เพราะการมีผังเมืองที่ดี เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่งานออกแบบที่ยั่งยืน
เมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนาไปจนเกือบถึงจุดอิ่มตัว ผู้คนต่างก็ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน จนบางครั้งก็เผลอไปทำร้ายธรรมชาติเข้าโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังส่งผลในปัจจุบันและคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อไปถึงอนาคต พอภาพเบลอๆ ของปัญหาที่ผู้คนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เริ่มกลายเป็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ผู้คนจึงเริ่มตื่นตัวและช่วยกันหาทางแก้ไข หันกลับไปฟื้นฟูธรรมชาติให้ยั่งยืนเพื่อคนรุ่นหลัง
แต่การจะเริ่มฟื้นฟูโครงการอะไรสักอย่าง เราต้องเริ่มฟื้นฟูจิตใจ ปลูกจิตสำนึกมนุษย์ให้มีความรักและหวงแหนในสิ่งๆนั้นเสียก่อน เมื่อสำนึกได้ มนุษย์ก็จะกลายเป็นทรัพยากรสำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดโครงการดีๆ เพื่อสังคมที่ยั่งยืน ดังเช่น ReGen Village ซึ่งเป็นโครงการออกแบบหมู่บ้านตัวอย่างเพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ที่ยึดหลักการพึ่งพาตัวเอง และหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ ออกแบบโดย EFFEKT สตูดิโอออกแบบจากประเทศเดนมาร์ก และได้นำไปจัดแสดงในงาน Venice Architecture Biennale 2016 ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี
ซึ่งโครงการดังกล่าวได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัย Stanford ที่ต้องการจะก่อตั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เทคโนโลยีแบบบูรณาการในการก่อสร้างบ้านเรือน เกิดเป็นโครงการตัวอย่างที่ใช้หลักการพึ่งพาตัวเอง เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำและอาหาร ที่คาดกว่าจะต้องเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ซึ่งเป็นก๊าซที่เกิดการการเผาไหม้เชื้อเพลิง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ให้เข้ากับสถาปัตยกรรม และสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน
หมู่บ้านนี้ใช้แนวคิดการให้ความร่วมมือกันของคนในสังคมในการออกแบบโครงสร้างหมู่บ้าน ผู้คนที่อาศัย ณ ที่แห่งนี้ จะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติในท้องถิ่น แต่ละครอบครัวจะมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน เป็นการสร้างจิตสำนึกรักธรรมชาติให้เกิดตั้งแต่สถาบันครอบครัว และเป็นการสร้างแนวทางพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนในทุกมิติ โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก เพื่อเป็นโครงการนำร่องให้หมู่บ้านในเมือง Almere ในประเทศเนเธอร์แลนด์ หากรูปแบบผังเมืองนี้ใช้ได้ผลก็จะนำมาใช้ที่สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก เยอรมัน และค่อยข้ามมาพัฒนาฝั่งเอเชียอย่าง UAE และจีน ตามลำดับ
บ้านแต่ละหลังในโครงการนี้ถูกออกแบบให้มีเรือนกระจกครอบทับทั้งบ้าน เพื่อให้แต่ละบ้านสามารถรักษาอุณหภูมิในบ้านให้อบอุ่นอยู่ตลอดเวลาเพื่อลดการใช้ฮีทเตอร์ และเพื่อควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชผักผลไม้ บนหลังคาบ้านแต่ละบ้านยังติดแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ได้เอง แม้ตัวบ้านจะถูกครอบด้วยเรือนกระจก แต่ก็ไม่รู้สึกอบอ้าว เพราะได้ถูกออกแบบให้มีระบบการถ่ายเทอากาศที่ดี เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องใช้ไฟฟ้า
ถือเป็นตัวอย่างการวางแผนจัดผังเมืองที่ดีก่อนเริ่มสร้างชุมชนจริงๆ รักษาวิถีการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกับธรรมชาติ เป็นบทพิสูจน์ของการนำเทคโนโลยีและแนวคิดเชิงออกแบบมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน หากช่วงนี้ใครมีโอกาสไปเที่ยวแถบยุโรปก็แวะไปเยี่ยมชมผลงานออกแบบเพื่อสังคมชิ้นอื่นๆ ได้ที่งาน Vanice Architecture Biennale 2016 ซึ่งมีตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. ไปจนถึง 27 พ.ย. 2016 นี้นะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก dezeen