OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

เทศกาล Plutonians “ความทรงจำของดวงดาวที่ถูกลืม ” โดย JACK OF ALL TRADES

1

ข่าวการเดินทางสำรวจอวกาศนานกว่า 9 ปี ของยาน นิว ฮอร์ไรซันส์ ของนาซ่า เพื่อสำรวจอดีตดวงดาวอันดับที่ 9 แสนไกลโพ้นแห่งระบบสุริยะจักรวาล  ที่ปัจจุบันถูกโหวตให้กลายเป็นเพียง “วัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ” ของเรา – รูปภาพใบแรกของพลูโตที่ออกมากำลังถูกแชร์แบ่งปันส่งต่อกันไป โฉมหน้าของวัตถุอวกาศอันเคว้งคว้างออกมาทักทายกับมนุษย์บนโลกที่กำลังจะลืมเลือนมันไปทำให้หวนนึกถึงกันอีกครั้ง  ดาวเคราะห์ที่ครั้งนึงเคยหมุนวนอยู่ในวงโคจรจักรวาลเดียวกันเรา แต่แล้วก็กลับถูกลดความสำคัญและค่อยๆจางหายไปทีละน้อยจากความรู้สึกจนแทบไม่จะเคยมีอยู่จริง  เรื่องราวแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่บนดวงเคราะห์ห่างไกลหลายล้านปีแสงเท่านั้นหรอกนะครับ หากแต่มันคล้ายคลึงกับความสัมพันธ์ของมนุษย์บนโลกอย่างเราๆ นี่เอง การเข้ามาในชีวิตของใครบางคน ที่สุดท้ายเรากลับทำเค้าหล่นหายไประหว่างทาง ระยะห่างที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เราค่อยๆ ลืมเลือนเค้าคนนั้นไปจากความทรงจำ ใครบางคนที่เคยอยู่ในวงจรโคจรเดียวกัน  แต่แล้วก็มีเหตุการณ์บางอย่าง เป็นเหมือนอุบัติเหตุทางความความสัมพันธ์ที่ทำให้วงโคจรของเราไม่ได้มาสัมผัสร่วมกันอีก

Image converted using ifftoany

ยานนิว ฮอร์ไรซันส์ และดาวพลูโต (ภาพจาก http://www.space.com/29565-dear-pluto-kids-campaign-new-horizons.html)

การเปรียบเปรยเรื่องราวสุดวิทยาศาสตร์ที่ดูไกลตัวมาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของมนุษย์เพื่อให้เรารู้สึกสัมผัสจับต้องได้มากขึ้นนี้คือคอนเซ็ปหลักของงาน  Plutonians (พลูโตเนี่ยน) ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา หลังวันแห่งประวิติศาสตร์การสำรวจอวกาศ 14 กรกฎาคม 2558 ได้ไม่นานนัก วันที่ยานอวกาศนิว ฮอร์ไรซันส์เดินทางไปเยือนดวงดาวที่อยู่ไกลลิบถึงสุดขอบสุริยะจักรวาลได้เป็นผลสำเร็จ

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้นสู่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด จุดประกายขึ้นจากบทสนทนาเฮฮาทั่วไปในหมู่วงเพื่อนฝูงเหล่าสถาปนิกนักออกแบบ เมื่อสหาย 1 ในกลุ่มนั้นเริ่มคิดถึงเรื่องราวของการเดินทางสำรวจอวกาศของยานพลูโต อดีตดาวเคราะห์ที่ถูกโหวตออกจากระบบสุริยะจักรวาลทั้งทียังไม่เคยพบหน้ากันจริงๆเลยซักครั้ง แต่กลับต้องถูกลบหายไปจากความรู้สึกของมนุษย์บนโลกไปเสียแล้ว คล้ายกับชีวิตคนเราที่มักมีบุคคลที่หล่นหาย หรือค่อยๆถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำ ทั้งเราเป็นผู้ลืมเค้า และเราเองที่ถูกเค้าลืม  เรื่องราวความเป็นไปตามวัฏจักร “พบ พา ลา จาก” ของชีวิตนี้เองที่ไปสะดุดความรู้สึกเพื่อนๆในวงทั้ง 3 คนที่เหลืออีกเช่นกัน และเมื่อทั้งทีมมีความเชื่ออะไรในสิ่งเดียวกัน  จึงพร้อมที่จะร่วมกันผลักดันในสิ่งที่ทุกคนในทีมเชื่อให้ปรากฏขึ้นมาได้ กับการเดินทางตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีของร่างไอเดีย propesol (ข้อเสนอโครงการ) แค่ 9 แผ่น  จากเส้นร่างความฝันสู่โครงสร้างบนโลกของความเป็นจริง

