ทำไมตอนเรียน กับตอนทำงานมันช่างต่างกันอย่างนี้? เชื่อว่านี่คงเป็นคำถามที่ผุดขึ้นในหัวของสถาปนิกหลายๆ คน ซึ่งถึงแม้ระยะเวลาในการเรียนจะมากถึง 5 ปี แต่นั่นก็ไม่เพียงพอเลยเมื่อเทียบกับการทำงาน หรือประสบการณ์ที่ต้องเจอในเส้นทางอาชีพนี้ นักศึกษาสถาปัตย์ หรือสถาปนิกมือใหม่ จึงมักมองไม่เห็นภาพกว้างของวิชาชีพ และเกิดอาการเคว้งคว้างเมื่อเริ่มทำงานจริงเป็นครั้งแรก
Dsign Something จึงชวนมาลบภาพจำของสถาปนิกในบทบาทของการเป็นดีไซน์เนอร์เท่ๆ ที่เราคุ้นเคย และลองมาหาคำตอบกันดูว่า ยังมีสถาปนิกในบทบาทอื่นๆ อีกไหมนะ ที่เรายังไม่ได้ทำความรู้จัก
ตอนเรียนตัดแต่โมเดล สร้างจริงก็ต้องไม่พังด้วย
ประเด็นแรกที่มองเห็นได้ชัดที่สุด คือ การเรียนผ่านกระดาษ การตัดโมเดล ที่ต่างจากการก่อสร้างจริงหน้างานอย่างสิ้นเชิง ด้วยความที่การเรียนการสอนเราได้จับต้องและเรียนรู้โครงสร้างหน้างานจริงเพียงน้อยนิด เนื่องจากส่วนมากจะเรียนรู้ผ่านกระดาษ การเขียนแบบซึ่งก็เป็นการฝึกเขียนแบบก่อสร้างที่ไม่ได้นำไปใช้ก่อสร้างจริง ต่างจากการทำงานจริงที่ต้องเขียนแบบก่อสร้างให้แม่นยำ ถูกต้อง รวมถึงมีพาร์ทของการตรวจงานก่อสร้างเป็นพาร์ทสำคัญที่ทำให้ผลงานออกแบบของเรากลายเป็นรูปธรรม สำเร็จลุล่วงและปลอดภัยต่อผู้ใช้งานอาคาร เหล่าสถาปนิกมือใหม่จึงมักมีปัญหา ไม่เห็นภาพจริงของรายละเอียดการเขียนแบบก่อสร้าง หรือคุมหน้างานที่ต้องสร้างเป็นสถาปัตยกรรมจริงๆ
วัสดุที่ไม่ได้อยู่แค่ใน Material Board
ถ้าย้อนกลับไปในช่วงเวลาของการเรียน เรียกได้ว่า น้อยมากที่เราจะได้เรียนรู้ ลงลึกไปจนถึงรายละเอียดของการเลือกใช้ Material หรือแม้แต่การเขียนแบบก่อสร้างในดีเทลการจบงานวัสดุ เนื่องด้วยระยะเวลาของการเรียนในแต่ละปี ก็ยังมีอีกหลายโปรเจกต์ที่นักศึกษาสถาปัตย์จำเป็นต้องฝึกฝนและเรียนรู้ไปตามหลักสูตร
ซึ่งส่วนมากก็ยังคงเน้นไปที่ขั้นตอนของการดีไซน์ภาพรวมของอาคาร สเปซภายใน และฟังก์ชันการใช้งาน ซึ่งกว่าจะจบแบบสเกลใหญ่ๆเหล่านั้นได้ ก็มักไม่เหลือเวลาเพียงพอให้ได้เรียนรู้ และฝึกออกแบบในส่วน detail design การเลือกใช้วัสดุในแต่ละส่วนของพื้นที่จึงต่างจากตอนทำงานจริงที่การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างกลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของการออกแบบอาคารเลยก็ว่าได้
รายละเอียดต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ใน Detail Design
เวลาการทำโปรเจกต์ออกแบบที่มีอย่างจำกัด บวกกับขนาดโปรเจกต์ที่สเกลไม่ใช่เล็กๆ บ้างก็ห้างสรรพสินค้า บ้างก็สนามบิน บ้างก็โรงพยาบาล ทำให้นักศึกษาสถาปัตย์เคยชินกับการออกแบบสเปซและภาพรวมอาคารให้หวือหวา ผ่านฟอร์มอาคารที่สวยงาม โดดเด่น แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกแบบลึกลงไปในส่วนของ Detail Design นั้นๆ ซึ่งอาจเป็นส่วนที่ใกล้ชิดกับผู้ใช้อาคาร
