บ้านที่ดี…ไม่ใช่แค่สวยงามแต่เพียงภายนอก หากต้องตอบสนองลักษณะเฉพาะตัวและการใช้ชีวิตของเจ้าของบ้านนั้นได้อย่างเต็มที่
บ้านหลังนี้ก็เช่นกัน แต่เดิมเป็นบ้านจัดสรรเก่าที่มีฟังก์ชันครบครัน แต่ยังไม่ตอบโจทย์ต่อไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านได้อย่างเต็มที่ เจ้าของจึงมีความคิดที่จะรีโนเวทบ้านใหม่ทั้งภายนอกและภายใน โดยตั้งใจทำลายความเป็นบ้านจัดสรรทิ้งไป และบ้านต้องสื่อถึงตัวตนเจ้าของบ้านออกมาได้อย่างแนบเนียน คือเป็นบ้านที่ดูดิบ และเท่ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นบ้านที่อบอุ่นและละมุนเช่นกัน ออกแบบโดย Anonym Studio มีพื้นที่ทั้งหมด 300 ตารางเมตร เป็นที่อยู่อาศัยขนาดกลางที่จัดสรรพื้นที่ออกมาได้อย่างลงตัว
บ้านตั้งอยู่ที่เขตลาดพร้าว อยู่ในเขตพื้นที่พักอาศัย ซึ่งมีความเงียบสงบ เป็นส่วนตัว และยังอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้าด้วยระยะเวลาไม่เกินสามสิบนาที จึงเป็นทำเลที่สะดวกสบาย พร้อมทั้งมีความสงบและยังไม่วุ่นวายจนเกินไป
ปรับเปลี่ยน เพื่อการใช้งานที่ลงตัว
คุณพงศ์ภัทรและคุณปานดวงใจ สถาปนิกผู้พลิกโฉมบ้านหลังนี้ได้เล่าให้ฟังว่า บ้านก่อนรีโนเวทเป็นบ้านจัดสรรมีอายุมากกว่า 10 ปี ซึ่งเจ้าของบ้านไม่ค่อยได้พักอาศัย จึงอยากเปลี่ยนแปลงบ้านให้มีฟังก์ชันที่เหมาะสมกับการกลับมาอยู่บ้านอีกครั้ง และปรับเปลี่ยนสเปซภายในบ้านให้พ่อกับแม่ที่เริ่มมีอายุ โดยสถาปนิกตั้งใจไว้ว่า จะทำลายความเป็นรูปแบบบ้านจัดสรรออกให้หมด เพราะลักษณะของบ้านจัดสรรเดิมคือแสงธรรมชาติส่องไม่ถึงภายในบ้าน และไม่มีช่องเปิดมุมมองไปยังสวนข้างนอก จึงเจาะหน้าต่างและเปิดช่องแสงเพิ่ม เพื่อให้ภายในบ้านรับแสงธรรมชาติได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น และเก็บโครงสร้างหลักของบ้านเดิมไว้เพราะโครงสร้างเก่ายังดีอยู่และเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายนั่นเอง
Flower Cage
จุดเด่นของบ้านที่น่าสนใจ คือ facade โครงเหล็กสีดำสนิท อยู่บริเวณหน้าบ้านและมีต้นไม้เรียงรายตามช่องเหล็กแต่ละช่องเป็นจำนวนมาก ซึ่งโครงสร้างนี้เป็น Structure grid ที่เชื่อมกับแนวคานด้านบนและรับน้ำหนักจากกระถางต้นไม้เซรามิค (ceramic tree) และสถาปนิกอยากให้โครงสร้างและ gird เชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกับโครงสร้างของบ้าน โดยจะแบ่งกริดออกเป็นระยะ ความห่างเท่ากัน เพื่อให้มีสเปซที่เพียงพอสำหรับการวางกระถางต้นไม้ลงในกริดแต่ละช่องได้ หน้าที่ของ structure grid คือใช้กรองแดดในทิศตะวันตก และสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับเจ้าของบ้าน
