OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

การผสานผืนน้ำ ในงานสถาปัตยกรรม : Tadao Ando

การเลือกใช้น้ำเข้ามาผสมผสานลงในงานสถาปัตยกรรมนั้นไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลการให้ความรู้สึกเย็นสบายแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสำหรับสถาปนิกที่ชาญฉลาด จะเลือกมองลงไปให้ลึกกว่าความรู้สึกพื้นฐานเช่นนั้น พวกเค้ากำลังเฟ้นหาวิธีการสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ๆที่งดงามและน่าตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่ได้เข้าไปสัมผัส   กรรมวิธีการการออกแบบที่ไม่จำกัดอยู่แค่การสร้างบ่อน้ำเพื่อเลี้ยงปลาหรือบ่อน้ำพุเล็กๆอยู่ภายในบริเวณบ้าน  แยกส่วนพื้นที่ของน้ำละอาคารออกจากกัน  แต่ยังมีทางเลือกอื่นๆให้ได้ทดลองและเรียนรู้อยู่อีกมาก เราจึงขอหยิบยกตัวอย่างผลงานการสร้างสรรค์จากสถาปนิกญี่ปุ่นสาย minimal คนหนึ่งที่เราชื่นชอบ นักออกแบบผู้เชี่ยวชาญเรื่ององค์ประกอบในธรรมชาติ พื้นที่ว่าง แสงสว่าง เรขาคณิต และความสงบ กับสถาปนิก Tadao Ando

1

(ภาพจาก https://www.pinterest.com/pin/375206212681867188/)

สถาปนิก Tadao Ando

2

(ภาำจาก http://www.ssahn.com/archives/003074.html)

Tadao Ando (ทะดะโอะ อันโด) คือสถาปนิกแดนอาทิตย์อุทัยคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัล Pritzker Architecture Prize Laureate เมื่อปี ค.ศ. 1995 (ปัจจุบันมีสถาปนิกญี่ปุ่นได้รางวัลทั้งหมด 6 คน) รางวัล Pritzker Architecture Prize Laureate เป็นรางวัลประจำปีที่มอบเป็นเกียรติแก่สถาปนิกที่ยังมีชีวิตในปัจจุบัน  ผู้สร้างผลงานสถาปัตยกรรมเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ด้วยนวัตกรรมที่ดีและมีคุณภาพ  เส้นทางก่อนการจะมาสถาปนิกระดับโลกของเค้าคนนี้คือการตัดสินใจออกเดินทางและเรียนรู้สถาปัตยกรรมทั่วโลกตัวคนเดียว โดยไม่เคยผ่านการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมที่ใดมาเลย ความรู้ส่วนใหญ่ได้มาจากการอ่านหนังสือและค้นคว้าด้วยตัวเอง3

(ภาพจาก http://gizmodo.com/tag/tadao-ando)

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก  Ando เกิดและเติบโตในเมืองโอซากา  ตอนอายุ 10 ขวบก็เริ่มสนใจในการทำโมเดลไม้ การต่อเรือและเครื่องบิน โดยได้ความรู้จากเพื่อนบ้านช่างไม้ของเขา จนถึงอายุ 17 ปีจึงตัดสินใจออกมาทำงานเป็นคนขับรถบรรทุกและนักมวยอาชีพเพื่อสะสมเงินไปใช้ในการศึกษาดูงานสถาปัตยกรรมของจริงทั้งในประเทศและต่างประเทศ อ่านหนังสือเพิ่มเติมและจดจำสังเกตรายละเอียดจากสถาปัตยกรรมระดับโลกในสมัยนั้น เค้าทั้งมุมานะ เคี่ยวกรำตนเองอย่างหนัก จนกลับมาเปิดบริษัทสถาปนิกของตนเอง จากนักออกแบบโนเนมก็หมั่นผลิตและนำเสนอผลงานให้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับในฝีมือได้ในที่สุด4

(ภาพจาก http://blog.stephenmasker.com/tadao-ando-10212012/)

การออกแบบเลือกใช้น้ำลงในสถาปัตยกรรม

เค้ามักจะนิยามตัวเองว่าเป็น ช่างก่อสร้าง มากกว่าสถาปนิก หากว่าจะอ้างอิงตามกฏหมาย ทำให้ผลงานสถาปัตยกรรมของ Ando มักจะแสดงให้เราเห็นถึงความเป็นช่างฝีมือที่ลุ่มลึกเสียมากกว่า  ชอบใช้คอนกรีตหล่อในสร้างรูปแบบอาคารทรงเรขาคณิตเป็นส่วนใหญ่ มีแนวความคิดในการออกแบบเน้นเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติโดยใช้ระบบสัญลักษณ์ ใช้แสงเป็นตัวแทนของธรรมชาติ ทำให้พื้นที่ว่างของอาคารดูมีชีวิต สร้างแสงและเงาเป็นองค์ประกอบในอาคารที่สวยงาม แต่เมื่อเราสังเกตหลายๆงานของสถาปนิกผู้นี้ ก็พบว่า มุมมองการเลือกใช้น้ำให้หยดตัวลงในสถาปัตยกรรมตามการออกแบบของเค้าเองก็น่าใจไม่แพ้กันทีเดียว เค้าสามารถทำให้น้ำกลายเป็นเนื้อเดียวกับสถาปัตยกรรมได้อย่างไม่ขัดเขินหรือแปลกแยก ถือเป็นตัวอย่างรูปแบบการดีไซน์ที่น่าเรียนรู้  เราจึงแบ่งรูปแบบการเลือกใช้น้ำลงในสถาปัตยกรรมว่าสถาปนิกผู้นี้ออกแบบให้สารประกอบของเหลวธรรมดา น้ำเปล่าใสๆแบบนี้ให้กลายเป็นอะไรได้บ้าง

เป็นพื้นผิวที่สงบนิ่ง

ด้วยการสร้างพื้นผิวที่เจิ่งนองไปด้วยน้ำสูงเพียงไม่กี่เซนติเมตร คล้ายกับการเลือกปูวัสดุผิวทั่วไปตามที่เราใช้กันในบ้าน บางคนชอบผิวลายไม้ที่เป็นธรรมชาติ บางคนชอบผิวหยาบด้านของแผ่นหิน หรือแผ่นกระเบื้องลวดลายสวยงามตามที่เราชอบ แต่สถาปนิกอย่าง Ando เลือกที่จะปูพื้นผิวของอาคารด้วยแผ่นน้ำบางๆ  ปูพรมแผ่นน้ำต่อออกจากพื้นอาคารลงสู่พื้นว่างที่เหลือ

LANGEN FOUNDATION Hombroich Architekt: Tadao Ando

(ภาพจาก https://www.pinterest.com/pin/150941024984998020/)6

(ภาพจาก http://www.pritzkerprize.com/1995/works)

การสร้างพื้นน้ำบางๆในพื้นที่ภายนอกแบบนี้ สามารถสร้างความรู้สึกชุ่มชื้นให้กับเราได้เช่นเดียวกับการสร้างบ่อน้ำขนาดใหญ่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องขุดบ่อลงไปให้ลึกหลายสิบเซนติเมตร ซ้ำยังได้ผลลัพธ์ความใสสะอาดของน้ำตื้นๆ  ไม่ต้องกลัวจะเปียกหรือเป็นอันตรายกับเด็กๆ ดูแลความสะอาด ความใสของพื้นผิวก็ทำได้ง่ายกว่าพื้นที่แบบบ่อน้ำครับ

เป็นผืนน้ำที่เคลื่อนไหว  

เพราะน้ำเป็นสสารของเหลวที่ทำให้ดูหยุดนิ่ง หรือจะสร้างทิศทางการเคลื่อนไหวก็ได้ด้วยเช่นกัน การออกแบบพื้นเป็นสเตปขั้นบันไดให้น้ำไหลผ่าน ทำให้เราเห็นรอยผิวน้ำที่กำลังเคลื่อนตัวชัดเจนยิ่งขึ้น

7(ภาพจาก https://www.pinterest.com/pin/425097652298587568/)

9

 (ภาพจาก http://www.arcspace.com/features/tadao-ando/naoshima-contemporary-art-museum/)

8

(ภาพจาก http://www.flickriver.com/groups/tadao_ando/pool/interesting/)

เราจะพบการออกแบบเป็นขั้นบันได้แบบนี้ได้ในพื้นที่ที่มีความต่างระดับ มีความลาดชั จึงจำเป็นต้องเชื่อมระนาบพื้นด้วยสเตปขั้นบันได้ และการปล่อยให้น้ำไหลผ่านพื้นขั้นบันไดแบบนั้นกลับยิ่งให้ได้มุมมองที่น่าสนใจมากขึ้น ขั้นแต่ละขั้นที่น้ำไหลลงมาคล้ายกับน้ำตกตามธรรมชาติ เป็นสัญญะการเชื่อมระนาบพื้นที่ที่ลดหลั่นกันด้วยความนุ่มนวลของสายน้ำที่กำลังไหลริน

เป็นกระจกสะท้อนทัศนียภาพ

จากแผ่นน้ำที่สงบนิ่ง กระทบเข้ากับแสงแดดทำให้เกิดปรากฎการณ์สะท้อนภาพสถาปัตยกรรมบนพื้นดิน โดยผลลัพธ์ภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงเพราะความบังเอิญที่มีน้ำอยู่บริเวณนั้นพอดี แต่เป็นการออกแบบที่ตั้งใจให้มีน้ำขึ้นเพื่อสะท้อนภาพที่จะไม่สามารถเห็นได้จากมุมมองปกติ

10

(ภาพจาก http://loveyoutrick.tumblr.com/post/11180028083/the-naoshima-contemporary-art-museum-by-architect)11

(ภาพจาก https-h-e-e-r.tumblr.compost62256458386contemporary-art-museum-naoshima-tadao-ando)

12

(ภาพจาก https://www.pinterest.com/alvaroudesign/tadao-ando/)

สร้างบ่อน้ำตื้นๆรูปทรงกลมล้อไปกับลักษณะช่องเปิดทรงกลมด้านบนให้คล้ายคลึงกัน  ตั้งใจออกแบบให้แผ่นน้ำทรงกลมเป็นกระจกสะท้อนท้องฟ้าสีคราม มีบางช่วงฤดูที่ปลูกต้นไม้ออกดอกชมพูบานสะพรั่งด้านบน บางช่วงที่ปล่อยเป็นผืนดินโล่งๆด้านบน เปิดให้เห็นท้องฟ้าได้เต็มที่ ผืนน้ำทางกลมนี้จึงกลายเป็นผืนผ้าใบขนาดใหญ่ที่มีท้องฟ้าเป็นจิตรกรเอก ค่อยๆแต่งแต้ม และบันทึกความงามของสภาพแวดล้อมในเวลานั้นๆลงในสถาปัตยกรรมได้อย่างดี

13

(ภาพจาก http://phonginterior.deviantart.com/art/Church-on-the-water-Tadao-Ando-278645204)14

(ภาพจาก http://www.pritzkerprize.com/1995/works)

อีกหนึ่งการออกแบบที่แสดงถึงการสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม และเข้าใจเรื่องความเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลาได้อย่างถ่องแท้ กับอาคารโบสถ์  Church on the Water  ผลงานสร้างชื่ออีกชิ้นหนึ่งของ Ando อาคารทางศาสนารูปฟอร์มสี่เหลี่ยมเรียบง่าย หย่อนตัวลงท่ามกลางป่าเขาที่เงียบสงบ มีเอกลักษณ์จุดเด่นที่อนุสรณ์แท่งกางเขนกลางสระน้ำ เกิดภาพสะท้อนของสัญลักษณ์ความเชื่อได้อย่างทรงอำนาจ แสดงถึงพื้นที่แห่งความเคารพ ตั้งสมาธิความลำลึกถึงพระเจ้าในจิตใจ ผ่านหน้าต่างกระจกบานใหญ่เผยมุมมอง panorama ไร้บานกรอบกีดขวางออกไปสุดสายตา และเมื่อฤดูหนาวมาถึง อุณหภูมิภายนอกจะลดต่ำลงทำให้ผืนน้ำตื้นกลายสภาพเป็นแผ่นน้ำแข็ง บรรยากาศภาพสะท้อนกับวิวทิวทัศน์ภายนอกแปรเปลี่ยนเป็นความเหน็บหนาวสีขาวโพลน สวยงามแต่แอบซุกซ่อนความพิศวงเอาไว้  นับเป็นสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปในสถานที่แห่งเดิมได้น่าประทับใจที่เดียวครับ

15(ภาพจาก http://architecturehouseideas.blogspot.com/2013/10/work-modern-museum-fort-worth.html)17 (ภาพจาก https://www.pinterest.com/pin/488288784574569584/)

16

(ภาพจาก https://www.pinterest.com/pin/495958977685010045/)

ภาพสะท้อนบนผืนน้ำตื้นที่เกิดขึ้นยังช่วยทำให้สถาปัตยกรรมรูปทรงเลขาคณิตที่เค้าออกแบบเกิดภาพมุมมองใหม่ๆ เน้นย้ำโครงสร้างความสมมาตร มีเหลี่ยมมุมที่ชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย เส้นสายโครงสร้างอาคารเส้นตรงทั้งแนวตั้งและแนวนอนอาจดูธรรมดาบนพื้นดินปกติ แต่เมื่อถึงเวลากลางคืน องค์ประกอบแสงไฟจากอาคารและผืนน้ำ จะทำให้เกิดภาพซ้อนอาคารอีกหลังลงบนแผ่นน้ำตื้น ประกอบเข้ากันเป็นส่วนเติมเต็มกันและกันทั้งของจริงบนบกและภาพสะท้อนในน้ำที่งดงาม

เป็นสื่อแทนธรรมชาติ  บอกเล่าสภาพแวดล้อมภายนอก

ความคิดการดีไซน์ไม่ได้จบลงแค่สร้างเป็นสระน้ำตื้นๆเท่านั้น ยังมีรูปแบบอื่นที่น่าสนใจไม่แพ้กันครับ กับการปล่อยให้สายฝนตกใส่ใจกลางบ้านของเราอย่างจัง โดยไม่ต้องมีหลังคาปกคลุม มาถึงตอนนี้หลายท่านอาจจะกำลังฉงนและสงสัย  แต่การออกแบบที่เหมือนไม่ได้ออกแบบนี้มีเหตุผลในตัวของมันเองอย่างแน่นอน

18

(ภาพจาก http://www.homedesignfind.com/architecture/japanese-master-architect-tadeo-ando-water/)

Azuma House เป็นบ้านพักอาศัยที่ไม่มีหน้าต่างเปิดสู่ภายนอก ปิดล้อมมุมมองบริเวณรอบบ้านโดยสมบูรณ์ เพื่อสร้างความสงบและเป็นส่วนตัวสูงสุดให้กับผู้อยู่อาศัย

19

(ภาพจาก http://www.ananasamiami.com/2011/01/row-house-azuma-house-by-tadao-ando.html)

แต่ Ando ก็สร้างสิ่งทดแทนการซ่อนตัวนั้นขึ้นมา คือช่องเปิดตรงกลางบ้าน ให้เป็นพื้นที่กลางแจ้งไม่มีหลังคาคลุม จุดประสงค์เพื่อการแจ้งให้คนในบ้านรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมภายนอก สัมผัสแสงแดด สายฝน อุณหภูมิที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ชดเชยการมองรับรู้จากช่องเปิดที่ผนังอาคาร

20

(ภาพจาก https://www.pinterest.com/tomblara/ando-tadao/)

การเปิดที่ว่างตรงกลางบ้าน ให้ได้สัมผัสอากาศภายนอกบ้าน  เป็นการสร้างช่องทางการบอกเล่าระหว่างกัน ของคนในบ้านกับธรรมชาติ  เค้าจะรับรู้ได้ทั้งปริมาณแสงแดดของวันนั้น  หรือความชุ่มฉ่ำของสายฝนที่ตกลงมา โดยยังรักษาความเป็นส่วนตัวเอาไว้ได้ น้ำฝนที่ตกลงมาอาจจะทำให้พื้นหรือผนังภายในบ้านต้องเปียกชื้น  แต่มันก็เป็นการเปิดรับเอาบรรยากาศแวดล้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในบ้านอย่างเต็มใจ หยดน้ำฝนจะเข้าไปเติมชีวิตชีวาและความฉ่ำเย็นให้กับพื้นผนังคอนกรีตที่เคยเหือดแห้ง ช่วยลดความแข็งกร้าวจากคอนกรีตให้รู้สึกอ่อนโยนลงชั่วขณะหนึ่ง  ผู้อยู่อาศัยสามารถรับรู้ธรรมชาติได้โดยตรงจากพื้นที่แห่งความลับของตัวเอง

การเปิดสัมผัสประสบการณ์รูปแบบใหม่

21

(ภาพจาก http://www.archweb.it/dwg/arch_arredi_famosi/Tadao_Ando/Water_Temple/Water_Temple.htm)

สร้างพื้นที่การใช้งานที่มีน้ำเป็นส่วนเกี่ยวข้อง กับประสบการณ์การเข้าไปสัมผัสรูปแบบใหม่ๆ โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นสื่อกลาง  ทำให้เราได้เข้าไปสัมผัสกับน้ำอย่างใกล้ชิดแบบลืมกังวลเรื่องที่อาจจะเปียกไปได้เลย

22

(ภาพจาก http://www.jaredlockhart.com/outonsite/sunday-on-awaji-island/)

พาคุณดำดิ่งลงสู่ใต้ท้องสระบัวในสถานที่เกี่ยวกับศาสนาอีกแห่งหนึ่ง Water temple ของ Ando  ที่ออกแบบบันไดทางเดินเข้าพื้นที่ภายใน เป็นทางลาดลงใจกลางบ่อน้ำขนาดใหญ่ ทางเข้านี้จะเชื่อมต่อกับพื้นดินปกติ ตอนเริ่มเดินมาจากถนนเราจะถูกบังด้วยผนังคอนกรีตขนาดใหญ่เสียก่อน  ถัดมาเรื่อยๆ เมื่อคุณเดินลัดเลาะมาตามทางจนถึงทางเข้าก็ต้องประหลาดใจกับภาพวิวทางเดินทะลุลงสู่ใจกลางบ่อน้ำ เป็นการออกแบบที่รู้จักแอบซ่อนและเผยไม้ตายไว้ใช้ในตอนหลัง

23

(ภาำจาก http://www.jaredlockhart.com/outonsite/sunday-on-awaji-island/)

รวมทั้งเน้นการสร้างความรู้สึกสงบ ตระเตรียมจิตใจก่อนข้าสู่พื้นที่ทางศาสนาด้วย  การจัดวางรูปทรงสถาปัตยกรรมที่สมมาตรซ้ายขวาเพื่อให้เราปรับสภาพจิตเข้าหาความสมดุลและมีสมาธิมากขึ้น

2425

(ภาพจาก http://www.arcspace.com/features/tadao-ando/sayamaike-historical-museum/)

ถัดจากทางเดินลงใต้สระน้ำ ก็ยังมีทางเดินผ่านม่านน้ำโดยที่คุณจะไม่เปียกปอน  Sayamaike Historical Museum มีการออกแบบทางเดินที่ให้เราลัดเลาะม่านน้ำตกด้านข้าง ตลอดทางที่เราย่างก้าวจะได้ยินเสียงน้ำคล้ายกับฝนกำลังตกอยู่ ละอองความชื้นจะปลิวไหวอยู่ไหนอากาศ เหมือนยกเส้นทางเดินน้ำตกกลางป่าเขาที่สมบูรณ์มาอยู่ในสถาปัตยกรรม

26 27

(ภาพจาก http://www.dezeen.com/2011/07/14/silence-by-tadao-ando-and-blair-associates/)

หรือแม้แต่หมอกควัน ไอน้ำระเหยน้ำก็ไม่เกินจินตนาการของสถาปนิกนักปรัชญาผู้นี้ Silence บ่อน้ำแห่งความเงียบงันในเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ  บ่อหน้ากลางพื้นที่สาธารณะ จะโอบล้อมต้นไม้เอาไว้  มีกลไกปล่อยควันออกจากฐานต้นไม้ หมอกจำลองนี้จะปล่อยออกมาทุกๆ 15 นาที การปล่อยแต่ละครั้งยาวประมาณ 15 วินาที เป็นการสร้างบรรยากาศความเงียบสงบตามธรรมชาติให้เกิดขึ้นได้แม้อยู่ใจกลางเมือง

จากตัวอย่างรูปแบบทั้งหมดที่เราได้หยิบหยกมา ทำให้เห็นว่าสถาปนิก Ando สามารถออกแบบให้น้ำกลายเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมได้อย่างดี เข้าไปช่วยละลายคอนกรีตให้นุ่มนวล ลดความแข็งกระด้างลงไป และนับเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เหล่านักออกแบบหรือบุคคลทั่วไปก็ตาม เปิดมุมมองการสร้างสรรค์งานที่ดีให้เกิดขึ้นในประเทศติดแม่น้ำอย่างเราได้อีกมากมาย