“Fabiola Morcillo Núñez เป็นสถาปนิกหญิงผู้ใช้เครื่องมือที่หาได้ทั่วไป แต่สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ และผลงานของเธอกำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ เครื่องมือที่เธอใช้มีเพียงอย่างเดียว เป็นสิ่งที่สถาปนิกทั่วโลกรู้จักดี มีชื่อว่า Autocad”
กว่าหนึ่งปีครึ่งแล้วที่ Fabiola ใช้โปรแกรม Autocad ในการสร้างสรรค์ภาพวาดในนาม “1989” สถาปนิกหญิงคนนี้มีความเข้าใจถึงจุดเด่นของการออกแบบบนกระดาษ จึงนำเอาจุดเด่นข้อนี้มาใช้ในการจินตนาการ Space ได้อย่างไร้ขอบเขตผ่านโปรแกรม สร้างพื้นที่เชิงจินตนาการโดยอาศัยพื้นฐานจากความสนใจอีกเรื่องของเธอ นั่นคือ ศิลปะสไตล์ Pop Art และสถาปัตยกรรมแบบเอเชียน
“สถาปัตยกรรมช่วยหล่อหลอมความเป็นตัวฉันแบบอ้อม ๆ”
ในขณะที่เธอยังเป็นนักศึกษาที่ The University of Chile อยู่นั้น Fabiola ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมโครงการ Ocho al Cubo (Eight Cubed) ที่นำสุดยอดสถาปนิกญี่ปุ่น 8 คน มาเวิร์คชอปใน 8 โรงเรียนสถาปัตย์ชั้นนำของชิลี สถาปนิกส่วนหนึ่งที่เข้าร่วม ได้แก่ Sou Fujimoto, Sanna, Atelier Bow Wow และ Kengo Kuma
จากการเวิร์คชอปกับยอดสถาปนิกชาวญี่ปุ่น ทำให้เธอได้รู้จักกับสถาปัตยกรรมตะวันออกที่กลายมาเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบของเธอ ส่วนเนื้อหาที่น่าสนใจอื่น ๆ จากเวิร์คชอป ได้แก่ การออกแบบในพื้นที่จำกัด และแนวคิดแปลกใหม่ในการออกแบบที่อยู่อาศัย ก็พบเห็นได้จากผลงานของ Fabiola ด้วยเช่นกัน
“เรื่องที่ทำให้ฉันประทับใจมาก คือ แนวคิดที่ Kengo Kuma นำมาใช้ในการออกแบบ ‘Museum of Hiroshige’ ผลงานการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาดของศิลปิน Ando Hiroshige ที่ชื่อ ‘Sudden Shower Over Shin-Ohashi Bridge and Atake’ องค์ประกอบภาพแสดงถึงการซ้อนทับของ Layer หลายชั้น” แนวคิดดังกล่าวปรากฏออกมาในสถาปัตยกรรมของ Kengo Kuma อย่างชัดเจน
Fabiola ยังได้รับอิทธิพลจากศิลปะ ประวัติศาสตร์ ชีวิตประจำวัน การเดินทาง ความฝัน และปรัชญา ซึ่งนำไปสู่การสร้างผลงานชิ้นแรกของเธอในนาม 1989 ต่อมาเธอเลือกที่จะวาดผลงานที่ชื่นชอบ เพิ่มจินตนาการเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเหล่านั้น แล้วนำมา สร้างภาพแนว Pop Art ที่ดูเพ้อฝัน มีเรื่องราว และดูเกินจริง
ผลงานชิ้นล่าสุดของสถาปนิกสาววัย 26 ปีคนนี้ คือ ภาพบนปกเทปคาสเซ็ทสุดเก๋ของ NIET CHRIST ค่าย No Problem Tapes ชื่ออัลบั้ม “Metabolism” ผลงานชิ้นนี้มีแนวคิดที่รวมเอาดนตรีและความสนใจของ Fabiola มารวมกัน หลังกระบวนการคิดเธอวาดภาพ 2 ภาพ คือภาพด้านนอกและด้านในของ Nakagin Capsule Tower ที่ออกแบบโดยสถาปนิก Kisho Kurokawa เพื่อพาทุกคนย้อนอดีตไปสู่ช่วงที่ญี่ปุ่นเกิดกระแสสถาปัตยกรรมแบบ Metabolism
ความพิถีพิถันในการสร้างผลงานของ Fabiola ไม่ได้ลดน้อยลงแม้จะใช้อุปกรณ์อย่างโปรแกรม Autocad แต่เธอกลับนำการวาดภาพเชิงเทคนิคแบบที่เราเห็นเป็นประจำ ก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่ง กลายเป็นภาพศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจในตัวของมันเอง
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก www.archdaily.com