อาคารของ Bawa ไม่ได้เป็นเพียงแค่ก้อนอิฐหรือแท่งปูน แต่มันเป็นผลงานที่แสดงออกถึงอารมณ์ของสิ่งไม่มีชีวิตร่วมกับธรรมชาติแวดล้อมได้ในเวลาเดียวกัน
ย้อนไปเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน ในยุคที่งานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) กำลังได้รับความนิยมไปทั่วทุกมุมโลก มีสถาปนิกเอเชียคนหนึ่งที่กล้าพลิกโฉมแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมในตอนนั้น นำเสนอการผสมผสานเอกลักษณ์และวัสดุพื้นถิ่นในเอเชียใต้ให้กลมกลืนเข้ากับภาษาของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ก่อเกิดเป็นสไตล์อาคารร่วมสมัยในพื้นที่เขตร้อนที่รู้จักกันดีในชื่อ “Tropical Modernism”
จากนักกฎหมายสู่สถาปนิก
ก่อนจะมาเป็นสถาปนิกอันโด่งดัง Geoffrey Bawa เป็นเพียงเด็กชายธรรมดาชาวศรีลังกาเชื้อสายอังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1919 ในครอบครัวนักกฎหมายที่ประสบความสำเร็จและร่ำรวย เข้ารับการศึกษาครั้งแรกที่ Royal Collage ในกรุงโคลัมโบ ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อวิชาเอกวรรณคดีอังกฤษ และวิชาด้านกฎหมายจนได้เป็นเนติบัณฑิต เริ่มฝึกงานว่าความในฐานะทนายความอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
จนหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 Bawa ก็เดินทางกลับสู่ประเทศศรีลังกา มาเริ่มทำงานเป็นนักกฎหมายอย่างเต็มตัวได้ไม่นาน จุดเปลี่ยนในชีวิตก็มาถึง เมื่อเขาต้องสูญเสียมารดาอย่างกะทันหัน ด้วยความเสียใจจึงตัดสินใจยุติอาชีพนักกฎหมาย แล้วออกเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลกหวังจะพักชีวิตและตั้งหลักใหม่ ตั้งแต่แถบประเทศเอเชียตะวันออก ข้ามเข้าอเมริกา และประเทศโซนยุโรปนานเกือบ 2 ปี… ชายหนุ่มวัย 29 ปี กลับมายังแผ่นดินเกิดอีกครั้ง หาซื้อที่ดินผืนใหญ่ใกล้ชายฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศศรีลังกา ตั้งใจเปลี่ยนป่าสวนยางให้กลายเป็นบ้านของตนเอง พร้อมสวนสวยตามแบบอิตาเลี่ยนสไตล์ ในแบบที่เคยประทับใจระหว่างการเดินทาง มาปรับใช้ให้เข้ากับภูมิอากาศเขตป่าร้อนชื้น
แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จากคนที่ไม่มีประสบการณ์และความรู้เรื่องการออกแบบเลย เขาจึงขอเข้าเป็นสถาปนิกฝึกหัดในบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรม Edwards, Reid and Begg ก่อนที่จะตัดสินใจว่า เขาควรเดินทางไปร่ำเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรมที่ประเทศอังกฤษเพิ่มเติม ในฐานะนักศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมที่อายุมากที่สุดของชั้นเรียน ที่ Architectural Association School of Architecture (AA) ในกรุงลอนดอน Bawa ตั้งใจศึกษาหาความรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมการกลับมาเริ่มต้นอาชีพสถาปนิกในประเทศศรีลังกาด้วยวัย 38 ปี
Dtip : นายพลตรี Bevis Awa พี่ชายของ Geoffrey Bawa เป็นทั้งนายทหารและทำงานเป็นนักออกแบบสวน Landscape ที่มีชื่อเสียงเช่นกันในประเทศศรีลังกา
สถาปัตยกรรมตะวันตก สู่ ตะวันออก
แม้จะเริ่มต้นช้ากว่าคนทั่วไป แต่ Geoffrey Bawa ก็ค่อยๆ พัฒนาตนเองด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ จนเมื่อมีโอกาสได้ร่วมงานกับ James John Ulrik Plesner สถาปนิกชาวเดนมาร์ก มาช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานในสไตล์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สะท้อนความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น สภาพภูมิอากาศ-ภูมิประเทศ มาปรับใช้กับเทคโนโลยีการก่อสร้างและรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ทั้งงานอาคารโรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรมและบ้านพักส่วนบุคคล จนได้รับขนานนามว่าเป็น Topical Modernism สถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัยสไตล์พื้นที่เขตร้อน
Heritance Kandalama โรงแรมระดับ 5 ดาวที่ตั้งอยู่ติดเนินเขา ปล่อยให้ป่าสีเขียวกลืนเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับอาคาร
เมื่อผลงานเริ่มมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ Bawa จึงได้มีโอกาสร่วมงานกับสถาปนิก นักออกแบบชาวศรีลังกาคนอื่นๆ โดยใช้คอนเซ็ปต์การนำวัสดุท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์งานออกแบบเชิงร่วมสมัย จุดประสงค์เพื่อช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญา และงานฝีมือในประเทศศรีลังกา หลังยุคความเสียหายจากการโดนล่าอาณานิคม
พื้นที่เปิดกลางแจ้งในมหาวิทยาลัย The University of Ruhuna
ตัวอย่างผลงานอืนๆ
Lunuganga Estate บ้านพักตากอากาศส่วนตัว
( ค.ศ. 1948–1998)
บ้านพักส่วนตัวของ Geoffrey Bawa คืองานทดลองแนวคิดแบบผสมผสานชิ้นแรกของตัวเค้าเอง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ Lunu ในทำเลที่มองเห็นวิวงดงาม เป็นผลงานที่เกิดจากสั่งสมประสบการณ์เดินทางและแนวคิดที่ได้ร่ำเรียนมาเกือบครึ่งชีวิต ออกแบบเส้นสายอ่อนช้อยอันเป็นเอกลักษณ์ รูปฟอร์มอาคารแบบยุโรปสมัยใหม่ถูกเติมแต่งรายละเอียด ของตกแต่งแบบ Tropical ศรีลังกาพื้นถิ่นลงไป อีกทั้งเทคนิคการเลือกจับคู่โทนสีจากวัสดุที่นำมาใช้ และการไล่ระดับแสงและเงาที่ตกกระทบลงบนผนัง ที่หลังจาก Bawa เสียชีวิตไป ก็เปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชม
ภาพวิวริมแม่น้ำ Lunu
สร้างกลิ่นไอของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ให้ปรับสภาพเข้ากับพื้นที่เอเชียใต้ที่มีอากาศแบบร้อนชื้น
เลือกใช้ประติมากรรม งานศิลปะมาประดับพื้นที่ภายในอาคารและในสวน
ตัวบ้าน สนามหญ้า สระน้ำ งาน Landscape ในสวน ถูกดีไซน์ให้เชื่อมต่อ Space ไหลเวียนถึงกันได้ทั้งหมด ทั้งในแนวทางราบแบบเป็นเส้นตรง และการเชื่อมต่อด้วยบันไดในพื้นที่เล่นระดับสูงต่ำแตกต่างกัน
Sri Lankan Parliament Building อาคารรัฐสภาศรีลังกา
( ค.ศ. 1979–1982)
ได้รับเกียรติจากรัฐบาลศรีลังกาให้เป็นปูชนียบุคคลของชาติและผู้ออกแบบอาคารรัฐสภาของประเทศ โดยใช้ความรู้จากความเป็นนักกฎหมายเก่าและสถาปนิกแบบร่วมสมัย มาสร้างอาคารขนาดใหญ่โตที่ภายนอกดูแข็งแรง โอ่อ่า เป็นทางการ แล้วแอบซ่อนความอ่อนช้อยสวยงามตามลักษณ์ทางวัฒนธรรมของศรีลังกาเอาไว้ภายใน
Geoffrey Bawa จากโลกนี้ไปด้วยวัย 83 ปีเมื่อปี 2003 แต่ผลผลิตงานการสร้างสรรค์และการผลักดันทางความคิดของเค้าจะยังคงอยู่ องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มาจากต่างวัฒนธรรม กลับทำหน้าที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างโดดเด่น และอิทธิพลจากงานสไตล์ Modern Tropical ที่ยังมีบทบาทสร้างแรงบันดาลใจตต่อวงการออกแบบและดีไซเนอร์รุ่นหลังต่อไป…
รูปภาพประกอบจาก pinterest
geoffreybawa.com
en.wikipedia.org/wiki/Geoffrey_Bawa