จากแรงบันดาลใจอยากสร้างบรรยากาศโรงแรมที่แตกต่าง จึงกลับมาลงมือสรรค์สร้างอีกครั้ง กับที่พักตู้คอนเทนเนอร์สไตล์ Industrial Loft
Architect : เกรียงไกร วังวงค์
Location : สุขุมวิท 22 กรุงเทพฯ
Photo : Dsign Something
ถ้าใครที่เคยไปท่องเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ อาจจะพอคุ้นหูกับชื่อ Sleep Box กันมาบ้าง เพราะนี่คือชื่อของโรงแรมตู้คอนเทนเนอร์แห่งแรกในเมืองเชียงใหม่ที่เคยสร้างความฮือฮา ได้รับรางวัล Chiangmai Design Award 2014 สาขาสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายในยอดเยี่ยมมาแล้ว ผู้ปลุกกระแสการใช้ตู้คอนเทนเนอร์มาทำโรงแรมรายแรกๆของประเทศ กำลังจะมามอบประสบการณ์แปลกใหม่อีกครั้ง ด้วยโรงแรมตู้เหล็กที่ผสมวัสดุคอนกรีต เหล็ก และแผ่นกระจกไว้ในรายละเอียดที่สวยงาม
โรงแรมคอนเทนเนอร์ 5 ชั้น ระดับพรีเมียม
จากประสบการณ์ความรู้การสร้างโรงแรมตู้คอนเทนเนอร์ Sleepbox Chiangmai เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยังคงสร้างแรงกระตุ้นชั้นดีให้กับ คุณเกรียงไกร วังวงค์ ผู้ออกแบบและเจ้าของโครงการอยากสร้างที่พักจากตู้เหล็กขึ้นมาอีกครั้ง จึงตัดสินใจร่วมมือร่วมกับหุ้นส่วนอีก 2 คน ขยับขยายย้ายสาขาลงมาสร้างประสบการณ์แปลกใหม่กันในย่านธุรกิจกลางกรุงเทพฯ ใกล้แหล่งท่องเที่ยว เดินทางสะดวก เข้ามาเติมเต็มช่องว่างระหว่างคำว่า Hotel และ Hostel สร้างทางเลือกให้ลูกค้าด้วยที่พักแบบมีคุณภาพ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันแบบ Hotel แต่จ่ายแค่ราคา Hostel (Hostel ที่พักขนาดเล็กที่ราคาถูกกว่า ห้องน้ำรวม และเน้นความกระทัดรัด)
คุณเกรียงไกร วังวงค์ สถาปนิกผู้ออกแบบโครงการและคุณ พิสิฐ ชื่นชูศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารโครงการและการตลาด
ตู้คอนเทนเนอร์บนโครงสร้างเหล็ก
แนวคิดในการออกแบบโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรม คือ ความแน่วแน่ที่อยากจะใช้ตู้คอนเทนเนอร์ประกอบรวมกันขึ้นป็นตัวอาคารที่พัก เพราะเชื่อว่าการนำตู้คอนเทนเนอร์กลับมาใช้ใหม่จะเป็นการรีไซเคิลทรัพยากรที่คุ้มค่าทดแทนกระบวนการทำลาย เนื่องจากตู้คอนเทนเนอร์เป็นวัสดุรูปฟอร์มสี่เหลี่ยมที่แสดงพื้นผิวลอนโลหะอันเป็นเอกลักษณ์ ดูดิบเท่แข็งแกร่ง และก็ยังสามารถประยุกต์รูปแบบการใช้งานและลดระยะเวลาการก่อสร้างได้รวดเร็ว
เมื่อเลือกก่อสร้างลงบนที่ดินย่านธุรกิจราคาแพง จึงต้องออกแบบอาคารทางตั้งเพื่อใช้ประโยชน์การสร้างจำนวนห้องให้คุ้มค่าและเหมาะสม ส่วนโครงสร้างหลักของอาคารเลือกใช้เหล็กรูปพรรณเพื่อรับน้ำหนักการซ้อนชั้นของตัวตู้และองค์ประกอบอื่นๆไว้ทั้งหมด สามารถยกตู้ประกอบเข้าแต่ละชั้นได้ง่ายขึ้นแถมช่วยประหยัดเวลาการก่อสร้าง แซมด้วยงานก่อสร้างก่ออิฐฉาบปูนและผนังกระจก เพื่อช่วยสร้างช่องแสงและความโปร่งตามสไตล์แบบ Industrial Loft
ความดิบเท่ของแผ่นเหล็ก ร่องรอยก้อนอิฐบนผนังปูน แผ่นไม้โทนน้ำตาลอบอุ่น และแผ่นกระจกบานกว้างที่คอยเปิดแสงสว่างให้ส่องผ่านเข้ามา ดูจะเข้ากันได้อย่างดีกับผิวลอนโลหะของตู้คอนเทนเนอร์
แบ่งกั้นพื้นที่ภายในห้องโดยใช้ผนังเบาที่ติดตั้งสะดวกรวดเร็ว ช่วยลดน้ำหนักโครงสร้าง
มีห้องพักทั้งหมด 3 แบบ คือ Story Box (สำหรับ 4 คนที่มีเตียง 2 ชั้น 1 ห้องน้ำในตัว) , Sweet Box ( สำหรับ 2 คน )และ Special Box (สำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูงสุด มีห้องนั่งเล่น และห้องน้ำในตัว)
ห้องพักแบบ Story Box
ห้องพักแบบ Sweet Box
ห้องพักแบบ Special Box
ออกแบบประสบการณ์ที่แตกต่าง
นอกจากจะต้องออกแบบโครงสร้างหลักของตัวโรงแรมจากตู้คอนเทนเนอร์แล้ว อีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญของสถาปนิก ก็คือ การสร้างประสบการณ์การเข้าใช้อาคารในบรรยากาศที่แปลกใหม่ เพื่อเป็นจุดดึงดูดให้ลูกค้าที่เข้าพักอยากกลับมาเช็คอินอีกครั้ง ภายในโรงแรม Sleep Box Sukhumvit 22 จะเน้นการตกแต่งที่ให้ความรู้สึกสนุกสนาน ใช้โทนสีสดใสสะดุดตา สร้างความน่าจดจำให้กับแขกที่เข้ามาใช้บริการ
แต่ละชั้นจะแบ่งแยกโทนสีให้แตกต่างกัน และเลือกตกแต่งบานประตูห้องด้วยสีสันสดใสเพื่อความโดดเด่นน่าสนใจจากสีวัสดุโครงสร้างหลัก
การออกแบบห้องนั่งเล่นสันทนาการที่เปิดให้ใช้งานได้ตลอด 24 ชม. และพื้นที่ระเบียงกว้างสำหรับการออกมาพบปะพูดคุย ก็เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน แต่ก็ยังไม่ละเลยความรู้สึกส่วนตัวยามพักผ่อนภายในห้อง แขกที่เข้าพักสามารถเลือกที่จะออกไปเสวนา หรือนั่งพักอยู่ในมุมเงียบๆของตัวเอง
ห้องนั่งเล่นส่วนกลางที่เปิดโอกาสให้เพื่อนใหม่ทั้งไทยและเทศได้เข้ามาแลกเปลี่ยนมิตรภาพ และประสบการณ์เดินทางแก่กันได้
ระเบียงยื่นภายนอก ช่วยลดความรู้สึกอึดอึดภายในห้องสี่เหลี่ยม
สำหรับใครที่อยากลองเข้าไปเปลี่ยนบรรยากาศการพักผ่อน สัมผัสประสบการณ์ใช้งานแบบแปลกใหม่ในตู้คอนเทนเนอร์ ก็ไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล สามารถเข้าไปเช็คอินกันได้ที่ Sleep Box Sukhumvit 22 นี่เองครับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพถ่าย www.scgbuildingmaterials.com
…………………………………
สนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งในเว็บ DsignSomething.com อยากให้ไปรีวิว เยี่ยมชมบ้าน โรงแรม คาเฟ่ หรือร้านอาหาร ติดต่อมาได้ที่ dsignsomething@gmail.com หรืออินบ็อกมาที่เพจ DsignSomething ได้เลยครับ