OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Go Living Better in Co-Living Generation ดีไซน์ไอเดียใหม่ของพื้นที่อยู่อาศัย ที่หลอมรวมทุกความแตกต่าง

แม้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันของคนเราจะอยู่นอกบ้าน ทั้งเรียนหรือทำงาน แต่แน่นอนว่าที่พักอาศัยก็เป็นพื้นที่ที่เราจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนถึงหนุนหัวลงบนหมอน หลายคนอาจบอกว่า ห้องพักก็เป็นแค่ที่ซุกหัวนอนแหละ แต่เอาเข้าจริง บรรยากาศรอบตัวในที่พักนี่แหละ คือสถานที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราโดยไม่รู้ตัว

ยิ่งในวัยกำลังศึกษาเล่าเรียนแล้ว ความคิดสดใหม่และพลังในการสร้างสรรค์ของวัยรุ่น คือสิ่งที่เวลาพาหวนกลับมาไม่ได้ จะดีแค่ไหนถ้าเราได้สร้างแรงบันดาลใจให้ตั้งแต่วัยเรียนผ่านสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยเริ่มจากสถานที่ใกล้ตัวอย่างที่พักอาศัย ลบภาพจำของหอพักแบบเดิมๆ ทิ้งไป เด็กๆ จากต่างจังหวัดพร้อมกระเป๋าเดินทางหนึ่งใบ จะมาสร้างอนาคตของโลกใบใหม่ โดยเริ่มต้นจากห้องพักแห่งนี้

Alternative Inspirator

ชีวิตในเมืองอันแสนเร่งรีบมักจะมาพร้อมกับทางเลือกที่จำกัด ยิ่งพูดถึงการอยู่อาศัยในมหานครอย่างกรุงเทพฯ ด้วยแล้ว ราคาค่าครองชีพของสิ่งต่างๆ ก็สูงลิบลิ่ว…ให้ลองนึกภาพคนที่ไม่ได้เกิดในกรุงเทพฯ หรือ คนที่มาจากต่างจังหวัด ว่าต้องพบเจอกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป มีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นขนาดไหนกัน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการเช่าที่อยู่อาศัยและการเดินทาง AP Thailand ในฐานะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของเมืองไทย ผู้มีความถนัดในด้านงานดีไซน์เพื่อคุณภาพชีวิต จึงมอบทุนการศึกษารูปแบบใหม่ผ่านทางหนึ่งในปัจจัยสี่อย่างที่อยู่อาศัย หรือ Space Scholarship ให้กับน้องๆ นักเรียนที่เรียนดี ความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จำนวน 7 คน ซึ่งกำลังจะเข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ ได้เริ่มต้นชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยด้วยความสุข สร้างสรรค์ และปลอดภัย

ในครั้งนี้ AP Design Lab จึงได้ชักชวน Fabrica ดีไซน์สตูดิโอชื่อดังจากอิตาลีมาเป็นผู้ถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ให้กลายเป็นพื้นที่ที่ใช้งานได้จริงและคุ้มค่าในทุกตารางเมตร ทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมของคนเมือง และส่งเสริมความกล้าที่จะคิดต่างพร้อมลงมือทำได้อย่างสร้างสรรค์

A new chapter of life begins

ถ้าเป็นนักเรียนจากต่างจังหวัดย้ายเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ หอพักรวมเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ จากเหตุผลเรื่องความประหยัด แต่เพราะไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันทำให้การอยู่ร่วมกันใช้เวลาปรับจูนกว่าจะอยู่ด้วยกันได้ แต่เชื่อหรือไม่ว่า งานดีไซน์เป็นเครื่องมือที่ตอบสนองความต้องการตามวิถีการใช้ชีวิตของแต่ละคนได้ และทำให้การใช้ชีวิตร่วมกันไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

โปรเจ็คท์ Space Scholarship จาก AP Thailand คือตัวอย่างอย่างดีที่ให้เราศึกษาลงลึกไปถึงงานออกแบบที่เป็นหัวใจของอนาคต นั่นคือ Co-Living Space หรือพื้นที่อยู่อาศัยร่วมกัน โดยการสร้างพื้นที่แห่งการแบ่งปัน ไปพร้อมกับเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยแต่ละคน ซึ่งโจทย์ข้อนี้ทำให้ทีมออกแบบมองไปถึงปลายทางที่มากกว่าการอยู่สบายทั้งกับตัวเองและเพื่อนร่วมห้อง นั่นคือแนวคิดที่เรียกว่า SUM (The Sum of Small Parts) การรวมตัวของหลากหลายชีวิต หลากหลายกิจกรรมในแต่ละวัน จนถึงพื้นที่หลากหลายฟังก์ชั่นอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว

CrossFunctional Design

จากแนวคิดนี้ ถูกแปลออกมาเป็นรูปแบบการแบ่งส่วนพื้นที่ใช้งานผ่านทางผนัง​ ฉากกั้น และการเล่นระดับในส่วนต่างๆ ของห้อง​ โดยเริ่มต้นจากการคิดถึงเรื่องพฤติกรรมวิธีการใช้งาน ถ้าคิดง่ายๆ เปิดโล่งคือปฏิสัมพันธ์ ปิดกั้นคือใช้กำแพง เพราะฉะนั้น พื้นที่ที่สร้างความสัมพันธ์และการพูดคุยมากที่สุดคือพื้นที่ส่วนกลาง สำหรับนั่งเล่นหรือรับประทานอาหาร ส่วนพื้นที่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากที่สุด คือช่วงเวลาอ่านหนังสือ เก็บข้าวของส่วนตัว และนอนหลับ

ไฮไลท์เรื่องนี้จึงถูกแปลความหมายมาเป็นโต๊ะกลางห้องของห้องพักหญิงสำหรับ 3 คน บนพื้นที่ 30 ตารางเมตร ซึ่งเป็นห้องสตูดิโอแบบโอเพ่นแปลน พื้นที่ส่วนกลางซึ่งเป็นโต๊ะอาหาร เมื่อพับส่วนฉากกั้นขึ้น ก็กลายเป็นที่นั่งอ่านหนังสือแบบเป็นส่วนตัวสำหรับ 3 คนได้ทันที โดยไม่สูญเสียบรรยากาศโปร่งโล่งของส่วนกลาง

โจทย์ต่อมาคือ แล้วทีนี้จะทำอย่างไรให้พื้นที่ขนาดเล็ก อย่างห้องพักหญิงที่เล่ามาแล้ว และห้องพักชายสำหรับ 4 คนบนพื้นที่ 46 ตารางเมตร สามารถรองรับทุกกิจกรรมอย่างที่เล่ามาได้ทั้งหมด ไม้ตายจึงอยู่ที่ราวเหล็กที่ทอดยาวเชื่อมโยงไปทั่วทั้งห้อง ที่มีทั้งในห้องสำหรับ 3 คน และ 4 คน ราวเหล็กนี้เป็นผู้ช่วยในการคัสตอมฟังก์ชั่นอย่างที่ผู้ใช้งานต้องการ ตั้งแต่โคมไฟแขวนเพดาน ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่อย่างชั้นวางของ ที่ช่วยกั้นพื้นที่เพื่อสร้างสเปซรูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้นได้

Vertical is Value

เพราะห้องพักขนาดเล็ก พื้นที่ทุกแนวภายในห้องจึงถูกจัดการให้สามารถใช้งานได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างภายในห้องพักชาย ที่ใช้เป็นเตียงนอนเหนือตู้เสื้อผ้า รวมทั้งการจัดวางเครื่องใช้ไฟฟ้าในส่วนแพนทรี่ ซึ่งลงล็อกพอดีให้ใช้งานได้อย่างสะดวกสบายและเป็นสัดส่วน

ส่วนในห้องพักหญิง พื้นที่นอนเลือกใช้เตียงสองชั้น 3 เตียง จัดวางซ้อนเหลื่อมกันด้านบน 2 ด้านล่าง 1 โดยให้พื้นที่ที่เหลือด้านล่างเป็นชั้นเก็บของแบบติดล้อ ดึงออกมาใช้งานง่าย ผลักเก็บก็เป็นสัดส่วนเรียบร้อย และเพราะเป็นห้องแบบโอเพ่นแปลน จึงใช้การปิดม่านเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว และมีโคมไฟติดกับหัวเตียงสำหรับทำกิจกรรมส่วนตัวได้

แม้กับดีเทลเล็กน้อยก็ถูกออกแบบสำหรับการใช้งานตามความเคยชิน อย่าง Door Knobs มือจับประตูที่ดีไซน์ก้านเหล็กหลากรูปทรงให้เป็นทั้งแนวนอน แนวตั้ง ให้จับ-ดึง-แขวน โดยซ่อนฟังก์ชั่นการใช้งานเล็กน้อยอย่างการเก็บซองเอกสาร อีกทั้งยังเป็นลูกเล่นสนุกๆ ให้กับงานดีไซน์ จนกลายเป็นซิกเนเจอร์ของโครงการนี้ไปโดยปริยาย

คุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งดีๆ ที่จะตามมาในชีวิต และแน่นอน นั่นหมายถึงการที่เราจะมีเยาวชนที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ เพื่อมาใช้ประโยชน์และช่วยกันนำพาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น เท่าที่เราทุกคนจะช่วยกันได้