OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ชีวิตหลังความเต็ค : สถาปัตยกรรมรางวัล สวยแต่รูปหรืออยู่ได้จริง

ในความเป็นจริง สถาปัตยกรรมไม่ได้เป็นของเจ้าของบ้านทั้งหมด แต่สถาปัตยกรรมเป็นของผู้ออกแบบไปแล้วครึ่งหนึ่ง…

(ภาพจาก designboom.com)

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในนครรัฐโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกจากงาน World Architecture Festival 2012 เป็นรางวัลที่มอบให้ผู้ออกแบบ และงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นทั่วโลกซึ่ง Stacking  Green ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทบ้านพักอาศัย

และผมเชื่อว่าหลายคน คงคุ้นชินกับภาพถ่ายของบ้านหลังนี้ในมุมมองที่สวยงาม เป็นที่น่าจดจำ ในมุมมองของนักออกแบบหรือสถาปนิก บ้านหลังนี้ช่างแปลกใหม่ ลงตัว และแก้ไขปัญหาได้อย่างแยบยล… ซึ่งในแวบแรกนั้น ผมก็มีความคิดเช่นนั้นเหมือนกัน หากเพียงแต่การได้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศ และได้พบเจอเจ้าของบ้านจริงๆนั้น ทำให้ผมต้องกลับมาคิดอีกครั้ง… ถึงการใช้งานและรูปแบบที่ดูเรียบเท่ไม่มีใครเหมือนนี้

บ้านหลังนี้มีลักษณะคล้ายทาวน์เฮาส์บ้านเรา มีทั้งหมด 4 ชั้น หน้ากว้างประมาณ 4 เมตรเห็นจะได้ ลึกประมาณ 20 เมตร พื้นที่ใช้สอย 250 ตารางเมตร สถาปนิกออกแบบพื้นที่ให้เชื่อมต่อกันทั้งหมด โดยการมีผนังหรือประตูกั้นน้อยที่สุด เช่นบริเวณชั้น 2 ซึ่งเป็นห้องรับประทานอาหารและครัว เป็นครัวที่ทำอาหารจริงจัง ผลที่ตามมาคือเรื่องควันและกลื่นอาหารลอยคลุ้งเต็มบ้าน ข้อดีน่าจะเป็นเรื่องการสร้างความมีชีวิตชีวาให้บ้านด้วยกลิ่นอาหาร และข้อเสียก็อาจเป็นเรื่องของกลิ่นอีกเช่นกัน ที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้เลย

คนเวียดนามเป็นกันเอง… แม้บางครั้งจะดูตรงไปตรงมาเสียหน่อย แต่ก็ยังดีที่เขายังคงเปิดบ้านต้อนรับเราอย่างเป็นกันเอง วันที่เราไปเยือนนั้น เจ้าของบ้านไม่อยู่ ออกไปทำงานและมีแม่บ้าน เด็กเล็ก รวมถึงพี่ (หรือน้อง) ของเจ้าของบ้าน อยู่ดูแลคุณแม่ ซึ่งแก่ชราแล้ว อยู่ที่ชั้นล่างสุดของบ้าน

ภายหลังได้มีโอกาสคุยกับคู่สามีภรรยาเจ้าของบ้านวัย 35 ปี จึงทราบว่าบ้านหลังนี้ เขาได้ซื้อต่อมาจากเจ้าของบ้านจริงๆ ซึ่งปล่อยขายเมื่อปีก่อน สาเหตุหลักที่ตัดสินใจซื้อคือบ้านหลังนี้มีที่ตั้งที่ดี ใกล้ที่ทำงานของเขาทั้งคู่มาก ส่วนเรื่องดีไซน์ของบ้านนั้น เขาบอกตามตรงว่าไม่ได้สนใจเท่าไรนัก เห็นว่าโปร่ง โล่ง สบายดี ก็พอแล้ว

นอกจากเรื่องครัวที่ไม่สามารถควบคุมกลิ่นได้แล้ว ไฮไลท์หลักของบ้านที่เป็นส่วนของกระบะต้นไม้ที่เรียงตัวเป็น facade ของอาคาร เอาเข้าจริงๆ เจ้าของบ้านลืมดูแลรดน้ำต้นไม้ ทำให้ต้นไม้ไม่เจริญงอกงาม นานเข้าต้นไม้ก็ตาย สุดท้ายเจ้าของบ้านแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งเครื่องรดน้ำอัตโนมัติ และให้ลูกจ้างเป็นคนดูแลแทน

ด้วยแนวคิดของสถาปนิกที่เน้นความเรียบง่าย เส้นสายตรงไปตรงมา สิ่งนี้ทำให้รายละเอียดต่างๆในบ้านนั้นน้อยลงไปด้วย รวมไปถึงราวกันตกเส้นนอน 2 เส้น เกิดช่องว่างกว่า 45 เซนติเมตร เป็นความกว้างที่เกิดขึ้นแล้วรู้สึกใจหาย ยิ่งบ้านที่มีเด็กเช่นบ้านหลังนี้ ทำให้เกิดความกังวลและเป็นห่วงแทนความปลอดภัยของเด็กน้อยไม่ได้ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านคิดเช่นกัน เพราะทุกครั้งที่เด็กน้อยเดินออกมาบริเวณใกล้ระเบียง จะมีผู้ใหญ่เดินมาอุ้ม เดินไปยังส่วนต่างๆของบ้านเสมอไป

รวมถึงห้องน้ำโชว์ที่สุดท้ายต้องคิดผ้าม่านเพิ่มเพื่อความเป็นส่วนตัว หรือสกายไลท์ที่เจ้าของบ้านเอาผ้าใบไปคลุมเอาไว้ เพราะถ้าไม่คลุมแสงแดดจะลงมามากเกินไปและร้อนจนอยู่ไม่ได้ ทั้งหมดไม่ใช่สิ่งที่ผิด ไม่ได้ถูกห้ามไว้ในกระบวนการออกแบบ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องของ USER หรือ คนที่ใช้งานจริงๆ ว่าเขาคิด และใช้งานพื้นที่เหล่านั้นอย่างไร … หากมองย้อนไปในช่วงเวลาที่เจ้าของบ้านตัวจริงอยู่ เขาอาจจะดูเข้ากันกับบ้านหลังนี้ มากกว่าครอบครัวนี้ ที่ผมได้พบเจอก็เป็นได้

หากผมสามารถให้รางวัลสถาปัตยกรรมได้ ผมจะก่อตั้งรางวัลหนึ่งที่มีชื่อว่า “สถาปัตยกรรมที่เจ้าของรักที่สุด” ไม่ใช่สถาปัตยกรรมที่สวยหรือถ่ายรูปขึ้นที่สุด และผมจะให้เจ้าของบ้านเป็นคนมอบรางวัลชิ้นนั้น กับมือของสถาปนิกผู้ออกแบบเอง เป็นการขอบคุณ ที่ออกแบบในสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดได้… โดยที่บางครั้ง เจ้าของบ้านเอง อาจไม่รู้ตัวซ้ำ ว่าเขาต้องการอะไร…

 

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading