Suwan Palm Beach Resort (Renovation Design)
Architect : Eco Architect
Location : Khao Lak, Phang-Nga, Thailand
คงไม่มีใครลืมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การสูญเสียของไทย กับภัยสึนามิ ที่เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2004 ได้ และสถานที่แห่งนี้ คือหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับความเสียหายจากกระแสน้ำและเกลียวคลื่นนั้น… หลายสิ่งเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่หลายสิ่งเราก็กำหนดมันเองได้ ว่าจะหยุด หรือ ไปต่อ…
ความเป็นมาของโครงการ
Suwan Palm Beach Resort เป็นโรงแรมขนาดเล็ก ตั้งอยู่ริมหาดนางทอง เขาหลัก จังหวัดพังงา เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2004 ได้ไม่กี่วัน ก็ต้องเจอกับฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิด นั่นก็คือภัยจากคลื่นสึนามิ อาคารได้รับความเสียหาย หลงเหลือแต่โครงสร้างที่ตั้งตระหง่าน รอคอยความหวังและการปรับปรุง
และทางเจ้าของจึงตัดสินใจซ่อมบำรุงและเปิดบริการโรงแรม มาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี โรงแรมจึงเริ่มทรุดโทรมตามกาลเวลา ทางเจ้าของคือคุณวิชิต จึงอยากจะปรับปรุงให้โรงแรมกลับมามีชีวิต และมีคาแร็คเตอร์ที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้นอีกครั้ง จึงได้ติดต่อคุณคำรน สุทธิ จาก Eco Architect มาออกแบบปรับปรุงอาคารทั้งหมดให้
ตามความชอบส่วนตัว (ชอบลอฟท์ๆ) ความเรียบง่ายและสมถะ จึงตัดสินใจเริ่มรีโรเวทอาคารเก่าโดยการเก็บโครงสร้างเดิมไว้ทั้งหมด และต่อเติมโครงสร้างบางส่วนเพื่อเพิมจำนวนห้องพัก
แนวความคิดในการออกแบบ
สืบเนื่องจากความชอบส่วนตัวของเจ้าของโครงการ ที่ชอบงานสไตล์ Loft เป็นชีวิตจิตใจ และต้องการประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง จึงเป็นโจทย์หลักในการนำเอามาพัฒนาแนวความคิดในการออกแบบ
และหลังจากที่ได้เข้าไปสำรวจสถานที่ และตรวจเช็คโครงสร้างก่อนการออกแบบ พบว่างานหล่อโครงสร้างที่ทำไว้เมื่อสิบกว่าปี่ที่แล้วทำไว้ดีมาก และโครงสร้างพื้นเดิมเป็นพื้นแบบ Flat Slab หรือพื้นไร้คาน มี Texture ของคอนกรีตที่สวยงาม ควรค่าแก่การนำเอามาโชว์ มากกว่าการมีฝ้าเพดานไปปกปิดเอาไว้ จึงนำเสนอแนวคิดนี้ให้เจ้าของโครงการ ซึ่งทั้งเจ้าของและผู้ออกแบบนั้นก็เห็นไปในทางเดียวกัน ว่าควรจะโชว์ความดิบของโครงสร้างเดิมไว้บ้าง
เพื่อการแสดงตัวตนของวัสดุเดิมๆ คืองานหล่อปูนเปลือยๆ ที่มีความเรียบง่ายและสมถะ ทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณไปในตัว เพราะสไตล์ Loft นั้น เป็นการเปิดเปลือยวัสดุให้เห็นเนื้อแท้ และใช้ความดิบของผิว สัมผัส และเรื่องของงานระบบ มาผสมผสานจนเกิดสไตล์ที่น่าอยู่
Tip : จะรีโนเวท หรือ ทุบสร้างใหม่ดี
อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันคือ รีโนเวทมักจะใช้เงินน้อยกว่าการรื้อสร้างใหม่ แต่ก็ไม่ใช้ในทุกกรณีเสมอไป บางอาคารที่มีประวัติศาตสร์ รูปแบบสถาปัตยกรรมตกทอดตามยุคสมัย จำเป็นต้องใช้ช่างที่มีฝีมือเฉพาะทางสูงเพื่อการกูชีวิตสถาปัตยกรรมหลังนั้นขึ้นมาอีกครั้ง หรือมีความเสียหายค่อนข้างมากแล้ว วัสดุทดแทนตามแบบเดิมก็หายาก ต้องสั่งผลิตหรือรอจากต่างประเทศ ก็จะสร้างค่าใช้จ่ายเกินระดับกว่าการสร้างใหม่ด้วยซ้ำไป
เรื่องที่อยากให้เจ้าของบ้านหลายๆท่านคำนึงถึงคือ เราเห็นค่าของมันเป็นมากกว่าสิ่งปลูกสร้างทั่วๆไป แต่บรรจุไปด้วยอายุขัย เรื่องเล่าจากอดีต เอกลักษณ์บางอย่างที่หาไม่ได้อีกแล้ว ถ้าสิ่งนั้นมันมีค่ากับเราจริงๆ แม้ราคาการรีโนเวทจะแพงก็คงไม่ใช่เหตุผลที่เราจะลังเล ทุกอาคารที่เกิดขึ้นมามีเหตุผลของมันอยู่แล้ว และในทางกลับกัน หากวันนึงผู้ใช้งานไม่ตอบโจทย์กับสิ่งที่สร้างอยู่เดิมแล้วละก็ มันก็ต้องเปลี่ยนไปแน่นอนครับ คงต้องทุบทิ้งแล้วสร้างเรื่องราวบทใหม่ทับลงไป ถือเป็นเหตุผลส่วนตัวสำหรับคนๆนั้น มันไม่มีผิดถูก อยู่ที่ว่าเรามองเห็นอะไรเป็นส่วนสำคัญมากกว่า
ปัจจัยเสริมคือข้อกฎหมายควบคุมอาคารบางประการที่ระบุขึ้นใหม่ เช่น ถ้าสร้างใหม่ในเขตพื้นที่นี้แล้วข้อกฎหมายบังคับว่าไม่สามารถสร้างใหม่ขึ้นมาให้ใหญ่เท่าอาคารเดิมได้ ต้องเหลือขนาดอาคารเล็กลง ก็อาจจะไม่เหมาะกับปรับปรุงอาคารเพื่อการค้า และปัจจัยด้านโครงสร้างเดิมของอาคาร เช่น ตึกแถวที่เราอยากจะปรับปรุงมีโครงสร้างเชื่อมติดกับตึกข้างๆรึป่าว? ผนังใช้ร่วมแผ่นเดียวกันมั้ย ? ความแข็งแรงโครงสร้างเดิมยังรับมือไหวสำหรับการรีโนเวทรึป่าว? ปัจจัยเหล่านี้ก็จะมีผลต่อการตัดสินเลือกวิธีว่าแบบใดถึงจะเหมาะสมกับเป้าหมายการปรับปรุงอาคารใหม่ของเราครับ
ข้อมูลโรงแรมเพิ่มเติม suwanpalm
ข้อมูลผู้ออกแบบ Eco Architect