OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

สถาปนิก…นอนกี่โมง?

มีเสียงร่ำลือหนาหูว่าการเป็นสถาปนิกนั้นแสนยากลำบาก ต้องอดหลับอดนอน ทำงานยันสว่างกันหลายวันติด เป็นที่หวาดหวั่นของคนที่กำลัง(คิดที่จะ)ก้าวเข้าสู่อาชีพนี้ไปตาม ๆ กัน… แล้วแท้จริงล่ะ สถาปนิกต้องมีตาแพนด้าทุกคนมั้ย วันนี้เราไปแอบถามสถาปนิกไทย 12 คนที่มีผลงานโดดเด่นและมีประสบการณ์ในวิชาชีพนี้มาแล้วนับ10 ปี ว่าเค้าทำงานอย่างไร แบ่งเวลายังไง และที่สำคัญ “นอนกี่โมง?”

แล้วคุณล่ะ นอนกี่โมงกันบ้าง บอกที…

ผศ.ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์
อาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
   ก่อนอื่นขอแยกแยะระหว่างคำว่า “นอนดึก” กับ “อดนอน” ก่อนครับ
สองคำนี้ฟังผิวเผินอาจดูคล้ายกัน แต่จริงๆแล้วแตกต่าง เพราะนอนดึก หมายถึง เข้านอนในเวลาที่ช้ากว่าวิถีของคนส่วนใหญ่ แต่อดนอน คือเวลานอนไม่เพียงพอ ดังนั้น การนอนดึก ก็ไม่จำเป็นต้องอดนอน เพราะมันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆ ดังจะเห็นได้จากหลายองค์กรมีการปรับเปลี่ยนเวลาทำงานให้ตอบรับกับธรรมชาติของคนที่ทำงานในสายงาน เพื่อให้บุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันเนื่องมาจากสังคมปัจจุบันยอมรับความหลากหลาย (Diversity) มากขึ้น มีการศึกษาวิจัยต่างๆมารองรับค่อนข้างมาก ทำให้ความเชื่อเดิมในสังคมหลายอย่างค่อยๆปรับเปลี่ยนไป (Paradigm Shift) ยกตัวอย่างเรื่องกิจวัตรประจำวันใกล้ตัว ทั้งเรื่องการกิน และการนอน
   จริงหรือ?ที่คนเราทุกคนต้องรับประทานอาหารเช้า หรือถ้าทานอาหารไม่ตรงเวลาจะทำให้เป็นโรคกระเพาะ ซึ่งถ้าใครที่เคยหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำ Intermittent Fasting ก็จะพบว่าไม่จริง หรือเรื่องเวลาในการนอนที่เหมาะสมที่เราทุกคนเคยถูกปลูกฝังว่า ควรนอนตั้งแต่เวลาไหน ตื่นเวลาไหนจึงจะดีต่อร่างกาย เมื่อผมได้ฟัง Readery Podcast EP.82 ที่เล่าถึงหนังสือ “The Power of When” ของนักจิตวิทยาที่ชื่อว่า Michael Breus ก็ทำให้เข้าใจว่า คนที่ชอบทำงานตอนกลางคืน ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะถ้าแบ่งมนุษย์ตามแรงขับในการนอนจะสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท โดยเปรียบเทียบกับธรรมชาติการนอนของสัตว์ คือ หมี สิงโต หมาป่า และโลมา โดย “หมี” คือกลุ่มที่มีมากที่สุดในสังคม (55%) ดังนั้นเวลาของสังคมส่วนใหญ่จึงตั้งไว้ตามเวลาการนอนของคนประเภทหมี
   คนทำงานด้านสถาปัตย์ ส่วนใหญ่เป็นประเภทหมาป่า?