“JACK OF ALL TRADES” การรวมตัวเฉพาะกิจของกลุ่มคนชอบเสี่ยง

3

กลุ่มเพื่อนนักออกแบบสายวิชาสถาปัตยกรรมที่ได้รู้จักกันมาช่วงสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ที่แม้จะมาจากต่างมหาลัยกัน ทั้งจากศิลปากรและบางมด  กลับมารวมตัวกันหลังจบการศึกษาเป็นทีมดีไซเนอร์รุ่นใหม่ มีสมาชิเป็น 4 หนุ่มประกอบด้วย (เรียงจากซ้ายไปขวา) ตั้ม กิตติศักดิ์ เฮงพระพรหม / โจ้ นวพล พิสุทธิวงส์ /อาร์ม กศิดิศ เผือกเทศ /หน่อไม้ สุภัทรชัย เชื่อธรรมสอน  มารวมตัวกันด้วยมิตรภาพและทัศนคติความชอบที่คล้ายคลึงกัน  พวกเค้าคิดว่าการออกแบบงานสถาปัตยกรรมไม่ได้จำกัดอยู่แค่บ้าน หรือ อาคาร แต่เราสามารถดีไซน์ลงไปได้ถึงวิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ต่างๆของผู้คน ศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้งานจริงๆ สถาปนิกไม่ได้เพียงออกแบบหิน ปูน ทราย ไม้ ให้ประกอบรวมกันเป็นบ้านจนเสร็จสมบูรณ์แล้วก็ถือเป็นอันจบหน้าที่ไป แล้วหลังจากที่บ้านเสร็จสมบูรณ์แล้วการใช้ชีวิตจริงอยู่ในที่แห่งนั้นจะเป็นอย่างไร  คุณพ่อจะชอบห้องทำงานติดกับสวนต้นไม้กลางบ้านนั่นมั้ย? เด็กๆจะปลื้มห้องนอนกว้าง ๆ ที่ชั้น 2 ของบ้านรึป่าว ? เจ้าของบ้านหรือผู้ใช้อาคารได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและสะดวกสบายตอบโจทย์ความต้องการของพวกเค้าได้จริงๆรึป่าว ความสัมพันธ์เรื่องการใช้ชีวิตเหล่านั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเรายังมีทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากสถาปัตยกรรมให้ได้ลงมือออกแบบ นี่จึงเป็นสิ่งที่พวกเค้าต้องการศึกษาและอยากลงมือทดลองออกแบบ

4

(ภาพจาก https://www.pixoto.com/images-illustration-and-design/illustration/cartoons-and-characters/jack-of-all-trades-5267226831618048)

คำว่า  jack of all trades มากจากสำนวนเต็ม jack of all trades ,master of none  สำนวนพังเพยภาษาอังกฤษหมายถึง คนที่มีความสามารถ ทำได้หลายด้าน แต่ยังไม่เชี่ยวชาญด้านใดเป็นพิเศษ เหมือนเป็นเป็ดที่บินได้ ว่ายน้ำ จับปลาและย่างเดินบนพื้นดินก็ได้  ทำได้หลายอย่างในระดับทั่วไป ไม่ใช่กูรูเรื่องนั้นอย่างสุดทาง  การเป็นนักออกสถาปัตยกรรมเบื้องต้นก็จำเป็นจะต้องเรียนรู้ข้อมูลมากมายและทำงานในหลายหน้าที่พร้อมกันทั้ง ความสวยงามเชิงศิลปะ โครงสร้างเชิงวิทยาศาสตร์ สภาพแวดล้อม สภาพสังคม พฤติกรรมมนุษย์   ฯลฯ ยังคงต้องพัฒนาตนเองเพิ่มเติมหากอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลึกลงไป คล้ายคลึงกับเป็ดนั่นเอง พวกเค้าจึงหยิบเอาคำนี้ขึ้นมาเป็นชื่อกลุ่มดีไซเนอร์เฉพาะกิจ พร้อมกับการตีความหมายใหม่ลงไปว่า jack of all trades ตอนที่เราเล่นไพ่โป๊กเกอร์ แล้วเราจั่วได้ไพ่แจคขึ้นมา มันเป็นไพ่ระดับกลางๆ ไม่ใช่ไพ่ที่มีค่าสูงสุดอย่างเอช  หรือแต้มต่ำสุดเสียจนไร้ประโยชน์ มันเลยทำให้เราพร้อมที่จะเสี่ยงเล่นต่อ   พร้อมที่จะแลกกับผู้เล่นคนอื่นๆในวง  เป็นความเสี่ยงที่น่าลุ้นพอเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้อันมีค่าระหว่างกัน  เป็นกลุ่มที่เปิดกว้างให้หมู่เพื่อนฝูงที่มีไอเดียได้เข้ามาแชร์ความคิดความท้าทายใหม่ๆกันได้

กำเนิดงาน Plutonians และรูปแบบของงานในครั้งนี้

5

เริ่มต้นที่เพื่อนคนนึง ในกลุ่มของเราเริ่มมาเสนอไอเดียเรื่องดาวพลูโตกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ขึ้นมากับเพื่อนๆคนอื่นในกลุ่มก่อน  โดยปกติพวกเราก็จะมานัดเจอกันเพื่อแชร์ไอเดียต่างๆ หาประเด็นความท้าทายใหม่ๆกันอยู่แล้ว หัวข้อไหนที่ทำให้ทุกคนในทีมคล้อยตามไม่ได้ ก็จะถูกตัดทิ้งไปทันที เพราะเราจะลงมือทำในสิ่งที่ทุกคนเชื่อ มองเห็นในปัญหาเดียวกัน แล้วก็ช่วยกันผลักดันเดินหน้าลงมือทำกันเลย มันเลยเป็นเรื่องสนุกมากๆ ที่เราทุกคนมักจะนำเสนอไอเดียเหมือนมาประกวดกัน เริ่มจากขายให้เพื่อนๆก่อนนี่แหละ ถ้าเพื่อนเราเชื่อแบบเดียวกับเราได้ คนอื่นก็มีโอกาสเชื่อแบบเดียวกับเราได้เหมือนกัน แม้มันอาจจะน้อยนิดไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่มันก็มีความเป็นไปได้ เราก็จะลองลงมือทำดู พวกเราเชื่อว่ามันมีโอกาสอยู่เสมอแหละ ขึ้นอยู่กับว่าจะหามันเจอมั้ย ? เป็นโอกาสแบบที่เราต้องออกไปหาไม่ใช่รอให้มันมาค้นพบเรา และงานพลูโตเนี่ยนนี่ก็ทำให้เห็นแล้วว่าเราเจอโอกาสที่ว่านั่นได้แล้ว

6

รูปแบบของงานที่ออกมาเราก็ไม่ได้จำกัดว่ามันคืออะไร แบบไหน อาจจะเรียก อีเวนต์ คอนเสิร์ต หรืออะไรก็ได้เพราะเราไม่ได้จำกัดความตั้งชื่อให้กับมัน พอเราไม่จำกัดความหมายของมันแล้วทำให้มันเกิดอะไรขึ้นได้หลากหลายคำตอบมากในงานที่เราทำ  จากที่เคยออกแบบบ้าน อาคาร ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กๆ มาสู่การสร้างพื้นที่กิจกรรมที่มีทั้งงานแสดงดนตรี  นิทรรศการศิลปะ ภาพวาด installation art ไปจนถึงการออกแบบให้สอดคล้องกับสถานที่ สัดส่วนและลำดับการเข้าถึงส่วนต่างๆ เราก็ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมา แบ่งหน้าที่กัน มีคนที่เชี่ยวชาญได้การทำสเตจเวทีของคอนเสิร์ตมาก่อน คนที่แก่งด้านกราฟฟิกก็จะดูแลเรื่องโปสเตอร์ สื่อต่างๆทั้งหมด โดยไม่ก้าวก่ายด้วยความเชื่อในฝีมือกันในทีม

