OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Thesis Crisis! ชวนมาส่อง Thesis สถาปนิกไทยในสมัยเรียน

เมื่อปีสุดท้ายของการเรียนมาถึง เป็นสัญญาณพร้อมความทรหดกับชั่วโมงของการทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) ซึ่งก็รู้ๆ กันอยู่ว่า ช่างเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน หนักหนาเอาการซะเหลือเกิน  แต่ในความทรหดนั้น ก็มีความสนุกปะปนอยู่จนกลายเป็นช่วงเวลาอันน่าจดจำ เรียกได้ว่า Thesis ถือเป็นโปรเจกต์ที่เราได้ปลดปล่อยอิสะทางความคิด ความเป็นตัวเองได้อย่างสูงสุด ก่อนจะต้องออกมาเจอโลกแห่งความจริง มีโจทย์จากลูกค้า มีข้อจำกัดมากมาย จนอาจทำความคิดสุดโลดแล่นเหล่านั้น ต้องแผ่วลงอย่างเลี่ยงไม่ได้

สำหรับใครที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาของ Thesis DsignSomething มีกำลังใจดีๆ มาฝาก เราลองมาส่อง Thesis ของเหล่าสถาปนิกกันดีกว่าว่า ก่อนจะมาเปิดออฟฟิศเป็นของตัวเองจนประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ในสมัยเรียนแต่ละคนทำ Thesis อะไรกันบ้าง?

พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล / PHTAA living design
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาสถาปัตย์หลัก มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

“RECREATION CENTER FOR THE BLIND AND VISUALLY IMPAIRED
ศูนย์นันทนาการสำหรับผู้พิการทางสายตาเพื่อพัฒนาสัมผัสที่เหลือของผู้พิการทางสายตาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

“ผมเลือกทำโปรเจกต์นี้เพราะอ่านหนังสือ Juhani Pallasmaa – The Eyes of the Skin  แล้วเห็นมิติที่ต่างออกไปของการรับรู้งานสถาปัตยกรรม (ที่ไม่ได้มีแค่การมองเห็น) ก็เลยเลือกผู้พิการทางสายตามาเป็น user หลักเพื่อเน้นบทบาทของสัมผัสอื่นๆ ที่มีต่อสถาปัตยกรรม”

“ตอนทำทีสิสก็จะเละๆ หน่อยครับ ในหัวมีแต่ความอยากเต็มไปหมด อยากทำโปรเจ็กต์ที่ดูเป็นคนดี เผื่อจะได้คะแนนเยอะกับเขาบ้าง อีกใจก็อยากทำอะไรที่สาแก่ใจตัวเอง อีกความคิดก็อยากทำงานให้ร่วมสมัยไม่เชย สุดท้ายเวลาไม่พอให้สังเคราะห์ทั้งหมด งานก็เลยออกมาเป็นงานที่ดูแกล้งเป็นคนดี สะใจไม่สุด งานก็ดูลอก Archdaily ในวันใกล้ๆ ส่ง เพื่อที่จะได้ดูอัพเดต”

เอกภาพ ดวงแก้ว / EKAR Architects
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“MOTI” Museum of Technology Impact

“มันเริ่มต้นจากความลุ่มหลงใน ศิลปะ ยุคสมัยเด็ก ที่จับต้องได้ เสียงเพลงที่รู้สึกเหมือนจริง ที่เกิดจากแผ่นเสียง ภาพถ่ายจากฟิล์มที่เกิดจากแสง แล้วตีความการเปลี่ยนแปลงความจริง ผ่านคลื่นความถี่แบบต่อเนื่องหรือสัญญาณแบบอะนาล็อก ขณะที่ยุคสมัยนั้นเริ่มมีเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงความจริงเป็นสัญญาณแบบขาดช่วง แต่ความถี่สูง หรือที่เรียกว่าระบบดิจิตอล ซึ่งทีสิสชิ้นนี้เป็นสถานที่ตั้งคำถามกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสองแบบนั้นๆ ว่าจะส่งผลกระทบอะไรต่อมนุษยชาติบ้าง”

“เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีเลยนะ ผมสนใจเรื่องดนตรีและเสียงเพลงมาก ทำเพลง เรียนคอร์สซาวน์เอ็นจิเนียร์ สนใจภาพถ่ายขาวดำ ทำห้องมืด แล้วอยู่ดีๆ ก็ มีกล้องดิจิตอลเข้ามาให้ใช้ ที่ความละเอียดสูงสุดน่าจะ 376 x 240 พิกเซล เท่านั้นเองมั้งครับ”

“ตอนทำทีสิสสนุกมากเลยนะ เหมือนได้ทำทั้งเรื่องที่รัก ให้จริงๆ จังๆ ทั้งเรื่องปรัชญาแนวคิด ดนตรี ศิลปะ และสถาปัตยกรรมไปพร้อมๆ กัน”

ธาวิน หาญบุญเศรษฐ / WARchitect
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมหลัก
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

“Islamic community center of Southern Thailand (Mosque+Mall)”

“จากที่ผมหาข้อมูลย้อนหลังพบว่าThesis ที่เป็นศาสนสถานจะถูกออกแบบโดยศาสนิกชนของศาสนานั้นๆ เกือบ100% ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมมีความเชื่อแบบ Irreligion แต่เคารพทุกความศรัทธาและชื่นชอบความงดงามทางวัฒนธรรม อันเกิดจากความเชื่อทางศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะวัฒนธรรมอิสลามมากครับ”

“ตอนทำทีสิสนี้ ผมตื่นเต้นที่ได้ศึกษาสิ่งใหม่ๆ ทั้งโปรแกรมที่ไม่เคยทำมาก่อนและความรู้ทางศาสนา ซึ่งนอกจากหาความรู้จากสื่อต่างๆแล้ว ผมยังได้รับความรู้ความช่วยเหลือจากมุสลิมหลายๆ ท่าน ทั้งท่านที่เป็นสถาปนิกที่เคยออกแบบมัสยิดจริงๆ อาจารย์มุสลิมต่างสถาบัน หรือมุสลิมที่พบกันที่มัสยิดต่างๆ ผมรู้สึกขอบคุณประทับใจมากๆ ครับ”

คำรน  สุทธิ / Eco Architect Co.,Ltd.
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“ศูนย์วิจัยและพัฒนาการออกแบบเรือรบ กองทัพเรือ ฐานทัพเรือสัตหีบ  จังหวัดชลบุรี”

“โปรเจกต์นี้เป็นโปรเจคออกแบบกลุ่มอาคารวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเรือรบ ที่ต้องการการรักษาความปลอดภัยที่มีลำดับขั้นตั้งแต่ พื้นที่สาธารณะ ไปจนถึง พื้นที่ลับสุดยอด และออกแบบอาคารที่มีการใช้งานเฉพาะทาง ที่ยังไม่มีในประเทศไทย (ในสมัยนั้น) เช่น อุโมงค์สร้างคลื่นที่มีความยาวหลายร้อยเมตร เพื่อทดสอบศักยภาพของเรือ เป็นต้น”

“ผมเลือกโปรเจกต์นี้เพราะตอนเด็กๆ อยากเป็นทหารเรือ และชอบดูหนังแนวสายสายลับ เจมส์ บอนด์ เป็นหนังที่ติดตามมาทุกภาค หนังสนุก ลึกลับน่าติดตาม และคิดว่าโปรเจ็กต์นี้น่าจะคล้ายๆ หนังเจมส์ บอนด์ ที่ทำให้เราสนุกและอยู่กับ Thesis ได้ทั้งเทอม”

“ตอนทำ thesis ก็สนุกมากไม่แพ้ดูหนังเจมส์บอนด์เลย เพราะทุกอย่างเป็นสิ่งใหม่สำหรับเราทั้งหมด ต้องค้นหาข้อมูลและเดินทางเยอะมาก เพื่อค้นหาสิ่งที่เราไม่รู้ เพราะสมัยนั้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมีน้อยมาก ไม่เหมือนยุคปัจจุบัน ทำให้เราได้สนุกกับการผจญภัยทั้งเทอมเลย”

ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ / I like design studio
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาคสถาปัตยกรรมหลัก มหาวิทยาลัยศิลปากร

“Part of Contemplation “เส้นทางสู่สมาธิ”

“Thesis นี้เป็นการแปลความหมายเชิงตีความ ทางคำสอนของศาสนาพุทธให้เข้าถึงง่ายในรูปแบบของ space ทางสถาปัตยกรรม โดยออกแบบเป็นทางเดินที่เล่าเรื่องทางศาสนาพุทธตั้งแต่ เกิด จนถึง นิพพาน ผ่าน space และ material โดยให้ผู้ใช้สอยอาคารรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เพื่อให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ เริ่มต้นจากการตั้งคำถามเชิงสังคม เรื่องของการแข่งขันที่ทำให้เกิดความเครียดและความกดดัน จนต้องตามหาสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้เกิดสภาวะผ่อนคลาย หรือ หลบหนีจากความกดดัน ซึ่งปัจจุบันสถานที่นั้น คือ วัด , สถานปฏิบัติธรรม หรือ ห้างสรรพสินค้า , สถานบันเทิง หรือในความเป็นจริงยังมีสถานที่ที่เป็นทางเลือกอื่นๆ อีก”

“ผมเลือกโปรเจกต์นี้เพราะตอนเรียน ณ ตอนนั้นมีคำถามเกิดขึ้นว่า ทำไมมนุษย์ถึงต้องแข่งขันกัน กับ ต้องมีเท่าไหร่ถึงจะพอ จนบางทีแข่งขันกันมากจนเห็นแก่ตัว ช่วงนั้นเลยลองหาหนังสือธรรมะอ่านเกี่ยวกับการปล่อยวางและฝึกสมาธิ ก็เลยทำให้สนใจสิ่งนี้ขึ้นมา เลยอยากลองตีความเชิงความคิดให้ออกมาในรูปแบบงานสถาปัตยกรรม”

“ช่วงทำ thesis สนุกและมีความสุขมาก เพราะตอนนั้นได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำเลย ได้นึกถึง space แบบไหนก่อให้เกิดความรู้สึกอย่างไร วัสดุแบบไหนที่สัมผัสแล้วเกิดความรู้สึกอย่างไร ทำอย่างไรถึงจะสอดคล้องกับความรู้สึกที่เราอ่านเจอในหนังสือ ได้หลุดไปในโลกจินตนาการค่อนข้างมาก ต้องขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษาที่ยอมปล่อยให้ทำ จนรู้สึกว่าการทำงานจนถึงปัจจุบันนี้ โปรเจ็กต์นี้ก็ยังคงเป็นโปรเจ็กต์ที่รู้สึกสนุกและมีความสุขที่สุดจริงๆ”

อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ / INchan atelier
Department of Architecture ,
Cranbrook Academy of Art , USA (ปริญญาโท)

“ประสบการณ์ – กวี – สถานที่”

“ผมพยายามหาความสัมพันธ์ในโลกสถาปัตย์ระหว่าง ความเป็นตัวตนกับความเป็นสรรพสิ่ง (subjectivity – objectivity) ผ่านสภาวะของกวีนิพนธ์และสเน่ห์ของการก่อสร้าง  เพราะสถาปัตย์มันคือผลลัพธ์อย่างหนึ่งของมนุษย์ที่พยายามต้านทานความเสื่อมสลายและความเปลี่ยนแปลง”

“ผมเลือกทำเพราะ ผมเชื่อว่าเส้นแบ่งบางอย่างที่อาคารจะข้ามเส้นไปเป็นสถาปัตยกรรม มันมีเรื่องของ สเน่ห์ (เหมือนปลายจวักของอาหาร เหมือนสัมผัสนอกในของกวี เหมือนการด้นในงานดนตรี”

“ณ ตอนนั้น ยิ่งคร่ำเคร่งศึกษาเรื่องนี้ ยิ่งทำให้รู้ว่ากรอบความเป็นเหตุเป็นผลในระบบคิดที่ตัวเองสร้างไว้ในอดีต มันคืออุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่จะรู้จักและเข้าถึงสุนทรียะของตัวเอง กล่าวคือ เราเติบโตมากับการแสวงหาความรู้ของคนอื่นแต่ไม่พยายามเข้าถึงปัญญาของตัวเอง”

ปวัน ฤทธิพงศ์ / RAD Studios
Emergent Technologies and design (MSC) ,
Architectural Association School of Archtecture (the AA) , UK (ปริญญาโท)

“Responsive Transformation”

“เป็นระบบสถาปัตยกรรมที่สามารถอยู่รอดอย่างยั่งยืนจากสภาวะน้ำท่วมเฉียบพลัน โดยมีสมมติฐานที่ว่า สถาปัตยกรรมที่ตอบสนองต่อความรุนแรงและการคาดเดาไม่ได้ของธรรมชาติ ในแบบที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบตัวสถาปัตยกรรมเพื่อโอนอ่อนไปกับสถานการณ์นั้นๆ เป็นทางเลือกใหม่ที่แตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ อย่างการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกัน”

“เพราะผมมีแบ็คกราวน์ของครอบครัวที่อพยพมาจากภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมเฉียบพลันอยู่ทุกปี จนทำให้มีความคิดในเชิงสงสัยที่ว่า มันน่าจะมีทางออกที่ดีกว่าการอพยพย้ายถิ่นฐานและการสร้างเขื่อนที่ใช้งบประมาณสูงมากๆ เลยอยากจะหาทางออกที่น่าสนใจอื่นๆ ขึ้นมา”

“ช่วงทีสิส ถือเป็นช่วงเวลาที่ยาก ด้วยการเรียนการสอนเป็นรูปแบบที่เราไม่เคยมีพื้นฐานมาก่อน การใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลเป็นอะไรที่ใหม่มากในสมัยนั้น แทบไม่มีในเมืองไทยเลย แต่ภาพรวมเป็นอะไรที่สนุก และเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีที่สุดที่เคยได้รับครับ”

เผดิมเกียรติ สุขกันต์ / Studiomiti
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาแนวความคิดในการออกแบบ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ปริญญาโท)

“โปรเจ็กต์นี้เป็นกระบวนการสร้างคำถามและหาคำตอบที่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงของความหมายในพื้นที่จากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยที่ตั้งสมมุติฐานว่าคนเราจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันอยู่ปกติ และเห็นความสำคัญของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างไร”

“เหตุผลที่ผมเลือกทำ เพราะเกิดการสังเกตเห็นว่า ปัจจุบันมีกรณีที่พื้นที่ประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ ถูกหลงลืม และเลือนหายไปตามกาลเวลา พื้นที่วัดก็ถูกลุกล้ำ บางสถานที่ บ้านแทบจะอยู่ชิดกับเจดีย์เลย ยิ่งนานวันผู้คนก็ละเลยและไม่สนใจและกลายเป็นของที่ไม่มีค่าไปโดยปริยาย กระบวนการศึกษานี้ จึงสามารถสร้างกระบวนการค้นหา นำไปสู่การพัฒนารูปแบบทางสถาปัตยกรรม เพื่อให้คนทั่วไปมีความเข้าใจและรับรู้ได้ถึงความสำคัญของพื้นที่นั้นๆ ในแง่มุมของประวัติศาสตร์ เพื่อให้ผู้คนหันมาสนใจ และเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์มากขึ้น”

“สารภาพตามตรงว่า ตอนนั้น สนุกตอนเริ่มตั้งคำถามมากๆ  มีไฟในการค้นหาคำตอบมากๆ  เป็นการตั้งคำถามเหมือนหนัง Sci-Fi คนเราสามารถยืนอยู่เฉยๆ ในพื้นที่ แล้วมีกระบวนการบางอย่างที่ดึงความทรงจำในอดีตกลับมาได้ ประมาณนั้น แต่กระบวนการตอบด้วยเครื่องมือทางสถาปัตยกรรมนั้นยากไปกว่านั้นและมีข้อจำกัดมาก ผมเองมีหลายความรู้สึก ทั้งงง ทั้งงมเข็ม ทั้งค้นหา ทั้งท้อ ทั้งหมดเกิดขึ้นตลอดเวลาที่ทำวิทยานิพนธ์ โชคดีที่ผมได้ความเมตตาจาก ศ.วีระ  อินพันทังคอยชี้ทางให้เห็นถึงวิธีการค้นหาความเชื่อมโยงของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นั้นได้ หลังจากเสร็จวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้  ความเหน็ดเหนื่อย ก็ค่อยๆ เบาลง  แต่ชุดความคิดและสิ่งที่พัฒนาเป็นเครื่องมือทางสถาปัตยกรรม และแนวคิดมาปรับใช้ในการทำงานจนถึงตอนนี้เลย”

