OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

บ้านครอบครัวขยายในพื้นที่จำกัด 75 วา

สมาชิกครอบครัว 11 คน ตั้งแต่สูงวัยไปจนถึงทารก บนที่ดินขนาด 75 ตารางวา วางแผนอยากจะมีบ้านพักหลังใหม่ ที่ความต้องการของทุกคนรวมอยู่ด้วยกันได้  นี่คือโจทย์การออกแบบที่จะต้องกระชับพื้นที่ให้พอดีกับความสัมพันธ์ในครอบครัว

ครอบครัวขยายในพื้นที่จำกัด

ในฉากละครพีเรียดที่ทุกคนน่าจะเคยเห็นจนชินตา  เรามักจะได้เห็นโลเคชั่นเรือนคุณพระ (หลังเดิมในหลายๆ เรื่อง) ที่มีลูกหลานอยู่รวมกันมากมาย เป็นผังครอบครัวขนาดใหญ่เชื่อมโยงกันไว้เป็นกลุ่มเดียว สะท้อนวิถีความเป็นอยู่ของครอบครัวของไทยในอดีต ที่จะเป็นรูปมีลักษณะเป็นเรือนขยาย สร้างเรือนไทยใหม่ที่อยู่ในบริเวณเรือนเก่า โดยจะเชื่อมต่อโดยใช้ พื้นชานเชื่อมเรือนไทยแต่ละเรือนไว้ด้วยกัน แต่วัฒนธรรมครอบครัวขยายกำลังถูกท้าทายด้วยข้อจำกัดของพื้นที่พักอาศัยในยุคสมัยใหม่

ถือเป็นโจทย์ทางสังคมและทางสถาปัตยกรรมที่นักออกแบบจะต้องหาคำตอบไปพร้อมๆกัน  เมื่อครอบครัว 3 เจเนอเรชั่น ที่กำลังวางแผนจะมีรุ่นที่ 4 ในอนาคต อยากจะสร้างบ้านพักหลังใหม่ที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ภายในครอบครับเอาไว้ดังเดิม ในพื้นที่จำกัดขนาดแค่ 75 ตารางวา

โครงร่างบ้าน โครงสร้างครอบครัว

ก่อนจะหยิบดินสอมาสเกตแบบบ้าน การเข้าไปพูดคุยกับสมาชิกทุกคนในบ้านทั้ง 3 รุ่น คือจุดเริ่มต้นการทำงานในครั้งนี้  ให้สมาชิกทุกคนในบ้านค่อยๆ พูดคุยกันเพื่อสังเคราะห์พื้นที่ที่พวกเค้าอยากได้  ตรงไหนเป็นพื้นที่ส่วนรวม ส่วนกลาง และส่วนตัว  บ้านพักหลังใหม่ควรจะมีฟังก์ชั่นการใช้งานอะไรบ้างที่จะตอบสนองความต้องการอย่างครบถ้วน  ส่วนสถาปนิกจะช่วยสกัดสิ่งเกิน ช่วยเสริมสิ่งที่ขาด ทำหน้าที่คอยแนะนำทิศทางและเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตของเจ้าของบ้านไปในตัว

พอได้โครงร่างบ้านที่มาจากโครงสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวแล้ว ก็จะเข้าสู้กระบวนการแปลงความต้องการเหล่านั้นให้เป็นพื้นที่จริง  ด้วยขนาดที่ดินไม่ได้ใหญ่มากแต่มีฟังก์ชั่นที่หลากหลาย  ขอบเขตของตัวบ้านจึงถูกกำหนดจากแนวร่นตามกฎหมายที่น้อยที่สุด ถอยร่น 4 เมตรจากถนนหน้าบ้าน  แล้วหาพื้นที่อาคารที่เป็นไปได้ใหญ่ที่สุด  จากความต้องการสมาชิกในบ้าน เฉลี่ยออกมาเป็นจำนวนตารางเมตรทั้งหมด แล้วคำนวนมาบวกลบคูณหารพื้นที่ที่สร้างได้จริง คำตอบของสมการคืออาคารสูง 4 ชั้น ที่ต้องกระชับจัดวางทุกพื้นที่เข้ามาไว้ด้วยกัน

เข้ากระชับพื้นที่ ยังมีอากาศสดใหม่

ด้วยความตั้งใจของสถาปนิกที่อยากจะพาแสงแดดและสายลมให้ไหลผ่านเข้ามาในบ้าน  เปิดหน้าต่างก็อยู่ได้ไม่ต้องเปิดแอร์  ให้สมาชิกในบ้านได้สูดอากาศสดใหม่ทุกวัน จึงออกแบบการวางระนาบผิวบ้านให้เหลื่อมกัน  เพื่อให้เกิดช่องเปิดของทุกด้านได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ลดความหนาทึบของตัวอาคาร และช่วยให้แสงและลมเข้ามาภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่อากาศและลมจากจุดเปิดรอบๆ เหล่านี้จะไหลเวียนเข้ามาสู่ช่องอากาศใหญ่ที่เชื่อมทะลุขึ้นไปที่ดาดฟ้า ช่วยถ่ายเทอากาศได้ทั้งปี สร้างสภาวะอยู่สบายสำหรับทุกคนภายในบ้าน  ส่วนรูปร่างของแบบนั้นเมื่อดูการเรียงตัวของแปลนระนาบภายนอกของบ้านหลังนี้จะดูคล้ายกับทรงสวัสดิกะ

