“ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แข็งดัดยาก” เป็นสุภาษิตที่เราคุ้นหูกันมานาน ตามธรรมชาติโดยทั่วไปที่ไม้แก่ย่อมมีลำต้นแข็งแกร่งและกิ่งก้านที่เหนียวแน่น ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายดายที่จะดัดรูปทรงต่างๆได้ แต่ในครั้งนี้เราจะพาคุณไปพบกับไม้แก่ที่ยังสามารถดัดรูปทรงได้ และยังสร้างสรรค์เป็นรูปทรงที่งดงามสะกดใจแก่ผู้ที่ได้เห็นเพียงครั้งแรก สิ่งนั่นก็คือ บอนไซ นั่นเอง
คำว่า “บอนไซ” ตามความหมายจริงๆแล้วหมายถึง ต้นไม้ที่โตในกระถาง (บอน แปลว่า กระถาง, ส่วนไซ แปลว่า การปลูกต้นไม้) คือการปลูกต้นไม้จำลองลักษณะต้นไม้ขนาดใหญ่จากหุบเขาที่มีอายุนับร้อยปีมาไว้ในกระถางใบย่อม ย่อส่วนความงดงามจากธรรมชาติมาไว้ในบ้านของเรา ให้สามารถวางไว้ได้ทั้งในบ้านหรือนอกชายคาบ้าน ดังนั้นบอนไซจึงไม่ใช่แค่ศิลปะการตกแต่งสวนแต่รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งบ้านไปด้วยพร้อมๆกันคุณฐานันดร์ ปฏิภานธาดา คือ bonsai designer และเจ้าของเวปไซต์ www.bonsaibaison.com ที่เราอยากแนะนำผู้อ่านทุกท่านได้รู้จัก สถาปนิกหนุ่มทีหันเหตัวเองเข้าสู่การออกแบบบอนไซอย่างเต็มตัวด้วยความชอบตั้งแต่วัยเด็ก ภายใต้บุคลิกที่ดูเป็นคนอ่อนโยน จิตใจดี โอบอ้อมอารี และละเอียดละออ แต่หากพูดถึงการปลูกบอนไซแล้วละกัน เราจะได้เห็นแววตาที่เต็มไปด้วยประกายแห่งความสุขและความมุ่งมั่นตั้งใจจริงจากคนผู้นี้ในได้ทันที เค้าคือนักออกแบบบอนไซที่ทุ่มเทการดูแล เอาใจใส่ละเอียดอย่างเต็มที่ก่อนที่จะส่งมอบบอนไซให้กับลูกค้าทุกคน เริ่มตั้งแต่เดินทางไปเลือกพันธุ์ไม้จากประเทศญี่ปุ่นด้วยตัวเอง คัดสรรต้นไม้ที่ยังไม่ได้เป็นต้นบอนไซ แล้วนำมาดีไซน์ด้วยตนเอง วางแผนร่างแบบสเกตรูปทรงบอนไซที่ต้องการอย่างมีขั้นตอน ค่อยๆบรรจงตัดแต่งต้นให้ได้ตามเป้าหมายที่ออกแบบไว้ ดึงคาแรกเตอร์ของไม้ใหญ่ตามธรรมชาติออกมาให้เด่นชัด สร้างจังหวะลีลาของกิ่งก้านและรูปทรงที่ไม่ซ้ำแบบใคร
ด้วยความสวยงามมีเอกลักษณ์บวกกับมนขลังทางประวัติศาสตร์อันยาวแบบนี้เอง ทำให้เด็กผู้ชายธรรมดาคนนึงตกหลุมรักศิลปะบอนไซทันตั้งแต่แรกเห็น ย้อนกลับไปในวัยเพียง 10 ขวบ เด็กชายฐานันดร์เห็นความงามของบอนไซครั้งแรกในหนังสือบอนไซจากต่างประเทศเล่มเล็กๆในร้านหนังสือแห่งหนึ่ง เค้าเปิดหนังสือเล่มนั้นดูซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นสิบๆรอบ และหมั่นแวะไปหาความรู้จากหนังสือบอนไซเพิ่มเติมในทุกๆครั้งที่มีโอกาสผ่านร้านหนังสือ ในยุคสมัยที่อินเตอร์เน็ตยังไม่ถูกประดิษฐ์ขึ้น เมื่อเติบโตขึ้นมาก็เริ่มทดลองปลูกด้วยพันธุ์ไม้ไทยอย่างมะขาม ตะโก ข่อย ชาฮกเกี้ยน ฯลฯ ต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ได้ผลบ้างล้มเหลวบ้าง แต่ยังคงหมั่นเก็บสะสมประสบการณ์มาตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปี จนเกิดการตกตะกอนความรู้ให้เป็นผู้เชียวชาญและนักสะสมบอนไซที่คว้ารางวัลจากต่างประเทศมาได้ในปัจจุบัน
บอนไซของคุณฐานันดร์นั้นมีเอกลักษณ์แตกต่างจากคนอื่น เพราะเค้าได้ไปร่ำเรียนวิธีคอร์สการปลูกบอนไซมาจากดินแดนต้นตำหรับความขลังของบอนไซถึงประเทศญี่ปุ่นโดยตรง ผสมผสานกับความรู้เรื่องการดีไซน์ที่ได้ร่ำเรียนมา การใช้ visual art ในการออกแบบภาพลักษณ์ของต้นบอนไซที่ต้องการ คล้ายกับการวาดภาพ เริ่มสเกตจินตนาการถึงภาพสุดท้ายของบอนไซที่เราอยากได้ คำนึงถึงแสงและเงาที่จะตกกระทบกับผลิใบเล็กๆของต้น เส้นสายทรวดทรงของลำต้น การเว้นที่ว่างระหว่างก้านกิ่ง เลียนแบบช่องไฟของกิ่งไม้ใหญ่ที่ดูโปร่งโล่งมากขึ้น ไม่หนาแน่นหรือดูจัดแต่งเกินไป สร้างช่องว่างทิวไม้ที่นกสามารถบินผ่านทิวไม้ใหญ่ได้ตามแบบธรรมชาติของจริงที่เคยพบเจอ
เค้ามองว่าสถาปัตยกรรมกับบอนไซมีความแตกต่างกันเพียงที่งานสถาปัตยกรรมนั้นเริ่มต้นจากพื้นที่ว่าง ความว่างเปล่า แต่สำหรับต้นไม้นั้นมีการออกแบบตัวของมันเองไปแล้วครึ่งนึง ส่วนอีกครึ่งจะมาจากการลงมือออกแบบทำบอนไซของเรานั่นเอง เราจึงจำเป็นที่จะต้องเคารพรูปทรงเดิมของต้นไม้และออกแบบต่อยอดจากรูปทรงที่เค้ามีอยู่ รวมถึงการอ่านเอกลักษณ์ของต้นไม้ใหญ่ตามธรรมชาติให้ออก ก่อนที่จะจำลองเข้ามาในต้นไม้ในกระถางของเรา จากประสบการณ์และการสังเกตทำให้พบว่าต้นไม้ใหญ่จะมีรูปฟอร์มของพุ่มไม้คล้ายกับรูปสามเหลี่ยมฐานกว้าง เริ่มจากกิ่งอ่อนยอดแรกเมื่อเติบโตขึ้นก็จะแผ่ขยายออกไปหาแสงแดด เป็นฐานให้กิ่งยอดใหม่ๆเติบโตงอกเงยชี้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ กิ่งที่มีอายุมากก็จะเป็นฐานที่โน้มเอียงตัวลงออกด้านข้างขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือลักษณะของต้นไม้ในธรรมชาติ
จนถึงทุกวันนี้ คุณฐานันดร์ ยังคงเฝ้ามองบอนไซทุกต้นของเค้าด้วยความสุข เหมือนกับได้ตัดสภาพแวดล้อมความวุ่นวายของชีวิตในเมืองเข้าสู่ภวังค์ความสงบใต้ร่มเงาสีเขียวขนาดเล็ก ได้พิจารณาถึงความงามแต่ละส่วนของบอนไซอย่างละเอียด ได้ดูแลแต่งเติมต้นไม้ให้เติบโตขึ้นทีละน้อย แม้จะเป็นธุรกิจที่เริ่มจากงานอดิเรก แต่ด้วยการทำงานด้วยความรักและความเอาใจใส่อยากเต็มเปี่ยม ทำให้ทุกครั้งที่มีลูกค้ามาซื้อบอนไซ เค้าจะมอบ Certificate Book แสดงภาพถ่ายบอนไซพร้อมตราประทับของ BonsaiBaison เป็นหนังสือแทนคำขอบคุณให้ลูกค้าติดมือกลับไปด้วย เหมือนกับการส่งมอบการดูแลความใส่ใจในศิลปะที่มีชีวิตชิ้นนี้ให้ไปด้วย และในอนาคต คุณฐานันดร์หวังว่าจะมีโอกาสเปิดโรงเรียนหรือคอร์สอบรมการเลี้ยงบอนไซแก่ผู้ที่สนใจ ให้ได้มาพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้แก่กันได้ เพื่อเผยแพร่วงการบอนไซในประเทศไทยให้กว้างขวางและแบ่งปันความสุขจากการเลี้ยงบอนไซให้กับคนที่สนใจได้มากขึ้น