Architecture : รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ และ คุณธนาคาร โมกขะสมิต จาก Research Studio Panin
Owner : คุณขจร ธนะแพสย์และ คุณ Eugene Kroon
บ้านแต่ละหลังก็เหมือนกับคนแต่ละคน ดูผิวเผินอาจเหมือนๆกัน แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ต่างกันไป บ้านโมเดิร์นสีขาวขนาดคอมแพคหลังนี้ก็เช่นกัน แม้หน้าตาภายนอกจะดูเรียบทันสมัย แต่ด้วยการออกแบบของ อาจารย์ต้นข้าว ปาณินท์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ คุณธนาคาร โมกขะสมิต นี่เองที่ทำให้บ้านหลังนี้ต่างจากบ้านอื่นๆ ทั้งวิธีการคิดและรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอย่างสิ้นเชิง
ภาพความรู้สึกแรกที่เราเห็นเมื่อก้าวเข้ามาสัมผัสบ้านหลังนี้คือ ความน่าอยู่และลงตัวของบ้านสีขาวสไตล์โมเดิร์นทรอปิคัล 2 ชั้น ความโปร่งโล่ง เบาสบาย เหมือนไม่มีบานกระจกสักบานมากั้นระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกบ้าน ซึ่งนั่นทำให้เราเกิดคำถามภายในใจว่า ในยุคที่แอร์กลายเป็นสิ่งของจำเป็นพอๆกับโทรศัพท์มือถือ คนเราจะสามารถอยู่ในบ้านที่ไม่มีแอร์ในสภาพอากาศแบบร้อนชื้นของเมืองไทยได้จริงๆหรือ?
อาจารย์ต้นข้าว ปาณินท์ และ คุณธนาคาร โมกขะสมิต ผู้ออกแบบบ้าน House Flow
ความชอบที่เหมือนกัน
อาจารย์ต้นข้าวเล่าว่า โดยปกติเจ้าของบ้านมักจะรู้จักเรา เห็นผลงานเราตามนิตยสาร จากนั้นจึงค่อยติดต่อมา คุณขจร และคุณ Eugene เจ้าของบ้านหลังนี้ก็เช่นกัน ซึ่งในการจะออกแบบบ้านสักหลัง ลักษณะนิสัยและความชอบของเจ้าของบ้านนั้นมีผลต่องานออกแบบมาก และเมื่อได้ลองพูดคุยกับเจ้าของบ้านแล้ว ก็พบว่าเรามีไลฟ์สไตล์และความชื่นชอบที่ตรงกัน คือชอบสะสมของเก่าเหมือนกัน จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ร่วมงานกัน
บ้านติดคลอง
ที่ดินที่ทางเจ้าของบ้านได้มานั้น เดิมเป็นที่ดินโบราณวางตัวในแนวยาวมีบ้านไม้หลังเล็กๆอยู่ 7-8 หลัง แต่ปัจจุบันกลายเป็นที่ดินเปล่า ที่มีจุดเด่นเป็นที่ดินที่อยู่ติดคลองสามเสน มีตลิ่งส่วนตัวบริเวณริมน้ำ ซึ่งเป็นไซต์งานที่แปลกใหม่สำหรับอาจารย์ เพราะไม่เคยออกแบบบ้านริมคลองมาก่อน
Flow of space
ปกติทางเจ้าของบ้านมักจะทำ Reference มาให้ดูประกอบการคุยแบบ หากเจอเคสแบบนั้นจะค่อนข้างกังวล กลัวว่าจะทำงานออกมาได้ไม่ตรงตาม Reference ที่ลูกค้าให้มา แต่คุณขจรนั้น ให้โจทย์มาเพียงแค่ “ผมอยากได้บ้านโล่ง” ซึ่งตรงกับสไตล์ที่อาจารย์ถนัดพอดี คือเป็นบ้านที่มีลม flow ทำให้สามารถสัมผัสอากาศบริสุทธิ์ได้อย่างแท้จริง และด้วยความที่เมืองไทยเป็นเมืองร้อนชื้น มีฝนตกบ้างบางฤดูกาล จึงทำให้ได้บ้านในลักษณะก้ำกึ่งระหว่าง indoor และ outdoor มีเลเยอร์ของระเบียงและ façade สำหรับบังแดดและกันฝน จึงทำให้รู้สึกว่าตัวบ้านมีกลิ่นอายความเป็นทรอปิคอล ในเรื่องการออกแบบที่สอดคล้องกับสภาพอากาศ
ส่วนเรื่องการบังแดด ได้ออกแบบตกแต่ง façade (เปลือกอาคาร) ด้วยบานระแนงอลูมิเนียมตามแนวตั้งสีเดียวกับตัวบ้าน ที่ทำหน้าที่เป็นแผงบังแดดและบังตา ไปในเวลาเดียวกัน แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ปิดกั้นสายลมเย็นๆ ทำให้บ้านมีลมพัดผ่านเกือบทั้งวัน บวกกับการที่บริเวณรอบบ้านไม่มีอาคารสูงที่จะมาบังลม สิ่งเหล่านี้จึงเป็นคำตอบว่าจริงๆแล้ว เราสามารถอยู่ในบ้าน ในประเทศไทยได้ โดยที่ไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศทั้งวัน