จริงๆมันเกิดจากการสังเกตและตั้งคำถามเรื่องพื้นที่แสดงงานศิลปะของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ หลายๆงานที่เราไปรู้สึกว่างานของศิลปินรุ่นใหม่ที่เชิญไปร่วมงานเป็นเหมือนไม้ประดับ เรายังไม่ค่อยเห็นคุณค่าของงาน คนไทยชอบคิดว่า Art is free พวกเราก็เลยอยากสร้างพื้นที่แสดงงานอย่างจริงจัง เชิญศิลปินในหลายๆรูปแบบ วาดภาพประกอบ ถ่ายภาพ ดนตรี ชวนกันมาเล่าเรื่องเดียวกันภายใต้คอนเซปดวงดาวที่ถูกลืมอย่างพลูโต เป็นการ reprogram เริ่มต้นตั้งด้วยการตั้งคำถามทุกๆครั้ง แล้วก็ลงมือทดลองแก้ปัญหานั้นกันดู ปัญหาที่ว่านี่อาจจะไม่ใช่เรื่องแย่ที่ต้องรีบแก้ไข แต่เป็นการตั้งคำถามว่ามันมีโอกาสที่จะได้ผลลัทธ์แบบอื่นในวีธีการใหม่ๆบ้างรึป่าว?  จากประสบการณ์รูปแบบเดิมที่เราเคยสัมผัสกันมา สู่การสร้างกิจกรรมความสัมพันธ์รูปแบบที่แตกต่างออกไป เหมือนกับเราได้ออกแบบงานศิลปะไปด้วยกันพร้อมๆกับทุกคน

การทดลองหมายเลข 2 บนพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าเดิม

7

พวกเราเคยจัดงานคล้ายๆแบบนี้มาแล้วก่อนหน้านี้ 1 งานครับ ชื่อว่า “ออกไปข้างนอก”  กับคอนเซปในครั้งแรกเราพุดถึงเรื่องความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ ทีคนไทยส่วนใหญ่ติดโลก social network กันมาก จนแทบจะแยกชีวิตจริงออกจากมันมาไม่ได้ เราเลยอยากชวนออกมาข้างนอกโลกเสมือนจริงนั้น ให้ออกมาฟังเพลงจากศิลปินที่เราเคยฟังแล้วกดไลค์ ใน youtube หรือศิลปินวาดภาพประกอบสวยๆที่เราเคยกด share บนหน้า wall ให้คนที่มาร่วมงานได้ฟังเพลงและดูศิลปินที่เราไม่เคยเจอตัวจริงมาวาดรูปประกอบพร้อมฟังเพลงไปพร้อมๆกัน ได้ชื่นชมบอกชอบผลงานจากปากของเราแทนการแค่กดคลิ๊กเม้าส์อยู่ที่บ้านเหมือนที่ผ่านๆมา

มาถึงครั้งนี้ในขนาดพื้นที่งานที่ใหญ่กว่าเดิม พวกเราก็ยังคงทดลองสร้างคอนเซปเรื่องความสัมพันธ์ในชีวิตของคนกันอีกครั้ง เราทุกคนมักจะมีคนที่สูญหายไปจากชีวิต และทำได้แค่หวนระลึกนึกถึงเท่านั้น เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้อีก วงโคจรของเรามันหลุดลอยจากกันมาไกลแล้ว พวกเราเชื่อว่าเรื่องราวอันนี้มันเป็นสากล มันสามารถเข้าไปสะกิดปุ่มความคิดถึงของคนอื่นๆให้ทำงานได้เหมือนกัน เราเลยตั้งใจวางแผนการทำงานในครั้งนี้ให้สมบูรณ์กว่าเดิม เรียนรู้ประสบการณ์ข้อบกพร่องที่ผ่านมา

งาน Plutonian ที่จัดขึ้นต่างยังไงกับอีเวนต์มากมายที่เกิดขึ้นในกรุงเทพยังไงครับ?

