OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

‘บ้านพริกแกง’ ผลลัพธ์ของการตีความหมายจากบริบท สู่สีสันที่มาจากครกและพริกแกง

เมื่อโจทย์ของการออกแบบ คือ การแปลงโฉมบ้านไม้หลังเก่า ซึ่งเดิมเคยเป็นธุรกิจโรงงานทำพริกแกงของครอบครัวมากว่า 30 ปี ให้ดูทันสมัยรองรับการอยู่อาศัยและธุรกิจของคนรุ่นใหม่อีกเจเนอเรชัน  ทีมสถาปนิกจาก BodinChapa Architects จึงเข้ามารับหน้าที่ออกแบบ ปรับปรุงอาคารเก่าให้เข้ายุค เข้าสมัยด้วยรูปลักษณ์บ้านกึ่งไม้ กึ่งอิฐ ที่นำเรื่องราวอันร้อนแรงของพริกแกงและครก มาโขลกรวมกัน ก่อนจะเป็น บ้านพริกแกง สถาปัตยกรรมที่สะท้อน รูป รส กลิ่น เสียง ของบริบทและวิถีชีวิตที่สนุกสนาน ครื้นเครงภายในพื้นที่แห่งนี้

อาคารไม้ 2 ชั้นที่ผุพังและค่อนข้างทรุดโทรม นำมาใช้งานต่อได้ยาก รวมถึงมีอาคารขนาดเล็กด้านข้างที่ถูกซื้อไว้เพิ่มเติมแต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาและปล่อยให้เป็นพื้นที่โล่ง ซึ่งทางเจ้าของเองตั้งใจที่จะขยายอาณาเขตพื้นที่ทำงานและพื้นที่อยู่อาศัยให้อยู่ภายในพื้นที่เดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ บริเวณด้านล่างจึงเป็นเหมือนส่วนโรงงานเล็กๆ ที่ใช้สำหรับทำพริกแกง มีพื้นที่ออฟฟิศรอให้เจนเนอเรชันต่อไปมารับช่วงต่ออยู่บริเวณด้านหลัง รวมถึงมีพื้นที่รองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อคนเจนเนอเรชันใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทกับพื้นที่อาคารมากขึ้น เราจึงได้เห็นรูปโฉมของอาคารที่ดูทันสมัย เสริมด้วยฟังก์ชันที่รองรับการทำเป็นคาเฟ่ในอนาคต
จากความต้องการข้างต้นจึงทำให้บ้านพริกแกงหลังนี้ พิเศษกว่าบ้านทั่วๆ ไป โดยผู้ออกแบบเล่าว่า “สิ่งพิเศษหนึ่งของบ้านหลังนี้ คือการที่คนเจนเนอเรชันเก่าก็ยังคงมีเรื่องราวของเขาอยู่ ส่วนเจนเนอเรชันใหม่ก็มีความต้องการใหม่ๆ เข้ามา อย่างการปรับปรุงพื้นที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ การเพิ่มฟังก์ชันคาเฟ่ ซึ่งเราก็ต้องมาคิดอย่างละเอียดว่าพื้นที่เหล่านี้จะเชื่อมโยงกับความเป็นพริกแกงอย่างไรได้บ้าง”

สร้างบ้านไปด้วย ทำพริกแกงไปด้วย

ด้วยข้อจำกัดของธุรกิจพริกแกงที่ยังคงต้องขายส่ง และไม่สามารถหยุดทำการผลิตได้ชั่วคราว ในการออกแบบอาคาร ทีมสถาปนิกจึงต้องวางแผนการทำงานโดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 เฟส เพื่อให้การก่อสร้างไม่ไปรบกวนทำให้ธุรกิจพริกแกงต้องหงุดชะงัก เฟสแรกเริ่มต้นด้วยพื้นที่โรงงานที่จัดวางให้อยู่ทางด้านซ้าย ต่อเนื่องด้วยพื้นที่ออฟฟิศและพื้นที่เก็บของ ส่วนเฟสที่สองจะเป็นอาคารทางด้านขวา รวมถึงพื้นที่ชั้นสองที่ถูกวางให้เป็นฟังก์ชันของการอยู่อาศัยทั้งหมด
แปลนบ้านพริกแกงชั้น 1 และชั้น 2 Photo Credits : BodinChapa Architects

อีกหนึ่งข้อจำกัดในเรื่องของการถ่ายเทอากาศสำหรับอาคารตึกแถวที่รายล้อมไปด้วยเพื่อนบ้าน สถาปนิกเลือกที่จะวางผังให้บริเวณที่ติดกับถนนสามารถถ่ายเทได้มากที่สุด โดยเปิดเป็นฟังก์ชันของครัวและคาเฟ่ คล้ายกับส่วนต้อนรับที่เชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่โรงงานพริกแกง ส่วนด้านในจะเริ่มเป็นฟังก์ชันการใช้งานสำหรับพักผ่อนที่นอกเหนือจากการทำงาน อย่างพื้นที่รับประทานอาหาร ส่วนรับแขก พื้นที่นั่งเล่น โดยที่พื้นที่อยู่อาศัยจริงๆ อย่างห้องนั่งเล่น และห้องนอน จะถูกวางให้อยู่ที่ชั้นสองเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้แบ่งโซนระหว่างการอยู่อาศัยและการทำงานได้อย่างชัดเจนโดยไม่รบกวนกัน
ใจกลางหลักที่ต่อเนื่องมาจากพื้นที่ครัวถูกออกแบบให้เป็นโถงบันไดแบบ Open Space เพื่อให้มีช่องเปิดที่แสงธรรมชาติสามารถส่องเข้าสู่ภายในบ้าน รวมถึงเปิดให้อากาศถ่ายเทได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนั้นบันไดยังทำหน้าที่เป็นสเปซหลายๆ อย่างให้ตัวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นั่งเล่น หรือพื้นที่เก็บของ พื้นที่สองฝั่งที่เกิดขึ้นระหว่างบันได ยังถูกเชื่อมโยงโดยออกแบบหน้าต่างของแต่ละฟังก์ชัน ให้สามารถเปิดเชื่อมถึงกัน ทำให้ทุกคนในบ้านสามารถมองเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ภายในพื้นที่นั้นๆ กลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้บ้านดูมีชีวิตมากขึ้น
Dtips : ด้วยความที่บ้านพริกแกงต้องแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 เฟส โครงสร้างของบ้านหลังนี้จึงออกแบบให้เป็นโครงสร้างเหล็กและงานระบบแห้งทั้งหมด เพื่อให้การก่อสร้างเฟสที่ 2 สามารถเริ่มต้นเชื่อมคานเหล็ก หรือก่อสร้างส่วนอื่นๆ ขึ้นไปได้อย่างสะดวก

บ้านที่มีส่วนผสมมาจากครกและพริกแกง

“ด้วยตัวโรงงานมันเล่าเรื่องพริกแกงในตัวเองอยู่แล้ว เราก็เลยอยากหยิบเอาอะไรที่มันบ้านๆ เข้าถึงได้ง่ายและตีความออกมาเป็นวัสดุง่ายๆ เราก็เลยเอาครกและพริกแกงมาตีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้อาคารมันเล่าถึงวัสดุที่มีอยู่ในพื้นถิ่นได้บ้าง” แน่นอนว่าการออกแบบของ BodinChapa Architects เรามักเห็นกิมมิคของบริบทเข้ามาแทรกซึมเป็นส่วนผสมของสถาปัตยกรรม บ้านพริกแกงหลังนี้ก็เช่นเดียวกัน  

ซึ่งจากการเข้าไปดูสถานที่จริง สถาปนิกพบว่า พื้นที่ส่วนโรงงานเมื่อมีการปฏิบัติงานจะเกิดรอยเปื้อนตลอดเวลา วัสดุที่จะนำมาใช้จึงต้องเป็นวัสดุที่ทำความสะอาดได้ไม่ยาก รวมถึงมีสีสันที่กลมกลืนไปกับความเป็นพริกแกงเพื่อให้รอยเปื้อนที่เกิดขึ้นสามารถกลืนไปกับผนังได้ง่าย ส่วนฝั่งของที่อยู่อาศัย สถาปนิกดึงลักษณะของครก ด้วยการเลือกใช้บล็อกคอนกรีตโทนสีเทาซึ่งผลิตในตัวจังหวัด ผสมผสานกับการใช้ไม้ท้องถิ่นซึ่งมีโทนสีส้มคล้ายกับพริกแกง
“ความน่าสนใจของพื้นที่นี้คือ บริบท ซึ่งสำคัญมาก เพราะบริบทเป็นอะไรที่สามารถเล่าได้ทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง ของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง เวลาเราเข้าไปในซอยนี้เราจะได้ยินตั้งแต่เสียงเขาปั่นพริก โม่พริก กลิ่นนี่ลอยมาเลย พวกนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวสถาปัตยกรรมมันมีสเน่ห์ขึ้น”

ไม่ใช่แค่เพียงบริบทในเรื่องของพริกแกงที่ทำให้พื้นที่นี้โดดเด่น แต่สถาปนิกยังออกแบบเส้นสายของสถาปัตยกรรม ลดเหลี่ยมมุมให้มีความโค้งมน เพื่อเปิดมุมมองให้พื้นที่ดูไม่ทึบตันมากจนเกินไป นอกจากนั้นเมื่อเส้นโค้งในส่วนของไม้มาเจอกับเส้นโค้งในฝั่งของอิฐ ยังเกิดเป็นช่องแสงที่สามารถระบายอากาศได้  ซึ่งในส่วนของชั้นสอง ผู้ออกแบบยังคงเก็บพื้นที่ระเบียง ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์ที่ล้อไปกับเพื่อนบ้าน เนื่องจากบ้านทุกหลังภายในซอยจะใช้พื้นที่บริเวณริมถนนเป็นหลักเพราะเป็นส่วนที่อากาศถ่ายเทได้ดีที่สุด
ภาพตัดบ้านพริกแกง Photo Credits : BodinChapa Architects
ผลลัพธ์ของการตีความหมายจากบริบท ส่งผลให้สถาปัตยกรรมสะท้อนเรื่องราว ความเป็นพื้นที่ตรงนั้นได้อย่างไม่ต้องเกิดคำถาม อีกทั้งความไม่ตรงไปตรงมาของบ้านพริกแกงยังทำให้รูปลักษณ์อาคารออกมาร่วมสมัยเป็นที่พักอาศัยและพื้นที่ทำงานของคนสองเจนเนอเรชันที่ยังคงหาจุดร่วมกันตรงกลางได้อย่างลงตัว

Location : จังหวัดสระบุรี
Area : 220 ตารางเมตร
Owner : คุณอมรวรรณ ธาราสุข
Architect : คุณบดินทร์ เมืองลือ และคุณพิชชาภา โล่ห์ทอง BodinChapa Architects
Contractor: Studio Chieng-neur
Photographer : วิศรุต เกกินะ

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading