การเสนอแบบอาคาร หรือ สิ่งก่อสร้างใดก็ตาม จำเป็นที่จะต้องมีแบบแปลน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าใจแบบและก่อสร้างได้อย่างถูกต้อง แต่นอกจากแปลน รูปด้าน รูปตัดแล้ว ยังมีแบบอีกประเภทหนึ่งที่เรามักเห็นอยู่เป็นประจำ นั่นก็คือแบบ Axonometric views และแบบ Perspective view
ทั้งแบบ Axonometric views และแบบ Perspective view ถือเป็นแบบส่วนประกอบ (ไม่ใช่แบบหลัก) เพื่อให้สามารถเข้าใจรูปแบบ รายละเอียดของอาคารหรือห้องนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น โดยวัตถุประสงค์ของแบบทั้ง 2 นั้นอาจต่างกันเล็กน้อยดังนี้
Axonometric Drawing
แอกโซโนเมตริก (Axonometric) คำว่าแอกซอน (Axon) มาจากคำว่า Axis ซึ่งแปลว่าแกนฉะนั้นภาพแอกโซโนเมตริจึงเป็นภาพสามมิติที่วัดจากแกนสามแกนมุมรวมกัน 360 องศา โดยมีแกนหลักทำมุมตั้งฉากกับแนวนอน ส่วนอีกสองแกนจะมีมุมเอียงลึกลงไปทั้งสองข้าง มีอยู่ 3 แบบดังนี้
Isometric views (ไอโซเมตริก)
เป็นภาพเขียนแบบสามมิติที่มีมุมรอบศูนย์กลางจำนวนสามแกน โดยทั้งสามแกนทำมุม 120 องศาเท่ากัน และแกนหลักต้องทำมุมตั้งฉากกับแนวนอน โดยมีสัดส่วนความกว้าง ความสูง และความลึกของภาพ
Diametric Projection (ไดเมตริก)
เป็นภาพเขียนแบบสามมิติที่มีมุมรอบศูนย์กลางจำนวนสามแกน โดยสองแกนมุมเท่ากัน ส่วนแกนที่สามทำมุมต่างออกไป และแกนหลักต้องทำมุมตั้งฉากกับแนวนอน โดยมีรูปแบบอัตราส่วนความกว้าง ความสูง และความลึกของภาพอยู่หลายรูปแบบ ดังแสดงในรูป
Trimetric Projection (ไตรเมตริก)
เป็นภาพเขียนแบบสามมิติที่มีมุมรอบศูนย์กลางจำนวนสามแกน โดยทั้งสามแกนทำมุมไม่เท่ากัน และแกนหลักต้องทำมุมตั้งฉากกับแนวนอน โดยมีสัดส่วนความกว้าง ความสูง และความลึกของภาพ
แต่ก็มีภาพอีกประเภทคือ Oblique (ออบลิค) เป็นภาพเขียนแบบที่ด้านหน้ามีลักษณะตั้งตรง ส่วนภาพด้านข้างและด้านบน จะเอียงลึกลงไปเพียงด้านเดียว โดยมีขนาดที่ขนานเท่ากันตลอด โดยทั่วไปจะเป็นมุมเอียง 45 องศา
ภาพทั้งหมดนี้สามารถวัดระยะได้จากแบบเลย หากวาดออกมาตรงมาตราส่วน ต่างจากภาพทัศนียภาพ (Perspective) ที่ไม่สามารถวัดระยะได้ แต่จะไว้เพื่อแสดงบรรยากาศ วัสดุ แสง สี ได้ดีกว่า Axonometric Drawing