OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

สถาปนิกรีโนเวท “บูรณะสถาน” เพราะทุกอาคารมีความทรงจำอาศัยอยู่

เราทุกคนมีบ้าน ไม่ว่ามันจะเป็นของส่วนตัว เช่าอาศัย ขนาดหลังใหญ่ หรือว่าเป็นหลังเล็กๆ ก็ล้วนถือเป็นสถานที่ที่เราใช้อาศัยอยู่ด้วยความรู้สึกผูกพัน คำว่าบ้านจึงเป็นตัวแทนของสถานที่แห่งความอบอุ่นและความสบายใจ คล้ายคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีที่ไหนสบายเท่าบ้านของเรา” ยิ่งนานวันยิ่งเรามีอายุมาก ก็จะยิ่งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับบ้านมากขึ้นตาม กลายเป็นความทรงจำฝากอยู่ในสถานที่นั้นๆ มุมที่เคยนอนเล่น มุมที่เคยหนีมาร้องไห้คนเดียว และสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้พร้อมกับอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปีคือความร่วงโรยแก่ชรา ไม่เว้นจะเกิดขึ้นกับอาคารบ้านเรือนด้วยเหมือนกัน แล้วถ้าแพทย์คือผู้รักษาอาการเจ็บป่วยของผู้คน งั้นใครจะเป็นผู้เยียวยาบ้านให้กลับมาสุขภาพแข็งแรงได้อีกครั้ง

บูรณะสถาน จากงานซ่อมสู่งานสร้าง

2

ในยามบ่ายวันหนึ่งที่แดดกำลังผลาญเหงื่อโทรมกาย เราได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมสถานที่ทำงานและพูดคุยกับ 3 สาวสมาชิกแห่งสตูดิโอบูรณะสถาน  ประกอบไปด้วย แพร – แพรไพลิน จันทนโชติวงศ์ (สถาปนิก) ,เฟรนด์ – ชิดชนก พลีสุดใจ(วิศวกร), อัง- อังสนา บุญเกษม (สถาปนิก) ตามลำดับซ้ายไปขวาจากในรูป การหลีกหนีความร้อนระอุจากข้างนอกมาเข้าสู่พื้นที่วงสนทนาเล็ก ๆที่สนุกสนานในออฟฟิศบนชั้น 4 อาคาร One Udomsuk  แนบชิดสนิทกับสถานีรถไฟฟ้า BTS อุดมสุขในระยะแค่ไม่กี่ก้าว

4

“บูรณะสถาน” เป็นชื่อที่ให้ความหมายแบบตรงไปตรงมา  เข้าใจได้ง่าย ถึงการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงอาคารและบูรณะสิ่งปลูกสร้าง เริ่มต้นมาจากช่วงแรกๆที่ออฟฟิศก็รับงานออกแบบทั่วไป มีงานเกี่ยวกับการซ่อมแซมบ้านเข้ามาสะสมกันมากขึ้นเรื่อยๆ มีลูกค้าที่ต้องการจะรีโนเวทแบบจริงจัง ไม่ใช่แค่ซ่อมแซมเล็กๆน้อยๆ แต่อยากจะลงมือฟื้นฟูชิ้นงานสถาปัตยกรรมให้สมบูรณ์ ทีมงานจึงเริ่มมาประชุมกันและสังเกตว่าเมืองที่เราอยู่มีอาคารใหม่ๆเกิดขึ้นเกือบทุกวัน แล้วอาคารเก่าๆ ที่มีอยู่เดิมแล้วกลับถูกทิ้งไว้ไม่มีใครดูแล ยังขาดบุคคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับด้านนี้โดยเฉพาะ ถ้าคนรุ่นใหม่อย่างเรายังไม่สนใจ

3

มันก็เหมือนการทอดทิ้งทรัพยากรอิฐปูนที่มีอยู่แล้วให้เสื่อมสภาพลงไป เหมือนเห็นคนที่กำลังป่วยแล้วไม่เข้าไปช่วยรักษา พวกเค้าจึงตัดสินใจมอบคุณค่าให้กับสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นอีกครั้ง