   หมาป่า คือสัตว์ที่จะออกหากินในเวลากลางคืน การที่คนทำงานสายที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มักอยู่ในกลุ่มคนประเภทหมาป่า หรือนกฮูก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความเคยชินตั้งแต่สมัยเรียนที่ตอนกลางวันต้องเข้าเรียน และยังมีภารกิจที่หลากหลายต้องทำ ต้องจัดการ ดังนั้นเวลาที่จะได้ใช้ความคิด ได้จดจ่อกับงานที่ต้องทำส่งอาจารย์จึงอยู่ในช่วงเย็นเป็นต้นไป โดยมีสิ่งที่เป็นเสน่ห์ในการทำงานเวลากลางคืน คือ ความเงียบสงบ จนบ่อยครั้งก็เลยเถิดถึงเช้า ไม่ได้นอน แต่ก็ต้องเข้าเรียนภาคเช้าเสียแล้ว ก็ทำให้ร่างกายทรุดโทรมได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง การทำงานของสถาปนิก มีความจำเป็นที่จะต้องประสานงานกับคนหลากหลายกลุ่มวิชาชีพ อีกทั้งต้องแบ่งเวลาให้กับคนในครอบครัว ปัจจัยรอบตัวต่างๆเหล่านี้ ทำให้เราไม่สามารถยึดเวลาของเราเป็นหลักได้ตลอด และเมื่อเติบโตขึ้น หน้าที่ความรับผิดชอบของเรามักจะเริ่มปรับเข้าสู่โหมดของการคิดวิเคราะห์วางแผนมากขึ้น ผนวกกับสุขภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปตามวัย แต่ละคนจึงจำเป็นต้องหาสมดุลในชีวิตของตนเองให้เจอ
   ดังนั้น การนอนดึก จึงอาจไม่ใช่ปัญหา ถ้าเรารู้ศักยภาพของร่างกายเราว่าจะมีประสิทธิภาพในการทำงานตอนกลางคืนได้ดี เราอาจต้องใช้ศักยภาพในช่วงเวลานั้นให้เป็นประโยชน์ที่สุด และถ้าเราอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นคนประเภทเดียวกัน การจัดการชีวิตของเราก็จะง่ายขึ้น แต่การอดนอนต่างหากที่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ ซึ่งต้องใช้การวางแผนการทำงานที่ดี เพื่อทำให้เราไม่ต้องอดนอน ฝึกกลั่นกรองสิ่งที่ไม่สำคัญออกจากชีวิตบ้าง และต้องเคารพเวลาของผู้อื่น

ประพันธ์ นภาวงศ์ดี
Shma Company Limited
   อาชีพสถาปนิกเป็นวิชาชีพที่ต้องอาศัยทั้งความรู้เฉพาะทางบวกกับความรู้รอบด้านผสานกับความคิดสร้างสรรค์ในหลากหลายมิติ มันจึงต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะความชำนาญในการทำงานในช่วงเริ่มต้นการทำงานใหม่ๆที่ค่อนข้างมากจริงๆ ในจุดนี้มันก็คงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วยว่ามีมุมมองที่สนุกไปกับมันได้แค่ไหน แต่ผมว่ามันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตที่จะกำหนดความสามารถในการเติบโตในอนาคต ได้มากๆ อย่างไรก็ตามทักษะในการวางแผนงาน