พาดหัวข่าว “นักปั่นจักรยานรอบโลก ถูกรถชนตายที่ไทย” หรือจะเป็น“หนุ่มโพสต์ด่านักปั่นจักรยาน สุดท้ายถูกบริษัทไล่ออก” คือข่าวสารที่เราเคยได้ยินเกี่ยวกับการปั่นจักรยาน เราทุกคนต่างรู้ดีว่าอุบัติเหตุนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร หรือเวลาใดได้ และคงไม่มีใครอยากมันให้เกิดขึ้น หากแต่ทัศนคติด้านลบของผู้ใช้ถนนร่วมกันทั้งรถยนต์หรือจักรยานมีให้ต่อกันนั้น ควรจะได้มีโอกาสมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีซึ่งกันและกันมากขึ้น
(ภาพจาก http://hilight.kapook.com/view/120189)
ภาพแคมเปญ “หยุดฆ่านักปั่น” จากผู้ใช้งาน facebook คนหนึ่งที่เคยเผยแพร่บนโลกอินเตอร์เน็ต รณรงค์ความปลอดภัยบนท้องถนนสำหรับจักรยาน
แม้จะเคยมีการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความปลอดภัยพื้นที่จักรยาน แต่ก็ทำให้เกิดกระแสด้านลบเกี่ยวกับผู้ใช้จักรยาน ว่าในหลายๆครั้งคนปั่นจักรยานเองก็ขาดความระมัดระวังในการใช้ถนนร่วมกันผู้อื่นด้วย ผู้ใช้รถบนท้องถนนควรระมัดระวังภัยร่วมกัน และไม่มียานพาหนะใดมีสิทธิพิเศษเหนือกัน เรื่องราวความเข้าใจผิดๆระหว่างกันนี่เอง ทำให้กลุ่มนักศึกษาของชมรมจักรยานศิลปากร หรือกลุ่ม ฉันปั่น – ศิลปากร เกิดแรงบันดาลใจสร้างกิจกรรมที่ชื่อว่า Bike Design Lab ขึ้นมา ภายใต้ความสนับสนุนโครงการจาก Coca Cola และ a day
กิจกรรม Bike Design Lab นั้นมีจุดประสงค์เพื่อการสื่อสารความเข้าใจอันดีในการใช้งานจักรยานร่วมกับพาหนะอื่นๆบนท้องถนน มุ่งหวังจุดเริ่มต้นของความเข้าใจและการมีน้ำใจซึ่งกันและกันบนเส้นทางสัญจร โดยการจัดงานครั้งแรกนี้มาในธีมหัวข้อว่า Bike Message(r) จักรยานพูดอะไร? การทำงานในรูปแบบนิทรรศการเคลื่อนที่ด้วยจักรยาน โดยคนที่มาเข้าร่วมสามารถนำงานออกแบบของตัวเอง สื่อสารเรื่องรณรงค์การใช้ท้องถนนลงไปในผ้าใบกระเป๋าจักรยานที่ออกแบบเป็นพิเศษ กระเป๋าสามารถขยายตัวออกมาประกอบรวมกันเป็นแผ่นภาพนิทรรศการขนาดใหญ่ แล้วไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆได้ ด้วยสองเท้าและสองล้อของตนได้
กิจกรรม Bike Design Lab จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 มิถุนายน 2558 ณ ห้องสตูดิโอสยามพิฆเนศ บนพื้นที่ชั้น 7 ห้างสยามแสควร์วัน นอกจากกิจกรรม Workshop การออกแบบกราฟฟิกลงบนกระเป๋า ยังมีการสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ และความปลอดภัยของจักรยานในสังคม ซึ่งมีวิทยากรรับเชิญในงานถึง 4 ท่าน ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ สถาปนิกและเจ้าของ Tokyobike Thailand , วีร์ วีรพร Graphic Designer จากออฟฟิศ Conscious , ท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร เจ้าของร้าน Ecoshop Common และ ผศ.ดร.ณัฏฐิณี กาญจนาภรณ์ มาร่วมให้ความรู้ คำแนะนำและควบคุม Workshop งานทั้งหมดด้วยกัน
กิจกรรมออกแบบครั้งนี้มีผู้มาเข้าร่วมถึง 24 คน ซึ่งมาจากหลากหลายสาขา โดยส่วนมากเป็นนักศึกษาที่ยังเรียนอยู่ และเป็นผู้ใช้จักรยานในเมือง และถูกแบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 6 คน เพื่อระดมไอเดียออกแบบความคิดไปจัดแสดงนิทรรศการข้างนอกให้ได้ 4 เรื่องราว
ทีเด็ดของการทำนิทรรศการเคลื่อนที่นั้นคือ กระเป๋าที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อเอาไว้ใช้ทำนิทรรศการเคลื่อนที่ ที่มีชื่อว่า Filp’up Message(r) Bag ภายนอกอาจจะดูเป็นแค่กระเป๋าสะพายปั่นจักรยานทั่วไป แต่เมื่อพลิกออกจะสามารถกางตัวมันเองออกมาเป็นผืนผ้าใบ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นถึง 4 เท่าในแนวดิ่ง และเมื่อกระเป๋าใบนี้ได้รวมกับใบอื่นๆ ก็จะสามารถกลายเป็นแผ่นภาพนิทรรศการขนาดใหญ่ ที่ในตอนสุดท้ายเมื่อ6 คนในกลุ่มไปปั่นจักรยานด้วยกันก็จะสามารถแสดงงานได้อย่างสมบูรณ์
“ทำไมต้องออกแบบผลงานลงบนกระเป๋า” นี่คือคำถามของเราที่มีต่อกิจกรรมนี้ กลุ่มน้องๆ ที่จัดกิจกรรมนี้ให้คำตอบกับเราว่า การออกแบบกราฟฟิกดีไซน์ลงไปในกระเป๋าจักรยานนั้น สุดท้ายมันจะติดตัวไปกับคนที่ปั่นจักรยาน และเข้าไปแทรกซึมเพื่อสำแดงผลงานหรือข้อความที่เราอยากจะสื่อสารลงไปในพื้นที่ต่างๆของเมืองด้วยจักรยานเป็นสื่อกลางอย่างแนบเนียน จักรยานเป็นเครื่องมือในการเจาะพื้นที่ตรอกซอกซอยในเมืองได้อย่างดี และเป็นการไม่จำกัดการแสดงงานนิทรรศการอยู่ในรูปแบบห้องปิด หรือตามพิพิธภัณฑ์แบบเดิมๆ อีกต่อไป
ตัวอย่างผลงานแต่ละกลุ่ม
กลุ่ม กรุ่มกริ่ม อร่อยดี กรุ๊บกริ๊บกรุบกรุบบบ ได้นำเสนอเรื่องราวเมืองกรุงเทพ 24 ชั่วโมง ต้องการแสดงแผนที่กรุงเทพที่มีชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถปั่นไปแชร์ข้อมูลสู่คนอื่น ๆ ที่ได้พบเห็น อีกทั้งยังสามารถขยายขนาดแผนที่ไปได้เมื่อมีชิ้นกระเป๋าอีกต่อ ๆ ไป
กลุ่ม Yellow Stone เสนอเรื่องประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้จากการออกไปปั่นจักรยาน “New Ride” จากที่รวบรวมประสบการณ์ใหม่หลายๆ แบบ ก็เลือกที่จะพูดถึง เพื่อนใหม่ (New Friend) สถานที่ใหม่ (New Place) กิจกรรมใหม่ (New Activity) โดยเลือกเทคนิคการออกแบบตัวอักษร ให้รู้สึกสนุกตื่นเต้น และพยายามให้คนอ่านมีอารมณ์สนุกร่วม อีกทั้งเมื่อสลับตำแหน่งกระเป๋าของกลุ่มเอง ก็จะได้รูปแบบการอ่านตัวหนังสือในอีกประสบการณ์หนึ่ง
และกลุ่มที่ได้คะแนนโหวตสูงสุด คือกลุ่ม Red Road Ride นำเสนอเรื่องการประหยัดเวลาการเดินทางด้วยจักรยาน เทียบกับวิธีการเดินทางอื่นๆ โดยใช้เทคนิค InfoGraphic แสดงเป็นเส้นของเวลา และยังนำเอาวิธีการพับกระเป๋ามาลูกเล่นช่วยสื่อความหมาย เมื่อพับลงมาจะเห็นเป็นรูปจักรยานใช้เวลาร่นกว่าทุกยานพาหนะนั่นเอง
เมื่อผลงานได้ทำสำเร็จทุกกลุ่ม ในที่สุดก็มีการจัดทริปปั่นจักรยานพิเศษ เพื่อออกไปแสดงนิทรรศการเคลื่อนที่ด้วยจักรยาน โดยเลือกเส้นทางโดยรอบสยาม ได้แสดงภายในมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ และหน้าศูนย์หนังสือจุฬา ขั้นตอนการแสดงผ่านไปอย่างอย่างราบรื่นและรวดเร็ว สร้างความประหลาดใจแก่คนที่พบเห็นทั่วไปไม่น้อย หลายๆคนดูแสดงอาการตกใจว่ามายืนทำอะไรกัน แต่หลายๆคนก็คงจะได้รับข้อความที่พวกเคาต้องการจะสื่อสารไปบ้างไม่มากก็น้อย โดยสุดท้ายกระเป๋าแต่ละใบก็ถูกแจกให้กับผู้ที่มาร่วมโครงการทุกคน เป็นตัวแทนเชื่อมสัมพันธ์ของคนในกลุ่ม เพื่อว่าครั้งหน้าจะได้กลับมาร่วมทำนิทรรศการเคลื่อนที่อีกรอบด้วยกันอีก
แม้ในวันนี้จะเป็นเพียงน้องๆกลุ่มคนเล็กๆที่รวมตัวกันเพื่อการสื่อสารความเข้าใจเรื่องการใช้งานจักรยานแก่สาธารณะชนคนหมู่มาก แต่ก็นับเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญ ที่จะจุดประกายตัวเราเองให้เปิดใจเรียนรู้ผู้ร่วมทางสัญจรบนท้องถนนประเภทอื่นๆร่วมกันกับเรา เข้าใจในความแตกต่าง มีน้ำใจและเคารพซึ่งกันและกันเพื่อสร้างเมืองที่มีวินัยจราจรที่ดีของพวกเรา
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพประกอบจาก https://www.facebook.com/chanpunsu