ความท้าทายที่งานสร้างใหม่ไม่มี

5

การทำงานรีโนเวทจะมีโจทย์หรือข้อจำกัดอยู่เสมอ ทั้งในแง่ของโครงสร้าง กฏหมาย รูปแบบอาคารใหม่ที่อยากได้  ทำให้การดีไซน์เพื่อการแก้ปัญหานั้นกลายเป็นเรื่องน่าท้าทาย  การทำงานของบูรณสถานขั้นแรกคือการเข้าไปสำรวจอาคารเดิม  จากแบบแปลนและสถานที่จริง  ศึกษาความเป็นมา ฟังชั่นการใช้งานเก่าคืออะไร  แล้วความต้องใหม่การของลูกค้าว่าอยากจะปรับเปลี่ยนอาคารออกมาเป็นรูปแบบไหน ดีไซเนอร์จึงจะเข้าไปจัดการกับพื้นที่ space เดิมของอาคารให้สอดคล้องกับการรีโนเวทใหม่ได้ในอนาคต พร้อมกับการรักษาวิถีชีวิตแบบเดิมหรือความทรงจำบางอย่างที่เจ้าของเดิมยังคงอยากเก็บเอาไว้

12184031_952908791433616_2476314968337206280_o

การพูดคุยหารือเรื่องไอเดียจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ว่าจุดประสงค์ของเจ้าของบ้านไปในทางเดียวกับนักออกแบบหรือปล่าว บูรณะสถานเป็นออฟฟิศที่มีวิสัยทัศน์การออกแบบอาคารที่เป็นมิตรกับบริบทเมือง ให้มีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนแวดล้อม มากกว่าเพื่อการทำการค้าหรือดีไซด์ที่หวือหวาเพียงอย่างเดียว   

12080042_939407679450394_3292883656234136440_o

เจ้าของบ้านทุกคนๆก็อยากได้บ้านที่สวยงาม แต่การออกแบบที่ดีนอกจากจะได้ความสวยแล้วมันก็จะต้องตอบโจทย์ด้านอื่นๆด้วย ดังนั้นมันจะเป็นการทำงานร่วมกัน ทั้งเจ้าของบ้านและสถาปนิกผู้ออกแบบ ช่วยกันคิดช่วยกันทำ เมื่อเรามีความคิดไปในแนวเดียวกันก็จะสื่อสารรับฟังกันได้ง่ายขึ้น แม้ว่าบางครั้งเราอาจจะต้องขอปฏิเสธรับงานจากลูกค้าไปบ้าง  ถ้าไอเดียปรับจูนแล้วไม่ตรงกันจริงๆ เพราะเราอยากให้งานที่ออกมาก็จะเป็นงานที่ดี เสนอแนวทางเราเห็นว่าเป็นประโยชน์แล้วเค้ารับฟังช่วยกันต่อยอดพัฒนา   ผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมาก็จะถูกใจทั้งสถาปนิกและเจ้าของบ้านด้วย

จัดวางความทรงจำเก่าในรูปแบบใหม่

7

บ้านทุกหลังมักจะมีประวัติศาสตร์ที่เจ้าของบ้านเคยหลงลืมไปแล้ว พวกเค้าก็จะเข้ามาช่วยขุดๆๆ  ของเหล่านั้นขึ้นมาบอกเล่าใหม่อีกครั้ง  โดยใช้ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมการตกแต่ง  มาแลกเปลี่ยนกันกับความต้องการเจ้าของบ้าน  เสนอความเห็นกัน “พี่ชอบสีนี้ อันนี้ ดูให้หน่อยว่าเหมาะมั้ย?” เพราะเราทำงานร่วมได้ จูนความคิดไปในทางเดียวกันแล้ว หน้าที่ของเราก็จะเข้าไปช่วยให้คำแนะนำและตัดสินใจ อะไรที่ดูมากไปหรือน้อยไป ควรเพิ่มเติมตรงไหนบ้างที่ยังอยู่บนพื้นฐานความเป็นตัวเองของบ้านอยู่    จัดวางของเก่าด้วยรูปแบบใหม่ๆ  หน้าต่างบานเก่าที่เคยอยู่ตรงนี้ลองไปอีกที่นึง หรือว่าแพทเทินชองช่องลมแบบนี้ลองเอาไปวางที่ราวกันตกดู  ก็จะทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ในแพทเทินเดิมๆ ได้ และยังช่วยทบทวนความจำให้คนที่พบเห็น ใช้ความรู้ทางด้านดีไซน์เข้าไปรื้อความทรงจำของผู้ที่เคยอาศัยอยู่ได้ด้วยไปในตัว

ประสิทธิภาพโครงสร้างเดิม

8

แล้วทางฝั่งของวิศวกรละ เรื่องประสิทธิภาพโครงสร้างเดิมของบ้านก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงให้มากด้วยไม่แพ้กัน ตามกระบวนการแล้วคงต้องขอแบบก่อสร้างจากเจ้าของบ้านเก่าก่อน  แม้จากประสบการณ์ทำงานส่วนใหญ่จะไม่มีให้ก็ตาม  เพราะบ้านที่เราเข้าไปทำก็มาอายุอานามมีหลายสิบปีแล้วไม่หลงเหลือเอาไว้ให้  หรือไม่ก็เป็นบ้านสมัยเก่าที่ชาวบ้านสร้างกันขึ้นมา เราเลยไม่รู้ว่าฐานรากเดิมเค้าเป็นยังไง ทำให้การต่อเติมเป็นเรื่องที่ต้องคิดอย่างรอบคอบ  วิธีที่แนะนำเวลาเป็นเคสแบบนี้คือเลือกจัดฟังชั่นใหม่ ปรับเปลี่ยนยืดขยายเอาจากพื้นที่เดิม มาปรึกษากันว่าจริงๆแล้วเจ้าของบ้านต้องการพื้นที่อะไรเพิ่มบ้าง สถาปนิกสามารถแก้ปัญหานั้นให้อยู่ในก้อนอาคารเดิมได้มั้ย  การเพิ่มชั้นลอยหรือการสร้างพื้นที่ใช้งานแนวตั้งก็เป็นวิธีที่ควรเก็บมาพิจารณา

910

แต่ถ้าอยากจะต่อเติมเพิ่มขึ้นจริงๆ บ้านเก่ามี 2 ชั้นอยากได้ชั้น  3 เพิ่ม ก็ต้องใช้กระบวนการทางวิซกรรมเข้าไปช่วย ใส่น้ำหนัก load ลงไป ตรวจเชคการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างรับน้ำหนักเดิม สำรวจชั้นดิน ก็ล้วนเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาก่อนจะยืนยันว่าจะต่อเติมเพิ่มได้มากน้อยแค่ไหน และกำลังเบื้องหลังอีกแรงหนึ่งที่จะมาช่วยกันสร้างสรรค์งานแต่ละโปรเจคให้ลุล่วงได้ ก็คือทีมช่างผู้รับเหมา คนงานช่างฝีมือมือเก๋าที่มีประสบการณ์ คนคุมงานไว้วางใจได้  แม้ในโครงการขนาดใหญ่ก็ควบคุมคุณภาพทีมรับเหมารายย่อย sub contact ได้ในระดับมาตรฐานเดียวกัน

One Udomsuk

11 12 13

อาคารพาณิชย์เก่าอายุกว่า 35 ปีที่เคยถูกเซ้งและปล่อยทิ้งเอาไว้จนเป็นแหล่งเสื่อมโทรม เกิดอาชญากรรมบ่อยครั้ง  แต่เดิมพื้นที่ด้านล่างใช้ขายของ ด้านบนพักอาศัยตามปกติ ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี มีถนนด้านหน้าเป็นทางลัดเชื่อมถนนใหญ่ แต่เพราะถูกละเลยจากผู้คน ปล่อยทิ้งเศษขยะ ศากปรักหักพัง ไม่มีใครเข้ามาดูแลทำให้กลายเป็นทางผ่านที่น่ากลัว ไม่มีใครอยากเดินผ่านเพียงตัวคนเดียว เจ้าของโครงการก็คิดอยากจะปรับปรุงพื้นที่ จนได้มาพูดคุยกับทีมบูรณะสถานให้เข้ามารับหน้าที่ปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ด้วยงบประมาณที่มีอย่างจำกัดและเล็งเห็นถึงวัสดุเหลือใช้จากอาคารเดิมอีกจำนวนมาก จึงเกิดการผสมผสานวัสดุเก่า ของที่คนเคยมองว่าเป็นขยะ ไม้ปูพื้นห้อง เหล็ก แผ่นสังกะสีจากแคมป์คนงานก่อสร้าง  ชุดสุขภัณฑ์  กลายมาเป็นวัสดุหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมอย่างน่าสนใจ ผสมผสานความแตกต่างไว้ด้วยสายตาของดีไซเนอร์

14 15 16

นอกจากนั้นยังเป็นการเปลี่ยนพื้นที่การใช้งานให้เอื้อประโยชน์แก่ชุมชน จากตึกแถวเก่ากลายมาเป็น community mall  ที่คนสัญจรทั่วไปสามารถเข้ามาใช้เป็นทางเดินที่จัดไว้ ยอมแบ่งพื้นที่ด้านหน้าของตึกแถวเดิมทุบผนังเก่าออกให้เป็นพื้นที่สาธารณะ เชื่อมต่อความสะดวกสบายจากพื้นที่อันตรายในสายตาคนอื่นให้เกิดขึ้นได้  มีจำนวนผู้คนหลายพันคนต่อวันลงมาจากสถานีบีทีเอสแล้วก็เลือกใช้เส้นทางเดินในตึก One Udomsuk  มีเสียงเพลงให้ฟัง  มีห้องน้ำฟรีไว้บริการ เมื่อมีคนเดินผ่านมากๆเข้า ร้านค้าที่มาเช่าพื้นที่ขายก็ได้ประโยชน์ตามไปด้วย  ระหว่างเดินทางกลับบ้านก็เลือกแวะเข้าไปทานอาหาร จับจ่ายใช้สอยกับร้านค้าที่มาเช่าพื้นที่อยู่ได้ง่ายขึ้น มีพื้นที่ทำงาน มีอาชีพต่างๆเกิดขึ้นมันเหมือนกับว่าอาคารนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแถบนี้ไป เข้าไปมีส่วนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนจริงๆ  เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน  ซึ่งเรื่องโปรเจคแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเจ้าของโครงการไม่ได้เห็นความสำคัญของการสร้างมูลค่าให้กับชุมชนโดยรอบ รับฟังสิ่งที่ทีมออกแแบบนำเสนอไป จนทำให้มันเกิดขึ้นเป็นอาคารอย่างทุกวันนี้

17

ออฟฟิศบูรณะสถาน

18 19

ชาวบูรณะสถานตกลงเลือกชั้น 4 ของอาคาร One Udomsuk เป็นที่ตั้งออฟฟิศขนาดประมาณ 100 กว่าตร.ม.  ด้วยเหตุผลสนับสนุนเรื่องที่ตั้งในเมือง เดินทางสะดวก มีร้านค้าอุปโภคบริโภคอยู่ไม่ไกล แถมมีพื้นที่ดาดให้ใช้งานเสริม ยังคงคอนเซปการใช้วัสดุเก่าที่หลงเหลือจากการรีโนเวทวันอุดมสุข คอมมิวนิตี้มอลล์มาใช้งานตกแต่งภายในออฟฟิศ จัดสรรพื้นที่การทำงานแบบเน้นความผ่อนคลาย มีมุมนั่งเล่นสอดแทรกตามจุดต่างๆในออฟฟิศ  เพราะเชื่อว่าการสร้างภาวะสบายจะมีส่วนช่วยผลิตไอเดียที่ดีออกมาได้ เป็นพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีคุณภาพโดยไม่จำเป็นต้องคร่ำเคร่งเสมอไป สร้างออฟฟิศให้เป็นเหมือนบ้านที่ทุกคนสามารถลุกจากโต๊ะทำงานประจำตัวไปคิดงานที่เก้าอี้ตัวอื่นๆแบบไม่จำเจ จะขึ้นไปสูดอากาศบนดาดฟ้าหรือมุมเล็กนั่งเกากีต้าร์ฟังเพลงไปก็ได้ไม่ว่ากัน

20 21 22

ในวันที่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  อายุวัยเปลี่ยนไป อาชีพเปลี่ยนไป วิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป  รุ่นพ่อแม่เราเป็นอย่างนึง รุ่นเราก็เป็นอย่างนึง  มันจึงจำเป็นต้องมีการปรับบางอย่างให้สอดคล้องกับปัจจุบัน แล้วก็ส่งไปอนาคตได้ด้วย อยากให้ลองมองความหมายของการรีโนเวทในความหมายใหม่ ไม่ใช่ว่าจะต้องคงทุกอย่างไว้ตามแบบเดิมทั้งหมด เราต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือเนื้อวัตถุดิบหลัก แล้วอะไรที่เป็นแค่เครื่องปรุงประกอบ จงเลือกรักษาแก่นไว้ ไม่ใช่แค่กลิ่นเพราะมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดตามวิธีการปรุงรส เราต้องคิดกันออกไปให้ไกลมากขึ้นไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมมากจนเกินไป สู่รีโนเวทดีไซน์แบบร่วมสมัย เพื่อฟื้นคืนอาคารเก่าของเราให้กลับมามีชีวิตจริงในยุคสมัยใหม่ไปได้อีกนาน

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก บูรณะสถาน และเข้าไปพูดคุยกับพวกเธอเพิ่มเติมได้ที่ได้ที่  https://www.facebook.com/buranaexperience/ และ  http://www.burana.co.th/