อิฐดินเผาป้องกันความร้อนด้วยวิธีการธรรมชาติ พัฒนาภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมดั้งเดิมในท้องถิ่น
ภาวะโลกร้อน คือ ปัญหาระดับสากลที่สิ่งมีชีวิตทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ภัยธรรมชาติจากน้ำมือมนุษย์ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถรับรู้อุณหภูมิความร้อนในมวลอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่ทุกๆปีอย่างชัดเจน แม้จะหนีหลบเข้าไปในอาคารก็ยังรู้สึกได้ถึงไอความร้อนจากภายนอกอยู่ดี กลายมาเป็นหัวข้อที่นักออกแบบหลายๆ คนสนใจอยากจะหาวัสดุป้องกันความร้อนมาประยุกต์ใช้ในงานสถาปัตยกรรม
เหมือนกับผลงานการคิดค้นอิฐดินเหนียวระบายความร้อนของสถาปนิกชาวโคลอมเบียแห่งสตูดิโอ Miguel Niño และ Johanna Navarro จากทีม Sumart Diseño y Arquitectura SAS สตูดิโอออกแบบเน้นแนวทางพัฒนาสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืน เกิดสนใจในวัตถุดิบประจำท้องถิ่นในเมือง Cúcuta อย่างอิฐดินเผาที่เคยถูกมองข้ามว่าเป็นวัสดุก่อสร้างที่อมความร้อนสูง รูปแบบล้าสมัย ไม่ค่อยได้รับความนิยมในหมู่นักออกแบบรุ่นใหม่ จึงช่วยกันพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อิฐดินเผา Bloque Termodisipador (BT) ที่มีคุณสมบัติปกป้องผนังจากรังสีแสงอาทิตย์และการถ่ายโอนพลังงาน ลดอุณหภูมิความร้อนที่เข้าสู่อาคาร ด้วยนวัตกรรมธรรมชาติสร้างช่องอากาศภายในก้อนอิฐเป็นฉนวนกันความร้อนก่อนที่จะแผ่เข้าสู่อาคารโดยตรง
ดีไซน์รูปแบบก้อนอิฐเสียใหม่ด้วยการอัดดินเหนียวขึ้นเป็นรูปทรง 5 เหลี่ยมด้านไม่เท่า กำหนดให้ผิวนอกเฉียงออก 114 องศา เพื่อให้ก้อนอิฐตั้งมุม 24 องศา รับกับแสงแดดภายนอกช่วงที่มีกำลังความร้อนสูงสุด ดีไซน์ของอิฐ BT ที่แปลกตาทำให้เกิดแพทเทิร์นการจัดเรียงที่หลากหลาย ส่วนมุมที่ยื่นออกมาจะสร้างมิติแสง-เงาให้ผนังอาคาร ช่วยบดบังแสงแดดให้ก้อนอิฐที่อยู่ด้านล่าง
การพัฒนาก้อนอิฐ วัตถุดิบจากดินธรรมชาติด้วยดีไซน์ที่แปลกใหม่ เพิ่มเติมคุณสมบัติที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องตลาดลงไป จะเป็นแนวทางช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตในท้องถิ่นให้กลับมาเป็นที่นิยม ต่อลมหายใจให้กับทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้งาน และสภาพแวดล้อมของโลกที่ยั่งยืนต่อไป ในประเทศไทยเองก็มีผลิตภัณฑ์อิฐช่องลม ที่สามารถช่วยระบายความร้อนในอาคาร แถมสร้างลวดลายที่แตกต่างให้กับผนังของคุณได้ ครั้งนี้เราเลยขอนำอิฐช่องลมดินเผาฝีมือคนไทย จาก อิฐ บปก BPK Brick มาให้ชมเป็นตัวอย่างกันครับ
cr.รูปภาพและเนื้อหา http://goo.gl/gbm6y7