน้าที่ผสมผสาน ลดทอนให้อาคารมีความโอ่อ่าน้อยลง เพิ่มความรู้สึกอบอุ่น เหมาะแก่การพักผ่อน และเข้าถึงง่ายด้วยการออกแบบคอร์ดพื้นที่สีเขียวบริเวณกลางบ้าน เชื่อมฟังก์ชันพื้นทั้งหมดของบ้านให้ร้อยเรียงไปกับภูมิสถาปัตยกรรมได้อย่างกลมกลืน
ซึ่งธรรมชาติไม่เพียงสร้างบรรยากาศ และสร้างความรู้สึกอบอุ่น แต่ยังทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันจากบริบทรอบด้านซึ่งเป็นหมู่บ้านจัดสรร ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ภายใน เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ได้อย่างเป็นตัวเอง
‘บ้านศูนย์กลาง’ กับการออกแบบสถาปัตยกรรมที่โอ่อ่าแต่ถ่อมตน
จากความตั้งใจออกแบบโดยใช้พื้นที่ธรรมชาติเป็นหัวใจของบ้าน การวางฟังก์ชันทั้งหมดจึงตั้งใจสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก โดยเริ่มต้น ทางเข้าถูกออกแบบให้เป็นอาคารที่ยื่นยาวออกมา เกิดเป็นช่องว่างที่เชื้อเชิญให้แขกหรือลูกบ้านเดินเข้าสู่ตัวบ้าน ก่อนจะพบกับสระว่ายน้ำและคอร์ดกลางบ้านที่เชื่อมสายตาให้พื้นที่สีเขียวเป็นหนึ่งเดียวกันและไหลไปรอบๆ บ้าน โอบล้อมด้วยกลุ่มอาคารที่วางฟังก์ชันส่วนกลางให้สามารถมองเห็นพื้นที่สีเขียวกลางบ้านได้เกือบทั้งหมด
บริเวณสระว่ายน้ำถูกแบ่งทางสัญจรเป็นสองเส้นทางอย่างชัดเจน โดยเส้นทางแรกจะเชื่อมไปยังพื้นที่รับรอง และห้องรับประทานอาหารสำหรับแขกโดยเฉพาะ ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งถูกออกแบบเป็นสะพานไม้พาดผ่านพื้นที่ธรรมชาติอย่างสระน้ำและพื้นที่สีเขียว เพื่อพาผู้อยู่อาศัยเข้าสู่โถงบันได และส่วนห้องนั่งเล่นของเจ้าของบ้าน เพิ่มความรู้สึกเป็นส่วนตัวในขณะที่ยังคงมองเห็นบรรยากาศส่วนอื่นๆ ของบ้านได้ทั้งหมด รวมถึงช่วยให้ผู้อยู่อาศัยได้ใช้ธรรมชาติเป็นตัวขัดเกลาความเหนื่อยล้า ก่อนเข้าสู่พื้นที่พักผ่อนภายใน
แปลนบ้านศูนย์กลางชั้น 1 และชั้น 2 (Photo Credits: S Pace Studio)
พื้นที่ส่วนกลางบริเวณชั้นหนึ่งของบ้านเน้นการออกแบบช่องเปิดด้วยกระจกขนาดใหญ่เพื่อให้แต่ละพื้นที่สามารถมองเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งในขณะเดียวกันก็ยังสามารถมองเห็นธรรมชาติจากพื้นที่สีเขียวสร้างจุดพักสายตาที่ดีให้กับการพักผ่อน ส่วนพื้นที่ชั้นบนสถาปนิกออกแบบฟาซาดเป็นช่องหน้าต่างซอยถี่พร้อมฟินกันแดดที่สามารถเปิดปิดได้ เพื่อช่วยกรองไม่ให้พื้นที่ห้องนอนได้รับแสงแดดโดยตรง
ด้วยความที่แนวคิดหลักของบ้าน ยังคงต้องการให้อาคารดูโดดเด่น ตั้งตระหง่านเป็นหน้าเป็นตาแต่ผสานความอบอุ่นด้วยธรรมชาติ การออกแบบภาษาของสถาปัตยกรรมสำหรับบ้านหลังนี้จึงเลือกใช้วัสดุ และโทนสีที่ค่อนข้างนิ่ง เรียบและดูหรูหรา เพื่อเปิดโอกาสให้ธรรมชาติที่พลิ้วไหว มีชีวิตชีวาเข้ามาโดดเด่นและเติมเต็มซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี
Dtips: อาคารชั้นล่างถูกออกแบบให้เป็นโทนสีเข้มและตัดด้วยโทนสีส่างบริเวณชั้นบน เพื่อสร้างความรู้สึกให้อาคารดูโปร่งมากขึ้น ช่วยลดทอนความหนักของสเกลอาคารได้เมื่อมองด้วยสายตา
สร้างมุมมองส่วนตัวด้วยต้นไม้ใหญ่
อีกหนึ่งฟังก์ชันที่บ่งบอกไลฟ์สไตล์และการใช้พื้นที่ คือ พื้นที่จอดรถ ที่ออกแบบเป็นห้องกระจก และอยู่ฝั่งตรงข้ามของพื้นที่ส่วนนั่งเล่น เพื่อให้เจ้าของบ้าน สามารถมองเห็นและชื่นชมได้จากทุกพื้นที่ในทุกช่วงเวลา ส่วนบริเวณชั้นสองจะมีฟังก์ชันเป็นห้องนอนแขกและห้องนอนของเจ้าของบ้านทั้งหมด โดยสร้างความเป็นส่วนตัวของมุมมองรายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่รอบพื้นที่บ้าน
พื้นที่ landscape รอบตัวบ้านถูกออกแบบเล่นระดับเป็นขั้นบันได เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับมุมมอง ผสานไปกับการเลือกใช้ต้นไม้สูงใหญ่เพื่อบดบังวิวบางส่วนในแต่ละพื้นที่ และยังช่วยลดทอนแสงแดดไม่ให้เข้าถึงห้องนั่งเล่นได้โดยตรง ทำให้เมื่อเปิดกระจกบานเลื่อนบริเวณพื้นที่ห้องนั่งเล่นซึ่งเป็นโถงสูงขนาดใหญ่ สามารถใช้งานพื้นที่ได้ทั้งวันโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ
Dtips: การปลูกต้นไม้เอาท์ดอร์ภายในบริเวณบ้านจำเป็นต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เพื่อให้ธรรมชาติไม่ทำลายอาคารของเราในภายหลังอย่างเช่น
1.คำนึงถึงตำแหน่งของการปลูกต้นไม้ เพื่อให้ทราบถึงข้อจำกัดของพื้นที่และการเว้นระยะห่างจากตัวบ้าน
2.คำนึงถึงทิศของการปลูกต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้ช่วยบดบังแสงแดด แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่บังลมที่จะพัดเข้าสู่ตัวบ้าน
3.เลือกขนาดของต้นไม้ ขนาดพุ่มและทรงที่พอเหมาะ เพื่อให้รากไม่ทำลายโครงสร้างบ้าน
4.คำนึงถึงระบบการดูแลรักษา อย่างการจัดระบบน้ำ การค้ำยันต้นไม้
“ผมมองว่า เวลาที่เจ้าของบ้านเขาเหนื่อยจากการทำงาน สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวบำบัดความเหนื่อยคือพื้นที่ Landscape ซึ่งเราตั้งใจออกแบบให้เกิดขึ้นภายในบ้าน เพื่อให้ธรรมชาติช่วยขัดเกลาความรู้สึกก่อนเข้าสู่ภายใน ช่วยให้เขาผ่อนคลาย ลดภาวะความเหนื่อยล้าให้มันน้อยลง” สถาปนิกกล่าว ถึงแม้บ้านศูนย์กลางที่เราเห็นจะโอ่อ่า หรูหรา มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม แต่ ‘ธรรมชาติ’ ก็ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อเติมเต็มช่องว่างระหว่างสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ภายนอกได้อย่างกลมกลืน