การตัดสินใจ และการนำเสนอผลงานที่ดี ก็จะช่วยให้เราไม่ต้องทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำที่เป็นภาพจำของน้องๆหลายคน และในระยะยาวๆเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นเราก็จะสามารถบริหารจัดการเวลาให้กับสิ่งสำคัญในชีวิตด้านต่างๆของแต่ละคนเข้าสู่จุดสมดุลของมันได้เองแหละ
   เอาจริงๆแล้วคิดว่าสิ่งที่ทำให้ต้องนอนดึกจริงๆแล้วเป็นกิจกรรมหลังเลิกงานมากกว่า เพราะปัจจุบันมีโลก ออนไลน์ที่ดึงเวลาเราไปมาก เพราะฉะนั้นการบริหารเวลาหลังเลิกงานก็สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อให้มีเวลานอนที่เพียงพ
และในยุค Disruption ที่อะไรๆก็เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราก็คงต้องเผื่อเวลาไว้สำหรับการเพิ่มพูนความรู้กันไปตลอดเส้นทางของชีวิตครับ

เอกภาพ ดวงแก้ว
EKAR
   “สถาปนิกไม่ใช่วิธีการทำอาชีพ แต่เป็นวิถีการใช้ชีวิตมากกว่า สถาปัตยกรรม และ งานมันเป็นเนื้อเดียวกันกับชีวิต สำหรับผม การนอนดึก หรือการอดนอน มันแค่ผลของการจัดสรรเวลารูปแบบนึง ที่เหมาะสม กับช่วงเวลาชีวิตช่วงเวลานึ
แต่เหตุของมันที่แท้จริงแล้วคือการทุ่มเทแรงกายแรงใจไปกับการการออกแบบ กับสถาปัตยกรรมต่างหาก
วิถีชีวิตของสถาปนิกที่ทุ่มเทกับงานที่กล่าวมานั้น นี่มันกินเวลาส่วนอื่น ๆ ในชีวิตไปมากแน่นอนอยู่แล้ว เมื่อเราทุ่มเทให้กับอะไรที่รัก มันก็แค่กินเวลาส่วนอื่นๆ ไปเท่านั้นเอง (เช่นเวลานอน) และเมื่อเราหาทางจัดสรรเวลารูปแบบเดียว มันเลยไปสรุปที่นอนดึกหรืออดนอน ซะอย่างงั้น
   ซึ่งมันอาจพอเหมาะพอดีกับช่วงเวลาในวัยรุ่น ที่ความรับผิดชอบชีวิต มีเพียงแค่ เรียน อย่างเดียว
ทีนี้ พอโตขึ้น มันก็ยังทุ่มเทเหมือนเดิม แต่แค่มันต้องรับผิดชอบกับเรืองอื่นๆ ด้วย แม้ว่าจะเป็นเรือ่งงานเหมือนกัน แต่มันกลับต้องมีงานตอนเช้าแบบเข้าประชุม หรือ คุยกับลูกค้า ที่เค้านัดเวลาเช้า หรือ การบริหารออฟฟิสออกแบบ ที่ต้องเข้างานให้ตรงเวลาบ้าง
ตอนเรียน อาจคิดว่า โปรเจค เสร็จแล้วมีปิดเทอมค่อยมีเวลาพัก
   แต่ “วิถีสถาปนิก” นั้น มันไม่มีวันหยุดอีกต่อไปหยุดแล้ว การวางยุทธศาสตร์ระยะยาวในการใช้ชีวิตเป็นสถาปนิกออกแบบให้ได้มีประสิทธิดีภาพยาวนานที่สุด ก็คือ ต้องบาลานซ์ เวลาพักผ่อน เรือ่งส่วนตัว เรือ่งสุขภาพ เรือ่งการกิน การนอน การทำงาน สังคม ครอบครัว และทุกๆ อย่างให้ดีที่สุดด้วย ไม่งั้นจะกระทบในวันต่อ ๆ ไป ของอาชีพเรา อยากให้นึกถึงนักกีฬาอาชีพ ที่ต้องดูแลร่างกายตัวเองให้ดี มากพอๆ กับฝึกซ้อมให้หนัก เพื่อให้ลงสนามได้ 100% ที่สุด ใน 1 ฤดูกาล