ฟอร์มโค้งหรือเหลี่ยมหักที่เราออกแบบไป หากจะขึ้นเป็นงานจริงต้องเขียนแบบอย่างไร? สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นปัญหาที่ทำให้นักศึกษาสถาปัตย์จบใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานจริง มักจะหลงทาง และต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่กับการออกแบบสถาปัตยกรรมที่จะต้องถูกนำไปสร้างจริง
สถาปนิกในมิติอื่นที่อาจจะไม่ได้เท่อย่างที่คิด
ปกติแล้วภาพสถาปนิกที่เราคุ้นเคย คงจะเป็นลุคของนักออกแบบที่ดูเท่ สะพายกระเป๋าเก๋ๆ แต่งตัวชิคๆ ม้วนแบบกระดาษเป็นของสำคัญที่ขาดไม่ได้ เนื่องจากการเรียน สอนให้เราเรียนรู้ผ่านโปรเจกต์ที่อาจารย์มอบหมายโจทย์มาให้ นักศึกษาสถาปัตย์จึงคุ้นเคยกับบทบาทของสถาปนิกในฐานะดีไซน์เนอร์ออกแบบอาคาร ที่ออกแบบให้สวยงาม โดดเด่น และตรงโจทย์ตามที่ได้รับมาเพียงอย่างเดียว แต่ในความจริงวิชาชีพนี้ต่างประกอบไปด้วยมิติของการทำงานในรูปแบบที่แตกต่าง ทั้งการทำงานร่วมกับบุคคลจากหลากหลายศาสตร์ ดีไซน์เนอร์จากแขนงอื่น การนั่งสเก็ตช์บนกระดาษภายในออฟฟิศ การทำงานร่วมกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การลงไปคลุกฝุ่น คลุกดิน ณ ไซต์งานก่อสร้างจริง
ไม่เพียงเท่านั้น การเข้าหา การเจรจาหรือการทำงานร่วมกับบุคคลที่มีหน้าที่แตกต่างกันอย่าง ช่างก่อสร้าง ผู้รับเหมา หรือเจ้าของบ้าน ยังเป็นสิ่งที่โรงเรียนสถาปัตย์ไม่เคยสอน แต่ในการทำงานจริง สิ่งเหล่านี้ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อยกลับสำคัญไม่แพ้พาร์ทของการออกแบบเลย เพราะหากขาดบุคคลเหล่านี้ไป อาคารที่เราออกแบบคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงอย่างแน่นอน
สถาปนิกกับการทำงานเอกสาร
อย่างที่รู้ๆ กันว่า สถาปนิกกับการทำงานเอกสาร เป็นของ (ไม่) คู่กัน! อาจเพราะการเรียนการสอนที่เราแทบจะไม่ได้เรียนรู้ หรือผ่านเรื่องพวกนี้มาก่อนหน้า ทำให้ขั้นตอนการทำเอกสารต่างๆ สำหรับสถาปนิกกลายเป็นเรื่องวุ่นวาย และน่าปวดหัว
ซึ่งในการทำงานจริง นอกจากพาร์ทดีไซน์ การก่อสร้างที่ทำให้เกิดเป็นสถาปัตยกรรมแล้ว ในกระบวนการเล็กๆ อย่างงานเอกสารก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ เพราะสถาปนิกเองก็ต้องวนเวียนอยู่กับการทำเอกสารมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการร่างสัญญา การทำเอกสารการเบิกงวดงาน การทําเอกสารขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) เพื่อให้กระบวนการทำงานที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างถูกต้อง และไม่เสียเปรียบ และนี่ยังไม่รวมถึงเรื่องของการเปิดบริษัทออกแบบจริงจัง ที่จะมีเอกสารมากมายตามมา
เรื่องน่าปวดหัวจากกฏหมายและการทำแบบขออนุญาติก่อสร้าง
ถึงแม้ว่าก่อนการออกแบบโปรเจกต์ในสมัยเรียน เราเองก็ต้องศึกษาและอ้างอิงกฏหมายหรือบริบทตามสถานที่ตั้ง แต่นั่นก็ยังแตกต่างจากการทำงานจริงมากนัก เนื่องจากก่อนการออกแบบเพื่อก่อสร้างอาคารจริง สถาปนิกจะต้องรู้ข้อกำหนดและกฎหมายเพื่อจะได้ทำการออกแบบได้ถูกต้อง เพื่อนำสู่ขั้นตอนของการทำแบบขออนุญาตก่อสร้าง ซึ่งสถาปนิกจะต้องมีการเซ็นรับรองในแบบที่ยื่นอนุญาตก่อสร้างด้วย นับว่าเป็นขั้นตอนน่าปวดหัวสำหรับสถาปนิกไม่แพ้การทำเอกสาร
สถาปนิกกับเรื่องเงินๆ ทองๆและงบประมาณจำกัดที่ต้องคุมให้อยู่
เพราะโปรเจกต์ตอนเราเรียนไม่มีงบประมาณกำหนด การออกแบบจะหวือหวาหรือโดดเด่นมากแค่ไหนก็ไร้ซึ่งข้อจำกัด แต่ในการทำงานจริง เรื่องเงินๆ ทองๆ ถือเป็นประเด็นแรกที่เข้ามามีผลต่อการดีไซน์ การทำงานของสถาปนิกจึงต้องคำนึงถึงงบประมาณในทุกๆ ขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นรูปฟอร์ม โครงสร้าง หรือวัสดุที่เลือกใช้ ซึ่งในบางครั้งงบประมาณก็กลายเป็นข้อจำกัดหรือโจทย์ใหญ่ของการออกแบบ การทำงานของสถาปนิกจึงต้องอาศัยประสบการณ์ในการออกแบบเพื่อให้อาคารที่เรากำลังจะสร้างขึ้นนั้นออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุดภายใต้ราคาที่ถูกกำหนดเอาไว้
อาคารสร้างขึ้นจริงและถูกใช้งานจริง
สิ่งที่แตกต่างมากที่สุดระหว่างการเรียนและการทำงานจริง คือผลงานสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นจริง เป็นเครื่องยืนยันที่จะอยู่กับเราไปเป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อเกิดการใช้งานจริงภายในอาคาร การออกแบบจึงต้องถูกคิดมาอย่างรอบคอบ เพราะหากจะจ้างสถาปนิกสักคนมาออกแบบอาคาร ความคาดหวังที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่เพียงความสวยงามเท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า สถาปนิกจะกลายเป็นบุคคลที่ต้องจัดการกับความคาดหวังของคนหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้าน ผู้ใช้งานอาคาร หรือแม้แต่ตัวสถาปนิกเองซึ่งเป็นผู้ออกแบบ
ซึ่งในการเรียนการสอน เราอาจจะไม่มีระยะเวลามากพอให้ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้ทั้งหมด และยังมีอีกหลายประเด็นรอให้เราออกไปค้นหา สั่งสมเป็นประสบการณ์ สถาปนิกจึงไม่ใช่วิชาชีพที่จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ หากแต่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการเรียนรู้ รวมถึงคอยสังเกตสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เพื่อให้เกิดผลงานใหม่ๆ ที่มีความสร้างสรรค์ และเหมาะสมในการใช้งานได้จริง