อรชุมา สาระยา / Common Space Architect
Engineering Department of Architecture ,
The University of Tokyo  (Todai) (ปริญญาโท)

“การพัฒนา​วัสดุใหม่: การสร้าง การประกอบ และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของวัสดุที่สามารถขึ้นรูปทรงได้โดยอัตโนมัติ
(DEVELOPMENT FOR PROGRAMMABLE SELF-FORMING COMPONENT FABRICATION, ASSEMBLY METHOD AND MORPHING SYSTEM)​”

“เราพัฒนาแมททีเรียลเพื่อการก่อสร้างจากกากกาแฟที่สามารถขึ้น Form 3 มิติได้ด้วยตัว material เอง (Form morphing) และสร้างวิธีการขึ้น Form และควบคุมการกำหนด Form ทุกอย่างด้วย Digital fabrication”

“ซึ่ง Thesis นี้ได้รับการส่งจากมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าประกวดในการแข่งขัน Real size Thinking 2015 ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ได้สร้าง pavilion ขึ้นมาจริงๆ โดยโครงสร้างทั้งหมดสามารถอยู่ได้ด้วยการสานเข้าเข้าด้วยกันเป็น Weaving Structure โดยไม่ต้องมีเสาหรือคานช่วยแสดงถึงความแข็งแรงของ Material โดยการออกแบบรูปร่างทุกอย่างเกิดจากการคำนวนทางคอมพิวเตอร์ล้วนๆ ทั้งความโปร่ง กลิ่น ทิศทางการรับลม และมุมมอง”

วัชรพันธ์ นราพงษ์พันธ์ / AplusCon Architects
March Urban Design ,
The Bartlett School of Architecture, UCL, London, UK (ปริญญาโท)

“สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (INSTITUTE OF FORENSIC SCIENCE AND MEDICINE)​”

“งานนิติเวชศาสตร์  เป็นสาขาหนึ่งของแพทย์  คือ  กระบวนการค้นหาหลักฐาน  ชันสูตร หาสาเหตุของการตายโดยใช้ขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์  และค้นหาหลักฐาน  ผลการชันสูตรผู้ป่วยหนึ่งคน  อาจให้ความรู้ที่สามารถนำไปช่วยชีวิตได้อีกหลายคน

ซึ่งในช่วงปี 2540 งานด้านนิติเวชมีบทบาทอย่างมากในการไขปริศนา หาคำตอบในคดีต่างๆ เลยมีความสนใจที่จะศึกษางานนิติเวช ทำความเข้าใจเนื้องาน พฤติกรรมของบุคลากร ศึกษาการวางผังของอาคารให้สอดคล้องกับหน้าที่ใช้สอย   และออกแบบอาคารสถาปัตยกรรมให้เป็นรูปธรรม”

ชารีฟ ลอนา / Studio Act of kindness
MArch, Architectural Studies,
Creative Urban Practices,
Mackintosh School of Architecture. Glasgow School of Art. (ปริญญาโท)

“FUN FACTORY ; FACTORY OF HUMAN PLEASURE​”

“งานวิจัยชิ้นนี้หยิบยกคำถามเรื่อง ‘สถานที่แห่งความสนุก’ ในรูปแบบสังคมเมือง ‘การเล่น’ สามารถพัฒนาไปเป็นสถานที่หนึ่ง เพื่อให้ การเล่น และ การมีส่วนร่วมทางสังคม ได้รับแรงกระตุ้นอย่างสร้างสรรค์”

“Fun Factory นำเสนอพื้นที่แห่งความสนุกสนานในเชิงจิตวิทยาและทางกายภาพ โดยมีลักษณะเฉพาะของประสบการณ์ ‘ความสนุกและการเล่น’ ที่รวมอยู่ในระดับต่างๆ ของเมือง ตั้งแต่ใต้ดิน พื้นดิน ถนน  โดยเป็นการฟื้นฟูคลังยาสูบกลาสโกว์เก่าและซุ้มโกดังร้างวิลเลียมไวท์ในถนนเจมส์วัตต์ เมืองกลาสโกว์”