แม้ว่าโครงเหล็กสีดำนั้นจะดูแข็งแกร่งและดุดัน แต่ในขณะเดียวกันต้นไม้ที่วางอยู่ตามกริดนั้นกลับช่วยให้บ้านดูผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น โดยต้นไม้ทั้ง 102 ต้นนั้น คือต้นไม้เซรามิค (Ceramic trees) ซึ่งใช้รูปทรงของต้นมะกอกเป็นต้นแบบ ความหมายของต้นมะกอกคืออิสรภาพและความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าของบ้าน ที่ถึงแม้ภายนอกจะดูอ่อนโยนและสนุกสนาน แต่แท้จริงแล้วก็เป็นคนที่เข้มแข็งเช่นกัน
สีดำของโครงเหล็กเปรียบเสมือนความเข้มแข็ง และหนักแน่น แต่ในทางกลับกัน ต้นมะกอก ก็สื่อถึง อิสรภาพ และ ความอ่อนน้อมถ่อมตนของเจ้าของบ้านได้อีกด้วย
โล่ง โปร่ง สบาย
เมื่อเข้ามาในบ้านจะเห็นได้ว่า บริเวณชั้น1 ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่โปร่งและใช้วัสดุส่วนใหญ่เป็นกระจก เพื่อให้แสงธรรมชาติเข้าถึงได้อย่างเต็มที่ ส่วนของหน้าบ้านตั้งอยู่ในทิศตะวันตก จึงทำให้บ้านโดนแสงแดดเกือบตลอดทั้งวัน สถาปนิกจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้ผนังทึบในฝั่งที่โดนแดดเพื่อป้องกันความร้อนและแสงแดดที่ร้อนจัดในเวลากลางวัน ส่วนฝั่งที่ไม่โดนแดดจึงจะใช้กระจกกรอบเหล็กบานใหญ่ เพื่อให้แสงส่องเข้าบ้านได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
สเปซภายในบ้านจะสัมผัสได้ถึงความสดชื่นของสเปซข้างใน เพราะสถาปนิกออกแบบให้มีบ่อปลาที่ยาวไปจนสุดบริเวณ foyer เมื่อเจ้าของจอดรถแล้วเดินเข้าบ้านจะพบกับบ่อปลาก่อนเป็นอันดับแรก บ่อปลานี้จะทำให้เจ้าของเกิดความรู้สึกที่ผ่อนคลายมากขึ้น ก่อนที่จะขึ้นบันไดเหล็กไปสู่ชั้นบนของบ้าน
บันไดเหล็กนำทางขึ้นไปสู่พื้นที่อเนกประสงค์ ซึ่งอยู่ชั้น 2 จัดเป็นพื้นที่ส่วนกลาง และต่อเนื่องไปยังห้องนอนหลักโดยตรงได้
บริเวณชั้น 2 ทั้งหมดนี้นั้นเปรียบเสมือนเพนท์เฮ้าส์ส่วนตัวของเจ้าของบ้านอีกด้วย
พื้นที่อเนกประสงค์ ปรับเปลี่ยนตามความต้องการ
Multipurpose area มีกระจกบานสไลด์ซึ่งสามารถเลื่อนเปิดปิดได้ กล่าวคือสามารถเลื่อนเปิดกระจกออกเพื่อการดูแลรักษาต้นไม้ และเพื่อรับลม รับแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นในตอนกลางวันที่แดดจ้า มีอากาศร้อน หรือตอนกลางคืนซึ่งอาจจะมีแมลงรบกวน ก็สามารถเลื่อนกระจกปิดได้เช่นกัน
Ceramic trees 102 ต้น ออกแบบโดย Aor Sutthiprapha
สถาปนิกออกแบบบ้าน Flower cage house โดยการคิดนอกกรอบ ไม่จำกัดความคิดแค่การใช้วัสดุและวิธีเดิมๆเท่านั้น นั่นคือการใช้ façade โครงเหล็กสีดำ ซึ่งอยู่บริเวณหน้าบ้านนั่นเอง อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนภายในบ้านให้โล่งและโปร่งสบายมากขึ้น กล่าวคือปรับเปลี่ยนสเปซเพื่อการใช้งานที่ดีขึ้นและสร้างสรรค์บ้านให้มีเอกลักษณ์มากขึ้น บ้านนี้จึงดูน่าอยู่อีกทั้งยังตอบสนองต่อการใช้ชีวิตของเจ้าของบ้านได้ดียิ่งขึ้น
Project Name: Baan Flower Cage (Flower Cage house)
Location: Bangkok, Thailand
Architect: Anonym, Phongphat Ueasangkhomset, Parnduangjai Roojanawate
Area: 300 sq.m.
Project year: 2017
Ceramic artist: Aor Sutthiprapha
Photo by Ketsiree Wongwan