OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

จุลสมโณ พงษ์เสฐียร กับการใช้ประสบการณ์เป็นขั้นบันได เพื่อให้รู้ว่าการเป็นสถาปนิกนั้นไม่มีทางลัดสู่ความสำเร็จ

จากเด็กคนหนึ่งที่ชื่นชอบการวาดรูปและไม่เคยมีความฝันอยากเป็นอย่างอื่นเลยนอกจากการเป็น ‘สถาปนิก’ จนวันนี้ได้กลายเป็นสถาปนิกไทยที่มีผลงานประกวดไปถึงเวทีระดับโลกอย่าง WAF 2019 หรือ World Architecture Festival ที่ถือเป็นอีกหนึ่งสุดยอดเวทีในสายวิชาชีพสถาปนิก แต่ชื่อเสียงที่ได้รับกลับไม่ได้ทำให้ คุณจุลสมโณ พงษ์เสฐียร Architect Director แห่ง FLAT12x มองว่าเป็นจุดสูงสุดในอาชีพตนเอง เพราะเขาเชื่อว่า ‘ทุกเช้าที่ตื่นคือการเริ่มต้นใหม่และในวิชาชีพนี้ไม่มีทางลัดสำหรับการไปถึงเป้าหมาย’

การตัดสินใจเลือกการเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

‘ผมคิดว่าถ้าเราเป็นเด็กอยู่เราไม่มีทางรู้อยู่แล้ว ตอนนั้นรู้แค่ว่าเราชอบวาดรูปการ์ตูน แต่ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นอะไรที่ติดตัวเรามากกว่า พอดีตอนเด็กๆ ผมเรียนที่โรงเรียนปานะพันธุ์วิทยา ออกแบบโดยอาจารย์องอาจ สาตรพันธุ์ ด้วยความที่ผมเป็นเด็กที่อยู่โรงเรียนเยอะเพราะผมเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ มันก็ต้องมีไปค้าง ไปซ้อม ไปแข่ง กลับบ้านดึก พอได้ใช้เวลาที่โรงเรียนเยอะก็เริ่มสังเกตว่าโรงเรียนสวยและรู้สึกคุ้นเคยกับตึก เรียกว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เริ่มสนใจก็ว่าได้ แต่ก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งนี้คือสถาปัตยกรรม’

ตลอด 5 ปีของการเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ ม.ศิลปากร

ตอนนั้นรู้แค่ว่าสถาปัตยกรรมคือ การเรียนออกแบบบ้านครับ แม้แต่ตอนไปเรียน ปี 1 ปี 2 โจทย์แรกคือ ออกแบบบ้านดารา ออกแบบบ้านใครก็ไม่รู้ เราก็ยังไม่เข้าใจว่าขั้นตอน 1 2 3 4 มันเป็นยังไง แม้แต่อาจารย์ก็ยังบอกว่า ‘จุล เธอไม่มี Sense นะ เธอลองไปคุยกับเพื่อนคนนู้นคนนี้คนนั้น’ เราก็เออ ไม่มี Sense จริงๆ ก็ไม่เข้าใจหรอก ก็แค่จำแล้วทำให้มีส่ง ตอนนั้นไม่เป็นเลยครับ สมัยเรียนมีแต่อาจารย์ไล่ให้ไปดรอปด้วยนะ พอดีตอนนั้นผมทำงานไปด้วย เล่นดนตรี เป็นศิลปิน พูดง่ายๆ ว่าไม่ค่อยได้เรียนหนังสือมากนัก แต่ว่าสิ่งที่ได้จากตรงนั้นคือ มันทำให้เราทำงานเร็ว คิดงานเร็ว เพราะว่าเที่ยงปุ๊บต้องออกไปแล้ว ต้องมีจดหมายลาให้อาจารย์ ซึ่งอาจารย์เขาจะไม่ชอบ เที่ยงก็ออกไปแล้ว พอเวลาส่งงานทุกครั้ง อาจารย์เขาจะเรียกมานั่งคุยว่า ‘ไปดรอปไหม คุณจะมีเวลามาเรียนเหรอ’ อะไรแบบนี้ครับ แต่ว่าธีสิสได้ A นะ พอดีว่ามีคนบอกว่า ถ้าเรียนเกรดไม่ดีธีสิสต้องได้ A ถ้าเรียนเกรดดีธีสิสจะไม่ได้ A ก็ได้ ตอนนั้นก็เลยมีเป้าเดียวว่าทำยังไงให้ได้ธีสิส A พอทำได้ก็ถือว่าโอเคนะ’

ธีสิสจบที่แตกต่างจากเพื่อนๆ ในรุ่น

‘ธีสิสจบผมออกแบบทำคอนโดที่สุขุมวิท 24 สีดำทั้งแท่งมี Duplex เหมือนเป็นคอนโดยุคใหม่ที่มาฮิตกันอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนนั้นอาจารย์เขาก็บอกว่า ‘ใครเขาทำตึกสีดำอะไรแบบนี้’ เพราะว่าตอนนั้นเราเล่นดนตรีเป็นศิลปิน เราอยู่ใกล้เมืองเยอะ เราจะมีความใกล้เมืองมาก เราก็อาจจะเข้าใจคนเมืองมากกว่าคนอื่น โดยที่เพื่อนๆอาจจะออกแบบศูนย์ปฏิบัติธรรม สุสานวิญญาณ ลานสเก็ตบอร์ด อะไรต่างๆ แต่เราจะมุ่งไปทางอะไรแบบนี้ ก็ทำได้ดีเพราะมันเข้ากับไลฟ์สไตล์’

มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ที่ได้จากการเรียนสถาปัตยกรรม

‘ผมว่าเรื่องของมุมมองนั้นได้ตอนที่ทำงานแล้ว แต่ถ้าเรายังเป็นนักเรียนสถาปัตยกรรม ผมว่าเฉยๆ ก็เรียนยังไงก็ได้ให้มันจบ อันนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนะ ซึ่งต้องย้อนกลับไปก่อนนะครับว่าในสมัยก่อนมันไม่ได้มีมือถือที่ทำให้เราสามารถจะหาข้อมูลต่างๆ ได้เท่าคนสมัยนี้ที่จะขวนขวายหาความรู้ที่ไหนก็ได้ แต่ของผมคือ ต้องไปยืมหนังสือมา แล้วก็ยืมหนังสือก็ไม่เคยทันเพื่อน ผลคือมันเลยทำให้ข้อมูลเราน้อย พอ Input เราน้อย มันก็เหมือนทำแบบเลื่อนลอย มันก็ไม่ค่อยได้อะไร’

การเริ่มต้นเป็นสถาปนิกอย่างเต็มตัวหลังเรียนจบ

‘ของผมพอเรียนจบปุ๊บทำงานเลยครับ ไม่อินดี้อะไรกับใครเขา ตอนนั้นผมเลือกออฟฟิศที่ทำค่อนข้างไม่ใหญ่แต่เป็นออฟฟิศที่รับทำงานแต่ระดับ A list  ที่เลือกที่นี่เพราะเราอยากจะเป็นสถาปนิก เราอยากอยู่ใกล้เจ้านายที่สุด มากกว่าที่จะอยู่ใกล้ ตอนนั้นมีความคิดว่าอยากไปเรียนวิชาที่เป็น Practitioner จริงๆ แล้วก็เลือกบริษัทที่ทำ Interior ด้วย นั่งอยู่ห้องเดียวกันเลย เพราะอยากที่จะรู้ขอบเขตที่มันใกล้กัน ก็ได้ติดตัวมาเยอะครับ ตอนนั้นก็เหมือนกับว่าบริษัทก็ Import เฟอร์นิเจอร์ด้วย เราก็จะได้เรียนรู้ 3 สิ่งนี้ Furniture, Interior และ Architecture เพราะมันเลี่ยงกันไม่ได้ แล้วมันก็ทำให้มีความคุ้นเคยเรื่องที่อยู่อาศัย ยิ่ง Private Residence จะชำนาญมาก มันก็จะติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ ผมทำอยู่ประมาณสัก 3 ปีครึ่งก็ไปเรียนต่อที่อังกฤษครับ