8

จริงๆแล้วการไม่ต่างกับอีเวนต์อื่นๆทั่วไปเลยอาจจะดีกว่า ฮ่าๆ เพราะถ้าเราไปตั้งโจทย์นำเสนอว่า นี่คืองานนำเสนอศิลปปะเป็นหลักนะ คนดูก็อาจจะตั้งแง่ รู้สึกเกร็งๆเข้าไม่ถึง เหมือนเวลาชวนใครไปดูงานตามพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เค้าก็จะรู้สึกเคอะๆเขิลๆ กลัวไปดูแล้วจะเข้าไม่ถึง สุดท้ายก็เลยไม่อยากไป ในแง่การโปรโมทหรือการรับรู้ของคนทั่วไปอาจจะคิดว่างานของเราไม่ต่างจากงานอื่นๆก็ได้ แต่ข้อความ เนื้อหาที่พวกเราทำเรารู้ว่ามันแต่งต่างก็พอแล้ว Plutonians คืองานศิลปะร่วมสมัย ชวนศิลปินมาเล่าเรื่องภายใต้หัวข้อ ดวงดาวที่ถูกลืมอย่างพลุโต เราเปิดโอกาสให้ศิลปินได้ตีความมันอย่างเต็มที่ จะหมายถึงพลูโตจริงๆ หรือซ่อนนัยยะถึงบุคคลในชีวิต สิ่งที่สูญหายไปไม่กลับมาเหมือนที่เรานำเสนอไปด้วยก็ได้ ใจความหลักตรงนี้ต่างหากเราอยากสื่อสารออกไปให้ถึงคนที่มาดู ส่วนเค้าจะเรียกงานเราว่าแบบไหนก็ไม่ใช่ส่วนสำคัญ แค่พวกเค้าได้ออกมาชมงานต่างๆของศิลปะ ให้งานศิลปะได้ถูกแสดงตัวผ่านสายตา ถูกตีความและวิพากษ์ถึงมันเราว่ามันก็ได้ทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์แล้ว

9

การทำงานออกแบบกับอู่ต่อเรือ กรุงเทพ  สถานที่ที่ถูกลืมเลือนในกรุงเทพมหานคร

พอเราได้คอนเซปมาเป็นดาวที่ถูกลืม, คนที่ถูกเลือน สถานที่จักงานในครั้งนี้ก็ต้องเป็น missing place เช่นเดียวกัน ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพทีมีห้างร้าน ตึกใหม่ๆเกิดขึ้นเป็นประจำ ย่อมต้องมีอาคารสถานที่ที่ค่อยเฝดตัวจางหายไปจากความรู้สึกของคนเช่นกัน ตอนแรกพวกเราตั้งเป้าไว้ที่ท้องฟ้าจำลอง เพราะมันเป็นสถานที่ที่กำลังจะสูญหาย ไม่ได้รับความนิยม และตอบโจทย์เรื่องอวกาศ ดาวพลูโตมากๆ แต่พอไปติดต่อเราก็พบความไม่พร้อมของสถานที่จัด มีเครื่องมือกลไก ของใช้หลายอย่างในนั้นที่ไม่ได้รับการซ่อมแซมเลย และการสื่อสารกับภาครัฐกับกิจกรรมแปลกใหม่แบบนี้ก็เป็นเรื่องยาก พวกเราเป็นใครก็ไม่รู้ ไม่มีเงิน หรือชื่อเสียงอะไร เป็นแค่วัยรุ่นธรรมดาทั่วไปที่อยากจะสร้างงานอะไรซักอย่างขึ้นมา เซาะหากันอยู่นานแล้วก็มาเจอเข้ากับอู่ต่อเรือนี้

