อะไรคือเหตุผลให้สถาปนิกเกียรตินิยมอันดับหนึ่งลาออกจากหน้าที่การงานในเมืองหลวงกลับไปใช้ชีวิตที่ชนบท ? เปลี่ยนตัวเองจากมนุษย์เงินเดือนมาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เน้นการเกษตรแบบอินทรีย์ organic ปลอดสารพิษ เปลี่ยนจากการออกแบบตึกใหญ่ในเมืองมาเป็นที่พักขนาดเล็กในบ้านเกิดของตัวเอง เลือกเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่เห็นปลายทางล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างไร มีเพียงความมุ่งมั่นและซื่อสัตย์ต่อตัวเองเป็นพลังงานให้เดินหน้าต่อไป ด้วยแนวคิดหลักความพอเพียงกับความเคารพในถิ่นฐานบ้านเกิดของตน ว่ามีของดีไม่แพ้ที่อื่นเหมือนกัน
บทเฉลยของปริศนา คำตอบของคำถามทั้งหมดนั้นกำลังรอให้ผู้อ่านค้นหาอยู่ในหน้าบรรทัดถัดไปนี่เองครับ
ผืนดินแห่งความผูกพัน
ผมเองมีความเชื่อเหลือเกินว่า นักศึกษาที่เลือกเรียนคณะสถาปัตย์เกือบทุกคนมีรูปร่างความฝันแบบหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน ความฝันที่อยากจะออกแบบบ้านของตัวเองซักหลัง ไม่ว่าท้ายที่สุดแล้วจะลงเอยที่อาชีพสถาปนิกหรือไม่ก็ตาม ก็อยากนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา ออกแบบความสุขในพื้นที่ของตัวเอง กลับไปพัฒนาบ้านเกิด เช่นเดียวกันกับ คุณเบสท์ วิโรจน์ ฉิมมี ที่ตัดสินใจกลับมาทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง
เบสท์เกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกรที่ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง เมืองแห่งฝนแปดแดดสี่ ภูมิประเทศที่มีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี เค้ามีโอากาสได้เข้าไปเรียนต่อคณะสถาปัตยกรรมที่กรุงเทพ จบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เข้าทำงานเป็นสถาปนิกในบริษัทออกแบบ ใช้ชีวิตเป็นพนักงานหาเช้ากินค่ำเหมือนคนอื่นทั่วไปๆ ในเมืองหลวง แต่จุดหนึ่งที่แตกต่างออกไป คือเค้ายังคงเพาะเลี้ยงความฝันสมัยวัยรุ่นเอาไว้ ความฝันที่อยากจะกลับไปสร้างบ้านให้พ่อกับแม่ที่ต่างจังหวัด ใช้วิชาความรู้พัฒนาท้องถิ่นผู้ให้กำเนิดและเติบโตมานานหลาย 10 ปี ก่อนจะย้ายเข้ามาเรียนต่อ ระหว่างทำงานเค้าก็คอยสั่งสมประสบการณ์ความรู้การทำงานจริง เพื่อรอให้ถึงวันที่เค้าพร้อมจะกลับมาสานต่อแผนการความฝันให้สำเร็จ
และช่วงเวลานั้นก็มาถึง ในตอนที่เค้าอายุ 26 ปี คุณแม่เกิดประสบอุบัติเหตโดนรถชน ทำให้ขาเคลื่อนไหวได้ไม่สะดวกเหมือนปกติ ทำให้อยากจะกลับมาดูแลแม่และเป็นโอกาสเหมาะที่จะเริ่มลงมือก่อสร้างความฝันที่คิดเอาไว้หลายปีให้เป็นรูปเป็นร่าง จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดาคนนึง กับประสบการณ์การทำงาน 3 ปีกับ 8 เดือน พร้อมกับเงินเก็บก้อนหนึ่ง มุ่งหน้ากลับสู่ผืนดินแห่งความผูกพันธ์อีกครั้ง
เปลี่ยนข้อจำกัดเป็นแรงผลักดัน
กลายเป็นความท้าท้ายเมื่อสถาปนิกต้องดีไซน์ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เมื่อกลับมาถึงบ้าน เบสท์เลือกที่จะรีโนเวทบ้านหลังเก่าที่เค้าเติบโตมาด้วยเงินเก็บจากการทำงานที่กรุงเทพ เริ่มต้นปรับปรุงที่ห้องน้ำ เพราะอยากจะให้แม่ที่ขยับขาไม่ค่อยสะดวกได้นั่งชักโครก ได้งานห้องน้ำใหม่ที่สะดวกสบาย ลงมือปรับปรุงทาสี กั้นพื้นที่เปียก-แห้ง เพิ่มความน่าสนใจด้วยไม้ไผ่ในระแวกบ้าน มาตากแห้ง แช่น้ำ ทาน้ำยากันมอด ปลวกและความชื้น มาทำเป็นผนังส่วนฝักบัวอาบน้ำ ช่วยกันกับคุณพ่อทำการรีโนเวทไปยังส่วนต่างๆในบ้าน ห้องนอน ห้องทำงาน ส่วนนั่งเล่น ชั้น 1 และชั้น 2 จนเสร็จสมบูรณ์ทั้งหลัง ด้วยทุนค่าใช้จ่ายยังอยู่ในหลักหมื่นบาท
การรีโนเวท ออกแบบดีไซน์ในทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด กลับกลายเป็นแรงผลักดันให้เค้าค่อยๆ คิดหาวิธีแก้ไข นำสิ่งที่มีอยู่นำมาปรับใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด สำรวจและสังเกตุวัสดุจากระแวกบ้านก่อน แล้วนำมาทดลองคิดและออกแบบใช้งานอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงามแต่ต้องตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตจริงด้วย
แม้จะมีงบน้อย ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักได้ จึงต้องเก็บโครงสร้างเดิมไว้ เลือกติดเติมฝ้า ตกแต่งทาสีใหม่โทนหลักของบ้านเป็นขาว-น้ำตาล สีขาวเน้นความสะอาด สว่าง โปร่งโล่งมากขึ้นจากบ้านเก่า ใช้สีน้ำตาลจากไม้มาช่วยเพิ่มความรู้สึกอบอุ่นให้กับบ้าน และเพื่อดีงเอารู้สึกของทะเลกับไร่ของอำเภอกะเปอร์ ชุมชนเพาะปลูกติดทะเลในจังหวัดระนอง มาผสมผสานกันอยู่ในบ้าน จึงหยิบเอาเชือกของชาวประมงใช้มัดประดับที่ไม้ไผ่ คล้ายลักษณะการมัดผูกของบ้านพักแถบริมทะเล
เกษตรพอเพียง สถาปัตยกรรมเพียงพอ
จากสถาปนิกผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว บนแนวทางของความพอเพียง ใช้เวลาตลอด 2 ปีที่กลับมาบ้านลองผิดลองถูก ลงมือสร้างฟาร์มขนาดเล็กพอที่กำลังแรงและเนื้อที่จะเอื้ออำนวย เพาะปลูกพืชอินทรีย์แบบผสมผสาน มีทั้งผักและผลไม้ที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ใช้สมุนไพรเป็นยากำจัดแมลงเสียแทน ผลผลิตที่ได้มานอกจากทำอาหารทานกันในบ้าน แบ่งปันเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องแล้ว ก็จะนำไปขายในตลาด ส่งผักสดที่มั่นใจว่าปลอดสารพิษแน่นอน ส่งต่อสิ่งดีๆจากบ้านไร่ให้คนในชุมชนแถบนั้นได้ลองชิม ตามสโลแกนที่ว่า “สิ่งเล็กๆ จากในไร่ ด้วยหัวใจ …ถึงมือคุณ”
แนวคิดความพอเพียงไม่ได้หยุดอยู่ที่การทำการเกษตรเท่านั้น แต่มันสะท้อนอยู่รูปแบบสถาปัตยกรรมของอดีตสถาปนิกคนนี้เกือบทั้งหมด นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาปรับใช้กับบ้านที่อยู่อาศัย เรือนครัว จนถึงบ้านพัก farm stay บ้านไร่ขนาดเล็ก ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าไปเยี่ยมชมในสวนผักของเค้า เลือกใช้โครงสร้างไม้ต่อเติมเป็นบ้านที่ดูเรียบง่าย เสาต้นไผ่ หลังคาจาก รักษากลิ่นไอบรรยากาศตามธรรมชาติ ภายในที่พักก็ตกแต่งโทนขาว-น้ำตาลคล้ายกับบ้านของเค้าเอง เป็นการออกแบบที่ใส่ใจในรายละเอียดเอามากๆ เรียกได้ว่าตั้งใจมอบสิ่งที่ดีให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมด้วยความจริงใจ
ความสำเร็จไม่ได้มาหาแค่ข้ามคืน
การลาออกจากงานในเมืองหลวง จากอาชีพสถาปนิกที่แม่เคยคุยไว้กับเพื่อนบ้าน มาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากอุปสรรคเรื่องบประมาณ การลงมือเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ลงมือลองผิดลองถูกกับการเกษตร organic แล้ว อุปสรรคของสังคมแวดล้อมก็เป็นอีกเรื่องที่เค้าจะต้องพิสูจน์และผ่านมันไปให้ได้ คำนินทา คำถากถางถาโถมเข้ามาอย่างสามัคคี แต่ก็ไม่สามารถสร้างรอยแผลให้กับจิตใจที่แข็งแกร่งของเค้าได้ การอดทนทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นต่อไปเป็นหนทางเดียวที่จะพิสูจน์ตัวเองได้ บากบั่นทำภาพฝันของตัวเองให้ปรากฎชัดแก่สายตาคนอื่น จนถึงวันที่เสียงนินทาแปรเปลี่ยนเป็นคำชื่นชมได้อย่างในตอนนี้
ส่งต่อความสุขจากถิ่นเกิดของตัวเอง
กับเมืองที่นักท่องเที่ยวฝั่งทะเลใต้มักจะเผลอมองข้ามไปอย่างจังหวัดระนองแล้ว บ้านไร่ไออรุณกำลังจะเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวอีกหลายคน และอำเภอกะเปอร์อาจจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่คุ้นหูคนทั่วไปมากขึ้นทีละน้อย ความภาคภูมิใจจากคนท้องถิ่นธรรมดาคนนึงกำลังส่งทอดไปถึงคนอื่นๆที่ได้รับรู้เรื่องราวของเค้า พร้อมแบ่งปันเรื่องราวผ่านเครื่องมือสมัยใหม่ socail network ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างจังหวัดที่อยากจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้คึกคักอีกครั้ง
การสร้างอาคารท่องเที่ยวมีวิธีการที่มากกว่าแค่ไปยกเอาบ้านเมืองของต่างประเทศมาปักลงบนผืนดินของเราเอง รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ถ่ายเอกสารออกมา ไม่ว่าจะเหมือนจริงแค่ไหน ยังไงก็ยังเป็นของ copy ต้นฉบับที่ขาดการเชื่อมต่อกับบริบทแวดล้อมทางวัฒนธรรมและสภาพบ้านเมืองโดยรอบ ทำให้อิฐหินปูนทรายที่ลงแรงไปนั้นทำหน้าที่เป็นเพียงหน้าหลังเพื่อการถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เราทุกคนอาจต้องหยุดคิดและทบทวนให้ดี หยุดออกควานหาของที่เราไม่มี จนเราไปว่าเรามีของมีค่าอะไรบ้างอยู่ในผืนดินของพวกเราทุกคน
เมื่อเติบโตขึ้นทุกคนรู้ดีว่า การลงมือทำความฝันในวัยเยาว์ของตัวเองให้เป็นจริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีข้อจำกัดมากมายที่ต้องแบกรับเอาไว้บน 2 บ่า ความหนักหนาของมันอาจทำให้ 2 มือของเราไม่มีเรี่ยวแรงเหลือพอที่จะทำความฝันนั้นได้ต่อไป สิ่งที่ต้องพึ่งพาคือความเชื่อมั่นและซื่อสัตย์ต่อตนเอง อดทน บากบั่น เริ่มทำมันซะตั้งแต่วันนี้ อย่าให้ข้อจำกัดเรื่องเวลา ทรัพยากร หรือเงินทุนมาเป็นตัวหยุดยั้งเราได้ ใช้ความรู้ความสามารถเปลี่ยนอุปสรรคเป็นแรงผลักดัน เพื่อการกระเถิบตัวที่ละน้อยเข้าหาความสุขจากการได้ทำตามฝัน ความสุขที่อาจจะแพงเกินกว่าเงินสกุลไหนจะซื้อมาได้
สำหรับคนที่สนใจอยากจะติดต่อเข้าพัก Farm stay บ้านไร่ ไออรุณ สามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดและเรื่องราวที่น่าประทับใจเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/baanraiiarun/?fref=ts
ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก https://www.facebook.com/baanraiiarun/?fref=ts