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจไปเรียนต่อที่อังกฤษ

‘ก่อนไปเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ ตอนเราทำงานออฟฟิศแรก ที่บอกว่าทำงานให้คนรวยเนี่ย ขั้นตอนการเลือกใช้วัสดุจะเลือกใช้วัสดุราคาแพงมาก จนบางทีเราเกิดคำถามว่า Value ของสถาปัตยกรรม คุณค่ามันอยู่ที่หินอ่อนอิตาลีหรือโคมไฟแพงมากขนาดนั้นเลยเหรอ เราเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว เราอยากไปดูว่าจริงๆ แล้วคุณค่าของสถาปัตยกรรมมันเป็นยังไง ก็เลือกที่จะไปเรียนกับอาจารย์ที่เก่งที่สุดเลย เรียกว่าเป็น Head of School อะไรอย่างนี้เลยครับ ตอนแรกแม่ก็บอกว่าทำไมไม่เลือกเรียนกับอาจารย์ง่ายๆ จะได้จบ กลัวไม่จบ เราก็บอกว่าไหนๆ ก็เอาแล้ว อยากลุย ตอนนั้นได้อะไรกลับมาเยอะ ก็เป็นช่วงเวลาที่เพาะบ่มมาถึงทุกวันนี้มากที่สุดครับ’

ความแตกต่างระหว่างการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ไทยกับอังกฤษ

‘ถ้าทำงาน ผมคิดว่าทำงานไม่ค่อยต่างนะ แต่การเรียนค่อนข้างต่าง เพราะมันเรียนแบบพลิกคนละมุมเลย ที่ไทยจะเรียนแบบว่า โปรเจกต์นี้ส่งอะไรบ้าง แปลนกี่รูป รูปด้านกี่รูป รูปตัดกี่รูป ตัดโมเดล 1 อัน แต่ที่ไปเรียนที่นู่น เขาไม่บอกอะไรเลย ให้คิดเองว่าจะส่งอะไรบ้าง ถ้าวาด Section อันเดียวพอ ก็พอ ดังนั้น เราก็จะต้องคิดเข้าไปอีกว่า ในโปรเจกต์นี้เราคิดว่าเราจะนำเสนออะไร Core Idea เรา ตัดโมเดลไหม เพื่อนบางคนก็ไม่ทำอะไรเลยนะ ไม่แตะคอมฯ เลย ตัดโมเดลอันเดียว แล้วขอแค่สามารถถ่ายทอดไอเดียนั้นออกมาได้ อันนี้คือสิ่งที่ต่างกันมากเลยสำหรับผม’

จุดเริ่มต้นของ FLAT12x

‘จุดเริ่มต้นต้องย้อนไปตอนเรียนที่อังกฤษ เพราะว่า Flat12 มันเป็นเลขที่อยู่ตอนผมเรียน นั้น อีกส่วนหนึ่งมาจากอาจารย์ที่สอนผมเขาสอนเราดี พอสอนเราดี เราก็รู้สึกว่าเราเป็นหนี้บุญคุณเขา บางงานเรียนที่เราทำไม่ค่อยดีแล้วเราก็รู้สึกว่าเราอยากแก้ตัว แล้วเราก็คิดตลอดตั้งแต่ตอนนั้นว่า ถ้ากลับมาไทยเราอยากทำงานที่นี่ให้ดีเพื่อให้เขาเห็น แต่การที่จะให้เขาเห็นมันก็ต้องทำออกมา เพราะเราอยาก Keep in Touch กับอาจารย์ ก็จะเป็นแบบ งานเราทำเสร็จแล้วนะอะไรแบบนี้ ที่คุณเคยสอน ที่เราเคยบกพร่อง เราทำให้เห็น อันนี้คือความตั้งใจเลย เป็นเป้าเลย ก็เลยมีบริษัทนี้ แล้วก็ทำไปถึงจุดที่ปีที่แล้วก็ได้ไปเจออาจารย์ที่อัมสเตอร์ดัมครับ งาน World Architecture Festival ที่เราต้องไป Present บ้านที่เราออกแบบ ซึ่งเป็นรอบ 15 หลังสุดท้ายของปีที่แล้ว พอเจออาจารย์ก็ไปบอกว่าเรามีทุกวันนี้ได้เพราะคุณ ยิ่งใหญ่ประมาณนั้นเลย’

