“ไม่ต้องเป็นทุกอย่าง… เป็นแค่บางอย่างที่เพียงพอกับการพักผ่อนก็น่าจะเพียงพอแล้ว”
ผมคิดถึงประโยคนี้ทันที ที่ได้ใช้เวลาพักผ่อนที่ Balcony Seaside Sriracha แห่งนี้ แม้จะเป็นระยะเวลาเพียง 1 คืน แต่ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้รู้ว่า การออกแบบที่ดี ช่วยเติมเต็มช่วงเวลาในการพักผ่อนของทริปสั้นๆนี้
โรงแรมแห่งนี้ออกแบบโดย คุณป๊อป – จิโรจน์ อิทธิเวชชัย แห่ง BKDB Co.,Ltd. สถาปนิกมากประสบการณ์เรื่องการออกแบบโรงแรม โดย Balcony Seaside Sriracha เป็นส่วนต่อขยายจากเฟสแรกซึ่งตั้งอยู่ริมชายหาด ซึ่งส่วนเฟส 2 นี้ มีความครบครันมากขึ้น และยังเน้นเรื่องการตกแต่งที่จะส่งเสริมให้การพักผ่อน มีอรรถรสมากยิ่งขึ้น
ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 3 อาคารหลัก รูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์น ทำให้เข้าถึงง่ายและตรงไปตรงมา เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย อีกทั้งยังเป็นรูปแบบที่สามารถอยู่ได้นาน ไม่เชย ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของเจ้าของและผู้ออกแบบ ที่ตั้งใจให้ผู้ที่เข้ามาพัก สามารถกลับมาพักอีกโดยที่ไม่รู้สึกว่าซ้ำและจำเจ
– วัสดุ สื่อความหมาย –
สถาปนิกเลือกใช้วัสดุภายในโรงแรมอย่างลงตัว ด้วยสถาปัตยกรรมและการตกแต่งสไตล์โมเดิร์น จึงเลือกใช้วัสดุที่สื่อสารถึงความเป็นธรรมชาติ ผสานกับวัสดุสมัยใหม่ที่มีความเรียบง่าย ทำให้ภาพรวมดูลงตัวและไม่น่าเบื่อ เช่นในส่วนของ Lobby ที่ใช้วัสดุหลักในการตกแต่งคือหินอ่อน ทั้งในส่วนของพื้น และผนัง เป็นหินอ่อนธรรมชาติซึ่งคัดสรรลายมาอย่างตั้งใจ จัดวางในองค์ประกอบที่ลงตัว บวกกับการใช้วัสดุสมัยใหม่อย่างกระจก ทองแดง และไม้จริง สร้างบรรยากาศหรูหราทันสมัยและยังคงความอบอุ่นร่วมสมัยอยู่
การตกแต่งภายในเน้นที่สีโทนสว่าง อย่างขาว เทา น้ำตาล และสีทองแดง ทำให้พื้นที่ดูโล่งโปร่ง สื่อถึงการเปิดรับผู้มาเยือนทุกคน
ผนังด้านนอกของอาคาร เลือกตกแต่งด้วยคอนกรีตปั้มลายไม้ แต่โทนดาวน์ลงมาด้วยการทาสีเทาเข้มเพื่อให้เข้าภาพสีของภายนอกอาคารโดยรวม เรียกได้ว่าทั้งทนทานและสื่อถึงความเป็นธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
รายละเอียดบางจุดเรื่องการใช้วัสดุ ยังเป็นการแก้ปัญหาไปพร้อมๆกับการออกแบบด้วย เช่นผนังภายในห้องพักที่เป็นผนังฉาบหยาบ (เทคนิคการฉาบปูน + สลัดดอก) เพื่อให้เกิดพื้นผิวที่น่าสนใจ ไม่เรียบจนเกินไป เพียงแค่ทาสีทับก็สร้างบรรยากาศให้ภายในห้องดูอบอุ่นขึ้นได้ไม่ยาก ซึ่งเทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ช่างไทยสมัยโบราณนั้นชำนาญ และสามารถทำออกมาได้เป็นอย่างดี
อีกวัสดุที่น่าสนใจคือการใช้แคลดดิ้ง (Cladding Wall) เป็นอลูมิเนียมประกอบขึ้นสำเร็จรูป ติดตั้งในระบบแห้ง (Dry Process) บนผนังหรือโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กธรรมดา เพิ่มความทันสมัยและเป็นระเบียบเรียบร้อยให้อาคาร โดยที่นี่เลือกใช้ผนังสีเทาเข้ม อีกนัยยะหนึ่งคือการช่วยลดแสงแดดสะท้อนยามกลางวันที่แสงแดดค่อนข้างแรง ไม่ให้ผู้ที่อยู่อาศัยรู้สึกแสบตา เพราะหากใช้ตัวอาคารสีสว่างมากๆ พื้นที่บริเวณภายนอกอาคารจะร้อนและสว่างมากเกินไป ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกไม่สบายตัวและใช้งานลำบากนั่นเอง