แต่วิถีของอาชีพเรา 1 ฤดูกาลมันก็คือทั้ง 1 ชีวิตเท่านั้นเอง

ปองพล ยุทธรัตน์
เฮ็ด ดีไซน์สตูดิโอ
   ไม่เห็นด้วยเลยครับ สถาปนิกไม่จำเป็นต้องนอนดึกหรืออดนอน ความลับข้อนี้ก็เพิ่งจะมารู้ตั้งแต่มีลูกคนแรก (เมื่อ 9 ปีที่แล้ว) พอรู้ว่าจะมีลูกก็มีคนเตือนว่าพ่อแม่มือใหม่ว่าระวังตาคล้ำ 555 ต้องหาเวลาพักผ่อนเยอะๆ แล้วเราดันเป็นพ่อแม่ที่ทำงานสถาปัตย์ด้วย นอนดึกกับงานแถมต้องมาดูแลลูกน้อยอีก ไปกันใหญ่เลยทีนี้ เลยต้องมาจัดการเวลาตัวเองใหม่ แบ่งเวลาออกเป็น 3 ก้อนหลักๆ คือเวลาเลี้ยงลูก เวลาทำงาน และเวลาส่วนตัว วิถีของการทำงานเลยเปลี่ยนไปนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา คือทำงานเกือบจะตามเวลาราชการเลย เข้า 9 โมง เลิก 6 โมง และค้นพบว่าคุณภาพชีวิตดีมากๆ หกโมงเย็นกลับบ้านและไล่น้องๆ ในออฟฟิศกลับบ้านด้วย แรกๆ ก็ไม่ชิน มีดึกบ้าง แต่หลังๆ ทุกคนก็ต้องจัดการเวลาของตัวเอง เพื่อให้ทันเวลาปิดออฟฟิศที่ผมวางไว้ ผมว่าสิ่งสำคัญที่ต้องบริหารไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพงานหรือรายได้ แต่ต้องมีเรื่องคุณภาพชีวิตของทุกคนด้วย การได้มีเวลาส่วนตัว ได้ออกกำลังกาย ได้กินข้าวกับลูกเมีย ได้ปลูกต้นไม้ ได้นอน และตื่นมาทำงานอีกทีแบบสดชื่นๆ มันน่าจะดีกว่าอยู่แล้วแหละ ฟังดูเป็นอุดมคติมากๆ ครับ แต่มันคือการสร้างวินัยเรื่องเวลาจนเป็นกิจวัตรของพวกเราไปแล้ว

พัชระ วงศ์บุญสิน
POAR (Patchara + Ornnicha Architecture co.,ltd)
   เราเชื่อว่าการออกแบบ/สร้างสถาปัตยกรรมให้ดีต้องเข้าใจการใช้ชีวิตของคน และเข้าใจคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นการเข้าและเลิกงานตรงเวลาจะเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ดังกล่าว ได้เจอประสบการณ์ต่างๆที่สามารถมาใช้ในงานได้ จริงๆเราลองมาทั้งสองแบบแล้วทั้งที่อดหลับอดนอนกับพยายามทำงานให้เร็วให้เสร็จในเวลา การนอนเต็มอิ่มจะให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่าหลายเท่า ตัวผมเองทำงานที่ออฟฟิสวันนึงประมาณ 4-5ชั่วโมง และทำงานที่บ้านอีกประมาณ 2-3 ชั่วโมงที่บ้านในช่วงกลางคืน ไม่ได้อดหลับอดนอนมาหลายปีมากๆแล้วครับ

ไพทยา บัญชากิติคุณ
atom design
