commercial building คูหาตึกแถวในกรุงเทพคืออาคารเชิงสัญญะของการพัฒนาเศรษฐกิจยุคเริ่มต้นในอดีต และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในเมืองหลวง ที่อยู่อาศัยแบบซ้อนชั้นแนวตั้งเพื่อประหยัดที่ดินถูกสร้างยึดติดเรียงรายกันเป็นแถวเป็นแนว จากวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เรามีบ้านและอาณาเขตไว้วิ่งเล่น ปลูกต้นไม้ ถูกย่อขนาดให้กระทัดรัดลงมากขึ้น เกิดเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประเภทหนึ่งที่แผ่ขยายไปสู่ทั้งคนพื้นเมืองและคนเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตึกแถวที่เราพบเห็นกันอยู่มักจะเป็นที่อยู่อาศัยและทำการค้า ประกอบธุรกิจขนาดย่อมในชุมชนที่หนาแน่น แหล่งธุรกิจกลางเมืองและชุมชนรอบเมือง แบ่งชั้นล่างเป็นร้านค้า ชั้นเหนือขึ้นมาเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่เก็บสินค้าชั่วคราว จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2551 พบว่าในประเทศไทย มีตึกแถวอยู่ร้อยละ 11.8 เป็นอันดับ 2 รองจากบ้านเดี่ยวที่มีอยู่ร้อยละ 79.8
โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ที่ไม่ว่าเดินเล่นหรือขับรถผ่านไปแถวไหนก็ยังคงมีร่องรอยของตึกแถวให้เราได้สัมผัสกันอยู่ ทั้งตึกแถวโบราณขายอาหารของอากงอาม่า หรือตึกแถวร้านค้าขายปลีกส่งเสื้อผ้าย่านกลางเมือง ก็มักจะล้วนมีหน้าตาคล้ายคลึงกันไปหมด จนเราไปสะดุดเข้ากับการออกแบบตึกแถวหน้าตาแปลกประหลาดจากเพื่อนบ้านรอบๆ หลังหนึ่งบนเส้นถนนสุรวงศ์ จึงอยากให้ผู้อ่านทุกคนมารู้จักกับผลงานการออแบบของคนไทยใน SIRI HOUSE
บ้านพักอาศัยในตึกแถวแนวใหม่
SIRI HOUSE เป็นโปรเจครีโนเวทอาคาร commercial building ตึกแถวเก่าในกรุงเทพฯ ของครัวครอบขนาดใหญ่ที่ประกอบธุรกิจจิวเวลรี่ขายเพชรเครื่องประดับ ทำให้อาคารทำหน้าที่เป็นทั้ง office & showroom shop ร้านจิวเวลรี่ที่ชั้นล่าง และส่วนพักอาศัยของสมาชิก 4 พี่น้องที่ด้านบน
ด้วยความต้องการของเจ้าของบ้านที่ต้องการปรับเปลี่ยนตึกแถวเก่าขนาด 2 คูหา ที่มีเนื้อที่ค่อนข้างจำกัดในรูปร่างคล้าย 4 เหลี่ยมคางหมุตอนลึก ( เพราะมีแปลนของตึกข้างหนึ่งเป็นลักษณะ 3 เหลี่ยมปลายแหลม) ที่อยากให้มีทั้งความโดดเด่นทางหน้าตารูปลักษณ์ สังเกตเห็นได้ง่ายเพื่ออำนวยประโยชน์ในเชิงธุรกิจแล้ว ก็ต้องการพื้นที่ภายในมีความหลากหลาย เหมาะสมลงตัวกับสมาชิกทุกคนในบ้าน ทั้งพื้นที่ public สาธารณะพบปะพูดคุยของทุกคนในบ้าน และพื้นที่ private เป็นส่วนตัวสำหรับสมาชิกพี่น้องแต่ละคน
โฉมหน้าใหม่จากตึกแถวเก่า
เพียงแค่เราเดินผ่านไปมาบนถนนเส้นนี้ย่อมต้องไปเด่นสะดุดตาไปกับหน้าตาของตึกแถวหลังนี้อย่างแน่นอน ลักษณะ facade ผิวหน้าอาคารที่แตกต่างกับตึกแถวข้างเคียงอย่างชัดเจน วัสดุและการออกแบบที่ใส่ความโมเดิร์นสมัยใหม่ลงไปมากขึ้น สถาปนิกนักออกแบบจาก idin Architect เลือกตีความมาจากลักษณะฟอร์มที่เป็นเหลี่ยมมุมของอัญมณี
เพชรพลอยที่เป็นธุรกิจของเจ้าของบ้าน มาลดทอนเส้นสาย เฉียงเอียง ให้เรียบง่ายลงแต่ยังคงความน่าสนใจ แล้วจึงประกบติดเข้าไปกับตำแหน่งหน้าต่างช่องกระจกของตัวบ้าน ซึ่งตำแหน่งช่องเปิดแต่ละแห่งก็เป็นการสื่อสารโดยตรงกับการใช้งานพื้นที่ภายใน แผ่นกระจกสูงแต่ละช่องคือหน้าต่างรับแสงบริเวณนั่งเล่นส่วนตัวใน Unit ห้องสมาชิกพี่น้องแต่ละคนภายในบ้าน รวมไปถึงแนวระแนงไม้ที่เชื่อมกับพื้นที่เปิดโล่งบนชั้นดาดฟ้าด้านบนสุดด้วยนั่นเอง
ตัวต่อตึกแถว
บ้านหลังนี้มีเนื้อที่รวมเกือบ 1000 ตร.ม. บนความสูง 6 ชั้น แบ่งออกเป็น 6 ส่วนประกอบด้วย 4 โซนพักอาศัย 1 โซนออฟฟิศ 1 พื้นที่ส่วนกลาง จัดวางอยู่ในตึกแถวขนาดแค่ 2 คูหา ถือเป็นความท้าทายของสถาปนิผู้ออกแบบเป็นอย่างมาก ต้องใช้เวลาเขียนแบบอาคารหลังใหม่อยู่หลายเดือน พัฒนารูปแบบจนออกมาคล้ายกับการต่อตัวต่อเกมส์ tetris ที่สลับซับซ้อน
unit พักอาศัยแบบ2ชั้น จะประกอบรวมกันอยู่ที่ชั้น 2-5 ชั้น 6บนสุดเป็นห้องนั่งเล่นและห้องทานข้าวสำหรับทุกคน ส่วนเชื่อมต่อแต่ละส่วนที่จะต้องเชื่อมติดกันอย่างเรียบเนียน ลื่นไหลในการใช้งานจริง ทำให้รวมแล้วใช้เวลาก่อสร้างไปกว่า 3 ปีครึ่ง ค่อยๆปรับโครงสร้าง เสริมความแข็งแรง ดีไซน์แต่ละจุดอย่างพิถีพิถัน การแบ่งโซน เชื่อมต่อแต่ละส่วนแบบมีปฏิสัมพันธ์กันก็ทำให้ได้ผลลัพธ์ออกมาที่สมาชิกพี่น้องทุกคนในบ้านพอใจ
ภายในห้อง Unit แบบ 2 ชั้น
ชั้น 6 พื้นที่รวมสำหรับสมาชิกทุกคน
กระดูกสันหลังและปอดของตึก 6 ชั้น
ด้วยความที่เป็นอาคารสูงถึง 6 ชั้น จึงมีลิฟท์ไว้ใช้งานในตัวอาคาร ติดตั้งไว้ด้านหลังของตึกแถว ปล่องลิฟท์ทำหน้าที่เป็นแกน core หลักของอาคาร คล้ายชิ้นส่วนกระดูกสันหลังที่เชื่อมต่อซี่โครงอาคารแต่ละชั้นเข้าไว้ด้วยกัน การเข้าถึงแต่ละฟลอร์ก็จะแยกไปเป็นทางเข้าพื้นที่พักอาศัยของพี่น้องแต่ละคน
จุดที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ siri house คือคอร์ทต้นไม้กลางอาคารทั้ง 2 จุด ออกแบบพื้นที่มุมเหลือเล็กๆด้านหลังสุด และพื้นที่แนวตั้งข้างปล่องลิฟต์ให้เกิดประโยชน์ ทำหน้าที่เป็นรูรับแสงแดดจากธรรมชาติจากด้านบนให้ส่องสว่างลงมาถึงพื้นที่ชั้นล่างๆ สีเขียวของต้นไม้จะช่วยสร้างความรู้สึกร่มรื่นภายในบ้าน พื้นที่ว่างที่สร้างขึ้นจะช่วยเพิ่มช่องหายใจให้กับอาคาร คล้ายช่องปอดขนาดเล็กที่ช่วยพาแสงแดดและมวลอากาศที่สดชื่นเข้ามาในบ้าน และช่องกระจกที่ทำให้สมาชิกทุกคนในบ้านมองเห็นกันและกัน สร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่แม้จะอยู่ตำแหน่งต่างระดับกัน สร้างบรรยากาศที่ไม่เหมือนอยู่ในตึกแถวเลย
Dtip : ลักษณะโครงสร้างของตึกแถวส่วนใหญ่จะมีด้านหน้าแคบและลึก ทำให้บรรยากาศภายในดูอุดอู้ อับชื้น เพราะแสงสว่างภายนอกส่องไปไม่ถึง ตัวอย่างการแก้ปัญหาของ siri house เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ การออกแบบหน้าต่าง facade ด้านหน้าเป็นกระจกขนาดใหญ่ และเพิ่มคอร์ทสีเขียวทางตั้งภายในอาคารจะช่วยลดความอึดอัด เพิ่มแสงสว่างจาก 2 ทิศทาง ต้นไม้จะช่วยรับหน้าที่เป็นมุมผ่อนคลายแบบธรรมชาติ เป็นแนวแกนหลักของอาคารที่จะเชื่อมพื้นที่ของทุกคนเอาไว้รวมกันได้อย่างดี
สถาปนิกออกแบบ : IDIN Architect (Jeravej Hongsakul , Wichan Kongnok, Thawin Harnboonseth)
Interior architect: Miss Jureerat Korvanichakul, Mrs. Sarin rangsikanbhum
Structural engineer : Mr.Pakanut Siriprasopsothorn
ภาพ : spaceshift
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก : http://www.contemporist.com/2015/09/03/before-after-a-dramatic-transformation-for-a-building-in-thailand/