นิยามของ FLAT12x

‘FLAT12x ค่อนข้างจะทำงาน Specific นะ หมายความว่า Tailor-made เลย 1 คนต่อ 1 ชิ้นอะไรแบบนี้ เป็น Portrait เลย สมมติในสมัยก่อน บันทึกรูป เขายังไม่มีกล้อง ก็ต้องจ้างศิลปินไปตั้งเฟรมแล้ววาด ของผมเหมือนกันเลย อย่างพี่จะแต่งงานกันใช่ไหม ผมตั้งผ้าใบวาด แต่ไม่ใช่หน้าพี่ ผมวาดออกมาเป็นบ้านพี่ ซึ่งบ้านของผมที่เสร็จแต่ละหลัง ถ้าเอาลูกค้าออกมายืนตรงหน้าบ้าน ก็จะรู้เลยว่านี่บ้านเขา อันนี้คือสิ่งที่เราทำ เช่นเดียวกับร้านอาหาร เพราะว่าถ้าคาเฟ่ถ้าทุกคนทำเหมือนกันมันก็จะเหมือนกันใช่ไหม เราก็ต้องบอกว่าไม่ได้นะพี่ พี่เป็นยังไง แล้วเราก็ทำออกมาให้เป็นเหมือน Self Portrait ของเขา ผ่าน Architecture Design Interior Design’

Process ในการออกแบบของ FLAT12x

‘เราจะดูว่างานนี้ Value ของมันจะเป็นอะไร Main Idea ของแต่ละอันจะเป็นอะไร สมมติเราทำบ้าน 10 หลังก็จะไม่เหมือนกันนะ ผมบอกได้ว่าบ้านหลังนี้จะเป็นเรือ บ้านหลังนี้จะเป็นรถแข่ง อะไรอย่างนี้ นี่คือ เราเลือก Approach แต่ไม่ใช่ว่าเราไปครอบเขานะครับ เพราะว่าโจทย์มันก็เปลี่ยนว่า อันนี้บ้านครอบครัวชาวประมง บ้านนี้เป็นครอบครัวที่เขาขายอะไหล่รถ เราก็หยิบตรงนั้นมา แล้วก็ Carry ตรงนี้ไป’

การดึงอัตลักษณ์ของเจ้าของโครงการออกมาเพื่อให้งานมีเอกลักษณ์

‘การพูดคุยครับ ต้องคุยกันค่อนข้างเยอะ จริงๆ แล้วในขั้นตอนการออกแบบเจ้าของบ้านหรือลูกค้าเป็นส่วนสำคัญมากเลยนะครับที่จะทำให้โปรเจกต์สำเร็จ ผมคิดว่าสถาปนิกทุกคนพูดเหมือนกัน ถ้าโปรเจกต์ไหนที่สำเร็จ แปลว่าลูกค้าจะต้องสำเร็จด้วยชัวร์ ดังนั้นเวลาจะตกลงทำงานกัน ก็ต้องบอกว่า พี่อย่าเพิ่งคิดว่าพี่จะจ้างผมนะ ถ้าพี่จะให้ผมคุย ผมก็คุยกับพี่นั่นแหละ และพี่ก็ไปเรียกสถาปนิกคนอื่นมาคุยกับพี่ก่อน เอาให้ชัวร์ว่าเราจะไปกันรอด เหมือนเป็นแฟนกันเลย เพราะมันต้องอยู่กันตั้ง 3 ปีกว่าบ้านจะเสร็จ’

โครงการที่ทำให้ FLAT12x รู้สึกท้าทายที่สุด

‘น่าจะทุกอัน บ้านหลังเล็กๆ สำหรับผมก็ท้าทายมากแล้วนะ เพราะว่าเราเองจะทำบนสิ่งที่เขามีมาแล้ว ผมจะไม่ทำสิ่งที่ผมอยากทำแล้วเอาไปครอบ คือคนที่มาหาเราก็จะต้องดีขึ้น ไม่ว่าเขามายังไง สภาพแบบไหน เหมือเรา Push Boundary ให้เขาน่ะครับ Enhance ศักยภาพที่เขามีอยู่ อย่างบางคนบอกว่าชอบบ้านฝ้าเพดานเตี้ย เราก็คงไม่บังคับเขาไปอยู่สูง เป็นต้น หาวิธีเตี้ยยังไงแล้วให้มันได้ Quality ของเรื่องแสง เรื่องลม อันนั้นคือหน้าที่เรา ดังนั้นมัน Challenge หมดแหละ’