   มีทั้งนอนมาก-น้อย นอนค่ำ-เช้า ผสมกันไปมีหลายปัจจัย การจัดการเวลาเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดในทุกสายอาชีพ แต่ไม่ใช่ว่าการนอนดึก นอนน้อย คือผลของการจัดการเวลาไม่ดี ขึ้นอยู่กับ life style แต่ละคน Work life Balance ก็มีนิยามแตกต่างกัน ทุกอาชีพมีวันที่หนักและวันที่เบาทั้งเหมือนกันและแตกต่างกันเป็นเรื่องปกติ คิดว่าสิ่งสำคัญอยู่ที่งานที่ทำเป็นสิ่งที่เราทำได้อย่างมี Passion (ความรัก ความหลงใหล) และ Profession (ความเป็นมืออาชีพ) ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ บ่อยครั้งเวลาที่เรากำลังทำสิ่งที่เรารักเราสนใจและจดจ่ออยู่นั้น มันสนุกและคุ้มค่ามากกว่าการได้นอนตรงเวลาก็มีให้เห็นกันมากมาย แล้วก็หาเวลานอนชดเชยให้เหมาะสมเพราะการนอนเป็นสิ่งสำคัญ

ชุติ ศรีสงวนวิลาส
Black Pencils Stuido
   “อันนั้นน่าจะเป็นความคิดสมัยเรียนปริญญาตรีที่เคยมีความรู้สึกว่า “ทำงานไม่ทันตลอดเวลา” จึงทำให้คิดว่า ต้องเพิ่มเวลาในการทำงานของตัวเองให้มากขึ้นด้วยการนอนน้อยลง
   แต่พอเริ่มทำงานที่เป็นอาชีพแล้วการจัดการเวลามีความสำคัญมากสำหรับความเป็นมืออาชีพ เนื่องจากเรา ต้องทำงานร่วมกับคนอื่นอยู่ตลอด ถ้าเราจัดการเวลาของเราได้ ก็จะทำให้ผู้ที่ร่วมงานกับเราทำงานได้ง่าย ขึ้นด้วย
เพราะฉะนั้นเวลาการทำงานปกติจึงอยู่ในเวลาการทำงานเป็นส่วนใหญ่ (working hours) ส่วนนอกเหนือเวลางาน เป็นเวลาที่จะเอาไว้คิดเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวกับงาน หรือใช้เวลาเพื่อเพิ่มเติมความรู้ เช่น การอ่าน หนังสือดูสารคดีหรือ ออกไปถ่ายรูป ซึ่งจะเป็นเวลาที่ใช้สำหรับการใช้ความคิดอยู่กับตัวเอง (contempla;on) ซึ่งช่วงเวลาเหล่านี้ก็จะค่อนข้างมีอิสระในการจัดการเวลาที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการทำงาน กับผู้ร่วมงานคนอื่น จะพยายามวางตารางเวลางานให้จบภายในวันจันทร์ถึง ศุกร์เพื่อที่จะได้มีเวลาส่วนตัว ในวันเสาร์อาทิตย์

ภราดร กู้เกียรตินันท์
P.O.P. studio
   ถ้าจะเปรียบเวลาหนึ่งวันเป็นเหมือนกับวัฏจักรชีวิต เวลากลางวันเป็นเวลาแห่งแสงสว่าง และพลังความเคลื่อนไหว ส่วนกลางคืนนั้นเป็นตัวแทนของความมืด สงบ เป็นเวลาที่ดำดิ่งสู่สมาธิ พลังแห่งความเงียบสงัดนั้นช่วยเปิดเผยตัวตนของเรา ปราศจากเสียงรบกวนที่มาแย่งซีนความโดดเด่นแห่งแรงบันดาลใจ ในความมืดยามราตรีนั้น หัวใจเรากลับสว่างไสว แสงจากโคมไฟเขียนแบบนั้นเหมือนกับการรวมพลังแสงของพลังคลื่นเต่าในการ์ตูนดรากอนบอล