OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

6 สิ่งควรเตรียมพร้อม ก่อนทำสวนดาดฟ้า

“ดาดฟ้า” พื้นที่ที่หลายคนมักจะใช้เป็นที่เก็บของ ตากผ้า หรือไม่ก็ตั้งแทงค์เก็บน้ำ แต่แท้จริงแล้ว พื้นที่ตรงนี้คือขุมทรัพย์ชั้นดี ที่จะใช้สร้างปอดสีเขียวให้กับบ้าน โดยที่เราสามารถใช้ประโยชน์จากที่ว่างตรงนี้ทำเป็นสวนขนาดเล็ก ที่นั่งพักผ่อน ห้องทำงานกลางสวน สถานที่ออกกำลังกาย หรือเป็นมุมจิบกาแฟสุดชิว และที่สำคัญ สวนดาดฟ้ายังเป็นเหมือนฉนวนกันความร้อนอย่างดีให้กับห้องที่อยู่ด้านล่างอีกด้วย แต่ก่อนที่จะลงมือแปลงโฉมดาดฟ้าตึกแถวให้กลายเป็นสวนลอยฟ้า เรามาดูกันดีกว่า เราต้องเตรียมการอะไรบ้าง

1 ตรวจเช็คสภาพโครงสร้างอาคาร

อาคารทั่วไปวิศวกรเขาคำนวณมาแล้วว่าให้รับน้ำหนักได้ประมาณ 200-400กก/ตร.ม. (Live load หรือน้ำหนักจร ซึ่งก็คือน้ำหนักของคนหรือสิ่งของที่จะมาอยู่บนดาดฟ้าเพียงชั่วคราว) ถ้าตึกเก่ามากๆ แต่ตึกแถวบางแห่ง อายุมากกว่า30-40ปีแล้ว อาจจะรับน้ำหนักได้ไม่ถึง 200-400กก/ตร.ม. เพื่อความปลอดภัยของตัวโครงสร้างอาคาร การทำบ่อปลา น้ำพุ น้ำตก อ่างบัวใหญ่ที่ใช้น้ำ หรือต้นไม้ใหญ่ อาจไม่เหมาะสม เพราะเพิ่มน้ำหนักมาก ลองเลือกปลูกเป็นพวกไม้กระถาง ใช้ดินน้อยๆ ปลอดภัยกว่า และถ้าจะให้ปลอดภัยขึ้นไปอีก แนะนำให้วางกระถางตามแนวคานหรือใกล้ๆ เสา น้ำหนักของกระถางก็จะถ่ายลงไปตามคาน และเสาได้ปลอดภัยกว่าวางไว้ส่วนที่เป็นพื้นดาดฟ้า

2 หญ้าจริงไม่ใช่อุปสรรค

หลายคนอาจเข้าใจว่าพื้นด้านบนดาดฟ้าของเรานั้นเป็นพื้นคอนกรีต ทำให้ปลูกหญ้าจริงไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วสามารถปลูกได้นะ เพียงแค่ต้องเตรียมพื้นที่ให้มีความลึกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร โดยอาจจะใช้วิธีก่อขอบคอนกรีตขึ้นมาสำหรับใส่ดิน เพื่อให้มีดินที่เพียงพอต่อการปลูกต้นไม้ และที่สำคัญจะต้องปูแผ่นยางกันซึม และติดตั้งระบบระบายน้ำ โดยอาจจะปรึกษาวิศวกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องน้ำหนักที่โครงสร้างอาคารนี้สามารถรับได้

Tips : การเตรียมพื้นที่ก่อนปลูกหญ้าแท้ไว้บนดาดฟ้า

1 ปูแผ่นยางกันซึม ทับก่อนในชั้นแรก

2 ก่อขอบปูนทับทำเป็นรางระบายน้ำ โดยรอบบริเวณที่จะทำเป็นสวน หากระบบระบายน้ำ เดิมยังไม่ดีพอให้ปรับปรุงเสียใหม่ ใส่หัวระบายน้ำ ถ้าหากไม่อยากให้เห็นเป็นร่องน้ำ ก็อาจจะเอาหินมาเททับลงไปก็ได้

3 วางคอนกรีตแท่งปรับระดับสูง 5-10 เซนติเมตร เจาะรูให้น้ำ สามารถระบายผ่านได้เป็นช่วงๆ