แปลนที่ขวางไซต์
โดยที่ดินนี้ตั้งอยู่ตรงกลาง มีเพื่อนบ้านขนาบข้างติดชิดริมรั้ว บวกกับความต้องการบ้านแบบ open-air ของเจ้าของบ้าน จึงเป็นที่มาของการวางตัวบ้านขวางแนวที่ดินที่เป็นแนวยาว โดยเลือกทำช่องเปิดทางด้านหน้าและด้านหลังอาคาร ซึ่งหันหน้าออกไปทางริมคลอง เพื่อรับลมและชมวิวคลองสามเสน ส่วนด้านข้างก็ปิดทึบ สร้างความเป็นส่วนตัวให้ตัวบ้าน
บ้านในสัดส่วนสเกลคน
ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มักนิยมบ้านที่มี span เสากว้างๆ เพราะทำให้บ้านดูโปร่งโล่ง แต่สำหรับบ้านหลังนี้ อาจารย์เลือกที่จะเพิ่มจำนวนเสาเข้าไปในบริเวณ façade ด้านหน้าอาคาร เป็นการประดับตกแต่ง เติมเต็มช่องว่างระหว่างพื้นที่ outdoor และ indoor ให้มีขนาดที่พอดีกับตัวคน ดูแล้วรู้สึกอบอุ่นแบบโฮมมี่ ส่วนพื้นที่ภายในก็ใช้ span เสาที่มีความกว้าง เพื่อให้รู้สึกโปร่งโล่งเหมาะกับการใช้งาน ทำให้สัมผัสได้ถึงสเปซที่ impact ทันทีที่เดินเข้ามาในบ้าน ส่วน façade บริเวณชั้น 2 ก็ตกแต่งด้วยการวางแพทเทิร์นลายระแนงตามตั้ง ที่ทำจากอลูมิเนียมทำสีขาว เว้นขนาดช่องว่างอย่างเท่าๆกัน ดูกลมกลืนกับตัวบ้าน โดยรวมจึงดูเหมือนบ้านโบราณที่มีดีเทลการตกแต่งขนาดเล็ก
แรงบันดาลใจจากของเก่า
ก่อนที่จะสร้างบ้านหลังนี้ อาจารย์เคยไปเยี่ยมชมคอนโดของคุณขจร แล้วก็พบว่าคุณขจรเป็นนักสะสมของเก่าตัวยง เพราะภายในห้องนั้นเต็มไปด้วยหนังสือเก่า รูปภาพเก่าๆมากมาย อาจารย์จึงได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากของเหล่านี้ด้วย โดยตีโจทย์ออกมาเป็นบ้านโมเดิร์นสีขาวสะอาดตา และตกแต่งด้วยของสะสมของเจ้าของบ้าน ทั้งภาพงานศิลปะ พระพุทธรูป เทวรูป ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์เก่าหลากหลายยุคสมัย ทั้งไทย จีน บางชิ้นก็เกิดจากการนำเฟอร์นิเจอร์เก่ามารีแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่
ห้องทำงานที่รายล้อมไปด้วยของสะสมของคุณขจร ทั้งหนังสือ ภาพศิลปะและเทวรูปโบราณ
“และด้วยความที่พื้นที่ชั้นล่างทั้งหมดเป็นพื้นที่เปิดโล่ง open-air จึงทำให้เวลาอยู่ในบ้านแล้วสัมผัสได้ถึงอากาศบริสุทธิ์อย่างแท้จริง”
ระเบียงบริเวณชั้น 2 ฝั่งด้านหลังบ้านถูกต่อยื่นออกมาจากตัวบ้านเพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อนเอ้าท์ดอร์ เพื่อชมวิวคลองสามเสน และยังทำหน้าที่เป็นหลังคาบังแดดเหนือสระว่ายน้ำ และยังติดตั้งบันได เชื่อมพื้นที่ชั้น 1 และ 2
ราวระเบียงกันตกที่มีความสูงต่ำกว่าขนาดมาตรฐาน นอกจากจะทำให้ตัวบ้านดูโปร่งขึ้นแล้ว ยังไม่บดบังวิวเวลานั่งชมวิวริมระเบียงอีกด้วย
ห้องนอนของคุณขจรและคุณยูจีน ถูกตกแต่งอย่างเรียบง่าย เน้นเพียงเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็นเท่านั้น
หลังจากการมาเยือนบ้านหลังนี้ ก็ทำให้เราไขข้อสงสัยในคำถามข้างต้นได้อย่างชัดเจนว่า คนเราสามารถอยู่ในห้องที่ไม่ติดแอร์ได้จริงๆ แม้อากาศจะร้อน แต่ถ้าออกแบบโดยคำนึงถึงทิศทางแดด ลม ฝน เป็นหลัก เครื่องปรับอากาศก็อาจเป็นทางเพียงทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เราสามารถอยู่อาศัยภายในบ้านได้อย่างมีความสุขก็เป็นได้
ขอขอบคุณ
รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ และ คุณธนาคาร โมกขะสมิต จาก Research Studio Panin
และ คุณขจร ธนะแพสย์