เหมือนใช้แว่นขยายรวบรวมแสงอาทิตย์ให้โฟกัสไปยังงานออกแบบที่อยู่ตรงหน้า จนบางครั้งแทบจะมอดไหม้เพราะไฟแรงเกินไป (ในคืนสุดท้ายก่อนส่งงาน) อย่างไรก็ตาม ความเงียบ มืด และความเย็น(จากเครื่องปรับอากาศ) ในเวลากลางคืนนั้น มักจะส่งเสริมสมาธิ และเปร่งประกายความคิดดีๆให้กับงานออกแบบของเราอยู่เสมอ นี่จึงคิดว่าเป็นสาเหตุให้สถาปนิกนักออกแบบต่างๆจึงหลงไหลกลิ่นแห่งราตรี
วิรัช ปัณฑพรรธน์กุล
Rice Popper Design Studio
   ความคิดเห็นคงไม่มีครับ เพราะแต่ละคนคงมีเงื่อนไขเวลาในการดำเนินชีวิตน่าจะต่างกันไป แต่ขอเล่าประสบการณ์ที่ประสบเจอเอง เมื่อสมัยก่อนก็อดนอนเหมือนที่คนอื่นพูดกันนะครับ ยิ่งสมัยยังไม่มีออฟฟิศ ทำงานเองคนเดียวนี่หนักเลย คือ เริ่มทำงาน 3 ทุ่ม ลากยาวไปถึง ตี 4 บ้าง เพราะมันเงียบมีสมาธิไม่มีใครกวนทำงานได้เยอะ บางวันเพลินเช้าแล้วค่อยนอนบ้าง ตื่น 11 โมง กินมื้อเที่ยงเป็นมื้อเช้า คือ พอมันทำประจำก็กลายเป็นชีวิตประจำวันปกติ อายุน้อยร่างกายยังแข็งแรงอยู่
   หลังจากมาสอนหนังสือเมื่อสัก 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็เริ่มปรับเวลาบางวันต้องตื่นเช้าขึ้นบางวันก็นอนไม่พอ จะนอนก็นอนไม่หลับ พอตารางชีวิตมันไม่สม่ำเสมอ ก็เริ่มรู้แล้วว่ามันทำแบบนี้ไม่ได้ ไม่ดีเพราะหลับในตอนรถติดบ้าง อ่อนเพลีย เวียนหัวประสิทธิภาพในการทำงานต่ำ ร่างกายมันรวน เป็นภูมิแพ้หนักมาก เลยปรับตัวหลังจากนั้น ตอนทำงานออฟฟิศ และเปิดออฟฟิศนี่เป็นอะไรที่ดีขึ้นเลย เพราะคนอื่นต้องทำงานกับเรา ต้องจัดการเวลาร่วมกันตกลงกัน คือ พี่บอกเลยว่าไม่ได้กำหนดเวลาเข้างานแบบเป๊ะๆ ของานเสร็จตามเวลา และมีเวลาที่ทำงานร่วมกันมากน้อยแค่ไหน เพราะมีงานหลายส่วนที่ต้องทำงานเป็นทีม
   แต่หลังจากมีลูกปุ๊บ ออฟฟิศนี่ต้องปรับตัวหนักอีกรอบเพราะพี่ และภรรยา (สถาปนิกเหมือนกัน) มีแผนพาลูกไปเลี้ยงต่างจังหวัด เลยพยายามลอง WFH มานับจากนั้น นี่ก็เข้าปีที่ 4 แล้ว ก่อน WFH ช่วง Covid-19 กัน พวกเรามีความเชื่อเรื่องการทำงานในสภาพแวดล้อมแบบนี้ว่าเป็นจะน่าจะเป็นวิถีชีวิตของคนในอนาคต เพราะภรรยาเคยทำวิจัยเรื่องปัจจัยการย้ายตัวออกจากเมืองของคนในอนาคต ว่างาน ที่พักอาศัย ชีวิต มันจะมีปัจจัยเงื่อนไขในการตัดสินใจ ย้ายออกมาได้อย่างไร แล้วเราเลยตัดสินลองทำตามนั้นดู เพราะบ้านภรรยาที่อุดรธานีค่อนข้างมีปัจจัยเงื่อนไขครบตามงานวิจัย พอย้ายมาก็เริ่มชีวิตเปลี่ยนไปแบบสุดขั้วเลย ความเครียด การนอนดีขึ้นมาก ไม่ต้องคิดวางแผนการเดินทาง ไมเกรน ภูมิแพ้หายไปเลย ก็เลยค่อยๆ ปรับตัวมากขึ้นจากนั้น ส่วนทุกวันนี้ตารางชีวิตประจำวันไม่ค่อยแน่นอนแต่ส่วนใหญ่ก็จะคล้ายๆ ที่ลองลิสไว้ใน Timeline แต่ไม่ใช่ตารางตอนเป็นพ่อลูกอ่อนนะ