4 วางแผ่นคอนกรีตสำเร็จทับอีกชั้น หรืออาจจะใช้แผ่นพื้น Fiber Cement ที่หนาประมาณ 15-18 มิลลิเมตรก็ได้

5 ทำขอบกั้นดิน

6 ปูแผ่นยางกันซึมอีกรอบทับแผ่นพื้นและขอบกั้นดิน

7 เทดินลงไปบนพื้นที่ที่เตรียมไว้ จากนั้นก็ปูหญ้าได้เลย

3 ก๊อกน้ำ ปลั๊กไฟและสวิตซ์ไฟ

เพื่อความสะดวกในการรดน้ำต้นไม้ ควรให้ช่างประปามาต่อท่อติดตั้งก๊อกน้ำเอาไว้บนดาดฟ้าให้เรียบร้อย โดยอาจจะหาช่องชาร์ปแล้วต่อท่อน้ำขึ้นมาชั้นบน แต่ถ้าบนดาดฟ้ามีแท้งค์น้ำอยู่แล้วก็ยิ่งสะดวกเลย เพราะแค่ต่อท่อออกมาจากแท้งค์น้ำ และติดตั้งก๊อกน้ำก็ใช้งานได้แล้ว ที่สำคัญอย่าลืมคำนึงถึงทางระบายน้ำบนดาดฟ้า ไม่ควรวางกระถางหรือของตกแต่งสวนปิดฝาท่อ และควรหมั่นดูแลทำความสะอาดไม่ให้ท่อน้ำอุดตัน ส่วนปลั๊กไฟและสวิตซ์ไฟนั้น ควรติดตั้งไว้ในที่ปลอดภัยจากสายฝน เช่นใต้ชายคา กึ่งในร่ม กึ่งกลางแจ้ง ในตำแหน่งที่ปลอดภัย แดดส่องไปไม่ถึง ไม่มีน้ำไหลผ่านหรือฝนสาดเป็นประจำ แล้วก็ต้องมีฝากครอบปลั๊กปิดด้านหน้าอีกชั้นหนึ่ง เพื่อกันไฟฟ้าลัดวงจร

4 วัสดุกันความชื้น

อย่างที่ทราบกันดี บนดาดฟ้าเป็นพื้นที่ที่ต้องเจอกับสภาพอากาศที่หลากหลาย ทั้งแดด ลม ฝน ดังนั้นวัสดุที่จะใช้ในบริเวณนี้จึงควรเป็นวัสดุที่ทนทานต่อสภาพอากาศ และไม่ต้องการดูแลรักษาที่มากนัก เช่น ไม้เทียม หญ้าเทียม กระเบื้องเซรามิก คอนกรีต หรือวัสดุกันลื่นอย่างหินขัด เป็นต้น

5 ต้นไม้ที่เหมาะสม

ลมแรง แดดจัด เป็นสภาพอากาศที่เห็นได้ทั่วไปบนดาดฟ้าตึกแถว ต้นไม้ที่เหมาะสมจะนำมาปลูกเลี้ยงก็ควรเป็นต้นไม้ที่ทนแดดทนฝน อดน้ำได้ 3-4 วัน ไม่ควรเลือกไม้ที่มีพุ่มใบแผ่กว้าง พุ่มแน่น เพราะลักษณะพุ่มแบบนี้จะกลายเป็นแนวต้านลมที่พัดมาแรงๆ จะทำให้ต้นไม้ที่ปลูกไว้โดนลมพัดกระชากจนใบแตก ขาดเป็นริ้วๆ  ดังนั้นจึงควรเลือกต้นที่ใบร่วงน้อย เพื่อลดปัญหาเก็บกวาด และควรเป็นต้นไม้ที่มีระบบรากฝอย เพื่อประโยชน์ในการยึดลำต้นของตัวมันเอง และลดปัญหารากต้นไม้ทำลายโครงสร้างอาคาร

6 ตำแหน่งที่ปลอดภัย

ตำแหน่งปลูกหรือวางกระถางต้นไม้ ควรอยู่ในจุดที่ปลอดภัย ไม่ควรตั้งไว้ในตำแหน่งที่ห่างจากตัวอาคาร เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเวลาที่ออกมารดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดินหรือเปลี่ยนกระถาง และเพื่อความปลอดภัยของคนที่เดินอยู่ข้างล่าง ไม่ต้องเสี่ยงโดนกระถางต้นไม้หล่นใส่ศีรษะ

credit picture : Pinterest