การสร้าง Passion เพื่อผลักดันงานออกแบบในแบบ FLAT12x

‘ไม่เคยสร้างหรือคิดว่ามันหมดนะ ส่วน Passion ถ้าให้เรียกก็ยังอยากที่จะทำอะไรก็ได้ให้คนได้ Learn Architecture เพราะผมคิดว่ามันสำคัญ อย่างช่วง COVID นี่ก็ทำให้คนได้ตระหนักถึงที่อยู่อาศัยว่ามันมีผลนะ ที่จริงมันเหมือนเป็นยานพาหนะนะครับ ที่อยู่อาศัยที่ดีๆ มันจะทำให้เราดีขึ้นได้ อย่าง มีแสงแดดส่องถึงหรือลมผ่านอะไรอย่างนี้ ทุกวันนี้ให้บริการฟรีตลอด คนที่เขา Struggle เรื่องพวกนี้ แล้วเราคิดว่า เราช่วยแนะนำนิดหน่อยแล้วมันโอเคขึ้น เราก็ Happy แล้ว ดังนั้นก็ไม่น่าหมดนะ Passion’

หากสามารถย้อนเวลากลับไปได้ก็ยังเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

‘เลือกเรียนสถาปัตย์เหมือนเดิมครับ ดีที่สุด มัน Powerful นะ เพราะว่าสถาปัตย์ คนอาจจะยังไม่เข้าใจมากนัก คิดว่ามันเป็นแค่ Shelter หรือ Habitation ของคน อย่างในสมัยก่อนเริ่มจากเป็นถ้ำ เป็นเพิงอะไรก็ได้ที่มันปกป้องเราได้ อยู่แล้วปลอดภัย มันเริ่มจากห้องเล็กๆ ถ้าเราจัดห้องเราได้ดี ห้องแต่ละห้องรวมกันเป็นบ้าน บ้านหลายหลังก็กลายเป็นชุมชน เป็นเมือง เป็นประเทศ เพราะฝรั่งเขาวัดความเจริญของประเทศที่สถาปัตยกรรมทั้งนั้น ทำไมเราถึงต้องสร้างสนามบิน ทำไมเราถึงต้องมีตึกสูง เขาวัดเลยว่าใครทำตึกได้ดีแสดงให้เห็นถึงเครื่องไม้เครื่องมือ ความรู้ความสามารถช่าง ทุกวันนี้ที่ทุกคนเดินทางท่องเที่ยวกันเพราะอะไร ก็ไปดูสถาปัตยกรรมถูกหรือเปล่า ดังนั้นถ้าถามผมก็สนใจสถาปัตยกรรมกันเถอะครับ’

เมื่อวิชาชีพสถาปนิกเป็นสนามแข่งขันและคุณจุลกำลังมองตัวเองที่แข่งอยู่ในสนาม

‘ถ้าเป็นสนามแข่งผมยังอยู่จุดเริ่มต้นนะครับ ทุกเช้าที่ผมตื่นมาก็คือการเริ่มต้น แต่อาจจะเหมือนเปลี่ยน Track เปลี่ยนจากวิ่งบนดินเป็นวิ่งบนหญ้า หรือเปลี่ยนเป็นวิ่งที่ภูมิอากาศต่างกัน ไม่เคยคิดว่าตัวเองอยู่ตรงไหนเลย ในเมื่อมีโอกาสที่จะได้ทำงานใหม่ๆ ทุกวัน แต่ข้อแม้คือต้องทำให้เสร็จ เป็นคนเชื่อเรื่องว่าต้องทำให้เสร็จ เพราะถ้าไม่เสร็จก็จะไม่มีวันเสร็จ’