อนนท์ จิตรานุเคราะห์
ACA Architects
   “ผมมองว่ามันอยู่ที่การวางแผนงาน และการจัดการของเรามากกว่า การที่อยากให้งานออกมาดี เราจะให้เวลากับงานมากขึ้น แต่ก็ต้อง balance เวลาการทำงานและเวลาใช้ชีวิตด้วย เพราะงานที่ดีเกิดจากการสร้างสรรค์ “ด้วยสภาพร่างกายและจิตใจที่ดี”
บดินทร์ พลางกูร
CONTEXT STUDIO
   “ส่วนตัวคิดว่าการเป็นสถาปนิก ไม่จำเป็นต้องอดนอนตลอดเวลาครับ ถ้าเรารู้จักบริหารเวลาให้ถูกต้อง โดยเริ่มวางแผนงานตั้งแต่วันที่เราได้รับมอบหมายงาน ว่าต้องส่งงานให้ลูกค้า /อาจารย์ วันไหน มีเวลาทำงานกี่วัน และจะบริหารเวลาที่มีอยู่ยังไง ใช้เวลาทำ Concept กี่อาทิตย์ ใช้เวลาทำ 3D renderings กี่อาทิตย์ ใช้เวลาทำแบบก่อสร้างกี่อาทิตย์
   ส่วนตัวผมชอบทำงานออกแบบตอนกลางคืน เพราะบรรยากาศที่เงียบ มีสมาธิทำงานได้ลื่นไหล ปราศจากสิ่งรบกวนต่างๆ หรือไม่ต้องรับโทรศัพท์ขัดจังหวะการทำงาน
เผดิมเกียรติ สุขกันต์
Studiomiti
   ส่วนตัวคิดว่าไม่มีใครที่อยากจะทำร้ายตัวเองด้วยการนอนดึก
แต่น่าจะเป็นเพราะงานของสถาปนิก เป็นงานที่ต้องใช้ความคิด และจินตนาการ เพื่อที่จะแก้ปัญหาการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ ดังนั้นแต่ละโปรเจ็คจึงมีการค้นคว้า และทดลองหาความเป็นไปได้ในหลายๆวิธีการ จึงทำให้ใช้เวลาไปกับส่วนนี้เยอะ
อีกทั้งยังมีช่วงเวลาที่ต้องทำ product ซึ่งก็ประกอบกันหลายส่วน ทั้งทำแปลน ภาพทัศนียภาพ รูปตัด ซึ่งยังต้องมีการปรับแก้ไข ให้ตรงกับความคิดแรก นั่นเลยเป็นผลให้สถาปนิก มีเวลาพักผ่อนที่น้อยลง
แต่ทั้งนั้น ขึ้นอยู่ที่การเรียนรู้ ประสบการณ์ และการพัฒนาตัวเองของสถาปนิกแต่ละท่านด้วย เพื่อที่จะสามารถจัดการเวลาให้ดี โดยที่มีพักผ่อนเพียงพอกับตัวเองได้อย่างไร ส่วนใหญ่เข้านอนเวลา ก่อนเที่ยงคืน และหลับประมาณ 00.30
ส่วนตัวพยายามจะนอนให้ได้ 7 ชั่วโมงต่อวัน เป็นอย่างน้อย และพยายามไม่โหมทำงานหนัก แต่วางแผนให้ทำงานให้ได้ประสิทธิภาพทุกวันเป็นประจำ
***ออฟฟิศของมิติ อยู่ในโซนรถติด จึงมีเวลาให้น้องเดินทางโดยเริ่มทำงานสายหน่อย แต่เลิกค่ำ เพื่อเลี่ยงรถติด

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading