บ้านสไตล์โมเดิร์นที่โครงสร้างทั้งหมดสร้างจากตู้คอนเทนเนอร์เหล็ก เลือกใช้แผ่นไม้สีโทนอบอุ่นเและการเพิ่มที่ว่างสำหรับแสงแดดและอากาศเพื่อปรับให้เหมาะกับอาคารที่พักอาศัย
บ้านคอนเทนเนอร์ยักษ์ 31 ตู้
Architect : Todd Miller of Zeigler Build
Location : Brisbane, Queensland, Australia
ถ้าเราจะบอกว่าตู้คอนเทนเนอร์สามารถมาปรับใช้เป็นที่พักอาศัย เราคงคุ้นชินกับบ้านที่ใช้เพียง 5-10 ตู้ก็ถือว่ามากแล้ว แต่คราวนี้เหล่าตู้เหล็กสินค้าเก่าจำนวนมากถึง 31 ตู้ นำมาใช้เป็นโครงสร้างหลักเพื่อสร้างบ้านพักอาศัยหลังใหญ่สูง 3 ชั้นนี้ ประกอบด้วย 4 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ และยังมีส่วนโฮมออฟฟิศ ส่วนบาร์พักผ่อน สระน้ำเค็ม ห้องยิม รวมกันอยู่บนพื้นที่ใช้สอยขนาดรวมกว่า 552 ตร.ม.
โครงสร้างตู้เหล็ก
บ้านคอนเทนเนอร์ 31 ตู้หลังนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่อันสุขสงบนอกเมืองบริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นสิ่งปลูกสร้างสถาปัตยกรรมตู้เหล็กขนาดใหญ่ที่สุดของแดนจิงโจ้ นักออกแบบเลือกใช้โครงสร้างเสาคานเหล็กเป็นแกนหลักในการวางตู้ประกบเข้าไว้ด้วยกัน วางซ้อนชั้นตู้ตามแนวรอยต่อตาราง Grid Line ของผนังแต่ละกล่องเพื่อช่วยเรื่องการถ่ายน้ำหนักสำหรับอาคาร 3 ชั้น เสริมความแข็งแรงโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ ได้พื้นที่ใช้สอยมากขึ้นแถมยังได้รอยต่อที่เรียบเนียนดูกลมกลืนกับผนังโลหะของตัวตู้ นอกจากนี้ยังเพิ่มลูกเล่นความสวยงามทางด้านดีไซน์ อาศัยประโยชน์จากความแข็งแกร่งของตู้เหล็กคอนเทนเนอร์เพื่อออกแบบให้บ้านมีพื้นที่ยื่นลอยออกมากลางอากาศได้โดยไม่ต้องใช้เสารับน้ำหนัก (cantilever)
เลือกใช้โครงสร้างเสาคานเหล็กเป็นแกนโครงหลักของอาคาร เพราะเป็นโครงสร้างที่แข็งแกร่งแต่ไม่เทอะทะ กินเนื้อที่น้อย เรียบง่ายเบาบาง และยังดูกลมกลืนได้ดีกับผนังเหล็กของตู้คอนเทนเนอร์
การออกแบบโครงสร้างที่รู้จักยื่นหดเข้าออก สร้างที่ว่างระหว่างตู้แต่ละยูนิตทำให้รูปด้านอาคารไม่เรียบแบบจนเกินไป อีกทั้งยังเพิ่มที่ว่างให้แสงแดดและกระแสลมไหลเวียนเข้าไปในบ้านได้เพิ่มขึ้น
ในส่วนพื้นที่พักผ่อนสระน้ำเค็มและมุมนั่งเล่น สถาปนิกใช้ความแข็งแรงของตู้คอนเทนเนอร์ช่วยพยุงน้ำหนักของตู้เหล็กเอง ทำให้มันสามารถพาดยื่นลอยอยู่ได้กลางอากาศโดยไม่ต้องมีเสารับน้ำหนักให้เกะกะ
ผิวลอนโลหะกับแผ่นไม้ธรรมชาติ
หลายคนมักจะกังวลว่าการเลือกใช้ตู้คอนเทนเนอร์มาสร้างบ้านแล้วผู้อยู่อาศัยจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับผนังโลหะที่ดูแข็งทื่อ ไร้ชีวิตชีวา แล้วเราควรจะแก้ไขอย่างไร ? …ข้อกังวลใจเหล่านั้นอาจจะคลายปมสงสัยลงไปหากเราได้ดูตัวอย่างการออกแบบของ Miller ในบ้านหลังนี้ นักออกแบบต่อเติมคอนเทนเนอร์แต่ละยูนิตด้วยสไตล์โมเดิร์นเรียบง่าย ได้พื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง รอยต่อแนบสนิทสะอาดสายตา เผยให้เห็นผิวลอนโลหะลูกฟูกเดิมของตู้ที่ถูกทาสีดำและขาว ดูกลมกลืนไปกับสีของโครงสร้างเสาคานเหล็ก และเพื่อเพิ่มชีวิตชีวาความอบอุ่นให้กับสมาชิกในบ้าน วัสดุจากธรรมชาติอย่างแผ่นไม้สีน้ำตาลโทนอ่อน warm wood จึงถูกเรียกตัวมาใช้งานผสมผสานพื้นผิวที่แตกต่างกันได้อย่างน่าสนใจ ติดตั้งพื้นไม้ ฝ้าเพดาน เฟอร์นิเจอร์ และผนัง façade ลดความแข็งกระด้างของผนังโลหะเลือกใช้ไฟโทนส้มอุ่นและภาพวาดงานศิลปะร่วมสมัย กราฟฟิตี้ที่ผนังตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มบรรยากาศนุ่มนวลสวยงามไปในตัวเอง
ยังคงเก็บผิวลอนโลหะของผนังตู้เอาไว้ให้ผู้ที่พักอาศัยได้สัมผัสถึงเอกลักษณ์จากตู้คอนเทนเนอร์ แต่ก็ไม่ลืมที่จะแต่งเติมแผ่นไม้ธรรมชาติลงไปเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดูนุ่มนวล อบอุ่นเหมาะบ้านพักให้มากขึ้น
โชว์ความดิบเปลือยผนังและเพดาน ตกแต่งด้วยสีขาวโทนสว่างสะอาดตา ด้วยเส้นสายการออกแบบอาคารที่ดูเรียบง่าย
ลวดลายกราฟฟิตี้และภาพวาดศิลปะสีสันสดใสถูกนำมาใช้เพิ่มสีสันที่สนุกสนานให้กับตัวบ้านทั้งภายในและภายนอก
ใช้ผนังกระจกเป็นช่องทางให้แสงธรรมชาติเข้ามาส่องสว่างพื้นที่ภายในบ้าน แถมยังช่วยเปิดมุมมองออกสู่วิวสีเขียวที่อยู่ภายนอกด้วย
แม้จะยังไม่ค่อยเห็นใครใช้ตู้คอนเทนเนอร์มาทำเป็นบ้านพักอาศัยขนาดใหญ่แบบนี้ในบ้านเรามาก่อน แต่การนำตู้คอนเทนเนอร์กลับมาใช้งานใหม่เป็นอาคารสิ่งปลูกสร้างร้านค้าคาเฟ่ โรงแรมที่พัก ก็เป็นตัวเลือกการรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้ที่กำลังได้รับความสนใจจากคนทั่วไปไม่น้อยเหมือนกันนะครับ ลองมาติดตามบทความของเราในเดือนนี้กันต่อ…ว่าเจ้าตู้เหล็กขนส่งสินค้าเก่าจะนำมาใช้ทำอะไรได้อีกบ้าง
รูปภาพและข้อมูลประกอบจาก
homedsgn.com