ก่อนบ้านหลังหนึ่งจะก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นบ้านที่ลงตัว จำเป็นที่จะต้องผ่านการแก้ไข อาจเป็นเรื่องของสิ่งไม่สามารถควบคุมได้ ความขัดแย้ง ที่จะต้องปรับเปลี่ยนไม่มากก็น้อยเพื่อให้บ้านหลังนั้นๆ เกิดความลงตัวเหมาะสมมากที่สุด เช่นเดียวกับบ้านหลังนี้ ที่ผ่านทุกกระบวนการของการสร้างบ้านได้อย่างน่าสนใจ ภายในหมู่บ้านอันเงียบสงบย่านสุขุมวิท 101 สถาปัตยกรรมเรียบง่ายและนิ่งสงบ ส่งเสียงเชื้อเชิญให้เราเข้าไปพิสูจน์แล้ว
คุณ Tom Dannecker และ คุณศาวินี บูรณศิลปิน แห่ง Thingsmatter คือสถาปนิกผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ โดยเจ้าของบ้านให้โจทย์กับสถาปนิกว่าต้องการบ้านที่อยู่อาศัยกัน 3 – 4 คน ประกอบด้วยคู่สามีภรรยา ลูกน้อย 1 คน และเผื่อห้องสำหรับคุณแม่ของฝ่ายหญิงด้วย การจัดแบ่งพื้นที่จึงออกแบบตัวบ้านที่สามารถแย่งส่วนได้อย่างชัดเจน โดยตัวอาคารหลักจะถูกแยกเป็น 2 ฝั่ง วางตัวไม่ขนานกันเพื่อให้เกิดพื้นที่ว่างที่น่าสนใจ ฝั่งหนึ่งเป็นส่วนของเจ้าของบ้านประกอบด้วยห้องทำงาน ส่วนเตรียมอาหารเล็กๆ รับประทานอาหาร และห้องนั่งเล่นที่ชั้นล่าง ชั้นสองเป็นห้องนอนใหญ่ ห้องนอนลูก และห้องสำหรับการเล่นหรือทำการบ้าน อีกฝั่งเป็นส่วนของคุณแม่และพื้นที่บริการ ประกอบด้วยห้องครัว ห้องซัดล้าง ห้องนอนแม่บ้านที่ชั้น 1 ส่วนชั้น 2 คือห้องนอนคุณแม่และแขกเผื่อไว้ 2 ห้องด้วยกัน ทั้ง 2 ฝั่งถูกเชื่อมด้วยโถงทางเดินและบันไดที่มีความพิเศษ พิเศษเพราะมีการออกแบบบานประตูขนาดใหญ่ความสูงเท่า 2 ชั้น สามารถเปิดได้สุดเพื่อเชื่อมต่อกับพื้นที่สวน ทำให้เกิดการใช้งานที่แฝงอยู่ในความเรียบง่ายของอาคาร
และสิ่งที่คุณ Tom มักพูดอยู่เสมอๆ เกือบทุกครั้งที่ได้ไปถ่ายภาพและสัมภาษณ์งานของคุณ Tom คือ “การออกแบบและก่อสร้างของไทยมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนมาเกี่ยวข้องมาก แต่สิ่งนี้ทางสถาปนิกมองว่าเป็นโจทย์ในการออกแบบหนึ่งที่จะต้องทำให้ได้ อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของช่างหรือผู้รับเหมาของไทย ที่บางเจ้านั้นยังไม่ได้มาตรฐานและความต้องใจที่จะทำงานให้ดีนั้นน้อย บ้านหลังนี้พบเจอสิ่งเหล่านั้น มันบอกให้เราต้องเตรียมการและคิดเผื่อ ในงานชิ้นต่อไปจะได้แก้ไขได้โดยเร็วและดีที่สุด” แต่ผลลัพท์ที่ออกมานั้นก็ยังสามารถสื่อสารในเนื้อหาสาระที่สถาปนิกต้องการได้ครบถ้วน แม้บางสิ่งจะถูกลดทอนได้ นั่นก็คือสิ่งที่เหมาะสมกับเวลานั้นๆแล้ว
ข้อจำกัดทำให้เกิดการคิดค้นหาทางเลือกที่มากกว่าหนึ่ง เช่นบริเวณทางเชื่อมของทั้ง 2 อาคาร มีโจทย์ว่าอยากให้เป็นทางเชื่อมที่พิเศษ มีไฮไลท์ที่บ้านทั่งไปไม่มี สถาปนิกจึงเลือกที่จะทำโถงบันไดที่มีบานประตูสามารถเปิดได้สุดเพื่อเปิดมุมมองสู่สวนได้เต็มที่ อีกทั้งยังออกแบบรูปแบบของบ้านเปิดเป็นบานเกล็ดแต่ไม่สามารถปรับมุมได้ ขนาดบานเกล็ดที่ใหญ่กว่าปกติและมีองศาที่ต่างกันไล่เรียงกันไป ทำให้เกิดช่องว่างเป็นผนังของอาคารที่น่าสนใจ ด้านหลังบานเกล็ดติดตั้งมุ้งลวดเพื่อกันแมลง แต่การระบายอากาศก็ยังคงเป็นไปได้ด้วยดี บานเกล็ดเหล่านี้ทำจากแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ที่ทั้งทนทานและให้ผิวสัมผัส สีสันที่เข้ากับบ้านเรียบง่ายหลังนี้
Thingsmatter หลงใหลในงานสถาปัตยกรรมและการใช้วัสดุทางอุสาหกรรม เห็นได้จากบันไดกลางบ้าน มันทำจากเหล็กรูปพรรณอย่างดี พื้นบันไดและทางเดินเคลือบด้วยอิพร็อกซี่สีเขียว เพิ่มความแข็งแรงระหว่างการใช้งาน รวมไปถึงแผงเหล็กฉีกที่ติดตั้งที่ผิวของตัวบ้านโดยรอบ
อีกสิ่งที่น่าสนใจของบ้านหลังนี้คือการออกแบบและใช้วัสดุที่ส่งเสริมกับบ้าน เนื่องจากบ้านหลังนี้อยู่ภายในหมู่บ้านเก่า รอบด้านเป็นเพื่อนบ้านซึ่งบางหลังขาดการดูแลรักษา ทำให้มีสภาพทรุดโทรมไม่น่ามองนัก สถาปนิกจึงเลือกวางอาคาร 2 อาคารให้ขนานกันและเปิดมุมมองร่วมกันที่สวนกลางบ้าน ส่วนด้านใดที่เปิดออกสู่ภายนอกและเห็นเพื่อนบ้านที่มีสภาพไม่สวยงามนัก สถาปนิกจะเลือกใช้วัสดุที่กึ่งโปร่งใสอย่างแผ่นโพลีคาร์บอเนตเช่นบริเวณปลายทางเดินของทางเชื่อม เมื่อมองออกไปเราจะเห็นหลังคาเพื่อบ้านไม่ชัดเจน เห็นเพียงสีสันของหลังคาเท่านั้น ส่วนการตกแต่งภายในที่ใช้แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์มาเป็นส่วนประกอบทั้งบานตู้ของเคาท์เตอร์ครัว หน้าบานตู้ภายในห้องแทนการใช้ลามิเนต ดูเรียบง่ายและราคาไม่แพง สถาปนิกยังเลือกการแก้ปัญหากับสภาพบริทบด้านอากาศด้วยการออกแบบช่องเปิดเท่าที่จำเป็น เพราะบ้านหลังนี้ไม่ได้อยู่บนเขา ไม่ได้มีวิวที่สวยสุดสายตา ช่องเปิดที่กว้างใหญ่จะนำความร้อนเข้ามาด้วย ฉะนั้นบ้านหลังนี้จึงมีช่องเปิดเท่าที่จำเป็นและมีการเซ็ทเข้าไปภายในผนัง
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น บ้านหลังนี้เกิดก่อสร้างไปพร้อมๆกับการแก้ปัญหา เราต่างสงสัยผิวอาคารเหล็กฉีกที่ติดตั้งรอบอาคาร เมื่อถามสถาปนิกก็ได้คำตอบว่า “สิ่งนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อกรองแสงแดดแต่อย่างใดเพราะมันเล็กเกินไป แต่มันเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดจากการที่ช่างฉาบนั้นฉาบผนังไม่เรียบ ระแนงเหล็กฉีกนี้จะช่วงพรางความไม่เรียบร้ยอยด้วยตะแกรงและเงาของมันเอง แต่เมื่อทำเสร็จเราก็พบว่ามันสร้างมิติให้บ้านได้ดีทีเดียว”
จะเห็นได้ว่าการ “ออกแบบ” ส่วนหนึ่งคือการ “แก้ปัญหา” ฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหา จงคิดว่านั่นคือโจทย์หนึ่งในการออกแบบ แล้วเราก็จะได้บ้านที่ลงตัวที่สุด และปัญหาที่จะตามมา น้อยที่สุด เช่นกัน