– จัดวางอาคาร เปิดรับวิว –
ตัวโรงแรมประกอบด้วย 3 อาคารที่วางตัวเป็นรูปตัวแอล (L) โอบล้อมสระว่ายน้ำ และเปิดมุมมองสู่ท้องทะเล ทำให้เกือบทุกห้องของที่นี่ สามารถมองเห็นวิวทะเลได้อย่างชัดเจน บวกกับการที่พื้นที่ตั้งนั้นอยู่สูงจากชายหาด (ไม่ติดชายหาด) ทำให้สามารถมองออกไปเห็นทะเลได้ในมุมสูง
สถาปนิกยังตั้งใจออกแบบสระว่ายน้ำที่คอร์ทกลางนี้ให้เป็นแบบขอบน้ำล้น เมื่อว่ายน้ำอยู่ในสระก็จะรู้สึกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติและท้องทะเล
– เที่ยวทะเล แบบไม่ติดทะเล –
ผมไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นจุดด้อยที่ทำให้โรงแรมนี้ไม่น่าสนใจ หลายครั้งที่ความสุขเกิดจากการเพียงมองเห็นและได้อยู่กับตนเองและคนที่รัก ที่นี่จึงเปิดโอกาสให้เราแบบนั้น บรรยากาศทะเล จึงเป็นตัวเสริมที่มีพลัง แต่ถ้าเราได้พักผ่อนกับคนที่เรารักและอยากอยู่ด้วยมากที่สุด ตัวสถาปัตยกรรมจะเริ่มทำหน้าที่นั้น และพาเราไปยังจุดที่เรียกได้ว่าเป็นการพักผ่อนจริงๆ
แต่ถ้าอยากใกล้ทะเลมากกว่านี้ ก็สามารถนั่งรถกอล์ฟหรือเดินไปยังโรงแรมในส่วนเฟสแรก ซึ่งตั้งอยู่ติดชายหาดได้ ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที เราก็จะได้ใกล้ทะเลมากขึ้น โดยส่วนที่สามารถใช้งานได้คือสระว่ายน้ำของเฟสแรก ซึ่งอยู่ติดชายหาด เป็นอีกหนึ่งบรรยากาศที่เราอยากแนะนำ
– ครบครันในห้องเดียว –
ที่นี่ให้ความสำคัญกับการพักอาศัย เห็นได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันภายในห้องพัก มีทั้ง Pantry ปรุงอาหาร ตู้เย็น หรือแม้แต่เครื่องซักผ้า (มีเครื่องซักผ้าเฉพาะห้องแบบ 2 ห้องนอน) เรียกได้ว่าไม่ได้พักเพียง 1-2 คืน จะพักยาวเป็นเดือนก็สามารถ
การตกแต่งโดยรวมเป็นไปใน Mood & Tone ของการพักผ่อน สีขาว ครีม น้ำตาล และสีเบส ทำให้บรรยากาศดูน่าพักผ่อนจริงๆ
อีกไฮไลท์หนึ่งของที่นี่คือการแช่บ่อน้ำร้อน และซาวน่า แต่ที่นี่เป็นบ่อน้ำร้อนแบบญี่ปุ่นจริงๆ เพราะต้องถอดเสื้อผ้าทุกชิ้นก่อนที่จะลงไปแช่ คนไทยหลายคนอาจไม่คุ้นเคย แต่ถ้าได้ลองสักครั้งก็เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆครับ ส่วนการตกแต่งภายในเป็นกึ่งเอ้าท์ดอร์ ใช้วัสดุและแสงแดดธรรมชาติเข้ามาช่วยเพิ่มบรรยากาศในการแช่น้ำร้อนได้เป็นอย่างดี
แผงระแนงบานเกล็ดที่เห็นนี้ สามารถปรับองศาในการมองเห็นได้ สลับกับการปรับมุมให้สามารถถ่ายเทอากาศได้ ภายในนี้จึงไม่อึดอัด แถมยังได้ความรู้สึกกึ่งภายนอกได้ดี
ใครที่กำลังอยากหนีเมืองกรุง ไปมองฟ้ามองทะเล แล้วแช่น้ำร้อน ที่ Balcony Sriracha น่าจะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมากครับ
ดูรายละเอียดโรงแรมได้ที่ balconythailand