10

อู่ต่อเรือกรุงเทพ ก็เป็น  missing place โดยสมบูรณ์อีกแห่งหนึ่ง ทั้งที่เมื่อก่อนมันเคยใช่ซ่อมขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันกลับถูกใช้เป็นที่ถ่ายทำละครบ้าง สถานที่จัดงาน flea market ค้าขายสินค้าต่างๆ บ้าง เราคิดว่ามันเป็นสถานที่ที่น่าสนใจ มีทำเลที่ดี เดินทางสะดวก ติดริมน้ำ ได้บรรยากาศแปลกใหม่ที่คนกรุงเทพไม่ค่อยได้สัมผัสมาก่อน

ปรับเปลี่ยนโกดังเครื่องจักร ให้การเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ

เราเลือกใช้พื้นที่โกดังของอู่ต่อเรือ เพราะเป็นพื้นที่ในร่ม กลัวว่าช่วงจัดงานฝนอาจจะตกแบบไม่คาดฝันได้ พอเข้ามาสำรวจก็รู้สึกถึงความเป็น industrial ของมันมากๆ เครื่องจักรโลหะต่างๆ โครงสร้างไม้ อารมณ์ความดิบ เราเลยเลือกเก็บความรู้สึกเหล่านี้เอาไว้ หรือเปลี่ยนแปลงมันให้น้อยที่สุด การออกแบบเริ่มจากวางลำดับการเข้าถึงเป็นส่วนๆ แรกสุดเป็นส่วนต้อนรับ รับบัตรในงาน ที่ตั้งบูทอาหารในงานเล็กน้อย เพราะอู่ต่อเรือเป็นสถานที่ปิดที่ห่างไกลจากร้านค้าอื่นๆพอสมควร ต้องเดินเข้ามาระยะทางประมาณนึงสู่สถานที่ซ่อนตัวในส่วนจัดงาน

11

ส่วนที่ 2 เมื่อแลกบัตรผ่านประคูกั้นเข้ามาก็จะเจอกับพื้นที่แสดงงานศิลปะกระจายตัวอยู่ เราไม่อยากสร้างผนังสีขาว จักไฟส่อง แขวนงานแบบในพิพิธภัณฑ์ เพราะมันคงจะไม่เข้ากับอู่ต่อเรือเอามาก ๆ เราเลยใช้เครื่องจักรที่มีอยู่นั่นละ ติดตั้งงานลงไป ต่อโครงไม้ง่ายๆ ให้ได้กลิ่นไอความดิบเอาไว้ อยากให้รู้สึกว่าพื้นที่วางงานเป็นส่วนหนังของโกดังเดิมอยู่อย่างแท้จริงๆ ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม

12

การจัดวางงานทุกชิ้นมีที่มา เพราะเราจะพยายามคุยกับศิลปินทุกคน เพื่อให้เข้าใจงานของเค้า เข้าใจข้อความที่เค้าต้องการจะสื่อสาร แล้วเราจะมาช่วยเค้าคิดวิธีการจัดแสดง งานแบบนี้ควรวางบนโต๊ะ บางงานควรวางติดผนัง บางงานควรวางอยู่แทบจะติดกับพื้น หลอดไฟสีสันต่างๆก็ไม่ใช่ว่าหยิบไปวางๆเอาไว้ เราต้องไปซื้อหลอดไปมาทดลองสีก่อนที่จะนำไปใช้จริง ผลงานแบบนี้ต้องโดนไฟสีเหลือง ผลงานแบบนี้เหมาะกับอารมณ์ไฟสีฟ้า คนทั่วไปอาจจะคิดว่ามันมั่วๆ แค่ความจริงทุกอย่างมีที่มา และเราสามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้หมดว่าทำไมถึงต้องเป็นแบบนั้น

ก่อนจะเข้าสู่ส่วนที่ 3 เวทีคอนเสิร์ตก็จะเจอกับผลงาน visual effect ดาวพลูโตเสียก่อน เราโชคดีที่ได้พี่ๆทีม production house จากบริษัท eyedropper fill  มาช่วยสร้างดาวพลูโตจำลองขึ้นในงาน  คนไปดูงานสามารถเขียนข้อความให้ฉายทับลงไปบนผิวดาวพลูโตได้ มันเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างงานและคนที่เข้ามาชม ถือเป็นการทดลองเทคนิคการฉายภาพลงบนลูกบอลทรงกลมครั้งแรกพร้อมกับการเขียนข้อความสดๆจากมือคนในงานลงบนผิวดาวนั้นได้ทันที