ทุกวันนี้คือจุดที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนี้แล้ว

‘ไม่เลยครับ แล้วก็ไม่เคยคิดว่าจะมีคำว่าประสบความสำเร็จอยู่ตรงไหนด้วย แล้วก็ไม่เข้าใจด้วยกับคนที่บอกว่าประสบความสำเร็จแล้วนะ จริงๆ ผมคิดว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพหนึ่งที่ทำเป็นขั้นบันได สมมติว่าอยู่บันไดขั้นที่หนึ่ง ก็ไม่สามารถจะทำในขั้นที่ห้า ได้ ถ้าอยากจะทำสิ่งที่ทำในขั้นที่ห้าได้ คุณก็ต้องอดทนทำขั้นที่ หนึ่ง สอง สาม สี่ ไป’

ฝากถึงน้องๆ ที่กำลังเรียนอยู่หรือว่าเพิ่งเริ่มงานในวิชาชีพสถาปนิก

‘ผมคิดว่าอย่าไปติดกับดักอะไรมากนักหรือที่เขาว่ากันว่าอย่างโน้นอย่างนี้ ผมยังเชื่อเรื่องของ Flexible เช่น วันนี้บางคนไม่ชอบทำงานคลาสสิค แต่อีก 5 ปีอาจจะชอบก็ได้ อีก 10 ปี อาจจะชอบมากๆ ก็ได้ พยายามทำตัวหลวมๆ ไว้นะครับ เปิดไว้ เป็นน้ำไม่เต็มแก้วรอไว้ ผมว่าเหมือนกันทุกอาชีพ มันเป็นช่วงเวลาที่จะต้องทำงานหนักก็ควรจะทำงานหนัก หนักวันนี้สบายพรุ่งนี้ วันนี้ช้าพรุ่งนี้เร็วแน่นอน วันนี้เร็ว พรุ่งนี้ก็ต้องช้า คือมันไม่มีทางลัด ผมเคยพยายามหาแล้ว ไม่มี’

คำแนะนำสำหรับน้องๆ ที่อยากเปิดออฟฟิศตัวเอง

‘ทุกคนอยากได้โอกาสอยู่แล้ว โอกาสในที่นี้คืองานที่เข้ามา ตอนที่ไม่มีงานก็ชอบโทษว่าไม่มีคนจ้าง แต่ว่าก็ต้องดูตัวเองว่าจ้างแล้วทำได้หรือเปล่า น้องๆ ก็คงที่จะต้องพร้อมให้เต็มที่ บางคนเก่งแต่พูดกับลูกค้าไม่รู้เรื่อง เขาก็ไม่จ้าง บางคนบอกว่าอยากได้โปรเจกต์ใหญ่ แต่พอได้มาฝีมือยังไม่ถึง เราต้องทำตัวเองให้พร้อม ถ้าถามผมก็ไม่ต้องคิดว่าการจะต้องเปิดออฟฟิศคือความสำเร็จ ยากนะครับ เหนื่อยกว่านั้นคือได้งานหนึ่งแล้วต้อง Maintain แล้วก็พาน้องๆ ในออฟฟิศไปกับเรา เราเองก็จะต้องใช้พลังเยอะ’

สิ่งหนึ่งที่เราได้จากการสัมภาษณ์ คุณจุลสมโณ พงษ์เสฐียร Architect Director แห่ง FLAT12x นั้นคือ ความรักและการให้เกียรติวิชาชีพของตัวเองอย่างจริงใจ เห็นได้ชัดในงานออกแบบทุกๆ โครงการที่ตั้งใจดึงอัตลักษณ์ของเจ้าของโครงการออกมาไปพร้อมกับออกแบบฟังก์ชันที่สร้างคุณภาพที่ดีให้กับผู้ใช้พื้นที่ในระยะยาว เหมือนอย่างที่คุณจุลได้กล่าวไว้ว่า ‘ที่จริงสถาปัตยกรรมก็เหมือนเป็นยานพาหนะนะครับ ที่อยู่อาศัยที่ดีๆ มันจะทำให้เราดีขึ้นได้’

คุณจุลสมโณ พงษ์เสฐียร

B.Arch, Bachelor of Architecture, Silpakorn University. 2007 

M.Arch, Master of Architecture (Design), Kingston University London. 2012