บ้านนี้มีความสูง 4 ชั้น ใช้บันไดและลิฟท์ที่วางตำแหน่งทางด้านหลังให้เป็นทางสัญจรในแนวดิ่ง ส่วนความสัมพันธ์ของคนภายในบ้าน จะถูกเชื่อมต่อมองเห็นกันด้วยช่องเปิดขนาดใหญ่บริเวณด้านหน้าของตัวบ้านแทน แถมยังวางแผนเรื่องการใช้ไม้กระถาง ไม้เลื้อยขึ้นเกาะมาตามตะแกรงรอบอาคาร ช่วยลดความกระด้างของงานปูน เพิ่มความชุ่มเย็นและมีชีวิตชีวาให้กับคนในครอบครัว ซึ่งแต่ละชั้นถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็น

ชั้นที่1 รองรับที่จอดรถ 5 คัน ตำแหน่งประตูบ้านเชื่อมถึงบันไดและลิฟท์ได้อย่างสะดวกสบายแต่ไม่ประเจิดประเจ้อ มีพื้นที่เก็บของเก็บอุปกรณ์ต่างๆ  และพื้นที่สวนครัวโดยรอบ

ชั้นที่ 2 พื้นที่ส่วนกลางของสมาชิกทุกคนในบ้าน  นั่งดูทีวี ดินข้าวร่วมกัน มีห้องครัวกลางที่ทำอาหารได้ทั้งวัน   แบ่งบางส่วนออกเป็นห้องนอนใหญ่ของคุณพ่อคุณแม่ซึ่งมีห้องน้ำในตัว และห้องเสื้อผ้าที่แยกออกมาเป็นสัดส่วน

ชั้นที่ 3 เป็นชั้นสำหรับผู้หญิง ชั้นนี้รองรับห้องนอนส่วนตัวของลูกสาว 2 คน แต่ละห้องมีห้องน้ำและห้องแต่งตัวในตัว ออกแบบให้รองรับการพักอาศัยของผู้สูงอายุอย่างคุณย่าด้วย โดยที่คุณย่าจะนอนร่วมกับลูกสาวคนรอง

ชั้นที่ 4 เป็นชั้นที่ออกแบบมาเพื่อรองรับครอบครัวของลูกชาย ซึ่งมีแผนจะมีลูก 2 คน. ดังนั้นชั้นนี้จะประกอบด้วยห้องนอนใหญ่  และห้องนอนเล็กอีก 2 ห้องเผื่อเอาไว้ในอนาคต 

ชั้นดาดฟ้า เพื่อจะไม่ให้เสียประโยชน์จากพื้นที่หลังคา พื้นที่ดาดฟ้าบางส่วนถูกดัดแปลงให้เป็นพื้นที่สังสรรค์ของลูกๆทุกคน มีครัวขนาดเล็กที่ทำอาหารปิ้งย่างกับเพื่อนๆได้

การก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่กระชับ แบบ compact design จำเป็นต้องคำนึงถึงการบริหารงานก่อสร้าง-วางแผนกับผู้รับเหมาไปด้วย  หน้าบ้านที่เป็นถนนซอยแคบ 4 เมตรจะเหมาะกับรถปูนขนาดไหน  ต้องวางแผนลำดับการก่อสร้างให้ดี  แบ่งโซนในการก่อสร้างก่อนหลัง เพราะการยกของขึ้นแต่ละชั้นขึ้นไปชั้นบน จะส่งผลต่อกระบวนก่อสร้างทั้งหมด

บรรยากาศภายในบ้านที่เน้นการใช้งานพื้นที่แคบใช้สอยได้อย่างเต็มที่ มีประสิทธิภาพ เน้นการตกแต่งที่เรียบง่าย  เลือกโทนสีสว่าง บวกโทนอบอุ่นของไม้ปาเก้เรียงลายก้างปลา ช่วยลดความอึดอัดในบ้าน คุมมู๊ดโทนให้ออกมาดูกลางๆ ไม่ฉูดฉาด เพราะต้องการให้สมาชิกทุกคนสามารถนำความชอบของตัวเองเข้ามาตกแต่งเองได้  ด้วยงบประมาณก่อสร้างต่อตารางเมตรอยู่ที่ประมาณ 23,000 บาท บนพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดในบ้านประมาณ 700 ตารางเมตร ดังนั้นงบโดยรวมคือ 16,100,000 ++ บาท

Location: สาธร กรุงเทพฯ
Architect: INchan atelier
Principal architect: Intanon Chantip
Photographs: Add Wimolrungkarat
Props Stylist: Tharisra Chantip

ติดต่อ INchan atelier >> https://www.facebook.com/INchan.atelier/
http://www.inchan-atelier.com/