13

เข้ามาส่วนชั้นที่ 3 ในสุดของโกดัง เป็นสเตจเวทีการแสดงดนตรี ไม่ใช่แค่กั้นพื้นที่เพื่อวางเครื่องดนตรี แต่พวกเราออกแบบโครงสร้างเวทีให้สูงขึ้นจากระดับพื้นปกติเหมือนเวทีตามงานคอนเสิร์ตจริงๆ ติดตั้งแสง สี เอฟเฟคควัน ลูกเล่นเทคนิดไฟบนเวทีประกอบให้เข้าแนวเพลงของศิลปินทุกคน ทุกวงที่ขึ้นมาเล่น ให้ผู้ชมได้รับอรรถรสทั้งภาพและเสียงอย่างเต็มที่ที่สุด เพราะเราคิดว่าการแสดงดนตรีก็ถือเป็นงานศิลปะอีกแขนงนึง เลยอยากจัดเตรียมพื้นที่จัดแสดงที่สามารถดึงศักยภาพของศิลปินที่ขึ้นมาบรรเลงให้ออกมาเต็มที่ที่สุดเช่นกัน

1415

ส่วนพื้นที่ด้านนอก ริมชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บรรยากาศชิลล์ๆ เราก็วางลูกบอลส่องสว่างเอาไว้ จำลองเป็นอีกหนึ่งดาวพลูโต จุดแลนมาร์คของงานให้ผู้คนได้จดจำ หรือเข้ามาถ่ายรูปกันเป็นที่ระลีก มีพื้นที่ให้ดีเจมาเปิดเพลง ผสมผสานท่วงทำนองลงไปในบรรยากาศการมานั่งคุยกันสบายในหมู่เพื่อนฝูง โดยมีภาพวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยงามเป็นสหายร่วมวงอีกคนหนึ่ง

งานศิลปะบอกเล่าสิ่งที่สูญหาย กับศิลปินเพลงที่ชวนให้คิดถึง

อย่างที่บอกไปแล้วว่าพวกเราชักชวนศิลปินให้มาร่วมแสดงงานกัน ภายใต้คอนเซปเดียวกันเรื่องความหมายของ plutonains ในแบบเปิดกว้างเรื่องวิธีการมากๆ  ทำให้เราได้ผลงานหลากหลายที่น่าสนใจ เช่น แผ่นกระดาษประกาศหาคนหาย ที่ให้คนในงานได้เล่นสนุกกับมัน วาดแต่งเติมหรือเขียนรายละเอียดลงไป  เป็นสื่อกลางเพื่อระลึกถึงคนที่สูญหายในชีวิตของเค้าคนนั้น ,การตั้งโน๊ตบุ๊คไว้ในงานเพื่อให้คนที่มาสามารถ skype คุยกับศิลปินที่อยู่ประเทศเยอรมัน แล้วเค้าจะวาดภาพประกอบให้เป็นการตอบแทน , การซ่อนซองกระดาษสีน้ำตาลไว้ตามจุดต่างๆ ของโกดัง แล้วศิลปินจะมาแอบเฝ้าดูผู้คนที่มางานว่าจะเจอผลงานของเค้าหรือไม่ ไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรือตั้งใจคนที่หาเจอก็จะพบกับข้อความที่ศิลปินนั้นเขียนไว้ให้เป็นสิ่งตอบแทน สิ่งเหล่านี้ทำให้ศิลปะเข้าถึงคนทั่วไปมากขึ้นโดยที่พวกเค้าไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำ และเป็นการเปิดโอกาสการสร้างสรรค์งานรูปแบบใหม่ๆให้เกิดขึ้นได้อยู่เสมอ

16

ศิลปินเพลงก็เป็นอีกเรื่องนึงที่พวกเราให้ความสำคัญ เพราะถ้าบอกว่าจะเก็บเงินตั๋วค่าเข้าชมงานศิลปะอย่างเดียว คนทั่วๆไปเมื่อได้ยินก็อาจจะส่ายหน้า แต่ถ้ามีศิลปะด้านดนตรีเข้ามา เค้าจะให้ความสนใจและเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญอีกอย่างของงาน  playlist ต่างๆพวกเราก็ถกเถียงและเลือกเฟ้นกันอย่างเต็มที่ ทั้งวงหน้าใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก และวงรุ่นเก๋าที่ห่างหายไปจากการจับไมค์ขึ้นเวทีเป็นปีๆ อย่างวง 15th scenery ที่ห่างเวทีไปนานกว่า 6-7 ปี  และมากที่สุดคือวงที่เพิ่งมีข่าวกลับมารวมกันเล่นคอนเสิร์ตหลังจากหายไปนับ 10 ปีอย่าง goose  การไปติดต่อเพื่อมาเล่นที่งานไม่ใช่แค่เรื่องค่าตอบแทนเป็นตัวเงินเท่านั้น แต่พวกเราโชคดีมากๆที่พวกพี่ๆเค้าเห็นถึงความตั้งใจ พยายามในการเชิญชวน และคอนเซปงานที่พวกเราทำ การระลึกถึงสิ่งที่สูญหายไป ที่ถ้าหากย้อนกลับไปในวันที่พูดคุยไอเดียกันและไม่ตัดสินใจลงมือทำมันอย่างจริงจังจนถึงวันนี้ ก็คงจะไม่มีโอกาสได้เห็นวงดนตรีในความทรงจำที่เราคิดถึงกลับมาเล่นกันให้เห็นอีกครั้ง

17

เส้นทางการโคจรครั้งต่อไปบนแผนที่โลกของ Plutonians

งานวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมาจบลงไปแล้ว แต่พวกเรายังมีแผนที่อยากจะพา  Plutonians ไปสู่ดินแดนอื่นๆดูบ้าง เพราะเราคิดว่ามันเป็นคอนเซปที่ค่อนข้างสากล งานในครั้งนี้ได้พิสูจน์แล้วว่ามีคนอื่นๆอีกมากมายที่เข้าใจสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร และเมื่อมันมีโอกาสเกิดขึ้นมาแล้ว ก็อยากจะพามันไปสถานที่อื่นๆ มันอาจจะเป็นการสร้าง Plutonians สไตล์คนเมืองเหนือให้เกิดขึ้นมาอีกครั้งก็ได้ ส่วนความหวังลึกสุดๆ เลยคือ พามันไปสู่ระดับโลก อาจจะดูมีโอกาสน้อยมากๆ จนเกือบจะเป็นศูนย์ แต่ถ้าได้ขึ้นชื่อว่ามีโอกาสแล้วมันก็คุ้มค่าที่จะลองพยายามเสี่ยงดู

18

กลุ่มดีไซเนอร์เลือดใหม่อย่าง JACK OF ALL TRADES  คือ 1 ในตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจลงมืออย่างสุดฝีมือทำในสิ่งที่พวกเค้าเชื่อ มองหาความท้าทายใหม่ๆเพื่อเป็นโอกาสการสร้างสรรค์ผลงานนรูปแบบที่ต่างออกไป  นำเสนอการออกแบบพื้นที่กิจกรรมความสัมพันธ์ reprogram ให้คนทั่วไปอย่างๆเราได้เข้าไปสัมผัส และไม่ว่าคุณอาจจะเป็นหนึ่งในคนที่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงาน Plutonians ที่ผ่านมาแล้ว แต่ยังซึมซับข้อความที่พวกเค้าตั้งใจจะสื่อสารออกมาไม่ได้ทั้งหมด  นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาเรื่องใหญ่อะไร เพราะสิ่งที่พวกเค้าฝากไว้ตอนท้ายคือ ” ขอแค่คนที่มางาน  Plutonians ของพวกเรา แล้วเค้าหยิบมือถือขึ้นมือส่งข้อความหรือโทรหาใครซักคนที่ครั้งนึงเคยทำหล่นหายไปจากความทรงจำ แค่นี้พวกเราก็บรรลุผลแล้ว “

19

ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.facebook.com/plutoniansproject?ref=ts&fref=ts

ขอบคุณ  clip vdo จาก  https://www.facebook.com/eyedropperfill?fref=ts